5/08/2552

สุยหยางตี้ หยางกว่าง (Sui yang di Yang guang : ค.ศ. 569 – 618)

ฮ่องเต้องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581 – 618) โอรสองค์รองของสุยเหวินตี้หยางเจียน มีอีกนามว่าอิง

ปีที่ 1 ศักราชคายหวง (ค.ศ. 581) หยางกว่างได้รับแต่งตั้งให้เป็นจิ้นหวาง (อ๋องแห่งแคว้นจิ้น) ปรกติเขาจะเล่นละครตบตาทำเป็นว่าเป็นคนมีเมตตาการุณย์กตัญญูกตเวทีและรู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด ทำให้เป็นที่โปรดปรานของสุยเหวินตี้พระบิดาและตู๋กูหวงโฮ่ว (ฮองเฮา) พระมารดา จากนั้นก็ได้คบคิดกับหยางซู่ (หนึ่งในพระบรมวงศานุวงศ์) วางแผนช่วงชิงตำแหน่งรัชทายาท

เนื่องจากองครัชทายาทหยางหย่งมีนิสัยชอบใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยและเอาแต่ใจตัวเอง จึงไม่เป็นที่โปรดปรานของสุยเหวินตี้พระบิดา ทำให้

ปีที่ 20 ศักราชคายหวง (ค.ศ. 600) เดือน 10 สุยเหวินตี้ถอดตำแหน่งรัชทายาทของหยางหย่ง เดือน 11 แต่งตั้งหยางกว่าง โอรสองค์รองที่พระองค์เห็นว่ารู้จักนอบน้อมถ่อมตนและใช้จ่ายอย่างประหยัดขึ้นเป็นรัชทายาทแทน

ปีที่ 4 ศักราชเหรยินโซ่ว (ค.ศ. 604) เดือน 7 สุยเหวินตี้สวรรคต กล่าวกับว่าถูกหยางกว่างลอบปลงพระชนม์

หลังจากที่หยางกว่างขึ้นครองบัลลังก์แล้ว (ค.ศ. 605 ถูกตั้งชื่อหลังสวรรคตแล้วว่าสุยหยางตี้ น่าจะแปลว่า ผู้หลอมทำลายราชวงศ์สุยจนซิ้นซาก) ได้ปลอมแปลงพระบรมราชโองการสั่งเสียของสุยเหวินตี้ประหารหยางหย่งโดยการแขวนคอ

ฮั่นหวาง (ฮั่นอ๋อง) หยางเลี่ยง พระอนุชาของสุยหยางตี้ยกทัพก่อการกบฏที่ปิ้งโจวโดยอ้างว่าต้องการปราบ หยางซู่ สุยหยางตี้ส่งหยางซู่ไปปราบ หลังจากที่หยางเลี่ยงยอมแพ้แล้ว ได้ถูกกักบริเวณจนตาย

ต่อจากนั้น สุยหยางตี้ได้วางยาพิษสังหารบรรดาลูก ๆของหยางหย่ง เป็นการตัดรากถอนโคนผู้ที่จะมาคุกคามความมั่นคงของราชบัลลังก์ของพระองค์

เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว สุยหยางตี้ได้พัฒนาระบบเคอจวี่โดยบัญญัติระบบจิ้นซื่อเคอ คือให้เปลี่ยนระบบการรับขุนนางเป็นการสอบเข้าทั้งหมด และจะกำหนดวิชาที่สอบตามความเหมาะสมต่อตำแหน่งที่สมัคร

สุยหยางตี้ยังสั่งให้มีการตรวจสอบจำนวนประชากรอย่างเข้มงวด ทำให้ได้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นมาก เป็นการเพิ่มรายได้จากภาษีให้แก่ประเทศ ทำให้ในยุคของสุยหยางตี้ ราชวงศ์สุยเจริญถึงขีดสุด มีประชากร 46,000,000 คน

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่ครองราชย์ สุยหยางตี้ยังได้

ปีที่ 1 ศักราชต้าเยี่ย (ค.ศ. 605) ก่อสร้างนครหลวงตะวันออกลั่วหยาง

ปีที่ 2 ศักราชต้าเยี่ย (ค.ศ. 606) เดินทางไปตรวจตราเมืองเจียงตู

ปีที่ 3 – 5 ศักราชต้าเยี่ย (ค.ศ.607 - 609)

1. เจริญสัมพันธไมตรีกับทูเจี๋ย

2. ซ่อมกำแพงเมืองจีน

3. สุยหยางตี้นำทัพด้วยตัวเอง รบชนะถูอวี้หุน

4. ขุดลอกคลองไปจนถึงจัวจวิ้น (จังหวัดจัว)

ปีที่ 8 ศักราชต้าเยี่ย (ค.ศ.612) ยกทัพไปตีกาวโกวลี่ครั้งที่ 1

ปีที่ 9 ศักราชต้าเยี่ย (ค.ศ.613) ยกทัพไปตีกาวโกวลี่ครั้งที่ 2

ปีที่ 10 ศักราชต้าเยี่ย (ค.ศ. 614) ยกทัพไปตีกาวโกวลี่ครั้งที่ 3

ปีที่ 11 – 14 ศักราชต้าเยี่ย (ค.ศ. 615 – 618) ถูกทูเจี๋ยทรยศและลอบจู่โจมที่ซีเป่ย จึงหลบหนีไปที่เมืองเจียงตู ซึ่งเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายในชีวิตพระองค์

ในการสร้างเมืองหลวงตะวันออกลั่วหยาง สุยเหวินตี้และสุยหยางตี้ทำไปเพื่อเสริมความมั่นคงในการปกครองทางดินแดนตะวันออกและดินแดนทางใต้ ลั่วหยางถือเป็นศูนย์กลางทางด้านการทหาร การปกครองและเศรษฐกิจทางภาคตะวันออกของราชวงศ์สุย ขอบเขตของการก่อสร้างทั้งหมดไม่ถือว่าใหญ่โตมากนัก

ในการขุดลอกคลองขยายเส้นทางขนส่งทางน้ำ ก็เป็นไปเพื่อเสริมความมั่นคงในการปกครองดินแดนทางภาคตะวันออกและภาคใต้ เส้นทางน้ำส่วนใหญ่ที่ขุดเพิ่มเติมจะใช้เส้นทางน้ำเดิมที่เคยมีอยู่ก่อนแล้ว เชื่อมต่อเส้นทางน้ำทั้งหลายจากภาคใต้มาภาคเหนือถึงกัน และเพื่อเป็นการประกาศศักดานุภาพของราชวงศ์สุยแก่ดินแดนทางตอนใต้ หลังจากที่ทางน้ำทั้งหลายได้เชื่อมต่อกันตลอดแล้ว ได้สร้างคุณูประการอย่างมหาศาลต่อการติดต่อแลกเปลี่ยนกันทางด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจระหว่างดินแดนทางตอนเหนือและใต้และการสร้างเสถียรภาพให้แก่การรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของประเทศ

ในการยกทัพไปตีกาวโกวลี่ มีสาเหตุมาจาก กาวโกวลี่หรือกาวลี่ (ประเทศเกาหลีในปัจจุบัน) ดินแดนเพื่อนบ้านทางตะวันออกของสุยนี้ ในยุคราชวงศ์เป่ยโจว (ค.ศ. 557 – 581) กาวทัง ผู้นำของกาวโกวลี่รับการแต่งตั้งจากราชสำนักโจวเป็น เหลียวตงหวาง (อ๋องแห่งแคว้นเหลียวตะวันออก)

หลังจากสุยเหวินตี้ชิงบัลลังก์มาจากราชวงศ์โจวแล้ว ก็ได้มอบตำแหน่งขุนพลใหญ่ให้แก่กาวทัง เปลี่ยนนามเป็น กาวลี่หวาง (อ๋องแห่งกาวลี่) เมืองหลวงคือ ผิงหรย่าง (หรย สามตัวอ่านควบกัน) เมื่อทังถึงแก่กรรม โอรสของเขา กาวเหยวียนสืบตำแหน่งแทน และได้ยกทัพไปโจมตีดินแดนทางเหลียวซี (เหลียวตะวันตก) สุยเหวินตี้ออกคำสั่งให้ยกทัพไปปราบกาวลี่หวาง กาวเหยวียนส่งทูตมาเจรจาขอพระราชทานอภัยโทษ สุยเหวินตี้จึงถอนทัพกลับ

เมื่อสุยหยางตี้ครองราชย์กาวชางหวาง ข่านแห่งทูเจี๋ยต่างมาอวยพรและแสดงความยินดีถึงฉางอาน แต่กาวเหยวียนกลับไม่โผล่มาที่ราชสำนักสุยเลย เรื่องนี้ได้ทำให้สุยหยางตี้คิดยกทัพไปกำราบกาวโกวลี่

การยกทัพเป็นระยะทางไกลไปบุกกาวโกวลี่นั้น มีทั้งหมดสามครั้งดังนี้

ครั้งที่ 1 (ค.ศ. 612) สุยหยางตี้ได้เกณฑ์ทหารทั้งทางบกและทางน้ำเป็นจำนวนทั้งหมดประมาณ 1,130,000 และนำทัพไปด้วยพระองค์เอง แต่ขณะที่ทัพยังห่างจากผิงหรย่าง 30 ลี้ (15 km.) เนื่องจากทหารเหนื่อยอ่อนจากการเดินทัพไกลและเสบียงไม่ต่อเนื่อง จึงถูกตีแตกพ่ายยับเยิน ขณะที่ถอยทัพกลับแม่น้ำเหลียว หลงเหลือทหารอยู่เพียง 2,700 คน การออกรบครั้งนี้เพิ่งดำเนินไปได้เพียงครึ่งปีก็พ่ายแพ้เสียแล้ว

ครั้งที่ 2 (ค.ศ. 613) กองทัพเพิ่งจะข้ามแม่น้ำ ยา ลวี่ เจียง (อยู่ในตอนเหนือของเกาหลี) ภายในประเทศสุยก็ได้เกิดกบฏชาวนาขึ้น หลี่ปู้ซ่างซู (เจ้ากรมพิธีการ) หยางเสวียนก่าน (เป็นเชื้อพระวงศ์สุยผู้หนึ่ง มีชื่อเสียงพอสมควรว่าเป็นคนดีที่ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง) เดิมทีอยู่ที่หลีหมิง (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนาน) คอยควบคุมฝ่ายอุปกรณ์ในกองทัพ ก็ได้ฉวยโอกาสนี้ก่อการกบฏต่อต้านราชวงศ์สุยขึ้นด้วย ในขณะนั้นสุยหยางตี้ได้ข้ามแม่น้ำเหลียวไปทางตะวันออกแล้ว พอได้ทราบข่าวก็ตกใจอย่างมาก รีบออกคำสั่งถอยทัพ

ครั้งที่ 3 (ค.ศ. 614) เวลานั้นกบฏชาวนาในประเทศได้แผ่ขยายไปกว้างเหมือนไฟลามทุ่ง สุยหยางตี้จึงไม่กล้าออกรบนาน กาวลี่หวางก็ไม่มีกำลังพลจะต่อต้านทัพสุย จึงส่งทูตมาขอสวามิภักดิ์ สุยหยางตี้จึงถอนทัพกลับแต่เพียงเท่านี้

ในการซ่อมแซมกำแพงเมืองจีนเนื่องมาจากพวกทูเจี๋ยเป็นหลัก

ชนเผ่าทูเจี๋ยเป็นสายหนึ่งของชนเผ่าซยงหนู ในยุคราชวงศ์สุย ประเทศทูเจี๋ยตั้งอยู่บริเวณประเทศมองโกลเลียและเลยขึ้นไปถึงประเทศรัสเซียในปัจจุบัน ส่วนทางตะวันตกได้เลยมณฑลซินเจียงออกไปไกลพอสมควร) เผ่าทูเจี๋ยหาเลี้ยงชีพโดยการล่าสัตว์และเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน

ต้นราชวงศ์สุย ทูเจี๋ยเข้มแข็งมาก มีกองทัพ 400,000 คน และมักมารุกรานสุยอยู่เสมอ ราชสำนักสุยจึงถูกบีบบังคับให้ต้องซ่อมแซมกำแพงเมืองจีนและเสริมกำลังในการป้องกันชายแดนอย่างไม่มีทางเลือก แต่ต่อมาประเทศทูเจี๋ยเกิดสงครามภายในและแตกออกเป็นสองประเทศ คือตงทูเจี๋ย (ทูเจี๋ยตะวันออก) และซีทูเจี๋ย (ทูเจี๋ยตะวันตก) เข่นฆ่ากันเอง

ปีที่ 19 ศักราชคายหวงแห่งพระเจ้าสุยเหวินตี้ (ค.ศ 599) ข่าน (เค่อหาน) ของตงทูเจี๋ย ทูลี่มาขอสวามิภักดิ์กับสุย สุยเหวินตี้แต่งตั้งเขาเป็นฉี่หมินข่าน (เค่อหาน) และพระราชทานเจ้าหญิงอี้เฉิงในราชสกุล (อาจไม่ใช่พระธิดา) ให้แต่งงานด้วย

ปีที่ 7 ศักราชต้าเยี่ย (ค.ศ. 611) ชู่หลอ (อาจจะฉู่หลอก็ได้) ข่านแห่งซีทูเจี๋ยก็มาขอสวามิภักดิ์ นับจากนั้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างสุยกับทูเจี๋ยก็ดีขึ้นเป็นลำดับ

ผลงานที่จัดว่าดีจนถึงที่จัดว่ายอดเยี่ยมของสุยหยางตี้

1. พัฒนาระบบเคอจวี่ โดยตั้งระบบจิ้นซื่อเคอที่ให้ใช้การสอบในการรับขุนนางทั้งหมด และแยกรับตามวิชาที่ใช้สอบ

2. ขุดลอกคลองขนส่ง

3. ออกคำสั่งให้ตรวจสอบจำนวนประชากรอย่างเข้มงวด เป็นการเพิ่มจำนวนประชากรและภาษีให้แก่ประเทศ

4. ปราบถู่อวี้หุน (ชนเผ่าอีกเผ่าหนึ่งที่มารุกรานสุยบ่อย ๆ แต่สุดท้ายถูกสุยหยางตี้กลืนได้สำเร็จ และได้ตั้งเหอเหยวียน จวิ้น (จังหวัด) ซีห่ายจวิ้น ซ่านซ่านจวิ้น และเฉี่ยม่อจวิ้น ทั้งสี่ขึ้นแทนที่ในพื้นที่ประเทศถู่อวี้หุนเดิม)

5. เจริญสัมพันธไมตรีกับทูเจี๋ย

สิ่งที่ทำให้สุยหยางตี้กลายเป็นทรราชคนสำคัญผู้หนึ่งในประวัติศาสตร์จีน

1. การขุดลอกคลอง การซ่อมกำแพงเมืองจีน การสร้างตำหนักตากอากาศและสวนต่าง ๆ และการเกณฑ์ทหารและกำลังคนมาสร้างที่อำนวยในการรบ เช่นเรือ รถศึก ทำให้ในสิบกว่าปีที่สุยหยางตี้ครองราชย์ มีแรงงานที่ถูกเกณฑ์ไม่ต่ำกว่า 10,000,000 คน ก่อให้เกิดเหตุการณ์ “ทั่วหล้าล้มตายด้วยถูกเกณฑ์แรงงาน” อันแสนอนาถ

2. สุยหยางตี้ได้ออกท่องเที่ยวทุกปี และทุกครั้งที่ออกท่องเที่ยว จะต้องสร้างตำหนักตากอากาศเอาไว้ ก่อกวนปล้นสะดมส่วนภูมิภาค สิ้นเปลืองแรงงาน วัตถุและทรัพย์สิน ผลผลิตของประเทศถูกทำลายอย่างรุนแรง บรรดาตำหนักและวังต่าง ๆที่ทรงสร้างที่มีชื่อเสียงได้แก่ วังเสี่ยนเหรยินกงและซีเยวี่ยน (สวนสัตว์ธรรมชาติตะวันตก) ที่ลั่วหยาง วังเจียงตูและวังหลินเจียงที่เมืองเจียงตู วังจิ้นหยางที่เมืองจิ้นหยาง วังเฝินหยางที่เฝินหยาง วังหงหนงกงที่เมืองหงหนง วังหลินซั่วที่จัวจวิ้น วังหลินอวี๋ที่ด่านหลินอวี๋เป็นต้น

ยกตัวอย่างความฟุ่มเฟือย ซีเยวี่ยน (สวนสัตว์ตะวันตก) อยู่ทางตะวันตกของลั่วหยาง อาณาบริเวณสองร้อยกว่าลี้ (หนึ่งร้อยกว่ากิโลเมตร) ในสวนสัตว์มีสระจีชุ่ยฉือ (สระรวมมรกต) เป็นสระที่ขุดด้วยแรงงานคน อาณาบริเวณสิบกว่าลี้ (1 ลี้ = 0.5 km.) กลางสระได้สร้างภูเขาเทพจำลองสามลูก บนภูเขาจำลองมีหอ เก๋ง และศาลาริมน้ำมากมาย ทางตอนเหนือของสระมีคลองขุดหลงหลิน (มังกรกิเลน) เลียบริมคลองมีเรือนพัก 16 แห่ง แต่ละเรือนมีฟูเหรยิน (คำเรียกภรรยาของผู้สูงศักดิ์) ระดับสี่ขึ้นไปเป็นผู้ดูแล ยามฤดูใบไม้ร่วงที่ดอกไม้ต่างร่วงโรยหมด ก็ตัดผ้าดิ้นสีสันต่าง ๆมาทำเป็นใบไม้ เมื่อสีตกแล้วก็ทำใหม่

เวลาที่สุยหยางตี้ไปเที่ยวเจียงตู จะนำบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง พระสนม นางกำนัลร่วมขบวนรวมทั้งหมดประมาณ 200,000 คน ขบวนเสด็จยาวสองร้อยกว่าลี้ (หนึ่งร้อยกว่ากิโลเมตร) บรรดาจังหวัดและอำเภอที่ผ่านในระยะ 500 ลี้ ต่างต้องมาถวายพระกระยาหารและเครื่องบรรณาการ ความฟุ่มเฟือยในการจับจ่ายใช้สอยเป็นไปอย่างรุนแรงและร้ายแรงถึงขีดสุด นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในรายการความฟุ่มเฟือยทั้งหมด

หลังจากที่หยางเสวียนก่านลุกฮือขึ้นก่อการกบฏแล้ว กบฏชาวนาได้แผ่ลุกลามไปทั่วประเทศ สุยหยางตี้ยังเพ้อฝันจะหยุดยั้งกบฏชาวนาโดยการสั่งให้ส่วนภูมิภาคต่าง ๆสร้างป้อมเมืองขึ้น แล้วอพยพชาวเมืองไปไว้ในป้อมและให้ทำนาในบริเวณใกล้ ๆป้อม เพื่อจะได้ง่ายต่อการควบคุม สุยหยางตี้ไม่ยอมเบิ่งตารับรู้สภาพความจริงของกบฏชาวนาว่าได้ลุกลามไปจนเกินกว่าจนกำราบได้ และบรรดาขุนนางที่ข้างกายก็กลัวจะโดนลงอาญาจนไม่กล้ากราบทูลความจริง โดยโกหกว่า กบฏชาวนาได้ “ลดน้อยลง”

ปีที่ 12 ศักราชต้าเยี่ย (ค.ศ. 616) สุยหยางตี้เดินทางจากตงตู (เมืองหลวงตะวันออก) ลั่วหยางไปเจียงตู ปีที่ 13 (ค.ศ. 617) กองทัพกบฏ “หว่ากางจวิน” ที่นำโดย “หลี่มี่” เข้าล้อมตงตู และได้ประกาศโทษมหันต์ของสุยหยางตี้ 10 ประการ สุยหยางตี้ที่เจียงตูกลับยิ่งใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยเหลวแหลก โดยออกคำสั่งให้หวางซื่อชงเลือกเฟ้นสาวงามในแถบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงและแม่น้ำหวยเหอมาเพิ่มเติมในวังหลัง เสพสุขกับสุรานารีเคล้าดนตรีทุกวัน

ปีที่ 14 ศักราชต้าเยี่ย (ค.ศ. 618) วันที่ 10 เดือน 3 พวกขุนนาง เช่น ขุนพลโย่วตุนเว่ย (ชื่อตำแหน่ง) อวี่เหวินฮั่วจี๋ ขุนพลหู่เปินหลาง (ขุนพลองครักษ์) ซือหม่าเต๋อคาน เผยเฉียนทง และอวี่เหวินจื้อจี๋เป็นต้น สมคบกันยกทัพก่อการกบฏ บุกเข้าวังจับกุมตัวสุยหยางตี้เอาไว้ พวกเผยเฉียนทงสนับสนุนให้อวี่เหวินฮั่วจี๋เป็นอัครมหาเสนาบดี (อวี่เหวินฮั่วจี๋เป็นพวกชนชั้นสูง เป็นบุตรของขุนพลใหญ่อวี่เหวินซู่ เป็นพี่ชายของอวี่เหวินจื้อจี๋ ค่อนข้างโง่ นิสัยโหดเหี้ยม เพียงแต่ในขณะนั้นมีตำแหน่งสูงเท่านั้น)

หลังจากที่ถูกยกให้เป็นอัครมหาเสนาบดีแล้ว อวี่เหวินฮั่วจี๋ก็สั่งแขวนคอสุยหยางตี้ทันที จากนั้นก็สั่งประหารพระบรมวงศานุวงศ์และบรรดาเชื้อพระวงศ์รวมทั้งบรรดาราชินีกูลและพระญาติฝ่ายฮองเฮาลงทั้งหมด ไม่เว้นแม้ชราทารก ทั้งยังประหารบรรดาขุนพลต่าง ๆ หลงเหลือเพียงหลานอาของสุยหยางตี้ ฉินหวาง หยางเฮ่า ฉินหวาง หยางเฮ่าถูกแต่งตั้งเป็นฮ่องเต้ ความจริงคือการกักบริเวณ อวี่เหวินฮั่วจี๋กุมอำนาจทั้งหมด

ขณะเดียวกันหลี่เยวียน (บิดาถังไท่จง) ที่ตีเมืองฉางอานแตกได้แล้ว ก็ตั้งต้ายหวาง หยางโย่วเป็นฮ่องเต้หุ่น หลี่เยวียนเป็นอัครมหาเสนาบดีกุมอำนาจ เมื่ออวี่เหวินฮั่วจี๋แขวนคอสุยหยางตี้จนตายเรียบร้อยแล้ว หลี่เยวียนก็ปลดพระเจ้ากงตี้ หยางโย่วที่เป็นฮ่องเต้หุ่น แล้วตั้งตนเป็นฮ่องเต้แทน เปลี่ยนชื่อประเทศจากสุยเป็น “ถัง”

ราชวงศ์สุยล่มสลาย

ไม่มีความคิดเห็น: