“แม้เป็นช่วงเวลาเพียงระยะสั้นๆ แต่ก็ทำให้วัฒนธรรมฮั่นยังคงได้รับการสืบทอดและพัฒนาต่อมา ไม่ต้องถึงกาลล่มสลายไปโดยชนกลุ่มน้อย ดังนั้น การคงอยู่ของราชวงศ์ใต้ โดยนัยทางประวัติศาสตร์ของจีน ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นหัวใจของการคงอยู่หรือล่มสลายของอารยธรรมจีนในดินแดนแถบนี้”
ภาพพุทธประวัติในถ้ำผาหยุนกังเมืองต้าถง นครหลวงเป่ยวุ่ยหรือวุ่ยเหนือ ตั้งแต่ ทรงสุบิน ประสูติ ออกผนวช ตรัสรู้ ปฐมเทศนาและปรินิพพาน
หลังจากราชวงศ์จิ้นตะวันออก(ทางใต้)และยุค 16 แคว้น(ทางเหนือ)สิ้นสุดลง สภาพบ้านเมืองแบ่งแยกออกเป็นเหนือใต้ตั้งประจันหน้ากัน โดยราชวงศ์เหนือ (ค.ศ. 386 – 581) ต่อเนื่องจากยุค 16 แคว้น ปกครองโดยราชวงศ์เป่ยวุ่ยหรือวุ่ยเหนือ(北魏)ซึ่งต่อมาแตกแยกออกเป็นวุ่ยตะวันออก(东魏)และวุ่ยตะวันตก(西魏)วุ่ยตะวันออกถูกกลืนโดยเป่ยฉี(北齐)ส่วนเป่ยโจว(北周)เข้าแทนที่วุ่ยตะวันตก ต่อมาเป่ยโจวรวมเป่ยฉีเข้าด้วยกันอีกครั้ง ส่วนราชวงศ์ใต้ (ค.ศ. 420 – 589) ต่อเนื่องจากราชวงศ์จิ้นตะวันออก มีการผลัดแผ่นดินโดยราชวงศ์ ซ่ง(宋)ฉี(齐)เหลียง(梁) เฉิน(陈)ตามลำดับ
ราชวงศ์เหนือ (ค.ศ. 386 – 581) หลังจากการล่มสลายของราชวงศ์จิ้นตะวันตก (265 – 316) ภาคเหนือของจีนก็ตกอยู่ในภาวะจราจลและสงครามชนเผ่าของยุค 16 แคว้น จวบจนค.ศ. 386 หัวหน้าเผ่าทั่วป๋าเซียนเปยได้สถาปนาแคว้นเป่ยวุ่ย (北魏)และตั้งนครหลวงที่เมืองผิงเฉิง( ปัจจุบันคือเมืองต้าถงในมณฑลซันซี) จากนั้นทยอยกวาดล้างกลุ่มอำนาจอิสระที่เหลือ ยุติความวุ่นวายจากสงครามแย่งชิงอำนาจที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือในที่สุด (ค.ศ. 439)บ้านเมืองมีความสงบและมั่นคงขึ้นชั่วระยะเวลาหนึ่ง
พุทธรูปจากถ้ำผาหยุนกัง
จนกระทั่งรัชสมัยเสี้ยวเหวินตี้(孝文帝)ขึ้นครองราชย์(ค.ศ. 471 – 499) ได้มีการปฏิรูปการปกครอง ซึ่งทำให้เกิดการเร่งกระบวนการหลอมรวมทางวัฒนธรรมขนานใหญ่ ภายใต้นโยบาย ‘ทำให้เป็นฮั่น’ อาทิ การใช้ภาษาฮั่นในราชสำนัก ให้ชาวเซียนเปยหันมาสวมใส่เสื้อผ้าของชาวฮั่น หรือแม้แต่เปลี่ยนมาใช้แซ่ตามแบบของชาวฮั่น* เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้มีปฏิสัมพันธ์ความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มชนเผ่ากับชาวฮั่นมากขึ้น นอกจากนั้น ยังใช้วิธีการผูกสัมพันธ์ทางสายเลือดด้วยการแต่งงานระหว่างชาวฮั่นและเซียนเปย ขณะที่ในทางการเมืองก็เพิ่มปริมาณชาวฮั่นที่เข้ารับข้าราชการเป็นขุนนางมากขึ้น รวมทั้งยังหันมาใช้ระบบการบริหารบ้านเมืองตามระเบียบปฏิบัติของชาวฮั่น และในปี 493 เสี้ยวเหวินตี้ทรงย้ายเมืองหลวงเข้าสู่ภาคกลาง – เมืองลั่วหยาง การปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคนนี้ได้ทำให้เศรษฐกิจและสังคมของดินแดนทางตอนเหนือรุดหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็กลับสร้างความไม่พอใจในหมู่ชนชั้นสูงและผู้มีอำนาจทางทหารของชนเผ่า * เดิมทีแซ่ของชนเผ่าทางเหนือจะมีตั้งแต่ 2-3 ตัวอักษร เมื่อเปลี่ยนมาใช้แซ่ตามแบบชาวฮั่น จะเหลือเพียงอักษรเดียว อาทิ ทั่วป๋า เปลี่ยนเป็น แซ่หยวน(元) ตู๋กูหรือต๊กโกว เปลี่ยนเป็นแซ่หลิว(刘) ปู้ลิ่วกู เปลี่ยนเป็นแซ่ลู่(陆) ชิวมู่หลิง เปลี่ยนเป็นแซ่มู่(穆)เป็นต้น
จนกระทั่งรัชสมัยเสี้ยวเหวินตี้(孝文帝)ขึ้นครองราชย์(ค.ศ. 471 – 499) ได้มีการปฏิรูปการปกครอง ซึ่งทำให้เกิดการเร่งกระบวนการหลอมรวมทางวัฒนธรรมขนานใหญ่ ภายใต้นโยบาย ‘ทำให้เป็นฮั่น’ อาทิ การใช้ภาษาฮั่นในราชสำนัก ให้ชาวเซียนเปยหันมาสวมใส่เสื้อผ้าของชาวฮั่น หรือแม้แต่เปลี่ยนมาใช้แซ่ตามแบบของชาวฮั่น* เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้มีปฏิสัมพันธ์ความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มชนเผ่ากับชาวฮั่นมากขึ้น นอกจากนั้น ยังใช้วิธีการผูกสัมพันธ์ทางสายเลือดด้วยการแต่งงานระหว่างชาวฮั่นและเซียนเปย ขณะที่ในทางการเมืองก็เพิ่มปริมาณชาวฮั่นที่เข้ารับข้าราชการเป็นขุนนางมากขึ้น รวมทั้งยังหันมาใช้ระบบการบริหารบ้านเมืองตามระเบียบปฏิบัติของชาวฮั่น และในปี 493 เสี้ยวเหวินตี้ทรงย้ายเมืองหลวงเข้าสู่ภาคกลาง – เมืองลั่วหยาง การปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคนนี้ได้ทำให้เศรษฐกิจและสังคมของดินแดนทางตอนเหนือรุดหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็กลับสร้างความไม่พอใจในหมู่ชนชั้นสูงและผู้มีอำนาจทางทหารของชนเผ่า * เดิมทีแซ่ของชนเผ่าทางเหนือจะมีตั้งแต่ 2-3 ตัวอักษร เมื่อเปลี่ยนมาใช้แซ่ตามแบบชาวฮั่น จะเหลือเพียงอักษรเดียว อาทิ ทั่วป๋า เปลี่ยนเป็น แซ่หยวน(元) ตู๋กูหรือต๊กโกว เปลี่ยนเป็นแซ่หลิว(刘) ปู้ลิ่วกู เปลี่ยนเป็นแซ่ลู่(陆) ชิวมู่หลิง เปลี่ยนเป็นแซ่มู่(穆)เป็นต้น
ตุ๊กตาดินเผา ร่วมกลบฝังในสุสานเป็นที่นิยมแพร่หลายในชนชั้นสูงทางเหนือ ภายหลังนโยบาย ‘ทำให้เป็นฮั่น’ ของเสี้ยวเหวินตี้
สิ้นรัชสมัยเสี้ยวเหวินตี้ เป่ยวุ่ยเริ่มเข้าสู่ยุคเสื่อม กษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์ต่อมา ไม่สนใจปฏิรูปการปกครอง แต่กลับรื้อฟื้นระบบสิทธิประโยชน์ของชนเผ่าเซียนเปย สร้างความขัดแย้งในสังคม เมื่อถึงรัชสมัยของเสี้ยวหมิงตี้ (孝明帝)(ค.ศ.523) เกิดกบฏ 6 เมืองขึ้น เป่ยวุ่ยเข้าสู่ภาวะจราจล อันนำสู่ภาวะสงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา กลุ่มผู้มีอำนาจทางทหารหาเหตุยกพลบุกเมืองหลวงปลดและแต่งตั้งฮ่องเต้หุ่นเชิดตามใจตน เมื่อถึงปี 534 เสี้ยวอู่ตี้(孝武帝)เนื่องจากทรงขัดแย้งกับเกาฮวน(高欢)ที่กุมอำนาจในราชสำนัก จึงหลบหนีจากเมืองหลวง เพื่อขอพึ่งพิงอี่ว์เหวินไท่(宇文泰)ที่เมืองฉางอัน ฝ่ายเกาฮวนก็ตั้งเสี้ยวจิ้งตี้(孝静帝)กษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ต่อมา โดยย้ายเมืองหลวงไปเมืองเย่ (邺)หรือเมืองอันหยางมณฑลเหอหนันในปัจจุบัน ทางประวัติศาสตร์จีนเรียกว่า วุ่ยตะวันออก (ค.ศ. 534 – 550) ส่วนเสี้ยวอู่ตี้หลังจากไปขอพึ่งพิงอี่ว์เหวินไท่ได้ไม่นานก็ถูกสังหาร จากนั้นในปี 535 อี่ว์เหวินไท่ก็ตั้งเหวินหวงตี้(文皇帝)ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองฉางอัน ประวัติศาสตร์จีนเรียก วุ่ยตะวันตก (ค.ศ. 535 – 557) ต่อมาไม่นาน หลังจากเกาฮวนสิ้น บุตรชายเกาหยาง(高洋)ปลดฮ่องเต้หุ่น สถาปนา เป่ยฉี ส่วนวุ่ยตะวันตกก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน อี่ว์เหวินเจวี๋ย(宇文觉)บุตรชายของอี่ว์เหวินไท่ สถาปนา เป่ยโจว
เป่ยฉี (北齐) (ค.ศ. 550 – 577) ที่มีรากฐานจากวุ่ยตะวันออก เดิมทีบ้านเมืองค่อนข้างเข้มแข็ง แต่เนื่องจากกษัตริย์รุ่นต่อมาล้วนเลวร้ายและโหดเหี้ยม ทั้งมากระแวง เปิดฉากฆ่าฟันทายาทตระกูลหยวน ซึ่งเป็นเชื้อสายจากราชวงศ์เป่ยวุ่ยและบรรดาขุนนางชาวฮั่นไปมากมาย ทำให้ราชวงศ์เป่ยฉีสูญเสียความชอบธรรมและการสนับสนุนจากกลุ่มชนเผ่าเซียนเปยเองและกลุ่มชาวฮั่น อันเป็นเหตุแห่งความล่มสลายในปี 577 เป่ยฉีก็ถูกเป่ยโจวกวาดล้าง
เป่ยโจว(北周) (ค.ศ. 557 – 581) ที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับเป่ยฉี โดยแทนที่วุ่ยตะวันตก ในระยะแรกมีขุมกำลังอ่อนด้อยกว่าเป่ยฉี แต่เนื่องจากกษัตริย์โจวอู่ตี้(周武帝) (ครองราชย์ปีค.ศ. 561-579) มีการบริหารการปกครองที่ได้ผล ทำให้เป่ยโจวทวีความเข้มแข็งขึ้น โดยในช่วงเวลาดังกล่าว มีการปฏิรูประบบกองกำลังทางทหาร โดยผสมผสานการเกณฑ์กำลังพลรบเข้ากับระบบกำลังการผลิต จนกระทั่งสามารถล้มล้างเป่ยฉี รวมแผ่นดินภาคเหนือเข้าด้วยกันในปี 577
ต่อมาปี 578 อู่ตี้สิ้น หลังจากนั้นเป็นต้นมา กำลังทางทหารของเป่ยโจวค่อยๆโยกย้ายสู่มือของหยางเจียน (杨坚)ผู้เป็นพ่อตาและญาติ เมื่อถึงปี 581 หยางเจียนปลดโจวจิ้งตี้(周静帝)จากบัลลังก์ สถาปนาราชวงศ์สุย (隋)จากนั้นกรีฑาทัพลงใต้ ยุติสภาพการแบ่งแยกเหนือใต้อันยาวนานของแผ่นดินจีนได้เป็นผลสำเร็จ
ค.ศ. 420 ราชวงศ์จิ้นตะวันออกล่มสลาย ทางภาคใต้ของจีนได้ปรากฏราชวงศ์ที่ก้าวขึ้นปกครองดินแดนทางตอนใต้ของจีน 4 ราชวงศ์ตามลำดับ ได้แก่ ซ่ง ฉี เหลียง และเฉิน โดยมีระยะเวลาในการปกครองค่อนข้างสั้นรวมแล้วเพียง 95 ปีเท่านั้น ในบางราชวงศ์ที่สั้นที่สุด มีเวลาเพียง 23 ปีเท่านั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่จีนมีอัตราการผลัดแผ่นดินสูงมาก
ซ่ง (ค.ศ. 420 – 479) หลิวอี้ว์(刘裕)ผู้สถาปนาราชวงศ์ซ่ง (宋)ซึ่งได้พัฒนาตัวเองจนเข้มแข็งขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์จิ้นตะวันออก โดยหลิวอี้ว์ได้ชัยชนะจากการแก่งแย่งอำนาจของ 4 ตระกูลใหญ่ แห่งราชวงศ์จิ้นตะวันออก ดังนั้น ในปีค.ศ. 420 หลิวอี้ว์ถอดถอนฮ่องเต้ราชวงศ์จิ้น สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ โดยใช้ชื่อราชวงศ์ซ่ง เพื่อแยกแยะการเรียกหาออกจากราชวงศ์ซ่งในยุคหลัง ดังนั้นในยุคนี้ ประวัติศาสตร์จีนจึงเรียกว่า หลิวซ่ง (刘宋)
ซ่ง (ค.ศ. 420 – 479) หลิวอี้ว์(刘裕)ผู้สถาปนาราชวงศ์ซ่ง (宋)ซึ่งได้พัฒนาตัวเองจนเข้มแข็งขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์จิ้นตะวันออก โดยหลิวอี้ว์ได้ชัยชนะจากการแก่งแย่งอำนาจของ 4 ตระกูลใหญ่ แห่งราชวงศ์จิ้นตะวันออก ดังนั้น ในปีค.ศ. 420 หลิวอี้ว์ถอดถอนฮ่องเต้ราชวงศ์จิ้น สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ โดยใช้ชื่อราชวงศ์ซ่ง เพื่อแยกแยะการเรียกหาออกจากราชวงศ์ซ่งในยุคหลัง ดังนั้นในยุคนี้ ประวัติศาสตร์จีนจึงเรียกว่า หลิวซ่ง (刘宋)
เนื่องจากหลิวอี้ว์ถือกำเนิดในชนชั้นยากไร้ อีกทั้งได้รับบทเรียนจากการล่มสลายของจิ้นตะวันออก ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการต่อสู้กันเองของกลุ่มตระกุลใหญ่กันเอง ดังนั้น หลังจากที่หลิวอี้ว์ขึ้นครองบัลลังก์ ก็ไม่ให้ความสำคัญกับบรรดากลุ่มตระกูลใหญ่อีก โดยหันมาคัดเลือกกำลังคนจากกลุ่มชนชั้นล่าง และอำนาจทางการทหารก็มอบให้กับบรรดาเชื้อพระวงศ์และบุตรหลานของตน เพื่อจะได้ไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับการแก่งแย่งของกลุ่มชนชั้นตระกูลใหญ่ ซ้ำรอยความผิดพลาดของจิ้นตะวันออกอีก แต่ทว่า เนื่องจากในบรรดาเชื้อพระวงศ์เองก็ยังมีการแก่งแย่งชิงอำนาจกันเอง สุดท้ายต่างประหัตประหารกันและกันอย่างอเนจอนาจ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลิวอี้ว์เองก็คาดไม่ถึง
รูปกิเลนแกะสลัก หน้าสุสานของหลิวอี้ว์ เป็นรูปแบบศิลปะที่โดดเด่นในยุคนี้
ก่อนปี 422 หลิวอี้ว์สิ้น ซ่งเส้าตี้(宋少帝) และเหวินตี้ (文帝)ขึ้นครองราชย์โดยลำดับ หลิวอี้หลง(刘义隆)หรือซ่งเหวินตี้ อยู่ในบัลลังก์ 30 กว่าปี เป็นยุคสมัยที่ราชวงศ์ซ่งมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดช่วงเวลาหนึ่ง ขณะนั้น วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ของบ้านเมืองอยู่ในระหว่างขาขึ้น ระหว่างปี 430 – 451 ราชวงศ์ซ่งและเป่ยวุ่ยจากทางเหนือ เกิดสงครามเหนือใต้ สุดท้ายไม่มีผู้ชนะ ต่างต้องประสบกับความเสียหายใหญ่หลวง เป็นเหตุให้ระหว่างราชวงศ์เหนือใต้ ต่างอ่อนล้าลง ไม่มีกำลังเปิดศึกใหญ่อีก นับแต่นั้นมา ต่างฝ่ายก็คุมเชิงกันต่อมา ปี 454 เมื่อเหวินตี้สิ้น เสี้ยวอู่ตี้(孝武帝)- หมิงตี้ (明帝)ขึ้นครองราชย์โดยลำดับ ทั้งสองถือเป็นกษัตริย์ทรราชที่ขึ้นชื่อลือเลื่องในประวัติศาสตร์จีน อีกทั้งกษัตริย์องค์ต่อมาล้วนกระทำการเหี้ยมโหด มากระแวง ทำให้ลงมือเข่นฆ่าพี่น้องวงศ์วานอย่างเหี้ยมโหด บ้านเมืองจึงตกอยู่ในสภาพความยุ่งเหยิงวุ่นวาย ระหว่างนั้น แม่ทัพฝ่ายขวา เซียวเต้าเฉิง (萧道成)สังหารเฟ่ยตี้ (废帝)ยกบัลลังก์ให้กับซุ่นตี้(顺帝)ที่มีอายุเพียง 11 ขวบ ฉวยโอกาสเข้ากุมอำนาจบริหารบ้านเมือง ต่อมาในปี 479 ล้มล้างซ่ง สถาปนาราชวงศ์ฉี ทรงพระนาม ฉีเกาตี้ (齐高帝)
ก่อนปี 422 หลิวอี้ว์สิ้น ซ่งเส้าตี้(宋少帝) และเหวินตี้ (文帝)ขึ้นครองราชย์โดยลำดับ หลิวอี้หลง(刘义隆)หรือซ่งเหวินตี้ อยู่ในบัลลังก์ 30 กว่าปี เป็นยุคสมัยที่ราชวงศ์ซ่งมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดช่วงเวลาหนึ่ง ขณะนั้น วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ของบ้านเมืองอยู่ในระหว่างขาขึ้น ระหว่างปี 430 – 451 ราชวงศ์ซ่งและเป่ยวุ่ยจากทางเหนือ เกิดสงครามเหนือใต้ สุดท้ายไม่มีผู้ชนะ ต่างต้องประสบกับความเสียหายใหญ่หลวง เป็นเหตุให้ระหว่างราชวงศ์เหนือใต้ ต่างอ่อนล้าลง ไม่มีกำลังเปิดศึกใหญ่อีก นับแต่นั้นมา ต่างฝ่ายก็คุมเชิงกันต่อมา ปี 454 เมื่อเหวินตี้สิ้น เสี้ยวอู่ตี้(孝武帝)- หมิงตี้ (明帝)ขึ้นครองราชย์โดยลำดับ ทั้งสองถือเป็นกษัตริย์ทรราชที่ขึ้นชื่อลือเลื่องในประวัติศาสตร์จีน อีกทั้งกษัตริย์องค์ต่อมาล้วนกระทำการเหี้ยมโหด มากระแวง ทำให้ลงมือเข่นฆ่าพี่น้องวงศ์วานอย่างเหี้ยมโหด บ้านเมืองจึงตกอยู่ในสภาพความยุ่งเหยิงวุ่นวาย ระหว่างนั้น แม่ทัพฝ่ายขวา เซียวเต้าเฉิง (萧道成)สังหารเฟ่ยตี้ (废帝)ยกบัลลังก์ให้กับซุ่นตี้(顺帝)ที่มีอายุเพียง 11 ขวบ ฉวยโอกาสเข้ากุมอำนาจบริหารบ้านเมือง ต่อมาในปี 479 ล้มล้างซ่ง สถาปนาราชวงศ์ฉี ทรงพระนาม ฉีเกาตี้ (齐高帝)
ฉี (ค.ศ. 479 – 502)
ราชวงศ์ฉี (齐)เป็นราชวงศ์ที่มีอายุสั้นที่สุดในสี่ราชวงศ์ มีระยะเวลาการปกครองเพียง 23 ปีเท่านั้น ฉีเกาตี้หรือเซียวเต้าเฉิง ได้รับบทเรียนจากการล่มสลายของราชวงศ์ซ่ง จึงดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายมากกว่า รณรงค์ให้มีการประหยัด เซียวเต้าเฉิงอยู่ในบัลลังก์ได้ 4 ปี ก่อนเสียชีวิต ได้ส่งมอบแนวทางการปกครองให้กับบุตรชาย อู่ตี้ (武帝)ไม่ให้เข่นฆ่าพี่น้องกันเอง อู่ตี้เคารพและเชื่อฟังคำสอนนี้เป็นอย่างดี ทำให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะสุขสงบชั่วระยะเวลาหนึ่ง หลังจากอู่ตี้สิ้น ราชวงศ์ฉีก็กลับเดินตามรอยเท้าของราชวงศ์ซ่งที่ล่มสลาย บรรดาเชื้อพระวงศ์ต่างจับอาวุธขึ้นเข่นฆ่าล้างผลาญญาติพี่น้องกันเอง ผู้ที่ขึ้นมาเป็นใหญ่ก็มักเต็มไปด้วยความหวาดระแวง บรรดาขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนักแทบว่าจะถูกประหารไปจนหมดสิ้น การเมืองภายในระส่ำระสายอย่างหนัก ในปีค.ศ. 501 เซียวเอี่ยน(萧衍)พ่อเมืองยงโจว(雍州)ยกพลบุกนครหลวงเจี้ยนคัง เข้ายุติการเข่นฆ่ากันเองของราชวงศ์ฉี
เซียวเอี่ยน สถาปนาราชวงศ์เหลียง(梁) ในปีค.ศ. 502 ตั้งตนเป็นเหลียงอู่ตี้ (梁武帝)ครองราชย์ต่อมาอีก 48 ปี ทรงนับถือพุทธศาสนาและมีความเป็นอยู่อย่างสมถะ ด้านศิลปวัฒนธรรมมีความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง แต่การทหารกลับอ่อนแอลง เมื่อถึงปลายรัชกาลระบบการปกครองล้มเหลว ขุนนางครองเมือง
จวบจนปีค.ศ. 548 ขุนพลโหวจิ่ง(侯景)แห่งวุ่ยตะวันออกลี้ภัยการเมืองเข้ามาพึ่งพิงราชวงศ์เหลียง แต่ภายใต้ข้อเสนอแลกเปลี่ยนที่เย้ายวนใจ ราชสำนักเหลียงคิดจับกุมตัวโหวจิ่งเพื่อส่งกลับวุ่ยตะวันออก บีบคั้นให้โหวจิ่งลุกฮือขึ้นก่อกบฏ โดยร่วมมือกับบุตรชายของอู่ตี้นาม เซียวเจิ้งเต๋อ(萧正德)คอยเป็นไส้ศึกภายใน จนสามารถบุกเข้านครหลวงเจี้ยนคัง ปิดล้อมวังหลวงไว้ได้ สุดท้ายเหลียงอู่ตี้ถูกกักอยู่ภายในจนอดตายภายในเมือง จากนั้นโหวจิ่งกำจัดเซียวเจิ้งเต๋อ ตั้งฮ่องเต้หุ่นเชิดขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อมา โหวจิ่งยกทัพออกปล้นสะดมเมืองรอบข้าง
จนกระทั่งปีค.ศ. 551 เซียวอี้ (萧绎)โอรสอีกองค์หนึ่งของอู่ตี้ ส่งหวังเซิงเปี้ยน (王僧辩)และเฉินป้าเซียน (陈霸先)กรีฑาทัพเข้าต่อกรกับโหวจิ่งจนแตกพ่ายไป ระหว่างการหลบหนีโหวจิ่งถูกลอบสังหารเสียชีวิต เซียวอี้ขึ้นครองบัลลังก์ต่อมา(ปี 552-554) แต่เนื่องจากภายในราชสำนักเกิดการแก่งแย่งทางการเมือง เป็นเหตุให้บ้านเมืองระส่ำระสาย วุ่ยตะวันตกฉวยโอกาสบุกเข้ายึดเมืองเจียงหลิงสังหารเซียวอี้ ตั้งฮ่องเต้หุ่นเชิดของตนขึ้น เฉินป้าเซียนที่เมืองเจี้ยนคังจึงสังหารหวังเซิงเปี้ยน จากนั้นตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่ สถาปนาราชวงศ์เฉิน(陈)ราชวงศ์เหลียงเป็นอันจบสิ้น
เฉินป้าเซียนหรือเฉินอู่ตี้(503~559)
เฉิน (ปี 557 – 589)
เฉินป้าเซียน ตั้งตนเป็นฮ่องเต้นามว่าเฉินอู่ตี้ (陈武帝)ช่วงเวลาดังกล่าว แผ่นดินภาคใต้ของจีนที่ต้องตกอยู่ในภาวะวุ่นวายยุ่งเหยิงมาเป็นเวลานาน สภาพเศรษฐกิจทรุดโทรมอย่างหนัก รากฐานบ้านเมืองที่ง่อนแง่น ย่อมไม่อาจคงอยู่ได้นานนัก รัชกาลต่อมายังวนเวียนกับการทำลายล้างฐานอำนาจของคู่แข่ง ทั้งยังต้องสู้ศึกกับกองกำลังจากภาคเหนือ แม้ว่าได้วางรากฐานการปกครองในระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายเนื่องจากกำลังทางทหารอ่อนแอ ดังนั้นอาณาเขตการปกครองของราชวงศ์เหลียง จึงเพียงสามารถครอบคลุมถึงเขตทางตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำฉางเจียงหรือแยงซีเท่านั้น
เมื่อถึงปี 583 เฉินเซวียนตี้(陈宣帝)สิ้น บุตรชายเฉินซู่เป่า(陈叔宝)ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา ขณะนั้น ทางตอนเหนือของจีนมีราชวงศ์สุย(隋)ที่ผงาดขึ้นมารวมแผ่นดินทางตอนเหนือของจีนไว้ทั้งหมด จากนั้นเหลือเพียงเป้าหมายการรวมแผ่นดินทางตอนใต้เพื่อเป้าหมายการรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว ปีค.ศ. 589 สุยเหวินตี้ (隋文帝)หยางเจียน(杨坚)กวาดล้างราชวงศ์เฉินที่เหลืออยู่ ยุติความแตกแยกของแผ่นดินที่มีมีมานานกว่า 300 ปีลงในที่สุด
ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างราชวงศ์ที่ปกครองดินแดนเหนือใต้ของจีนในยุคนี้คือ กลุ่มผู้ปกครองของราชวงศ์เหนือล้วนมาจากกลุ่มชนเผ่าทางเหนือ ไม่ใช่ชาวฮั่น ขณะที่ราชวงศ์ใต้สืบทอดอำนาจการปกครองจากราชวงศ์จิ้นตะวันออก เกิดจากการสถาปนาราชวงศ์ของชนเผ่าฮั่นสืบต่อกันมา แม้เป็นช่วงเวลาเพียงระยะสั้นๆ แต่ก็ทำให้วัฒนธรรมฮั่นยังคงได้รับการสืบทอดและพัฒนาต่อมา ไม่ต้องถึงกาลล่มสลายไปโดยชนกลุ่มน้อย ดังนั้น การคงอยู่ของราชวงศ์ใต้ โดยนัยทางประวัติศาสตร์ของจีนจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นหัวใจของการคงอยู่หรือล่มสลายของอารยธรรมจีนในดินแดนแถบนี้
ในช่วงยุคสมัยราชวงศ์เหนือใต้ เนื่องจากผู้ปกครองหันมานับถือและให้การสนับสนุนการเผยแพร่พุทธศาสนา มีการก่อสร้างวัดวาอารามและถ้ำผาสลักพระธรรมคำสอนและพระพุทธรูปมากมายเกิดขึ้น ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักได้แก่ ถ้ำผาม่อเกาคู(莫高窟)ที่ตุนหวง(敦煌)เขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ซินเกียง ถ้ำผาหยุนกัง(云岗)ที่ต้าถงมณฑลซันซี ถ้ำผาหลงเหมิน(龙门石窟)ในลั่วหยาง ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแล้ว นอกจากนี้ ทางด้านวรรณกรรมก็มีความเจริญรุดหน้าอย่างมาก มีผลงานชิ้นสำคัญที่ตกทอดสู่ปัจจุบันหลายชิ้น
นับแต่ราชวงศ์จิ้นตะวันออกล่มสลาย ราชวงศ์เหนือใต้ได้กลายเป็นช่วงเวลาที่มีการแบ่งแยกการปกครองในจีน ถึงแม้ว่าความเจริญทางเศรษฐกิจมีการชะลอตัวบ้าง แต่เนื่องจากการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคกลางของกลุ่มชนเผ่านอกด่าน ได้เกิดการหลอมรวมชนชาติในกลุ่มลุ่มแม่น้ำฮวงโหหรือแม่น้ำเหลืองครั้งใหญ่ และเนื่องจากสาเหตุหรือปัจจัยนี้เอง ได้ทำให้กลุ่มผู้นำชนชาติทางตอนเหนือได้ถูกหลอมกลืนสู่วัฒนธรรมชาวฮั่น และเนื่องจากประโยชน์นี้เอง ที่ได้สร้างรากฐานความเป็นหนึ่งเดียวของชนชาติจีนในเวลาต่อมา ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ความแตกแยกของราชวงศ์เหนือใต้ กลายเป็นคุณูปการสู่การรวมเป็นหนึ่งของชนชาติจีนและวัฒนธรรมจีนในเวลาต่อมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น