5/07/2552

ต้นกำเนิดตำราพิชัยสงครามซันเลวี่ย

มีเรื่องเล่าสืบกันต่อมาว่า อึ่งเจียะกง (หวงสือกุง) เป็นผู้มอบตำราพิชัยสงครามนี้ให้เตียเลี้ยง (จังเหลียง) ดังนั้น ตำราพิชัยสงครามเล่มนี้จึงมีชื่อเต็มว่า "หวงสือกุงซันเลวี่ย"
คำว่า "ซันเลวี่ย" ถูกอ่านพบครั้งแรกในหนังสือพยากรณ์โชคชะตาซึ่งแต่งในสมัย 3 ก๊ก (ค.ศ. 220-228) ส่วนต้นฉบับที่เก่าแก่ที่สุดเป็นหนังสือในสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581-618)
ตำราพิชัยสงครามซันเลวี่ย มีเนื้อความเป็นภาษาจีนรวม 4 พันกว่าตัว แบ่งเป็น พิชัยสงครามตอนต้น ตอนกลาง และตอนปลาย เนื้อความสำคัญกล่าวถึงวิธีปกครองบ้านเมือง วิธีจัดระบบกองทัพ วิธีใช้คน วิธีควบคุมกองทัพทำสงคราม และกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ควรถือปฏิบัติตาม
ซีแบ้เชียง (ซือหม่าเซียน) ผู้เขียนหนังสือ "บันทึกประวัติศาสตร์ สื่อจี้" บันทึกว่า... ตอนปลายสมัย ราชวงศ์ฉิน (ก่อน ค.ศ.221 ปี-ก่อน ค.ศ.207 ปี) มีชายหนุ่มจากตระกูลผู้ดี ชื่อเตียเลี้ยง (จังเหลียง) ต้องการสังหารจิ๋นซีฮ่องเต้ เพื่อแก้แค้นที่จิ๋นซีฮ่องเต้ รุกรานกลืนรัฐหัน เป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ฉิน จังเหลียงจ้างมือสังหารลอบสังหารจิ๋นซีฮ่องเต้ ที่ผักหลังซัว (ป๋อลั่งซา) แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จังเหลียงจึงเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนแซ่ ลี้ภัยไปอยู่เหียพี่ (เสี้ยพี - ปัจจุบันคืออำเภอพี ในมลฑลเจียงซู)
มีอยู่วันหนึ่ง จังเหลียงเดินเที่ยวมาถึงสะพานแห่งหนึ่ง เห็นผู้เฒ่าคนหนึ่งสวมเสื้อเนื้อหยาบ และรองเท้าสีแดง เมื่อจังเหลียงเดินเข้าไปใกล้ ผู้เฒ่าเจตนาทำรองเท้าตกลงไปใต้สะพาน แล้ววางท่วงทีเย่อหยิ่ง พลางกล่าวกับจังเหลียงว่า... "เจ้าหนูน้อย ลงไปหยิบรองเท้าให้ข้าที" จังเหลียงรู้สึกไม่พอใจ นึกจะจับผู้เฒ่ามาตีให้สะใจ แต่เมื่อเห็นผู้เฒ่าสังขารแก่ชรา ทำไม่ลง จึงเดินลงใต้สะพาน หยิบรองเท้ามาส่งให้ผู้เฒ่า แต่ผู้เฒ่ากลับพูดว่า... "ใส่ให้ข้าที"
จังเหลียงคาดไม่ถึงว่าจะได้ยินคำนี้ จึงนึกในใจว่า เมื่อหยิบรองเท้าขึ้นมาแล้วก็ใส่ให้ด้วย จะได้จบเรื่อง ผู้เฒ่ารู้สึกพอใจ หัวเราะฮาๆ ๆ เดินจากไป จังเหลียงมองผู้เฒ่าจากไป ในใจรู้สึกประหลาดใจยิ่งนัก สักพักหนึ่ง ผู้เฒ่าปรากฎตัวอีกครั้งและเดินมากล่าวกับ จังเหลียงว่า... "เจ้าหนูน้อย พอสอนได้ อีก 5 วัน มาพบข้าที่นี่ตอนเช้าตรู่" จังเหลียงรู้สึกว่า ผู้เฒ่าคนนี้ไม่ใช่คนธรรมดา จึงรับปากว่าจะมา เมื่อถึงวันนัด ฟ้าเพิ่งสว่าง จังเหลียงรีบมา ที่สะพาน พบผู้เฒ่านั่งรออยู่ ผู้เฒ่ากล่าวด้วยความโกรธว่า... "มีนัดกับผู้อาวุโส เหตุใดมาสาย" ว่าแล้วผู้เฒ่าก็เดินจากไป ก่อนจากไปผู้เฒ่ากล่าวว่า... "อีก 5 วัน มาเช้ากว่านี้"
5 วันผ่านไป เมื่อไก่ขัน จังเหลียงก็มาถึงสะพาน แต่พบผู้เฒ่ามาก่อน ผู้เฒ่ากล่าวว่า... "อีก 5 วันมาใหม่" คราวนี้ จังเหลียงมารอผู้เฒ่าตั้งแต่ก่อนเที่ยงคืน สักพักหนึ่งจังเห็นผู้เฒ่าเดินมา ผู้เฒ่าพอใจ กล่าวกับจังเหลียงว่า... "ควรเป็นเช่นนี้" ว่าแล้วผู้เฒ่าจึงล้วงหนังสือเล่มหนึ่ง ส่งให้จังเหลียง พลางกล่าวว่า... "เมื่อเจ้าอ่านหนังสือเล่มนี้ จะสามารถเป็นอาจารย์ของกษัตริย์ นับจากนี้ไปอีก 10 ปี เจ้าจะมีโอกาสควบคุมกองทัพก่อการใหญ่ และในปีที่ 13 เจ้ากับข้า จะได้พบกันอีกครั้งหนึ่งที่จี่ปัก (จี้เป้ย) ณ เชิงเขาเมืองก๊กเซี๊ย (กู่เฉิง) มีศิลาสีเหลืองก้อนหนึ่ง ศิลานั้นคือข้าเอง กล่าวจบผู้เฒ่าก็จากไป
เมื่อฟ้าสว่าง จังเหลียงเปิดหนังสือพบว่าเป็นตำราพิชัยสงครามไท่กงเปียหวก (ไท่กุงปิงฝ่า คือตำราพิชัยสงครามลิ่วเทานั่งเอง) จังเหลียงศึกษาตำราพิชัยสงครามนี้อย่างจริงจัง ต่อมาจังเหลียงได้เป็นอาจารย์ของเล่าปัง ช่วยเล่าปังทำสงครามโค่นราชวงศ์ฉิน และช่วยเล่าปังปราบหั่งอุ้ (เซี่ยงอวี่) รวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียว เล่าปังขึ้นเป็นปฐมกษัตรยิ์ ราชวงศ์ฮั่น เปลี่ยนนามเป็นฮั่นเกาจู่ ในปีที่ 13 จังเหลียงติดตามเล่าปังเดินทางผ่านจี่ปัก (จี้เป้ย) ณ เชิงเขาเมืองก๊กเซี้ย (กู่เฉิง) มีศิลาสีเหลืองก้อนหนึ่ง จังเหลียงจึงนำศิลานั้นกลับไปบูชา ด้วยความเคารพ เมื่อจังเหลียงตาย ศพของจังเหลียงและศิลาสีเหลืองถูกนำไปฝังไว้ด้วยกัน (ศิลาเหลือง ภาษาจีนออกเสียงว่า อึ่งเจียะ หรือ หวงสือ) ดังนั้นคนรุ่นหลังจึงเรียกผู้เฒ่านั้นว่า อึ่งเจียะกง หรือ หวงสือกุง กล่าวกันว่า วิชาที่จังเหลียงศึกษาก็คือ ตำราพิชัยสงครามลิ่วเทา กับตำราพิชัยสงครามหวงสือกุงซันเลวี่ย นั่นเอง
ซือหม่าเซียนส่งท้ายบันทึกช่วงนี้ว่า... "นักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ในโลกนี้ไม่มีผีสางเทวดา แต่อย่างไรก็ตามเรื่องราวของจังเหลียงกับหวงสือกุง และพิชัยสงครามซัยเลวี่ย กลับมีวัตถุตกทอดมา ก็น่าประหลาดใจอยู่"
บันทึกประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ซือหม่าเซียนคงนำข้อมูลมาจากเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมา ในเรื่องเป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมา คงมิอาจหลีกเลี่ยงที่จะมีเรื่องราวของผีสางเทวดา และเรื่องราวที่คุยโม้เกินความจริง แม้เรื่องราวจะถูกแต่งเติม แต่เรื่องที่เล่าสืบกันมา ก็มีมูลมาจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้น แม้จะคุยโม้ก็มีส่วนที่น่าเชื่อถือได้
เรื่องราวของจังเหลียง กับ หวงสือกุง ถูกเล่าสืบต่อกันมาอย่างมีชีวิตชีวา ผู้ฟังราวกับ ได้เห็นกับตาว่าจังเหลียงเปลี่ยนจากคนมุทะลุ กลายเป็นนักวางแผนกลยุทธ์ในกระโจมทหาร ซึ่งสามารถเอาชนะข้าศึกที่อยู่ห่างไกลออกไปนับพันลี้
ความเก่งกาจของจังเหลียงมิใช่พรสวรรค์ และไม่ใช่เทวดาบันดาล แต่เกิดจากการต่อสู้ ผ่านอุปสรรค กับพบอาจารย์ที่เก่งจริงให้คำแนะนำ
ถ้าเช่นนั้น ผู้เฒ่าหวงสือกุงเป็นใคร นักประวัติศาสตร์ลงความเห็นว่า หวงสือกุงมิใช่ผีสาง เทวดาแปลงกายมา แต่เป็นผู้เฒ่าสันโดษซึ่งแตกฉานพิชัยสงคราม
โซวเส็ก (ซูซื่อ) นักอักษรศาสตร์สมัยราชวงศ์ซ่ง กล่าวว่า... "หวงสือกุง เป็นสุภาพชนที่อยู่อย่าง สันโดษในสมัยราชวงศ์ฉิน ผู้คนไม่สังเกตความมีตัวตนอยู่ของหวงสือกุง กลับคิดว่าหวงสือกุง เป็นผีสางเทวดา"
เมื่อเป็นเช่นนั้น หวงสือกุงกับพิชัยสงครามซันเลวี่ย มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ กล่าวได้ว่า ทั้งเกี่ยวและไม่เกี่ยว ที่ว่าเกี่ยวคือพิชัยสงครามซันเลวี่ยใช้เรื่องราวของหวงสือกุง เป็นจุดเริ่มต้นความเป็นมา ที่ว่าไม่เกี่ยวคือ พิชัยสงครามซันเลวี่ยนั้น คนแต่งไม่ใช่หวงสือกุง
ในสมัยโบราณผู้คนเชื่อเรื่องผีสางเทวดา ดังนั้น จึงมีผู้รู้ที่ตั้งใจจะช่วยผู้คนที่ตกยาก และต้องการให้ผู้ปกครองในสมัยนั้นเกิดความเชื่อถือในแนวคิด และหลักการที่พวกเขาแสดง จึงอ้างชื่อบุคคลที่คนทั้งปวงเคารพนับถือ ในเมื่อผู้คนทั้งหลายเคารพบูชาหวงสือกุง ผู้รู้เหล่านั้นจึงแต่งตำราพิชัยสงครามแล้วลงชื่อหวงสือกุง
ตำราพิชัยสงครามบุคโบราณของจีนมีจุดเด่นอย่างหนึ่งคือ มักอ้างชื่อจอมปราชญ์ ยุคโบราณเป็นผู้นิพนธ์
เรื่องราวเกี่ยวกับพิชัยสงครามซันเลวี่ย มีเรื่องเล่าว่า... "ในสมัยที่ราชวงศ์จิ้นเกิดความปั่นป่วน มีผู้ขโมยขุดหลุมฝังศพของจังเหลียง พบหนังสือตำราพิชัยสงครามซันเลวี่ยซ่อนอยู่ในหมอน ด้านบนของตำรามีตัวอักษรเขียนว่า...
"พิชัยสงครามนี้ ห้ามถ่ายทอดให้คนที่ขาดสติ และห้ามถ่ายทอดให้คนที่ ไม่ประเสริฐ ผู้ครอบครองพิชัยสงครามนี้ หากไม่มีวาสนาต่อกันจะพบภัยพิบัติ หากพบผู้ที่เหมาะสมและมีวาสนากับพิชัยสงครามนี้ แต่ผู้ครอบครองกลับ หวงวิชาไม่ยอมถ่ายทอด ก็จะพบภัยพิบัติเช่นกัน"
พิชัยสงครามซันเลวี่ย (แปลว่าแผนกลยุทธ์ 3 ขั้นตอน) ต้นฉบับแบ่งออกเป็น ตอนต้น ตอนกลาง และตอนปลาย แต่ในสมัยโบราณผู้คนมิได้เรียกพิชัยสงครามนี้ว่า "ซันเลวี่ย" ดังนั้น ก่อนที่จะ วิเคราะห์ว่าพิชัยสงครามนี้แต่งขั้นในช่วงเวลาไหน ควรรู้ก่อนว่าชื่อของพิชัยสงครามนี้ มีความเปลี่ยนแปลงมาอย่างไร
เดิมทีพิชัยสงครามนี้ชื่อ "อึ่งเจียะกงกี่" (หวงสือกุงจี้) แปลว่าบันทึกของหวงสือกุง ชื่อหนังสือ "หวงสือกุงจี้" ถูกอ่านพบครั้งแรกในหนังสือสมัยราชวงศ์เอ๋าหั่ง (โห้วฮั่น) ค.ศ.947-950 หนังสือเล่มนั้นมีบทความตอนหนึ่งอ้างอิงว่า...
"ในหนังสือหวงสือกุงจี้ กล่าวว่า... สิ่งที่อ่อนหยุ่นสามารถสยบสิ่งที่แข็งแกร้าว สิ่งที่อ่อนแรงสามารถสยบสิ่งที่แข็งแรงกว่า อ่อนหยุ่นหมายถึงผู้ดำรงตนอยู่ในความดี แข็งกร้าวหมายถึงผู้ดำรงตนเยี่ยงโจร ผู้อ่อนแรงจะรวมตัวช่วยเหลือกัน ผู้แข็งแรง เที่ยวข่มขี่ ผู้คนจึงแค้นใจ ฉะนั้น กษัตริย์ผู้ดำรงตนอยู่ในคุณความดี เมื่อรู้ว่าสิ่งใดเป็นความสุขและ ความยินดี ก็จะมอบสิ่งนั้นให้ผู้อื่นได้รับความสุข ส่วนกษัตริย์ที่มิได้ดำรงตนอยู่ในคุณความดี เมื่อรู้ว่าสิ่งไหนเป็นความสุขและความยินดี ก็จะมุ่งแสวงหาใส่ตน ผู้แบ่งปันความสุขให้ผู้คน ผู้นั้นจะยั่งยืน ผู้เอาแต่แสวงหาความสุขใส่ตน ไม่นานก็ถึงที่ตาย ผู้ทิ้งสิ่งที่อยู่ใกล้กลับมุ่ง อยากได้สิ่งที่อยู่ไกล จะเหนื่อยกายเหนื่อยใจและไม่มีความดีความชอบ ผู้ทิ้งสิ่งที่อยู่ไกล แต่วางแผนคว้าสิ่งที่อยู่ใกล้ จะได้มาอย่างสบายๆ ลงท้ายพบความสำเร็จ การปกครอง อย่างสบายๆ จะมีขุนนางซื่อตรงและภักดีปรากฎมากมาย การปกครองที่ทำให้ผู้คนได้รับ ความตรากตรำ จะมีผู้คนก่อความวุ่นวายปรากฎมากมาย กล่าวได้ว่า ผู้มุ่งแต่จะขยายดินแดน จะพบดินแดนรกร้าง ผู้มุ่งขยายคุณความดีคือผู้ยิ่งใหญ่ ผู้พอใจในสิ่งที่ตนเองมีจะมีใจสงบ ผู้โลภอยากได้สิ่งที่เป็นของคนอื่นจะมีใจเหี้ยมโหด การปกครองที่โหดเหี้ยม มุ่งทำลายล้าง แม้จะพบความสำเร็จ แต่ในที่สุดต้องพ่าย"
เมื่อนำบทความตอนนี้ เปรียบเทียบกับเนื้อความในพิชัยสงครามหวงสือกุงซันเลวี่ย พบว่าเกือบจะเหมือนกันทุกตัวอักษร จึงกล่าวได้ว่า "หวงสือกุงจี้" กับ "หวงสือกุงซันเลวี่ย" เป็นหนังสือเล่มเดียวกัน
นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-ค.ศ.907) ผู้คนก็ยอมรับว่า "หวงสือกุงจี้" กับ "หวงสือกุงซันเลวี่ย" เป็นหนังสือเล่มเดียวกัน แต่ชื่อต่างกัน
เนื้อความในพิชัยสงครามหวงสือกุงซันเลวี่ย ได้รวบรวมเอาแนวคิดเด่นๆ ของสำนักต่างๆ เช่น แนวคิดลัทธิเต๋าของเหลาจื้อ แนวคิดของบัณฑิตยู้ (หยู) ของขงจื้อ แนวคิดของนักกฎหมาย และแนวคิดของนักการทหาร เช่น
"สิ่งที่อ่อนหยุ่นสามารถสยบสิ่งแข็งกร้าว สิ่งอ่อนแรงสามารถสยบสิ่งที่แข็งแรงกว่า"
"ผู้อ่อนแรงผู้คนให้ความช่วยเหลือ ผู้แข็งแรงเที่ยวข่มขี่ ผู้คนแค้นใจจึงรุมตี"
"ไม่หมายมุ่งเอาชนะจึงสามารถมีใจละเอียด คิดการรอบคอบ ย่อมสามารถปกป้อง ตนเองให้คงอยู่"
"อ่อนหยุ่นได้แข็งกร้าวได้ บ้านเมืองจะรุ่งเรือง อ่อนแรงได้แข็งแรงก็ได้ ประเทศจะรุ่งโรจน์ อ่อนหยุ่นล้วนๆ อ่อนแรงล้วนๆ บ้านเมืองจะถูกเบียดเบียน แข็งกร้าวล้วนๆ มุ่งแสดง ความแข็งแรงล้วนๆ ประเทศจะล่มสลาย"
ที่กล่าวมานี้ เป็นแนวคิดจากลัทธิของเหลาจื้อ
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดจากสำนักอื่น เช่น ...
"กษัตริย์มิอาจไร้คุณความดี หากไร้คุณความดี ขุนนางก่อการกบฎ"
"ขุนนางมิอาจไร้คุณความดี หากไร้คุณความดี กษัตริย์ไม่เรียกใช้"
"กษัตริย์ดำรงตนในคุณความดี จะทำให้ผู้คนได้รับความสุข กษัตริย์ไม่ดำรงตนในคุณความดี มุ่งแต่หาความสุขใส่ตน ผู้ทำให้คนได้รับความสุขจะยั่งยืน ผู้มุ่งหาความสุขใส่ตัว ไม่นานถึงที่ตาย"
นี่คือแนวคิดของพวกบัณฑิตหยู ของขงจื้อ
"ภายในกองทัพ ผู้สร้างความดีความชอบ จะได้รับการปูนบำเหน็จ ผู้ทำความผิดควรถูกลงโทษ"
นี่คือแนวคิดของนักกฎหมาย
"ก่อนใช้กองทัพทำสงคราม ต้องรู้สภาพการณ์ของข้าศึก"
"สามารถคลุกคลีอยู่ในมวลชน ไม่ควรแยกตัวออกจากมวลชน สามารถใช้มวลชนให้เป็นประโยชน์ แต่ไม่สามารถนำมวลชนไปพบความตรากตรำ"
"เมื่อจังหวะเวลาและสถานการณ์เปลี่ยนไป วิธีการที่ใช้ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม"
"การใช้วิธีอ่อนหยุ่น อ่อนแรง แข็งกร้าว แข็งแรง เลือกใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์" "สังเกตสถานการณ์ รอโอกาสเคลื่อนไหวก่อการ"
นี่คือแนวคิดของนักการทหาร
ข้อมูลต่างๆ ที่กล่าวมานี้ สรุปว่า พิชัยสงครามหวงสือกุงซันเลวี่ย เป็นผลงานของผู้สันโดษในสมัย "ไซหั่ง" (ซีฮั่น ก่อนค.ศ. 206 ปี-ค.ศ.25) ซึ่งแตกฉานพิชัยสงคราม อีกทั้งรู้ประวัติเรื่องราว ของจังเหลียง และเป็นผู้สนับสนุนราชวงศ์ฮั่น

ที่มา :หนังสือ สรรนิพนธ์จอมปราชญ์ป.แผนสำเร็จ แปลและเรียบเรียงสำนักพิมพ์สุขภาพใจ

ไม่มีความคิดเห็น: