5/08/2552

หยางกุ้ยเฟย

หยางกุ้ยเฟย (อังกฤษ: Yang Guifei ; จีน: 楊貴妃) พระนามเดิมคือ หยางอี้หวน (อังกฤษ: Yang Yuhuan ; จีน: 楊玉環) เกิด 1 มิถุนายน ค.ศ. 719 เป็นหนึ่งในสี่หญิงงามแห่งแผ่นดินจีนกล่าวกันว่า หยางกุ้ยเฟยทรงเป็นสตรีที่มีความงามเป็นเลิศ ใช้ชนม์ชีพในรัชสมัยราชวงศ์ถัง ได้รับฉายานามว่า "มวลผกาละอายนาง" (จีน: 羞花; พินอิน: xiū huā) ซึ่งหมายถึง "ความงามที่ทำให้แม้แต่มวลหมู่ดอกไม้ยังต้องละอาย" (a face that would make all flowers feel shameful)

นางมีชื่อเดิมว่า หยางอวี้หวน (อังกฤษ: Yang Yuhuan จีน: 楊玉環) เป็นชาวเมืองหย่งเล่อ "อวี้หวน" แปลว่า "ตุ้มหูหยก" นางเป็นธิดาของ "หยางหยวนเหยียน"


ตอนที่นางจะเกิดนั้น มารดาของนางได้ฝันเห็นสายรุ้งพาดโค้งจากฟากฟ้าลงมาที่เตียงนอน พร้อมส่งแสงประกายระยิบระยับงดงาม แต่เพียงชั่วครู่เดียวก็หายวับไป กลายเป็นดาวตกพุ่งตกลงมาสู่พื้น มีเสียงดังสนั่นหวั่นไหว

อวี้หวน เมื่อเจริญวัยขึ้น มีรูปโฉมที่งดงามและเปล่งปลั่งชวนมองยิ่งนัก อีกทั้งยังมีผิวกายที่มีกลิ่นหอมจรุงใจ เป็นที่เลื่องลือไปทั่วทั้งหมู่บ้าน และตำบลที่นางอาศัยอยู่ นางมีความสามารถทางดนตรี ขับร้องและฟ้อนรำ

ในปีที่ ๒๕ ของรัชสมัยจักรพรรดิถังเสวียนจง (唐玄宗) พระองค์ทรงดำริที่จะหาพระชายาให้พระโอรสโซ่วอ๋อง (寿王) โอรสองค์ที่ ๑๘ อาของอวี้หวนทราบข่าวจึงนำนางเข้าไปถวาย และก็ไม่ผิดหวัง

โซ่วอ๋อง เมื่อแรกได้เห็นนางนั้น ก็ถึงกับตะลึงพรึงเพริดในความงามของนาง ดังนั้นนางจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระชายาของพระโอรสโซ่วอ๋อง ตั้งแต่นางมีอายุได้เพียง ๑๖ ปี ซึ่งกำลังอยู่ในวัยสาวแรกรุ่น
ต่อมา อู่กุ้ยเฟย พระสนมที่จักรพรรดิถังเสวียนจง ทรงโปรดปรานได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน พระองค์ยังทรงหาพระชายาใหม่ที่ถูกพระทัยไม่ได้ ขันทีเกาลี่ซื่อผู้ใกล้ชิดจึงทูลเสนอว่า หญิงงามที่สุดในแผ่นดินไม่มีใครงามเกินหยางอวี้หวน พระชายาของโซ่วอ๋อง

แล้วเกาลี่ซื่อได้ออกอุบายให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรนาง เพียงแรกประสบพบเท่านั้น พระองค์ก็ถึงกับลุ่มหลงในความงามของนางโดยทันที แต่เนื่องจากติดขัดที่นางเป็นชายาของโซ่วอ๋อง

เกาลี่ซื่อจึงบอกอุบายอันแยบยล ให้พระองค์แต่งตั้งนางเป็นนักพรตหญิงฉายาไท่เจิน แล้วหาพระชายาใหม่ให้โซ่วอ๋องแทน

สมัยเทียนเป่าปีที่สี่ (พ.ศ.๑๒๘๘) อวี้หวนได้เข้าวัง และเป็นที่โปรดปรานของถังเสวียนจง จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสนมเอกหรือกุ้ยเฟย (ขณะนั้นจักรพรรดิถังเสวียนจงมีพระชนมายุ ๖๑ พรรษา ส่วนหยางกุ้ยเฟยมีอายุเพียง ๒๗ ปีเท่านั้น)

พ่อ พี่น้องแลเครือญาติของนางทั้งหมดได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนนาง และฮูหยินทั้งหมด จนเป็นที่โจษจันกันไปทั่วว่า เพราะมีลูกสาวดี จึงได้ดิบได้ดีกันถ้วนหน้า

ทุกครั้งที่นางจะนั่งรถม้า ต่างก็มีบรรดาขุนนางใหญ่บังคับรถม้าให้ด้วยตัวเอง นางมีช่างถักทอและปักผ้าถึงเจ็ดร้อยคน มีผู้คนมากมายแย่งกันมอบของกำนัลต่างๆ ให้ เนื่องจากขุนนางจางจิ่วจางและหวังอี้มอบของกำนัลให้นางจึงได้เลื่อนตำแหน่ง ดังนั้นบรรดาขุนนางทั้งหลายต่างก็หวังที่จะได้รับผลตอบแทนเช่นเดียวกัน หยางกุ้ยเฟยโปรดปรานลิ้นจี่จากแดนหลิ่งหนาน ก็มีผู้คนคิดหาวิธีที่จะนำมาส่งมาถึงเมืองฉางอานให้เร็วที่สุด

ความที่จักรพรรดิ์ถังเสวียนจง ทรงลุ่มหลงอยู่แต่นาง และเล่นดนตรี จนละเลยการปกครองว่าราชการเมือง ทำให้หยางกั๋วจง (杨国忠-YANG KGUOA ZHONG) พี่ชาย (ลูกพี่ลูกน้อง) ของนางได้รวบอำนาจการปกครองไว้ถึง ๔๐ ตำแหน่ง จนมีตำแหน่งเทียบเท่าสมุหนายก กินสินบนอย่างเปิดเผย ใช้ระบบอุปถัมภ์ในการคัดเลือกคนเข้ารับราชการหรือเลื่อนตำแหน่ง ทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว

เป็นเหตุให้ อานลู่ซาน (安禄山-AN LU SHAN) ได้หยิบยกข้ออ้างนี้มาก่อการกบฏ โดยนำทหารจากชายแดนและทหารทิเบตเข้ามายึดนครฉางอานได้โดยง่ายดายในปี พ.ศ. ๑๒๙๙ ทำให้องค์จักรพรรดิถังเสวียนจง ต้องทรงลี้ภัยชั่วคราวไปในทางตอนใต้ของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน)

อานลู่ซานยกกองทัพติดตามไป ไม่เพียงเพราะต้องการแผ่นดินราชวงศ์ถังเท่านั้น แต่ยังต้องการครอบครองสาวงามหยางกุ้ยเฟยอีกด้วย

ในระหว่างทางที่ทรงลี้ภัยไปนั่นเอง หยางกั๋วจงได้ถูกเหล่าทหารรุมจับสังหารเสีย จากนั้นเหล่าทหารได้ทูลพระองค์ว่า "การที่เกิดกบฏเข้ายึดบ้านครองเมือง ทำให้ราชวงศ์ต้องเสื่อมถอยก็เพราะหยางกั๋วจงเป็นต้นเหตุ เมื่อหยางกั๋วจงตายไปแล้ว แต่โดยรากยังคงอยู่นั่นคือ หยางกุ้ยเฟย ฉะนั้นนางก็ไม่สมควรอยู่ให้เป็นที่ครหาด้วย"

จักรพรรดิ์ถังเสวียนจงทรงโทมนัสในพระทัยอย่างสุดพรรณนา ในที่สุดจึงทรงรับสั่งให้ประหารชีวิตหยางกุ้ยเฟย โดยให้กาลี่ซื่อผู้นำนางมาถวายพระองค์ นำผ้าแพรขาวไปมอบให้นางเพื่อให้แขวนคอตายใต้ต้นหลีในสวน

หยางกุ้ยเฟยได้จบชีวิตลงอย่างน่าสงสารในปี พ.ศ.๑๒๙๙ ระหว่างทางลี้ภัยไปมณฑลซื่อชวน ขณะนั้นนางมีอายุเพียง ๓๘ ปีเท่านั้น
ภายหลัง กวีเอกไป๋จวีอี้ได้แต่งลำนำ “ฉางเฮิ่นเกอ” (长恨歌) บรรยายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ตอนนี้ขึ้น

"...ยามเมื่อนางหันมาแย้มสรวล ก็นำมาซึ่งเสน่ห์ร้อยประการ

เป็นเหตุให้นางสนมทั้ง ๖ ตำหนัก ต้องด้อยรัศมีลง

ยามเมื่อนางอาบน้ำในสระ (หัวชิงฉือ)

เหล่านางสวรรค์กำนัลใน (๓,๐๐๐ นาง)

ต่างก็พรึงเพริดด้วยโฉมอันงามวิไลนัก..."

เล่ากันว่า ทั้ง ๒ ทรงโปรดปรานในการมาสรงน้ำที่หัวชิงฉือเป็นยิ่งนัก ตลอดระยะเวลาที่ทรงอยู่ร่วมกัน ได้มาสรงน้ำที่นี่ถึง ๔๙ ครั้ง จนมีสระหนึ่งของที่นี่ เรียกว่า สระหยางเฟย เป็นที่สรงน้ำของนางโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ยังมีคำร่ำลือกันว่า หยางกุ้ยเฟย เธอมีกลิ่นกายที่หอมกรุ่น เนื่องจากนางได้นำเอากลีบดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมนานาพรรณ มาบดให้ละเอียดเป็นแป้งแล้วใช้ชโลมกาย ในยามที่เธอมีเหงื่อไหลในช่วงฤดูร้อนนั้น ร่ำลือกันว่ายิ่งส่งกลิ่นหอมอบอวลให้เป็นที่ใหลหลงยิ่งนัก ซึ่งทำให้หญิงสาวจีนในยุคนั้นเอาตามอย่างนาง โดยนำกลีบดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมมาทำเป็นแป้งใช้ทาชโลมกาย จนถือเป็นต้นกำเนิดของแป้งฝุ่นจีนมาตราบจนทุกวันนี้

หยางกุ้ยเฟยได้รับฉายานามว่า "มวลผกาละอายนาง"(จีน: 羞花 พินอิน: xiū huā) ซึ่งหมายถึง "ความงามที่ทำให้แม้แต่มวลหมู่ดอกไม้ยังต้องละอาย" (a face that would make all flowers feel shameful)


มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งขณะอยู่ในวัง นางไปเดินเล่นที่สวนดอกไม้ มองเห็นดอกโบตั๋นและกุหลาบจีนที่กำลังบานสะพรั่ง แล้วคิดถึงชีวิตตนเองที่ถูกกักอยู่ในวังหลวง ผ่านวัยสาวไปอย่างไร้ความหมาย นางร้องไห้พลางลูบดอกไม้นั้น เมื่อนางแตะถูกกลีบดอกไม้กลีบนั้นก็หุบลง ใครจะคิดว่าต้นไม้ที่นางลูบนั้นคือต้นนางอาย
นางกำนัลคนหนึ่งพบเห็นเหตุการณ์นี้เข้า จึงนำไปเล่าลือว่าหากหยางอี้หวนเทียบความงามกับดอกไม้แล้ว ดอกไม้ยังต้องละอายก้มลงให้แก่นาง........



สุสาน หยางกุ้ยเฟย (อังกฤษ: Yang Guifei จีน: 楊貴妃)

เสียชีวิต ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๑๒๙๙ (สิริอายุรวม ๓๘ ปี)























7 ความคิดเห็น:

Gomm กล่าวว่า...

อี้หวน แปลว่า กำไลหยก (หรือนัยความหมายลูกสาว)

Unknown กล่าวว่า...

ชอบหยางกุ้ยเฟย กับ เตียวเสี้ยน

Unknown กล่าวว่า...

ชอบหยางกุ้ยเฟย กับ เตียวเสี้ยน

Unknown กล่าวว่า...

สงสารหญิงงามมีกรรม ตกไปเป็นของลูกแล้วต่อไปเป็นของพ่อ นำนางมาแล้วให้นางต้องให้นางแขวนคอตาย โดยเหตุผลทางการเมือง... ชีวิตในกรงทองช่างน่าเศร้าใจนัก

สรายุทธ กล่าวว่า...

พูดได้ดีมากครับ

Unknown กล่าวว่า...

รักหยางกุ้ยเฟย

raprees rasuree กล่าวว่า...

หยางกุ้ยเฟย หญิงผู้ปลิกแผ่นดินจีน..