ความซื่อสัตย์เป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะในวัฒนธรรมของโลกตะวันออกที่ 'ความซื่อสัตย์' เกาะเกี่ยวอยู่กับ 'ความกตัญญู' และแฝงอยู่ในคำสอนของศาสนาและลัทธิปรัชญาของชาวตะวันออกมาโดยตลอด
สำหรับสังคมจีนที่ช่วงเวลาสองพันกว่าปีที่ผ่านมาได้รับอิทธิพลจากคำสอนของ ยอดปราชญ์'ขงจื๊อ (ขงจื่อ:孔子)' อย่างหยั่งรากฝังลึกนั้น ขงจื๊อบอกว่าหัวใจของการเป็นมนุษย์ในสายตาของท่านก็ คือ เหริน หรือ เหยิน (仁)
คำๆ นี้มีผู้รู้หลายท่านแปลความหมายเป็นไทยไว้ว่า เมตตาธรรม มนุสสธรรม มนุษยธรรม เป็นต้น แต่ด้วยข้อจำกัดทางภาษาและอิทธิพลจากศาสนาพุทธ ทำให้ความเข้าใจในความหมายแท้จริงของคำๆ นี้ค่อนข้างจะคลาดเคลื่อน แต่ทั้งนี้หากจะอธิบายถึง "เหริน" ก็อาจระบุความได้อย่างกว้างๆ ว่า คือ คุณธรรมและความดีงามที่พึงกระทำระหว่างบุคคลต่อบุคคล
ทั้งนี้ใน 'เหริน' หรือคุณธรรมขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ขงจื๊อกล่าวถึงนี้มีส่วนประกอบสำคัญประการหนึ่งที่มิอาจละเลยได้ก็คือ ความซื่อสัตย์ หรือ ซิ่น (信)
ประวัติศาสตร์จีนตลอดช่วงเวลานับร้อยนับพันปีที่ผ่านมา ในระบบสังคมที่การปลูกฝังทางความคิดระบุว่าความซื่อสัตย์ถูกเน้นย้ำไปที่ "ความภักดีต่อสังคมโดยรวม" หรือที่ปัจจุบันเราให้คำจำกัดความกันในกรอบใหญ่ว่า "ความรักชาติ" นั้น หากเราจะเอ่ยถึงวีรบุรุษผู้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์และรักชาติแล้ว ก็มิอาจละเลยที่จะกล่าวถึงคนสองคน
หนึ่งนาม กวนอู อีกหนึ่งนาม งักฮุย .............................
เวลาแดดร่มลมตกต้นเดือนพฤษภาคม ผมก้าวลงจากรถประจำทาง ณ ป้าย 'ศาลเจ้ากวนอู' ห่างจากตัวเมืองลั่วหยางมาทางทิศใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร
สำหรับประวัติและเรื่องราวกวนอู (关羽) หรือในภาษาจีนกลางอ่านว่า กวนอี่ว์ นั้น เนื่องจากเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนไทยอยู่แล้วตามกระแสความนิยมในเรื่อง สามก๊กที่ดำเนินมายาวนานตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ดังนั้นผมจึงขอเล่าเรื่อง งักฮุย วีรบุรุษผู้รักชาติของชาวจีนให้ฟังกันเสียก่อน ไว้ในตอนหน้าผมจะค่อยกล่าวถึงกวนอูอย่างคร่าวๆ แล้วก็นำท่านผู้อ่านเที่ยวชมศาลกวนอูไปพร้อมๆ กัน งักฮุย* หรือชื่อเรียกในภาษาจีนกลางคือ เย่ว์เฟย (岳飞; ค.ศ.1103-1142) เกิดในยุคปลายของราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ.960-1127) ที่มณฑลเหอหนาน เมื่อครั้งยังเล็ก ณ บ้านเกิดของเขาเกิดอุทกภัยใหญ่จากการแตกของเขื่อนกั้นแม่น้ำเหลือง (黄河) มารดาของงักฮุยต้องอุ้มบุตรชายไว้ในอ้อมกอด อาศัยซุกตัวอยู่ในโอ่งลอยตามน้ำไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาชีวิตให้รอด
เมื่อล่วงเข้าสู่วัยหนุ่ม ในภาวะที่ประเทศกำลังตกอยู่ในวิกฤตเนื่องจากฮ่องเต้สองพระองค์ของราชวงศ์ซ่งเหนือ คือ ซ่งฮุยจง (宋微宗) และซ่งชินจง (宋钦宗) ถูกพวกจิน (金; ค.ศ.1115-1234) จับตัวไปเป็นเชลยศึก จนในที่สุดนำมาสู่จุดจบของราชวงศ์ซ่งเหนือ งักฮุยเมื่อพบเห็นกับเหตุการณ์เช่นนี้จึงตั้งปณิธานกับตัวเองไว้ว่าจะต้องกอบกู้ดินแดนที่สูญเสียและชาติกลับคืนมาให้ได้
ความตั้งใจนี้เมื่อประกอบกับการสนับสนุนมารดา เขาจึงสมัครเข้าเป็นทหารรับใช้ให้กับราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋; ค.ศ.1127-1279) ที่ขณะนั้นองค์ฮ่องเต้คือ ซ่งเกาจง (宋高宗) ได้ย้ายเมืองหลวงหนีมาทางใต้ จากเปี้ยนเหลียง (汴梁; ปัจจุบันคือเมืองไคเฟิง) มาอยู่ที่หลินอัน (临安; ปัจจุบันคือเมืองหางโจว)
โดยก่อนที่งักฮุยจะออกจากบ้านไปรับใช้ชาติ มารดาได้สลักอักษรจีน 4 ตัวไว้ที่กลางแผ่นหลังของบุตรชาย ความว่า
尽忠报国 จิ้นจงเป้ากั๋ว รู้รักภักดี พลีชีพเพื่อชาติ
ภาพวาดบรรยายเหตุการณ์ก่อนที่งักฮุยจะออกจากบ้านไปรับใช้ชาติ และมารดาจึงได้สลักข้อความไว้ที่แผ่นหลังงักฮุยความว่า จิ้นจงเป้ากั๋ว (尽忠报国) จารึกไว้ที่ระเบียงยาว ณ พระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน ชานกรุงปักกิ่ง
เมื่อเข้ารับราชการทหาร งักฮุยที่พกความมุ่งมั่นไว้เต็มเปี่ยมก็แสดงความกล้าหาญและสามารถรบชนะสังหารข้าศึกไปเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งผลงานไปเข้าตาแม่ทัพนาม จงเจ๋อ (宗泽) ต่อมาแม่ทัพจงเจ๋อก็ถ่ายทอดวิชาความรู้ในการทำศึกสงครามนานาประการให้กับงักฮุยโดยหมดสิ้น โดยหวังว่างักฮุยจะเป็นกำลังสำคัญในการกู้ชาติต่อไป
หลังจากที่แม่ทัพจงเจ๋อเสียชีวิต งักฮุยก็ได้เป็นผู้สืบทอดในตำแหน่งแม่ทัพต่อตามคาด และสร้างผลงานจนได้ดำรงแม่ทัพใหญ่ในตำแหน่งเจี๋ยตู้สื่อ (节度使) เมื่ออายุเพียง 32 ปีเท่านั้น แต่ทั้งนี้งักฮุยก็มิได้แสดงอาการยโสโอหังต่อตำแหน่งใหญ่ของตัวเองแต่อย่างใด สังเกตได้จากที่ครั้งหนึ่งฮ่องเต้เคยออกปากว่าจะสร้างจวนหลังใหม่ให้ งักฮุยกลับตอบปฏิเสธโดยกล่าวกับฮ่องเต้ไปว่า
"ในเมื่อยังกวาดล้างศัตรูได้ไม่สิ้นซาก กระหม่อมจะมีมาคำนึงถึงเรื่องบ้านของตัวเองได้อย่างไร?"
เมื่อก้าวขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่ ชื่อเสียงของงักฮุยก็ยิ่งขจรขจาย โดยเฉพาะในแง่ของความเข้มงวดและระเบียบวินัยของกองทัพ มีอยู่ครั้งหนึ่งขณะที่ฝึกซ้อมการรบอยู่นั้น เมื่อบุตรชาย (เย่ว์หยุน:岳云) ของงักฮุยบังคับม้าศึกควบขึ้นเนินลาดแล้วเกิดบังคับม้าไม่อยู่จนทั้งคนทั้งม้าเสียหลักล้มลง ด้านงักฮุยเมื่อทราบดังนั้นก็มิได้แสดงความอาทรต่อบุตรของตัวเองเหนือกว่าพลทหารนายอื่นแต่อย่างใด ออกคำสั่งให้ดำเนินการลงโทษบุตรชายของตนไปตามกฎระเบียบ
มากกว่านั้น สิ่งที่ทำให้กองทัพของงักฮุยครองใจชาวบ้านมากไปกว่านั้นก็คือ "ความซื่อสัตย์" และ "ซื่อตรง"
เมื่อพบว่าพลทหารขอเชือกปอจากชาวบ้านหนึ่งเส้นเพื่อนำมามัดไม้ฟืน งักฮุยก็สั่งให้ลงโทษพลทหารผู้นั้นไปตามระเบียบ ขณะที่เมื่อกองทัพของงักฮุยผ่านไปยังหมู่บ้านใดก็จะตั้งค่ายนอนกันริมทาง แม้ชาวบ้านเชิญให้เหล่าทหารเข้าไปพักผ่อนในบ้านอย่างไรก็ไม่ยินยอม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่เลื่องลือกันไปทั่วว่าในกองทัพของงักฮุยมีคำขวัญที่ได้รับการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดประการหนึ่ง คือ
"แม้ต้องหนาวตายก็ไม่ขอเบียดเบียนบ้านชาวประชา แม้ต้องอดตายก็จะไม่ปฏิบัติตัวเยี่ยงโจร-ขโมย"
ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างงักฮุยกับเหล่าทหารในกองทัพก็เป็นไปด้วยความแนบแน่นยิ่ง โดยเมื่อมีพลทหารคนใดป่วยงักฮุยก็จะไปเยี่ยมด้วยตัวเอง พร้อมส่งคนไปให้การดูแลครอบครัวของพลทหารผู้นั้น ขณะที่หากเบื้องบนตบรางวัลอะไรให้มา งักฮุยก็จะจัดสรรแบ่งปันให้พลทหารของตนอย่างเท่าเทียมโดยที่ไม่คำนึงว่าจะเหลือตกถึงตนเองหรือไม่
ด้วยเหตุฉะนี้ กองทัพของงักฮุยจึงมีความแข็งแกร่งอย่างยิ่ง และเมื่อประกอบกับความรู้ความสามารถในด้านสงครามของงักฮุยแล้วก็ทำให้ในการรับทุกครั้งกับชนเผ่าจินนั้น กองทัพงักฮุยได้รับชัยชนะอยู่เสมอๆ จนพวกจินนั้นเกิดความเกรงกลัวอย่างมาก จนกระทั่งมีคำกล่าวกันว่า "โยกภูเขานั้นง่าย คลอนทัพงักฮุยนั้นยากยิ่ง"
ทัพงักฮุยประสบชัยชนะกรีฑาทัพขึ้นภาคเหนือเพื่อยึดดินแดนคืนได้มากมาย บุกจนกระทั่งตั้งทัพอยู่ห่างจากเมืองหลวงเดิมเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น**
เมื่อเห็นสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ฉินฮุ่ย (秦桧) ขุนนางกังฉิน (ว่ากันว่าฉินฮุ่ยและภรรยาแซ่หวังเคยถูกกองทัพของจินจับตัวเป็นเชลยศึก แต่สุดท้ายก็ถูกปล่อยตัวกลับมายังซ่งโดยให้สัญญาว่าจะเป็นสายลับให้กับทางจิน***) ผู้ซึ่งเชลียร์ฮ่องเต้ซ่งเกาจงจนได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงกราบทูลต่อองค์ฮ่องเต้ว่าทัพของงักฮุยนั้นเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาสงบศึกกับเผ่าจิน
ด้านฮ่องเต้ซ่งเกาจงก็เชื่อในคำของฉินฮุ่ย และออกโองการบัญชาให้งักฮุยถอนทัพกลับมายังเมืองหลวง ทางฝั่งงักฮุยแม้จะทักท้วงและออกอาการดื้อดึงเช่นไรก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งพระบัญชาของฮ่องเต้ส่งมาเป็นฉบับที่ 12 งักฮุยจึงถอดใจ พร้อมกับทอดถอนใจรำพึงกับตัวเองด้วยความช้ำใจอย่างสุดแสนว่า ความพากเพียร 10 ปีของตนกลับต้องกลายเป็นเพียงเถ้าธุลีในพริบตา
เมื่องักฮุยปฏิบัติตามพระบัญชาถอนทัพกลับมายังเมืองหลวง ฉินฮุ่ยก็ใส่ร้ายว่างักฮุยนั้นมักใหญ่ใฝ่สูง คิดการณ์ใหญ่จะก่อกบฎล้มล้างราชสำนัก งักฮุยได้ฟังดังนั้นก็ไม่โต้ตอบอะไรด้วยคำกล่าวอะไร เพียงแต่คลายชุดท่อนบนของตนออก เผยให้ฉินฮุ่ยเห็นถึงคำว่า '尽忠报国' อักษรสี่ตัวที่มารดาสลักไว้ด้านหลัง ขุนนางกังฉินเมื่อเห็นดังนั้นก็ชะงัก เอ่ยปากอะไรไม่ออกแม้แต่คำเดียว
ศาลเจ้างักฮุย (岳王庙) ริมทะเลสาบซีหู
อย่างไรก็ตาม ฉินฮุ่ยก็ยังไม่ยอมลดละความพยายามในการป้ายสีงักฮุยต่างๆ นานา แม้จะตรวจไม่พบความผิดใดๆ ก็ตาม แต่ในที่สุดฉินฮุ่ยก็ปั้นเรื่องจนทำให้งักฮุยต้องถูกโทษประหารจนได้ โดยเมื่อมีขุนนางฝ่ายงักฮุยคนอื่นๆ ทักท้วง และตั้งคำถามฉินฮุ่ยว่ามีหลักฐานในการกล่าวโทษงักฮุยหรือไม่ ฉินฮุ่ยก็ตอบว่า "อาจจะมีก็ได้ (莫须有)" คำตอบของฉินฮุ่ยที่ว่า "อาจจะมีก็ได้" นี้ ภายหลังกลายเป็นศัพท์ที่ถูกจารึกไว้ต่อๆ มาว่ามีความหมาย คือการให้ร้ายผู้อื่นโดยปราศจากหลักฐาน
อย่างไรก็ตาม ฉินฮุ่ยก็ยังไม่ยอมลดละความพยายามในการป้ายสีงักฮุยต่างๆ นานา แม้จะตรวจไม่พบความผิดใดๆ ก็ตาม แต่ในที่สุดฉินฮุ่ยก็ปั้นเรื่องจนทำให้งักฮุยต้องถูกโทษประหารจนได้ โดยเมื่อมีขุนนางฝ่ายงักฮุยคนอื่นๆ ทักท้วง และตั้งคำถามฉินฮุ่ยว่ามีหลักฐานในการกล่าวโทษงักฮุยหรือไม่ ฉินฮุ่ยก็ตอบว่า "อาจจะมีก็ได้ (莫须有)" คำตอบของฉินฮุ่ยที่ว่า "อาจจะมีก็ได้" นี้ ภายหลังกลายเป็นศัพท์ที่ถูกจารึกไว้ต่อๆ มาว่ามีความหมาย คือการให้ร้ายผู้อื่นโดยปราศจากหลักฐาน
ทั้งนี้ในวันที่งักฮุยถูกประหารชีวิต ก็มีพลเมืองดีที่รู้เรื่องราวและเคารพรักในตัวงักฮุยนำศพของเขามาทำพิธีฝังศพ โดยเวลาต่อมาได้มีการเคลื่อนย้ายหลุมฝังศพของงักฮุยมาตั้งไว้ริมทะเลสาบซีหู ณ เมืองหางโจว
อย่างไรก็ตาม เมื่อแผนการขายชาติ 'นายกรัฐมนตรีกังฉิน' ถูกเล่ากันจากปากต่อปากราษฎรไปจนทั่วเมืองหลวง เพื่อระบายความแค้นใจที่มีต่อฉินฮุ่ย ภรรยาและพรรคพวกที่ให้ร้ายงักฮุย ขุนศึกผู้รักชาติจนเสียชีวิต ราษฎรจึงนำแป้งสองชิ้นมาบีบติดกันแล้วทอดรับประทานเพื่อระบายความแค้น โดยเปรียบเอาว่าแป้งชิ้นหนึ่งคือฉินฮุ่ย ส่วนอีกชิ้นหนึ่งก็คือ ภรรยาแซ่หวัง
แป้งทอดที่ว่าก็คือ ปาท่องโก๋**** หรือที่ชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมเรียกกันว่า 'อิ่วจาก้วย' ส่วนในภาษาจีนกลางนั้นเขาอ่านว่า โหยวจ๋าฮุ่ย (油炸桧) แปลว่า น้ำมันทอดฉินฮุ่ย ซึ่งก็เป็นการนำชื่อของ ฉินฮุ่ย ขุนนางกังฉินผู้ขายชาติมาตั้งเป็นชื่ออาหาร เพื่อถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังจดจำถึงผู้ทรยศต่อประเทศชาติ (ส่วนทางประเทศจีนภาคเหนือเขารับประทานปาท่องโก๋กันเป็นชิ้นใหญ่ยาว เรียกว่า โหยวเถียว (油条)) สำหรับหลุมศพของงักฮุย วีรบุรุษผู้รักชาติ ปัจจุบันก็ยังตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออก ริมทะเลสาบตะวันตก (西湖) ณ เมืองหางโจว โดยคนในรุ่นต่อๆ มาได้มีการปรับปรุงยกระดับให้มีฐานะเป็นศาลเจ้า ซึ่งก็เปรียบเสมือนว่ายกย่องให้งักฮุยกลายเป็นเทพแห่งความซื่อสัตย์องค์หนึ่งนั่นเอง
ณ วันนี้หากมีโอกาสได้เข้าไปเยือนศาลเจ้างักฮุยริมทะเลสาบซีหู ติดกับโรงแรมแชงกรีลา ก็จะพบกับรูปปั้นสูงตระหง่านของงักฮุย โดยด้านบนรูปปั้นเป็นลายมือของงักฮุยตวัดพู่กันอย่างมีพลังเป็นตัวอักษร 4 ตัวอ่านว่า
"เอาแผ่นดินของข้าคืนมา (还我河山)"
ขณะที่รูปปั้นของงักฮุย แสดงความองอาจ น่าเกรงขาม และเป็นที่ชื่นชมของบุคคลที่มาเยี่ยมเยือน ข้างหน้าหลุมศพของงักฮุยในเวลาต่อมาประชาชนก็ได้หล่อรูปโลหะขึ้นมา 4 รูป ประกอบไปด้วย คนขายชาติทั้ง 4 คือ ฉินฮุ่ย ภรรยาแซ่หวัง ม่อฉีเซี่ย (万俟卨) และ จางจุ้น (张俊) นั่งคุกเข่าเอามือไพล่หลังอยู่หน้าหลุมศพ ไว้เป็นอุทาหรณ์แก่คนรุ่นหลัง
ว่ากันว่าเมื่อรูปหล่อของคนขายชาติทั้ง 4 สร้างเสร็จ ผู้คนที่มาเยือนศาลเจ้างักฮุยต่างก็นิยมถ่มน้ำลาย แสดงความเหยียดหยามต่อบุคคลทั้งสี่อยู่ แม้ปัจจุบันจะมีการสร้างรั้วกั้นไว้แล้วก็ตาม
เมื่อเทียบกับราชวงศ์อื่นๆ ในประวัติศาสตร์จีนแล้ว 'ราชวงศ์ซ่ง' นับเป็นยุคสมัยที่ประเทศจีนอันปกครองด้วยชาวฮั่นที่อ่อนแอที่สุดยุคหนึ่ง จนในเวลาต่อมาประเทศจีนก็ถูกยึดครองโดยชนกลุ่มน้อย คือชาวมองโกล
...... มิอาจปฏิเสธได้เลยว่าการขาดหายไปของวีรบุรุษกู้ชาติเช่นงักฮุย และการเรืองอำนาจของ สามี-ภรรยาปาท่องโก๋ ฉินฮุ่ย-ภรรยาแซ่หวัง ถือเป็นจุดหักเหหนึ่งที่นำพาชาติไปสู่เส้นทางแห่งความอ่อนแอ และเสื่อมสลายในที่สุด
หมายเหตุ : *ในที่นี้สำหรับชื่อ 岳飞 ผมจะอ่านว่า 'งักฮุย' แทนชื่อเรียกในภาษาจีนกลาง 'เย่ว์เฟย' ด้วยเหตุผล หนึ่ง ความคุ้นเคยของคนไทย และ สอง ความลื่นไหลในการอ่านบทความโดยมิให้เกิดความสับสน **ข้อมูลจากหนังสือ 世界文化史故事大系•中国卷 โดย จูอี้เฟย และ หลี่รุ่นซิน (朱一飞,李润新) สำนักพิมพ์ 上海外语教育出版社 หน้า 325-328 ***อ้างอิงจากบรรยายวิชาประวัติศาสตร์จีนโบราณ ภาคการศึกษาฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ.2005 โดย ดร.หวงจิ้ง (黄静) มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง ****เรื่องปาท่องโก๋ โดย สุขสันต์ วิเวกเมธากร จาก คอลัมน์โต๊ะจีนในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2546
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น