6/03/2552

การเดินทางของเจิ้งเหอ (3)

เจิ้งเหอปราบโจรสลัดบริเวณช่องแคบมะละกา
เจิ้งเหอออกเดินทางท่องสมุทรรวม 7 ครั้ง ระหว่างปี (1405-1433) โดยอาจแบ่งช่วงการเดินทางของเจิ้งเหอออกเป็นสองส่วน โดยให้การเดินทางสามครั้งแรกของเจิ้งเหอ เป็นระยะแรก และสี่ครั้งหลังเป็นระยะหลัง

ระยะแรก ได้แก่ การเดินทางครั้งแรก(ปี 1405 – 1407) ครั้งที่สอง(ปี 1407 – 1409) และครั้งที่สาม (ปี 1409 – 1411)
ขอบเขตการเดินทางของเจิ้งเหออยู่ในแถบเอเชียอาคเนย์ และเอเชียใต้ โดยมีจุดหมายเพื่อสร้างไมตรีอันดีและคลี่คลายปมปัญหาความขัดแย้งของดินแดนแถบนี้ (ซึ่งก็แน่นอนว่าหากการเดินทางในดินแดนแถบนี้ยังไม่สะดวกปลอดภัยเพียงพอ การเดินทางคราวต่อไปที่มีระยะทางไกลยิ่งกว่าย่อมทำได้ยาก) เนื่องจากในเวลานั้นบรรยากาศความขัดแย้งในบริเวณดังกล่าวทวีความร้อนแรงขึ้น (เสียนหลอ(กรุงศรีอยุธยาตอนต้น) – มะละกา – ลังกา) และในการมาเยือนครั้งที่สองของเจิ้งเหอ ยังได้มีส่วนในการปรับเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองภายในของกรุงศรีอยุธยาครั้งสำคัญอีกด้วย (จากหนังสือ เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง” โดยปริวัฒน์ จันทร)


แผนที่เส้นทางการเดินเรือของเจิ้งเหอ
เส้นทางการเดินเรือของเจิ้งเหอ ครั้งที่ 1 - 3 ได้แก่ เมืองหนันจิง - เมืองจัมปา (เวียดนาม) - สยาม - มะละกา (มาเลเซีย) - บอร์เนียว - ชวา - เกาะสุมาตรา (อินโดนีเซีย) - ลังกา(ศรีลังกา) สู่ปลายทางที่ เมืองโคชิน - คีลอนและคาลิคัท(เมืองท่าชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย) เป็นต้น
ระยะหลัง ได้แก่ การเดินทางครั้งที่สี่ (ปี 1412 – 1413) ห้า (ปี 1416 – 1419) หก (ปี 1421 -1425) และเจ็ด (ปี 1430 -1433)
ได้มีการขยายขอบเขตการเดินทางออกไปถึงอ่าวเปอร์เซีย ทะเลแดง และชายฝั่งทะเลตะวันออกของทวีปแอฟริกา โดยมีเป้าหมายสำคัญนอกจากสร้างสันถวไมตรีทางการทูต ก็คือการแลกเปลี่ยนสินค้า


รูปหล่อสำริด “เจิ้งเหอ” ที่ขุดพบในอินเดีย
ระยะหลัง ได้แก่ การเดินทางครั้งที่สี่ (ปี 1412 – 1413) ห้า (ปี 1416 – 1419) หก (ปี 1421 -1425) และเจ็ด (ปี 1430 -1433)
ได้มีการขยายขอบเขตการเดินทางออกไปถึงอ่าวเปอร์เซีย ทะเลแดง และชายฝั่งทะเลตะวันออกของทวีปแอฟริกา โดยมีเป้าหมายสำคัญนอกจากสร้างสันถวไมตรีทางการทูต ก็คือการแลกเปลี่ยนสินค้า

การเดินทางครั้งที่สี่ ถือเป็นการเดินทางครั้งสำคัญของเจิ้งเหอ เพราะนอกจากจะบุกเบิกเส้นทางการค้าใหม่ ขยายขอบเขตการเดินทางสู่คาบสมุทรอาระเบียและเมืองท่าชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาได้เป็นผลสำเร็จแล้ว เจิ้งเหอยังนำคณะทูตจากดินแดนอันไกลโพ้นจากหลายประเทศ ติดตามกลับมาเพื่อเยี่ยมเยือนจีนเป็นครั้งแรกอีกด้วย และหนึ่งใน “ของขวัญ” ที่พวกเขานำมาถวายให้กับจักรพรรดิจีน ก็คือ “กิเลน” (ยีราฟ) ซึ่งถือเป็นสัตว์มงคลในเทพตำนานของจีน ดังนั้นจึงมี ‘ผลตอบรับ’จากราชสำนักในเวลานั้นไม่น้อย

คาลิคัทเมืองท่าโบราณของอินเดีย
ปี 1425 จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่สิ้น* จักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า หมิงเหยินจง (明仁宗)ราชสำนักมีความเห็นแตกแยกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายขันทีให้การสนับสนุนการเดินทางของเจิ้งเหอ ขณะที่ฝ่ายขุนนางฝ่ายอนุรักษ์นิยม นำโดยเซี่ยหยวนจี๋ (夏元吉)เห็นว่าการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าจากต่างประเทศ เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยและไร้ประโยชน์ จักรพรรดิองค์ใหม่ให้การสนับสนุนฝ่ายเซี่ยหยวนจี๋ จึงสั่งระงับการเดินทางของขบวนเรือ รวมทั้งการเตรียมการทั้งหมด** ขณะที่เจิ้งเหอได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาเมืองหนันจิง แต่หมิงเหยินจงครองราชย์ได้ไม่ถึงปี ก็ล้มป่วยสิ้นพระชนม์ลง องค์ชายจูจานจี(朱瞻基)ได้สืบราชบัลลังก์ต่อมาเป็นหมิงเซวียนจง (明宣宗)
แผ่นศิลาจารึกสามภาษาที่เจิ้งเหอได้นำขึ้นมาไว้บนฝั่งของลังกา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงโคลัมโบ ศรีลังกา
*ปลายรัชสมัยหมิงเฉิงจู่ ทรงย้ายเมืองหลวงไปยังปักกิ่ง แต่หลังจากนั้นไม่นาน พระราชวังต้องห้ามก็เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ กล่าวกันว่า เป็นเหตุให้การเดินทางครั้งที่หกของเจิ้งเหอต้องล้มเลิกแต่กลางครัน ทั้งส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงภายในราชสำนัก ในการนำกองเรือสู่ท้องทะเลอีกครั้งหนึ่ง

**ได้มีข้อสันนิษฐานว่า ข้อมูลการเดินเรือ และบันทึกการเดินทางส่วนใหญ่ของเจิ้งเหอได้ถูกทำลายลงในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อไม่ให้มีการรื้อฟื้นการเดินทางขึ้นอีก เป็นเหตุให้หลักฐานและข้อมูลที่ได้จากการเดินทางทั้งหมดสูญหายไป บ้างสันนิษฐานว่า หลักฐานการเดินทางของเจิ้งเหอได้ถูกปกปิดไว้โดยเซี่ยหยวนจี๋ และถูกทำลายไประหว่างการชำระประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิงในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง ซึ่งในกระบวนการดังกล่าว เอกสารที่ “ไม่สำคัญ” จะถูกทำลายทิ้ง

เงินลังการูปสัตว์ ที่พ่อค้าจีนใช้แลกเปลี่ยนสินค้าในสมัยนั้น
ภายหลัง เนื่องจากบรรณาการจากประเทศต่างๆลดน้อยลงไปมาก ประกอบกับเซี่ยหยวนจี๋ฝ่ายค้านคนสำคัญ ล้มป่วยเสียชีวิตลง หมิงเซวียนจงจึงทรงอนุญาตให้เจิ้งเหอและหวังจิ่งหง ออกนำขบวนเรือเดินทางไกลอีกครั้งในปี 1430 ซึ่งเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของเจิ้งเหอและกองเรืออันยิ่งใหญ่ ก่อนการเดินทางครั้งสุดท้ายนี้ ขบวนเรือของเจิ้งเหอได้แวะพักที่เมืองฝูเจี้ยน ทำพิธีจัดตั้งป้ายศิลาจารึกเพื่อบูชาเจ้าแม่เทียนเฟย(เจ้าแม่ทับทิม) อันเป็นที่เคารพบูชาของชาวเรือทั้งหลาย โดยป้ายศิลาจารึกดังกล่าว ได้จารึกเรื่องราวการเดินทางก่อนหน้านั้นเอาไว้ และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานชิ้นสำคัญในการเดินทางของเจิ้งเหอที่หลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน

เส้นทางการเดินเรือของเจิ้งเหอ ครั้งที่ 4 -7 ได้แก่ เมืองหนันจิง – ฝูเจี้ยน - เมืองจัมปา - สยาม - มะละกา - บอร์เนียว - ชวา - เกาะสุมาตรา - หมู่เกาะมัลดีฟส์ เข้าสู่คาบสมุทรอาระเบีย สู่เมืองท่าฮอร์มุซ - เอเดน (เยเมน) เข้าสู่ทะเลแดง เมดินา - เมกกะ เลียบเมืองชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา ได้แก่ มากาดิซู บราวา มาลินดี(เคนยา) หมู่เกาะลามู หมู่เกาะมาดากัสการ์ เป็นต้น

ส่วนหนึ่งของเครื่องถ้วยที่เคยเป็นสินค้าส่งออกของจีน
ปริศนาการตายของเจิ้งเหอ
เกี่ยวกับคำถามที่ว่า เจิ้งเหอเสียชีวิตเมื่อไหร่? ที่ไหน? อย่างไร?และได้รับการบรรจุฝังที่ใดนั้น ปัจจุบัน ยังคงเป็นปริศนา บนเชิงเขาหนิวโซ่วซานนอกเมืองหนันจิง มีสุสานของเจิ้งเหอ ที่ทายาทรุ่นต่อมาเฝ้าดูแลรักษา ได้เคยมีการขุดค้นหลุมศพแห่งนี้ในช่วงปี 1960 -1970 แต่พบว่าภายในว่างเปล่า โดยครอบครัวของเจิ้งเหอเชื่อว่า เจิ้งเหอเสียชีวิตระหว่างการเดินทางที่เมืองคาลิคัทในอินเดีย สิริรวมอายุ 62 ปี ร่างของเจิ้งเหอได้ถูกปล่อยลงสู่ท้องมหาสมุทรตามวิถีของชาวเรือ และนำปอยผมและเสื้อผ้ากลับมา บ้างว่าร่างของเจิ้งเหอได้รับการกลบฝังไว้ที่เมืองคาลิคัท ขณะที่ ในบันทึกประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ ระบุว่า เจิ้งเหอได้กลับมาพร้อมขบวนเรือ และเสียชีวิตที่หนันจิงในอีกสองปีต่อมา
ภาพการถวาย “กิเลน” หรือยีราฟที่ได้รับการจดบันทึกในประวัติศาสตร์จีน
การเดินทางของเจิ้งเหอ ยังได้ทิ้งปริศนาที่ยังไม่อาจคลี่คลายเอาไว้มากมาย เช่นว่า เจิ้งเหอได้เดินทางถึงทวีปออสเตรเลียหรือไม่ ? ได้เป็นผู้ค้นพบทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัส? หรือเคยเดินทางรอบโลกมาแล้ว? เหตุใดข้อมูลการเดินทางของเจิ้งเหอจึงสูญหายไปจนหมดสิ้น? เหตุใดขบวนเรือขนาดมโหฬาร และการค้าทางทะเลที่รุ่งเรืองขนาดนี้จึงจบสิ้นลงพร้อมกับการตายของเจิ้งเหอ? การเดินทางสมุทรยาตราที่ 7 ครั้งเป็นปัจจัยเร่งให้ราชวงศ์หมิงเสื่อมโทรมลง? ไม่ว่าคำตอบจะเป็นเช่นไร แต่ในความเป็นจริงคือ นับแต่นั้นมา ประเทศจีนได้ดำเนินนโยบายปิดกั้นทางทะเล ตัดขาดจากโลกภายนอกต่อมาเป็นเวลากว่า 400 ปี นำมาซึ่งการถดถอยของวิทยาการความรู้และความยิ่งใหญ่เหนือน่านน้ำที่เคยมี การเดินทางสมุทรยาตราของเจิ้งเหอ กลายเป็นเส้นแบ่งระหว่างยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองและความเสื่อมในประวัติศาสตร์อารยธรรมของชนชาติจีน
ตึกแดง ที่พักทายาทรุ่นหลังของเจ้าชายจากลังกาที่เมืองเฉวียนโจว ประเทศจีน ปัจจุบันใช้แซ่ ซื่อ(世)
อนึ่ง เรื่องราวการเดินทางของเจิ้งเหอ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์การเดินเรือของชนชาติจีนและของโลก แต่บันทึกเรื่องราวการเดินทางของเจิ้งเหอเป็นลายลักษณ์อักษรโดยตรงที่หลงเหลืออยู่กลับมีไม่มากนัก ผู้ศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้โดยมากจึงได้แต่อาศัยการขุดค้นทางโบราณคดีและจากบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในยุคนั้น เป็นร่องรอยในการศึกษาวิจัยเรื่องราวความเป็นไปเกี่ยวกับเจิ้งเหอและกองเรือมหาสมบัติของเขา


ระฆังที่เจิ้งเหอสร้างก่อนการเดินทางครั้งสุดท้ายเพื่อบูชาต่อฟ้าดินให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่หอนิทรรศการ สวนสาธารณะเจิ้งเหอ เมืองหนันจิง

ไม่มีความคิดเห็น: