4/23/2552

ราชวงศ์ฉิน

“ฉินผู้ผนึกรวมแผ่นดินใหญ่แห่งจีนและแชมป์สร้างสิ่งมหัศจรรย์โลก ดับวูบลงในชั่วเวลาอันแสนสั้น เนื่องเพราะการใช้อำนาจเหล็กอย่างโหดร้ายทารุณ ทว่า อิทธิพลฉินก็หยั่งรากครอบงำจีนในหลายด้านมาตลอดประวัติศาสตร์กว่า 2 พันปี รวมทั้งคุณูปการอันมหาศาลในการช่วยรักษาเอกภาพแผ่นดินจีนมาตลอดด้วยมาตรฐานวัฒนธรรมที่จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงสร้างขึ้น”
กำแพงเมืองจีน หนึ่งในผลงานมหัศจรรย์ของจิ๋นซีฮ่องเต้
การปฏิรูปซางหยางขับดันให้การพัฒนาของฉิน 1 ใน 7 รัฐใหญ่แห่งยุคจ้านกั๋วหรือยุคสงคราม พุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว พลังอันแข็งแกร่งทางทหารและความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้ฉินพิชิตรัฐใหญ่ทั้งหกได้อย่างง่ายดาย ระหว่าง 26 ปี นับจากช่วงที่ฉินหวางเจิ้งก้าวสู่บัลลังก์กษัตริย์ กระทั่งปีที่เขาสถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิองค์แรกของจีนที่เรียกกันว่าฉินสื่อหวงตี้หรือในภาษาแต้จิ๋วที่คุ้นหูคนไทยคือ จิ๋นซีฮ่องเต้ พระองค์พิชิตชัยชนะในการรัมโรมศึกกับบรรดารัฐใหญ่ร่วมยุคสมัยทั้งหมดได้แก่ หาน จ้าว เว้ย ฉู่ เยียน และฉี ในที่สุด ฉินก็บรรลุการผนึกรวมรัฐต่างๆเป็นแผ่นดินใหญ่ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จและการปกครองแบบรวบอำนาจที่ศูนย์กลาง
ฉินสื่อหวงตี้ได้กำหนดมาตรการหลายอย่างเพื่อสร้างเสริมความแข็งแกร่งแก่อำนาจส่วนกลาง และรวบรวมเอกภาพแห่งชาติ อำนาจสูงสุดอยู่ในมือของจักรพรรดิ ขณะที่เหล่าขุนนางใหญ่มีสิทธิเพียงถกเถียงและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการของรัฐ โดยไม่มีสิทธิในการตัดสินใจใดๆ สำหรับรัฐบาลกลางประกอบด้วย 3 ขุนนางใหญ่คือ เฉิงเซี่ยง(อัครเสนาบดี) เป็นผู้ช่วยมีอำนาจรองจากจักรพรรดิช่วยบริหารบ้านเมือง ยวี่สื่อต้าฟู(ที่ปรึกษาองค์จักรพรรดิ) คอยกำกับดูแลข้าราชบริพารทุกระดับชั้น และไท่เว่ย(ผู้บัญชาการทหารสูงสุด) รับผิดชอบกิจการทหาร ดินแดนทั้งหมดถูกแบ่งเป็นเขตการปกครอง 36 แห่ง ซึ่งแบ่งย่อยออกไปเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน รัฐอนุญาตให้ประชาชนมีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดิน ทั้งมีระบบทะเบียนสำมะโนประชากรที่เป็นเอกภาพและเหนียวแน่นบังคับใช้ทั่วประเทศ อีกทั้งมีการสร้างมาตรฐานระบบภาษาเขียน ระบบเงินตรา มาตราชั่ง ตวง วัด ซึ่งเป็นแกนที่คอยรวบรวมเอกภาพของแผ่นดินจีนตลอดประวัติศาสตร์กว่า 2,000 ปี ตลอดจนมีการสร้างถนนหนทาง ลำคลองขนาดมหึมา
นอกจากนี้ กลุ่มคนร่ำรวยถูกย้ายให้มาอาศัยอยู่ในเมืองหลวงคือเสียนหยาง เพื่อขยายความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของใจกลางประเทศ ส่วนประชาชนทั่วไปก็ถูกส่งไปยังเขตกันดารไกลปืนเที่ยงเพื่อทำไร่ทำนา ส่วนพวกนักโทษอาชญากรก็ถูกอัปเปหิไปต่อสู้ป้องกันประเทศตามเขตแนวหน้าชายแดน สื่อหวงตี้นั่นเอง ที่ทรงดำริเชื่อมกำแพงของแว่นแคว้นต่างๆในยุคจ้านกั๋ว เป็นกำแพงเมืองมหัศจรรย์ที่ยาวที่สุดในโลก เพื่อสกัดกั้นชนเผ่าซงหนู
สื่อหวงตี้ใช้อำนาจเหล็กอย่างหฤโหด อาทิ การสังหารนักคิดนักปราชญ์จำนวนมากโดยการฝังทั้งเป็น อาทิ กลุ่มลัทธิขงจื่อกว่า 400 คน เผาหนังสือคัมภีร์ที่แตกแถว เกณฑ์แรงงานทาสไปสร้างกำแพงเมือง พระราชวัง สวน และสุสานกระทั่งล้มตายกันไปเป็นเบือนับล้าน ขณะที่รีดนาทาเร้นส่วยภาษีจากประชาชน สื่อหวงตี้ก็ใช้ชีวิตสุดหรูฟู่ฟ่า ใช้เงินราวเศษกระดาษในการท่องเที่ยวสำราญไปทั่วประเทศ
การบังคับใช้แรงงานทาสอย่างทารุณอย่างไม่จบสิ้น ภาระภาษีอันหนักอึ้งของประชาชน และการลงทัณฑ์อาชญากรอย่างโหดเหี้ยม กลายเป็นแรงกระตุ้นมรสุมแห่งความเกลียดชังและความไม่พอใจที่เริ่มพุ่งพวยและระเบิดในปลายรัชสมัยของสื่อหวงตี้

หุ่นปั้นดินเผากองทัพนักรบในมหาสุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้อันลือลั่น

สื่อหวงตี้สวรรคตในปีก่อนค.ศ.210 ซึ่งเป็นปีที่ 37 ของการครองราชย์เหนือรัฐฉิน ระหว่างเดินทางกลับจากการตรวจราชการจากดินแดนทางใต้ อัครเสนาบดีหลี่สือ และจ้าว กาวขันทีผู้ทรงอิทธิพล ก็ได้วางแผนปลงพระชนม์องค์รัชทายาทฝูซู และประกาศตั้งหูฮ่ายพระอนุชาของฝูซู เป็นองค์รัชทายาท ซึ่งทรงก้าวสู่บัลลังก์เป็นจักรพรรดิองค์ที่สอง
หูฮ่ายเป็นหุ่นเชิดของจ้าว กาว และทรงใช้อำนาจเหล็กอันเหี้ยมเกรียมเสียยิ่งกว่าจักรพรรดิพระองค์แรก กระทั่งปี 209 ก่อนค.ศ. ซึ่งเป็นปีที่ 2 ในการครองราชย์ของจักรพรรดิองค์ที่สอง การลุกฮือใหญ่ของชาวนาซึ่งมีเฉิน เซิ้ง และอู๋ กว่าง เป็นผู้นำ ก็ได้ระเบิดขึ้น จากนั้น คลื่นมหาชนทั่วดินแดนได้ผลึกกำลังกันลุยศึกโค่นล้มอำนาจฉินได้แก่ ประชาชนตามท้องถิ่นชนบท กองกำลังที่ยังเหลือรอดของเหล่าผู้ปกครองอดีตรัฐใหญ่ทั้งหก กลุ่มข้าราชการระดับล่างในรัฐบาลฉิน ตลอดจนกลุ่มทหารติดอาวุธในบางพื้นที่ และกองกำลังแห่งฉินก็พ่ายยับอย่างสาหัสสากรรจ์
เซี่ยงหวี่ทายาทขุนนางในอดีตรัฐใหญ่ทั้งหก และหลิว ปังข้าราชการระดับล่างในรัฐบาลฉินผู้มีแนวคิดแบบรากหญ้า ต่างนำทัพของตนลุยฝ่าด่านเข้าโจมตีฉิน ขณะเดียวกัน จ้าว กาวได้ปลิดชีพทั้งหลี่ ซือ และฝูซูจักรพรรดิองค์ที่สอง จากนั้น ก็เชิดจื่อ อิงพระนัดดาของจักรพรรดิองค์แรกสู่บัลลังก์ ในปี 207 ก่อนค.ศ. กองกำลังเซี่ยงหวี่โจมตีทัพฉินแตกกระจุย นอกจากนี้ ทัพฉินยังพ่ายยับอย่างหนักในสนามรบจู้ลู่ ปีเดียวกัน จื่อ อิงก็สังหารจ้าว กาว ปีถัดมา หลิว ปังก็บุกทะลวงไปถึงชานเมืองป้าส้างประชิดเซียนหยาง ในที่สุด จื่อ อิงก็เสด็จออกจากเมืองหลวงและยอมยกธงขาว ปิดม่านราชวงศ์ฉินอันยิ่งใหญ่ จากนั้น เซี่ยงหวี่ซึ่งตั้งตัวเป็น ‘กษัตริย์แห่งฉู่’ และหลิว ปังเป็น ‘กษัตริย์แห่งฮั่น’ ในปี 202 ก่อนค.ศ. เซี่ยงหวี่อัตวินิบาตกรรมหนีความอัปยศพ่ายแพ้ และหลิวปังก็ทะยานสู่บัลลังก์จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่น
แม้ราชวงศ์จะครองแผ่นดินเพียงชั่วเวลาอันแสนสั้นเพียง 15 ปี แต่อิทธิพลของฉินผู้รวบรวมจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ยืนยงเหนือประวัติศาสตร์มาตลอดนับพันปี ดินแดนฉินคือประเทศจีนปัจจุบัน ยกเว้นพรมแดนด้านตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ ระบบการรวบอำนาจสู่ส่วนกลางอย่างสิ้นเชิงของฉิน เป็นแบบอย่างของราชวงศ์ต่อๆมา กำแพงเมืองจีนยังยืนผงาดมาถึงวันนี้ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีอำนาจเผด็จการของยุคราชวงศ์ไหน ดุเดือดเทียมทานฉินได้ ด้วยเหตุผลนี้เอง ที่ทำให้ราชวงศ์ฉินดับวูบในชั่วเวลาอันแสนสั้น.
ใ นเวลานั้น มีกบฏอยู่หลายชุด มีข้อตกลงกันว่า หากใครบุกเข้าทางกวนจง ของราชวงศ์ฉินได้ก่อน จะได้เป็นใหญ่ หลิวปัง ได้ก่อกบฏต่อต้านราชวงศ์ฉินขึ้น และได้ผู้ช่วยมือดีมา 3 คน คือ หานซิ่น จางเหลียง และเซียวเหอ มาช่วยในการวางแผนรบ และประสานงานต่างๆ จึงโค่นราชวงศ์ฉินลงได้
โดยเจ้าเกาได้ฆ่าหลี่ซือ ปลงพระชนม์หูไห่ แล้วตั้งจื่ออิง หลานของหูไห่เป็นฮ่องเต้แทน
แต่เจ้าเกาก็ถูกจื่ออิงฆ่าตาย จื่ออิงยอมสวามิภักดิ์ต่อหลิวปัง เวลาเดียวกัน เซี่ยงอี้
ได้ละเมิดข้อตกลง โดยตั้งตัวเป็นซีฉู่ป้าอ๋อง หรือฌ้อป้าอ๋อง (แปลว่า อ๋องแห่งแคว้นฉู่ ที่ยิ่งใหญ่
เหนืออ๋องอื่นๆ ว่ากันว่า เซี่ยงอี้นิยมสงคราม และคิดจะทำให้แผ่นดินแตกแยก กลับไปสู่ยุคจ้านกว๋ออีกครั้ง) เซี่ยงอี้ได้เผาพระราชวังอาฝางกงของฉินซีฮ่องเต้ ปลงพระชนม์จื่ออิง แล้วสู้รบกับหลิวปัง การสู้รบได้ยืดเยื้ออยู่นาน เซี่ยงอี้คิดจะแบ่งแผ่นดินปกครองกับหลิวปัง แต่ในที่สุด หลิวปังได้ยกทัพเข้าสู้รบขั้นเด็ดขาด ทำให้เซี่ยงอี้ต้องฆ่าตัวตายในที่สุด
ในสมัยราชวงศ์ฉินมีการก่อสร้างกำแพงเมืองจีน เพื่อป้องกันการรุกรานของพวกป่าเถื่อนทางเหนือของจีน คือพวกมองโกล ซ่งหนู และชิตันการปกครองเป็นไปอย่างเข้มงวด บังคับให้ใช้ระบบเงินตราเดียวกัน
สร้างถนน ปฏิรูปเขตเกษตรกรรม สั่งเผาหนังสือทางการเมือง ประวัติศาสตร์และวรรณกรรม ความหวาดระแวงของพระองค์ทำให้ ฝูซู ราชโอรสองค์ใหญ่ถูกเนรเทศ ผู้ที่ครองราชย์ต่อมาคือ จักรพรรดิเอ้อซื่อที่อ่อนแอ ทำให้ราชวงศ์ฉินถูกล้มล้างด้วยพวกกบฏในที่สุด
เรื่องราวสมัยราชวงศ์ฉิน มีอยู่ในวรรณกรรมไซ่ฮั่น ซึ่งกล่าวถึงการสิ้นสุดราชวงศ์ฉินและ
การสถาปนาราชวงศ์ฮั่น
ปัจจุบัน ราชวงศ์ฉินได้รับการยอมรับจากนักประวัติศาสตร์ให้เป็นราชวงศ์แรกของจีน ด้วยมีหลักฐาน
ทางโบรารคดีและประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการมากที่สุดและแผ่นดินก็ยงได้ถูกรวมเป็นหนึ่งครั้งแรก
และยกให้ จิ๋นซีฮ่องเต้ เป็นจักรพรรดิองค์แรกของจีนด้วย ด้วยคำว่า "China" ในภาษาอังกฤษ
หรือคำว่า "จีน" ในภาษาไทยก็ล้วนเพี้ยนมาจากคำว่าฉินนี้ทั้งสิ้น ราชวงศ์ฉิน เป็นราชวงศ์ที่สั้น ๆ
มีอายุเพียง 15 ปี เท่านั้น แต่ได้วางรากฐานที่สำคัญต่อมาแก่คนรุ่นหลัง และได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์
ของโลกมากมาย เช่น กำแพงเมืองจีน, สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: