4/23/2552

สมัยชุนชิวจั้นกว๋อ (770 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 221 ปีก่อนคริสต์ศักราช

ห้านักปราชญ์ซึ่งถือเป็นผู้นำทางความคิดในสมัยชุนชิวจั้นกว๋อได้แก่ เหลาจื่อ สวินจื่อ จวงจื่อ ม่อจื่อและขงจื่อ ตามลำดับจากซ้ายมาขวา
“การแย่งชิงอำนาจเพื่อให้ได้ตำแหน่งผู้นำในจงหยวนนั้น เริ่มต้นจาก ฉีหวนกงเจ้าแคว้นฉีมอบหมายให้เสนาบดีก่วนจ้ง แก้ไขปรับปรุงระบบการปกครองภายใน ทำให้แคว้นฉีเข้มแข็งขึ้น อีกทั้งยังดำเนินกุศโลบายเรียกร้องให้ ‘พิทักษ์โจว ปราบอี๋’ นั่นคือพิทักษ์ราชสำนักโจวและร่วมมือปราบปรามชนเผ่านอกจงหยวน”
ในสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก ผู้นำจะรักษาฐานอำนาจการปกครองของตนโดยมีตำแหน่ง ‘เจ้าแห่งฟ้า’ ซึ่งมีศักดินาสูงสุด อีกทั้งสามารถห้ามไม่ให้บรรดาเจ้าแคว้นร่วมมือหรือรบพุ่งซึ่งกันและกัน เมื่อโจวผิงหวัง ย้ายเมืองหลวงไปตะวันออก (ถือเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์โจวตะวันตกและเริ่มเข้าสู่ยุคโจวตะวันออก) ราชสำนักโจวก็อ่อนแอลง จึงไม่มีอำนาจปกครองเหนือเหล่าแว่นแคว้นต่าง ๆอีก ทำให้เกิดเป็นสภาวะสุญญากาศทางการเมืองขึ้นในภูมิภาคนี้
ขณะเดียวกัน ชนเผ่าหมาน อี๋ และหรงตี๋ ที่อยู่รอบนอกตามตะเข็บชายแดน ซึ่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากแผ่นดินจงหยวน(ดินแดนแถบที่ราบภาคกลางของจีน) อีกทั้งมีการผสมผสานระหว่างชนเผ่า ทำให้ชุมชนเหล่านี้เจริญก้าวหน้าตามติดมาอย่างกระชั้นชิด ในขณะที่แว่นแคว้นต่าง ๆในแถบจงหยวนมีเงื่อนไขของความเจริญรุดหน้าที่ไม่ทัดเทียมกัน มีบ้างเข้มแข็ง บ้างอ่อนแอ ดังนั้น ทั่วทั้งภูมิภาคจึงเกิดการจับขั้วของอำนาจระหว่างแคว้น มีทั้งความร่วมมือและแย่งชิงอำนาจความเป็นใหญ่ ดังนั้น ในยุคราชวงศ์โจวตะวันออกจึงเป็นยุคที่มีความพลิกผันทางการเมืองอย่างสูง แต่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งของการรวมประเทศจีนในอนาคต
โจวผิงหวังเมื่อย้ายนครหลวงไปยังตะวันออก ดินแดนฝั่งตะวันตกก็กลายเป็นแคว้นฉิน ครอบคลุมเขตแดนของชนเผ่าหรง และดินแดนโดยรอบ กลายเป็นแคว้นที่เข้มแข็งทางตะวันตก สำหรับแคว้นจิ้น ปัจจุบันอยู่ในมณฑลซานซี ส่วนแคว้นฉี และหลู่ อยู่ในมณฑลซานตง แคว้นฉู่ อยู่ในมณฑลหูเป่ย สำหรับปักกิ่งและดินแดนทางตอนเหนือของมณฑลเหอเป่ยในปัจจุบันเป็นแคว้นเอี้ยน นอกจากนี้ทางตอนใต้ของลำน้ำฉางเจียงหรือแยงซีเกียงก่อเกิดเป็นแว่นแคว้นต่าง ๆมากมาย อาทิ แคว้นอู๋ แคว้นเยว่ เป็นต้น ล้วนเกิดจากการรวบรวมแว่นแคว้นเล็กที่อยู่โดยรอบเขตแดนของตน จนกระทั่งมีกำลังเข้มแข็งขึ้น ดังนั้นเองประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าว จึงกลายสมรภูมิเลือดแห่งการแย่งชิงอำนาจของเจ้าแคว้นเหล่านี้
การแย่งชิงอำนาจเพื่อให้ได้ตำแหน่งผู้นำที่ครองอำนาจเด็ดขาดในจงหยวนนั้น เริ่มต้นจาก ฉีหวนกงเจ้าแคว้นฉีมอบหมายให้เสนาบดีก่วนจ้ง แก้ไขปรับปรุงระบบการปกครองภายใน ทำให้แคว้นฉีเข้มแข็งขึ้น อีกทั้งยังดำเนินกุศโลบายเรียกร้องให้ ‘พิทักษ์โจว ปราบอี๋’ นั่นคือพิทักษ์ราชสำนักโจวและร่วมมือปราบปรามชนเผ่านอกจงหยวน อาทิเช่น ร่วมมือกับแคว้นเอี้ยนปราบชนเผ่าหรง หรือร่วมมือกับแคว้นต่าง ๆหยุดยั้งการรุกรานของชนเผ่าตี๋ เป็นต้น

ก่วนจ้ง ที่ปรึกษาเอกแห่งแคว้นฉี
นอกจากนี้ ในปี656 ก่อนคริสตศักราช แคว้นฉียังร่วมกับแคว้นหลู่ ซ่ง เจิ้ง เฉิน เว่ย สวี่ และเฉา ยกทัพปราบแคว้นฉู่ เพื่อทวงถามบรรณาการให้กับราชสำนักโจว แต่เดิมแคว้นฉู่มีกำลังทหารที่เข้มแข็ง แต่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการศึกปีแล้วปีเล่า อีกทั้งระย่อต่อความฮึกหาญของฉีหวนกง จึงได้แต่ยอมทำสัญญาสงบศึก หลังจากนั้น ฉีหวนกงก็เรียกชุมนุมบรรดาเจ้าแคว้นต่าง ๆอีกหลายครั้ง ราชสำนักโจวก็ส่งตัวแทนเข้าร่วมการชุมนุมด้วย ยิ่งเป็นการเสริมสร้างอำนาจบารมีให้กับฉีหวนกงกลายเป็นผู้นำในดินแดนจงหยวน
เมื่อแคว้นฉีเป็นใหญ่ในดินแดนจงหยวน แคว้นฉู่ซึ่งจึงได้แต่ขยายอำนาจลงไปทางตอนใต้ เมื่อสิ้นฉีหวนกงแล้ว แคว้นฉีเกิดการแย่งชิงอำนาจภายใน เป็นเหตุให้อ่อนแอลง แคว้นฉู่จึงได้โอกาสขยับขยายขึ้นเหนือมาอีกครั้ง ซ่งเซียงกง เจ้าแคว้นซ่งคิดจะสืบทอดตำแหน่งผู้นำจงหยวนแทนฉีหวนกง จึงเข้าต่อกรกับแคว้นฉู่ สุดท้ายแม้แต่ชีวิตก็ต้องสูญสิ้นไป เมื่อเป็นเช่นนี้ แคว้นพันธมิตรที่เคยอยู่ภายใต้การนำของแคว้นฉี อาทิ แคว้นหลู่ ซ่ง เจิ้ง เฉิน ไช่ สวี่ เฉา เว่ย เป็นต้น ต่างก็พากันหันมาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับแคว้นฉู่ แทน

ติ่ง’รูปนก ด้านข้างจารึกอักษรเล่าความเป็นมาว่าแคว้นเอี้ยนถูกรุกรานจากชนเผ่าหรง ฉีหวนกงเจ้าแคว้นฉียกกำลังมาช่วยขับไล่ศัตรูไป เจ้าแคว้นเอี้ยนจึงจัดทำภาชนะ ‘ติ่ง’ขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์
ในขณะที่แคว้นฉู่คิดจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำจงหยวนนั้นเอง แคว้นจิ้น ก็เข้มแข็งขึ้นมา
-- จิ้นเหวินกง หลังจากที่ระหกระเหินลี้ภัยการเมืองไปยังแคว้นต่าง ๆนั้น เมื่อได้กลับสู่แว่นแคว้นของตน ก็ทำการปรับการปกครองภายในครั้งใหญ่ เพิ่มความเข้มแข็งทางการทหาร อีกทั้งยังคิดแย่งชิงตำแหน่งผู้นำจงหยวน
ขณะนั้นโจวเซียงหวัง ผู้นำของราชวงศ์โจวตะวันออกถูกบุตรชายสมคบกับชาวตี๋ ขับไล่ออกจากวัง จิ้นเหวินกงเห็นว่าเป็นโอกาสในการก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำจงหยวน จึงนัดแนะบรรดาเจ้าแคว้นต่าง ๆ เพื่อล้มบัลลังก์ขององค์ชายผู้ทรยศ จากนั้นจัดส่งโจวเซียงหวังกลับสู่ราชสำนักโจว จึงได้รับ ‘ธวัชเชิดชูเกียรติ’ ต่อมาในปี 632 ก่อนคริสตศักราช กองทัพของจิ้นและฉู่สองแคว้นเข้าปะทะกันที่เมืองผู ทัพจิ้นได้ชัยเหนือทัพฉู่ หลังการศึกครั้งนี้ จิ้นเหวินกงเรียกประชุมแคว้นพันธมิตร โจวหวังก็เข้าร่วมประชุมด้วย และได้ประทานตำแหน่ง ผู้นำจงหยวนให้กับจิ้นเหวินกง
ในช่วงเวลาแห่งการแย่งตำแหน่งผู้นำจงหยวนระหว่างแคว้นจิ้นและฉู่นั้นเอง แคว้นฉี และฉินได้กลายเป็นขั้วมหาอำนาจทางทิศตะวันออกและตะวันตกไป ในช่วงปลายยุคชุนชิว แคว้นฉู่ร่วมมือกับฉิน แคว้นจิ้นจับมือกับฉี สองฝ่ายต่างมีกำลังที่ทัดเทียมกัน ทว่า สภาวะแห่งการแก่งแย่งตำแหน่งผู้นำจงหยวนกลับทวีความขัดแย้งทางการเมืองภายในของแต่ละแคว้นมากขึ้น ดังนั้น จึงถึงจุดสิ้นสุดของยุคผู้นำที่ ‘ชูธงนำทัพ’ออกปราบปรามบรรดาชนเผ่าภายนอก เมื่อถึงปีก่อนคริสตศักราช 579 แคว้นซ่งทำสัญญาพันธมิตรกับแคว้นจิ้นและฉู่ว่าต่างฝ่ายจะไม่โจมตีกัน มีการส่งทูตเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างกัน จะให้ความช่วยเหลือเมื่ออีกฝ่ายตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก และจะเข้าร่วมรบต้านทานศัตรูจากภายนอก
‘ธงนำทัพ’เป็นเครื่องมือที่แสดงถึงความร่วมมือและการแย่งชิงอำนาจของผู้นำจงหยวน การยกเลิก‘ธงนำทัพ’ยังเป็นการสะท้อนถึงความพยายามของบรรดาแว่นแคว้นเล็ก ๆที่ต้องการดิ้นรนให้หลุดพ้นจากการควบคุมของแคว้นมหาอำนาจอีกด้วย
ในปี 575 ก่อนคริสตศักราช แคว้นจิ้นและฉู่เปิดศึกครั้งใหญ่ที่เยียนหลิง ฉู่พ่ายแพ้ และเมื่อปี 557 ก่อนคริสตศักราช สองแคว้นเปิดศึกอีกครั้งที่จั้นป่าน ฉู่พ่ายแพ้อีกครั้ง ในช่วงเวลานี้ ก็มีการศึกระหว่างแคว้นอีกหลายครั้งเช่น แคว้นจิ้นกับฉิน จิ้นกับฉี จิ้นล้วนเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ จนกระทั่งปี 546 ก่อนคริสตศักราช แคว้นซ่ง ร่วมกับแว่นแคว้นอื่นอีกนับสิบแคว้น ทำสัญญาทางไมตรีกับจิ้นและฉู่อีกครั้ง โดยสัญญาดังกล่าวระบุว่า “นับแต่นี้ไป บรรดาเจ้าครองแคว้นเล็ก ๆทั้งหลายจะจัดส่งบรรณาการให้กับแคว้นจิ้นและฉู่โดยเท่าเทียมกัน” ดังนั้น แคว้นจิ้นและฉู่จึงถือว่าได้แบ่งปันอำนาจกันฝ่ายละกึ่งหนึ่ง
คนโทน้ำดินเผา เขียนลายมังกร พยัคฆ์ หงส์ ที่ผ่านการเผาในอุณหภูมิสูงแล้วจึงนำมาเขียนลวดลายสีสันต่าง ๆ
ในขณะที่แคว้นจิ้นและฉู่เข้าแย่งชิงอำนาจผู้นำจงหยวนนั้นเอง ทางตอนใต้ของ
ลำน้ำฉางเจียงหรือแยงซีเกียงก็ได้ก่อเกิดแคว้นอู๋ (吴)และแคว้นเยว่ (越) ขึ้น แคว้นจิ้นได้จับมือ
กับแคว้นอู๋ เพื่อต้านทานอำนาจฉู่ ดังนั้น ระหว่างแคว้นอู๋และฉู่จึงเกิดศึกกันหลายครั้ง ในปี 506ก่อน
คริสตศักราช แคว้นอู๋ยกทัพบุกแคว้นฉู่ ได้รับชัยชนะอย่างงดงาม โดยสามารถรุกเข้าถึงเมืองหลวง
ของฉู่ นับแต่นั้นมา กำลังอำนาจของแคว้นฉู่ก็ถดถอยลง
ในขณะที่แคว้นจิ้นจับมือแคว้นอู๋เพื่อจัดการแคว้นฉู่ แคว้นฉู่ก็ร่วมมือกับแคว้นเยว่
เพื่อป้องกันอู๋ ดังนั้น ระหว่างแคว้นอู๋และแคว้นเยว่จึงเกิดศึกไม่ขาด เจ้าแคว้นอู๋นามเหอหลี (阖闾)
เสียชีวิตในสมรภูมิรบ ราชบุตรฟูไช (夫差)สาบานว่าจะพิชิตโกวเจี้ยน (勾践)เจ้าแคว้นอู๋
เพื่อล้างแค้นให้กับบิดา และในปีถัดมาเมื่อโกวเจี้ยนยกทัพมาอีกครั้งจึงต้องพ่ายแพ้กลับไป
โกวเจี้ยนแสร้งว่ายอมศิโรราบ ถึงกับยอมทน ‘นอนบนพื้นหญ้า ลิ้มชิมดีขม’ (卧薪尝胆)
เพื่อสั่งสมกำลังพล รอจังหวะโอกาสอันดีขณะที่ฟูไชเจ้าแคว้นอู๋ขึ้นเหนือเพื่อช่วงชิง
ตำแหน่งผู้นำจงหยวนกับแคว้นจิ้นนั้นเอง โกวเจี้ยนก็ยกทัพบุกเมืองหลวงของแคว้นอู๋
ฟูไชได้แต่รีบกลับมาเจรจายอมสงบศึก แต่ต่อมาอีกไม่นานนัก แคว้นเยว่ก็สามารถบุกทำลาย
แคว้นอู๋ลงได้อย่างราบคาบ จากนั้นโกวเจี้ยนก็ขยายอิทธิพลขึ้นเหนือ เพื่อเข้าร่วมชุมนุมเจ้า
แคว้นเพื่อก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำจงหยวน ในยุคชุนชิว(春秋) [ปี 770-476 ก่อนคริสตศักราช]
นี้ ความร่วมมือและสู้รบของแคว้นต่าง ๆ นอกจากเป็นการกระตุ้นความเจริญทางเศรษฐกิจ
และสังคมของแว่นแคว้นและดินแดนต่าง ๆแล้ว ยังมีส่วนช่วยเร่งเร้าการหลอมรวมเผ่าพันธุ์ระหว่าง
ชนเผ่าให้เป็นหนึ่งเดียวอีกด้วย หลังจากผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โยกย้ายผลัดเปลี่ยนฝักฝ่ายแล้ว บรรดาเจ้าแคว้นขนาดเล็กก็ทยอยถูกกลืนโดย 7 นครรัฐใหญ่ และแคว้นรอบข้างอีกสิบกว่าแคว้น



เงินตราในสมัยชุนชิวจั้นกว๋อ (เรียงจากซ้ายมาขวา เงินตรารัฐฉี ฉู่ ฉิน แคว้นซ่ง และซันจิ้น)
โดยทั่วไปมี 3 รูปแบบคือ รูปทรงดาบ ทรงกลมมีรูตรงกลางและรูปสามขา ทำจากวัสดุที่
แตกต่างกันเช่น เปลือกหอย ดินเผา สำริด ทองคำเป็นต้น
“ฉินหวังเจิ้ง หรือต่อมาจิ๋นซีฮ่องเต้ ได้สืบราชบัลลังก์นครรัฐฉินต่อมา โดยมีที่ปรึกษาเช่น
เว่ยเหลียว หลี่ซือ เป็นต้น ช่วยเหลือในการถากถางเส้นทางในการรวบรวมแผ่นดิน บ้างใช้
เงินทองล่อซื้อบรรดาขุนนางของ 6 นครรัฐ แทรกซึมเข้าไปก่อความวุ่นวายในการปกครอง
ของนครรัฐทั้ง 6 อีกทั้งส่งกองกำลังรุกเข้าประชิดดินแดนปีแล้วปีเล่า กระทั่งทลายอำนาจของ
6 นครรัฐอำนาจใหญ่ และประเทศจีนก็รวมเป็นหนึ่งเดียว”
ยุคจั้นกว๋อ (战国)
เมื่อเข้าสู่ยุคจั้นกว๋อ (战国)หรือยุคสงคราม [ปี 475-221 ก่อนคริสตศักราช] จึงมีสภาพ
โดยรวมดังนี้ นครรัฐฉู่ (楚)คุมทางตอนใต้ นครรัฐเจ้า (赵)คุมทางเหนือ นครรัฐเอี้ยน (燕)คุมตะวันออกเฉียงเหนือ นครรัฐฉี (齐)คุมตะวันออก นครรัฐฉิน (秦)คุมตะวันตก โดยมีนครรัฐหาน (韩)นครรัฐวุ่ย (魏) อยู่ตอนกลาง ซึ่งในบรรดานครรัฐทั้ง 7 นี้ มี 3 นครรัฐใหญ่ที่ครอบคลุมดินแดนลุ่มน้ำหวงเหอหรือฮวงโหจากทิศตะวันตกสู่ตะวันออกอันได้แก่นครรัฐฉิน วุ่ยและฉี ซึ่งมีกำลังอำนาจยิ่ง
ใหญ่ทัดเทียมกัน นับจากวุ่ยเหวินโหว (魏文侯)เจ้านครรัฐวุ่ยขึ้นสู่อำนาจในช่วง
ก่อนคริสตศักราช 400 ซึ่งอยู่ในยุคปลายชุนชิวเป็นต้นมา ก็ได้นำพาให้นครรัฐวุ่ยก้าว
ขึ้นสู่ความเป็นรัฐมหาอำนาจในแผ่นดินจงหยวน เมื่อนครรัฐวุ่ยเข้มแข็งขึ้น เป็นเหตุ
ให้นครรัฐหาน เจ้า และฉินต่างหวาดระแวงซึ่งกันและกัน เป็นเหตุให้เกิดการกระทบ
กระทั่งกันไม่หยุดหย่อน ในช่วงก่อนคริสตศักราช 354 นั้นเอง นครรัฐเจ้า (赵)
โจมตีแคว้นเว่ย (卫)นครรัฐวุ่ยเห็นว่าแคว้นเว่ยเป็นแคว้นในปกครองของตน
จึงนำทัพบุกนครหานตาน (邯郸)ซึ่งเป็นเมืองหลวงของนครรัฐเจ้า นครรัฐเจ้าหันไป
ขอความช่วยเหลือจากนครรัฐฉี นครรัฐฉีจึงส่งแม่ทัพเถียนจี้ (田忌)ไปช่วยนครรัฐเจ้า
เถียนจี้ใช้กลศึกของซุนปิน (孙膑)เข้าปิดล้อมนครต้าเหลียง (大梁)เมืองหลวงของวุ่ย
เวลานั้นถึงแม้ว่ากองทหารของวุ่ยจะสามารถเข้าสู่นครหานตานได้แล้ว ทว่ากลับจำต้องถอน
กำลังเพื่อย้อนกลับไปกอบกู้สถานการณ์ของรัฐตน สุดท้ายเสียทีทัพฉีที่กุ้ยหลิง ถูกตีแตกพ่ายกลับไป
และในปีถัดมา นครรัฐวุ่ยและหานก็ร่วมมือกันโจมตีทัพฉีแตกพ่าย เมื่อถึงปี 342 ก่อนคริสตศักราช
นครรัฐวุ่ยโจมตีนครรัฐหาน นครรัฐหานขอความช่วยเหลือจากนครรัฐฉี นครรัฐฉีจึงมอบหมายให้
แม่ทัพเถียนจี้ออกศึกอีกครั้ง โดยครั้งนี้มีซุนปินเป็นที่ปรึกษาในกองทัพ วางแผนหลอกล่อให้ทัพวุ่ย
เข้าสู่กับดักที่หม่าหลิง ที่ซึ่งธนูนับหมื่นของทัพฉีเฝ้ารออยู่ ความพ่ายแพ้คราวนี้ผังเจวียน (庞涓)
แม่ทัพใหญ่ของนครรัฐวุ่ยถึงกับฆ่าตัวตาย รัชทายาทของนครรัฐวุ่ยถูกจับเป็นเชลย ‘การศึกที่หม่าหลิง’
(马陵之战)จึงนับเป็นการศึกครั้งสำคัญในยุคจั้นกว๋อ เนื่องจากได้สร้างดุลอำนาจทางตะวันออก
ระหว่างนครรัฐฉีและนครรัฐวุ่ยให้มีกำลังทัดเทียมกัน
ส่วนนครรัฐฉิน(秦) ภายหลังการปฏิรูปของซางเอียง (商鞅)โดยหันมาใช้กฎหมายใน
การปกครองแล้ว สามารถก้าวกระโดดขึ้นสู่ความเป็นรัฐมหาอำนาจที่เข้มแข็งที่สุดในบรรดา 7 นครรัฐ
ดังนั้นจึงเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลสู่ตะวันออก เริ่มจากปราบซันจิ้น** (ได้แก่นครรัฐหาน เจ้าและวุ่ย)
โดยเข้ายึดดินแดนฝั่งตะวันตกของนครรัฐวุ่ย จากนั้นขยายออกไปยังทิศตะวันตก ทิศใต้และเหนือ
เมื่อถึงปลายปี 400 ก่อนคริสตศักราช นครรัฐฉินก็มีดินแดนกว้างใหญ่ใกล้เคียงกับนครรัฐฉู่
มุกแก้ว ใช้เทคนิคการติดกระจก เป็นเครื่องประดับที่หาดูได้ยาก

ในขณะที่นครรัฐฉินเข้าโรมรันพันตูกับซันจิ้นนั้น นครรัฐฉีก็แผ่ขยายอำนาจออกไปทางตะวันออก ในปี 315 ก่อนคริสตศักราช เจ้านครรัฐเอี้ยนสละบัลลังก์ให้แก่เสนาบดีจื่อจือ เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายภายใน นครรัฐฉีจึงฉวยโอกาสนี้บุกโจมตีนครรัฐเอี้ยน แต่สุดท้ายประชาชนนครรัฐเอี้ยนลุกฮือขึ้นก่อหวอด เป็นเหตุให้กองทัพฉีต้องล่าถอยจากมา ขณะเดียวกัน รัฐที่สามารถต่อกรกับนครรัฐฉินได้มีเพียงนครรัฐฉีเท่า กลยุทธชิงอำนาจใหญ่ที่สำคัญในขณะนั้นคือ ฉินและฉี ต้องหาทางให้นครรัฐฉู่มาเสริมพลังของตนให้ได้
การปฏิรูปทางการเมืองของนครรัฐฉู่ล้มเหลว เป็นเหตุให้รัฐอ่อนแอลง
แต่ก็ยังมีดินกว้างใหญ่ไพศาล อีกทั้งประชากรจำนวนมากเป็นกำลังหนุน นครรัฐฉู่ร่วมมือกับนครรัฐฉี
ต่อต้านฉิน ส่งผลกระทบต่อการขยายดินแดนของนครรัฐฉิน ดังนั้นเอง นครรัฐฉินจึงส่งจางอี้
ไปเป็นทูตสันถวไมตรีกับนครรัฐฉู่ ชักชวนให้ฉู่ละทิ้งฉีเพื่อหันมาร่วมมือกับนครรัฐฉิน โดยฉินจะ
ยกดินแดนซาง กว่า 600 ลี้ให้เป็นการแลกเปลี่ยน ฉู่หวยหวัง เจ้านครรัฐฉู่ละโมบโลภมากจึงแตกหัก
กับนครรัฐฉี ต่อเมื่อเจ้านครรัฐฉู่ส่งคนไปขอรับที่ดินดังกล่าว นครรัฐฉินกลับปฏิเสธไม่รับรู้เรื่องราว
ฉู่หวยหวังโมโหโกรธา จึงจัดทัพเข้าโจมตีนครรัฐฉิน แต่กลับเป็นฝ่ายแพ้พ่ายกลับมา นครรัฐฉู่เมื่อ
ถูกโดดเดี่ยวและอ่อนแอ นครรัฐฉินจึงบุกเข้ายึดดินแดนจงหยวนได้อย่างวางใจ โดยเริ่มจาก
นครรัฐหาน และวุ่ย จากนั้นเป็นนครรัฐฉี
เมื่อถึงปี 286 ก่อนคริสตศักราช นครรัฐฉีล้มล้างแคว้นซ่ง เป็นเหตุให้แคว้นใกล้เคียงหวาดระแวง นครรัฐฉินจึงนัดหมายให้นครรัฐหาน เจ้า วุ่ยและเอี้ยนโจมตีนครรัฐฉีจนแตกพ่าย นครรัฐเอี้ยนที่นำทัพโดยแม่ทัพเล่ออี้ ฉวยโอกาสบุกนครหลินจือเมืองหลวงของนครรัฐฉีและเข้ายึดเมืองรอบข้างอีก 70 กว่าแห่ง ฉีหมิ่นหวัง เจ้านครรัฐฉีหลบหนีออกนอกรัฐ สุดท้ายถูกนครรัฐฉู่ไล่ล่าสังหาร นครรัฐฉีที่เคย
ยิ่งใหญ่เกรียงไกรต้องจบสิ้นลงในลักษณะนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ นครรัฐฉินจึงได้โอกาสแผ่อิทธิพลเข้าสู่
ภาคตะวันออก
ในปี 246 ก่อนคริสตศักราช ฉินหวังเจิ้ง (หรือต่อมาคือฉินสื่อหวงหรือจิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกของจีน) ได้สืบราชบัลลังก์นครรัฐฉินต่อมา โดยมีที่ปรึกษาเช่นเว่ยเหลียว หลี่ซือ เป็นต้น ช่วยเหลือในการถากถางเส้นทางในการรวบรวมแผ่นดิน บ้างใช้เงินทองล่อซื้อบรรดาขุนนางของ 6 นครรัฐ แทรกซึมเข้าไปก่อความวุ่นวายในการปกครองของนครรัฐทั้ง 6 อีกทั้งส่งกองกำลังรุกเข้าประชิดดินแดนปีแล้วปีเล่า เมื่อถึงปี 230 ก่อนคริสตศักราช นครรัฐฉินโจมตีนครรัฐหานแตกพ่ายไป เมื่อถึงปี 221 ก่อนคริสตศักราชกำจัดนครรัฐฉีสำเร็จ จากนั้น 6 นครรัฐต่างก็ทยอยถูกนครรัฐฉินกวาดตกเวทีอำนาจใหญ่ไป นับแต่นั้นมา ประเทศจีนก็รวมเป็นหนึ่งเดียว
ภาชนะใส่ของ ฉลุลวดลายหน้าสัตว์ ทำด้วยสำริดฝีมือนครรัฐฉู่ สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องใช้ของสตรีชั้นสูง

อาจกล่าวได้ว่า การรวมแผ่นดินจีนของนครรัฐฉิน เกิดขึ้นจากแนวทางวิวัฒนาการของสังคมมาตั้งแต่สมัยชุนชิว หากเทียบกับสมัยราชวงศ์โจวตะวันตกและตะวันออกแล้ว จะเห็นว่ามีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆเช่น การทำเหมืองแร่ การแพทย์ การหลอมโลหะ ฯลฯ ซึ่งมีผลงานใหม่ ๆออกมามากมาย อาทิ เทคนิคการขุดบ่อโดยทำคันกั้นปากบ่อไม่ให้ดินถล่มลงมา ทำให้ต่อมาสามารถขุดหลุมลึกเพื่อทำเหมืองทองแดงได้ และเมื่อได้เรียนรู้กรรมวิธีในการทำให้ยางเป็นกำมะถันแล้ว ก็สามารถขยายผลโดยนำทองแดงที่ได้จากเหมืองมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีงานฝีมือในการเชื่อมโลหะ การเลี่ยม การทำทองและเทคนิคการหลอมโลหะด้วยแบบพิมพ์ขี้ผึ้ง (失蜡法)เป็นต้น ทำให้ประเทศจีนก้าวสู่ความรุ่งเรืองของยุคสำริด
เมื่อยุคเหล็กกล้าปรากฏขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลางสมัยจั้นกว๋อ ซึ่งขณะนั้น เครื่องมือทางการเกษตรและสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆที่ทำด้วยเหล้ากล้า ได้ค่อย ๆเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น และมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทางการผลิตในสังคมอย่างมาก การแบ่งงานในสังคมมีความละเอียดซับซ้อนมากขึ้น แต่ละสาขาอาชีพมีความเติบโตก้าวหน้า มีการผลิตและการเคลื่อนตัวของสินค้าขนานใหญ่ กิจการค้าขายที่เติบโตราวกับติดปีก การขยายตัวของผลผลิตนี้ก่อเกิดเป็นชนชั้นเจ้าที่ดินกลุ่มใหม่ขึ้น ส่งผลคุกคามต่อวิถีการผลิตแบบเก่า นำสู่การปฏิรูปทางการผลิตครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ทว่า ระบอบการปกครองแบบศักดินาก็เป็นเหตุให้เกิดการแตกแยกและสงครามโรมรันพันตู อันสร้างความเสียหายให้กับสภาพเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล เป็นต้นเหตุแห่งการสูญเสียทั้งกำลังคนและแรงงานฝีมือจำนวนมาก จากการบาดเจ็บล้มตายในสมรภูมิรบอันยาวนาน
ขณะเดียวกัน ก็มีกฎข้อห้ามและด่านตรวจจำนวนมากระหว่างนครรัฐต่างๆ ซึ่งขัดขวางการเลื่อนไหลของศิลปวัฒนธรรมในสังคม ดังนั้น จึงมีแต่การรวมแผ่นดิน ที่สามารถผลักดันให้สังคมมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เกษตรกร และประชาชนจากทุกสาขาอาชีพต่างรอคอยและมุ่งหวังการรวมแผ่นดิน แม้ว่าจะต้องอาศัยการทำสงคราม และในที่สุด การพลิกโฉมครั้งสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ชนชาติจีน ก็เป็นจริง
ฉินสื่อหวงหรือจิ๋นซีฮ่องเต้ (秦始皇)เมื่อรวมประเทศจีนเป็นหนึ่งได้แล้ว ก็ริเริ่มระบบการปกครองแบบใหม่อีกครั้ง โดยยกเลิกระบบเมืองหน้าด่าน หันมาแบ่งเป็นเขตการปกครอง รวบอำนาจการปกครองให้ขึ้นอยู่กับส่วนกลาง อีกทั้งจัดวางมาตรฐานของระบบตัวอักษร การชั่งตวงวัด ถนนหนทางและเส้นทางการคมนาคม ให้เป็นหนึ่งเดียวทั่วประเทศ ส่งผลต่อสภาพสังคมจีนอย่างมากมายมหาศาล การที่ฉินรวมประเทศจีนเป็นหนึ่ง ได้ทำให้จีนก้าวเข้าสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่
*ยุคชุนชิว (春秋)ในภาษาจีนหมายถึงฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง เป็นการสื่อถึงสภาพความเป็นไปในยุคชุนชิวว่าเหมือนดั่งฤดูกาลแห่งความเปลี่ยนแปลงที่พลิกผันไม่แน่นอน
**ซันจิ้น (三晋)มาจากแคว้นจิ้นอันยิ่งใหญ่ในสมัยชุนชิว ภายหลังแตกออกเป็นสามนครรัฐได้แก่ นครรัฐหาน เจ้าและวุ่ย






ไม่มีความคิดเห็น: