7/14/2554

สาธารณรัฐจีน / ธารประวัติศาสตร์


(ซ้าย) หยวนซื่อไข่ กับ (ขวา) ซุนยัตเซ็น บนธงสาธารณรัฐจีนในยุคต้น
ภายหลังเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่อู่ชัง กระแสแห่งการปฏิวัติได้ลุกโชนลามเลียไปทั่วแผ่นดินจีน หลังจากที่กลุ่มปฏิวัติสามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ ก็ได้เตรียมที่จะจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อจัดสรรอำนาจปกครองอย่างเป็นทางการขึ้น ระหว่างการจัดตั้งกองกำลังแต่ละกลุ่มต่างเกิดความขัดแย้งกันอย่างหนัก ในการคัดสรรบุคคลที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลชั่วคราว จนการจัดตั้งรัฐบาลต้องล่าช้าออกไป หน่วยงานกลางของสมาพันธ์ถงเหมิงที่อู่ฮั่นกับเซี่ยงไฮ้จึงได้ส่งโทรเลขไปยังกลุ่มปฏิวัติในแต่ละมณฑลเพื่อให้ส่งตัวแทนเข้ามาหารือในการจัดตั้งรัฐบาลกลาง


เครื่องแต่งกายที่แตกต่างในยุคสาธารณรัฐจีน

ช่วงเวลานั้นประจวบกับซุนยัตเซ็นได้กลับมายังมายังประเทศจีนพอดี ทำให้การหารือของตัวแทน 17 มณฑลในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ.1911 ได้มีการคัดเลือกเลือกให้ซุนจงซัน (孙中山)หรือซุนยัตเซ็นเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว และกำหนดชื่อของประเทศเป็นสาธารณรัฐจีน (中华民国)

จากนั้นในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1912 ซุนยัตเซ็นจึงได้เข้าพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวคนแรกของสาธารณรัฐจีน และเมื่อถึงวันที่ 3 มกราคม จึงได้มีการเลือกด้วยมติเอกฉันท์จากตัวแทน 17 คนให้หลีหยวนหง (黎元洪) เป็นรองประธานาธิบดี ตัดสินใจใช้ธง 5 สีเป็นธงประจำชาติ และใช้ธงที่มีดาว 18 ดวงเป็นธงประจำกองทัพบก และธงฟ้าครามอาทิตย์น้ำเงินเป็นธงกองทัพเรือ

รัฐบาลใหม่ได้เลือกให้เมืองนานกิง เป็นเมืองหลวงชั่วคราว ส่วนตัวแทนจากมณฑลต่างๆก็ได้แปรสภาพมาเป็นสภานิติบัญญัติชั่วคราว มีการผ่านร่างรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐจีนขึ้น อีกทั้งมีการประกาศกฎหมายใหม่ๆเป็นจำนวนมาก มีการประกาศให้ประชาชนทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกัน มีสิทธิในการเข้ารับการเลือกตั้ง พักอาศัย นับถือศาสนา ชุมนุม วิพากษ์วิจารณ์ และเผยแพร่ความคิดของตนได้อย่างอิสระ จากนั้นได้ยกเลิกการเก็บภาษีการเกษตรแบบรีดนาทาเร้นของราชวงศ์ชิง สนับสนุนให้ชาวจีนโพ้นทะเลกลับมาลงทุนในประเทศ ด้านการศึกษามีการสอนในเรื่องของอิสรเสรีความเสมอภาค สนับสนุนให้โรงเรียนมีทั้งชายและหญิง ยกเลิกคำเรียกขานแบ่งชนชั้นในอดีตเช่น “ใต้เท้า” “นายท่าน” และให้หญิงชายทุกคนตัดผมเปียทิ้ง หญิงห้ามมัดเท้า และห้ามไม่ให้ประชาชนเล่นการพนัน สูบฝิ่น หรือเพาะปลูกฝิ่น

หยวนซื่อไข่
ทว่าหลังสาธารณรัฐจีนได้ถูกสถาปนาขึ้นไม่นานก็ต้องพบกับแรงกดดันจากกลุ่มต่อต้านหลายกลุ่มที่ร่วมมือกัน โดยเฉพาะหยวนซื่อไข่ (袁世凯) ที่ใช้ทั้งกำลังกองทัพและการหลอกลวงทางการเมือง บีบให้คณะปฏิวัติต้องยอมส่งมอบอำนาจรัฐให้กับหยวนซื่อไข่

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912 ฮ่องเต้ผู่อี๋ได้ประกาศสละราชสมบัติ ต่อมาในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ดร.ซุนยัตเซ็น ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีต่อสภานิติบัญญัติ และทางสภาได้เลือกให้หยวนซื่อไข่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวคนที่ 2 ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์

แม้ว่าหยวนซื่อไข่ จะสามารถแย่งชิงผลประโยชน์อันเกิดจากการปฏิวัติไปได้แต่เขาก็ยังมิได้พอใจ ยังคงฝันหวานอยากจะเป็น “ฮ่องเต้” อยู่ ดังนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1913 เนื่องจากรัฐธรรมนูญใหม่ได้กำหนดว่าผู้ที่จะมาเป็นประธานาธิบดีจะต้องได้เสียง 3 ใน 4 ทำให้หยวนซื่อไข่ส่งกำลังทหาร เข้าล้อมสภาฯ หลังจากการโหวต 2 ครั้งที่หยวนไม่ได้รับตำแหน่ง เขาจึงตัดสินใจใช้กำลังบีบให้สภาฯเลือกตนเองเป็นประธานาธิบดี และเข้าดำรงตำแหน่งในวันที่ 10 ตุลาคม

หลังจากนั้น หยวนได้ทำการยุบพรรคก๊กมินตั๋ง และสภาฯ จากนั้นได้ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญที่ถูกเรียกขานเป็นฉบับหยวนซื่อไข่ขึ้น แล้วรวบอำนาจทางการทหารทั้งหมดมาไว้ที่ตน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้หยวนสามารถเป็นประธานาธิบดีได้คราวละ 10 ปีไม่จำกัดวาระ ยังสามารถที่จะเลือดผู้สืบทอดได้เองอีกด้วย

แม้ว่าอำนาจของหยวนในขณะนั้น จะแทบไม่ต่างไปจากระบอบกษัตริย์แล้วก็ตาม ทว่าเดือนธันวาคมปีค.ศ. 1915 หยวนซื่อข่ายได้อ้างการเรียกร้องของประชาชน ในการประกาศฟื้นฟูระบบการปกครองระบอบกษัตริย์ขึ้น และตั้งชื่อปีรัชกาลของตนว่าหงเสี้ยน (洪宪) ทว่าการกระทำดังกล่าวไม่เพียงแต่ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากซุนจงซันกับเหลียงฉี่เชา แม้แต่ต้วนฉีรุ่ย (段祺瑞) และเฝิงกั๋วจาง (冯国璋)ผู้นำกองทัพเป่ยหยางเองก็มีความไม่พอใจ จนกระทั่งวันที่ 25 ธันวาคมเช่อเอ้อ (蔡锷) และถังจี้เหยา (唐继尧) ได้ก่อตั้งกองทัพปฏิวัติขึ้นที่หยุนหนัน (ยูนนาน) โดยเริ่มต้นเปิดฉากสงครามพิทักษ์ชาติโจมตีหยวนซื่อข่าย โดยมีกุ้ยโจว กว่างซีที่ให้การสนับสนุน ในกองทัพเป่ยหยางเองก็ส่งสัญญาณต่อต้านมาไม่น้อย ทำให้ในที่สุดหยวนซื่อไข่จึงถูกบีบให้ยกเลิกระบอบกษัตริย์ในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ.1916 หลังจากที่เพิ่งสถาปนามาได้เพียง 83 วัน และกลับมาใช้ชื่อสาธารณรัฐจีน

ภายหลังได้มีการแต่งตั้งให้ต้วนฉีรุ่ยให้จัดตั้งคณะรัฐบาลพร้อมควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในขณะที่ต้วนเองก็บีบให้หยวนต้องส่งมอบอำนาจของกองทัพให้กับตน แต่หลังจากนั้นกว่างตง เจ้อเจียง ส่านซี หูหนัน และซื่อชวน (เสฉวน) กลับได้ส่งโทรเลขประกาศตัวเป็นอิสระไม่ยอมขึ้นกับหยวนซื่อไข่อีกต่อไป กระทั่งวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1916 หยวนได้ป่วยตายด้วยโรคปัสสาวะเป็นพิษ และเสียชีวิตด้วยวัย 57 ปี

ขบวนการ 4 พฤษภาคม

หลังจากที่หยวนซื่อไข่ตายไปท่ามกลางเสียงก่นด่าของผู้คน หลีหยวนหงก็ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อ โดยมีต้วนฉีรุ่ยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทว่าในช่วงเวลานั้นได้เกิดความขัดแย้งขึ้นในกองทัพ ทำให้มีการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีกันบ่อยครั้ง โดยในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1917 ได้มีการแต่งตั้งให้เฝิงกั๋วจาง มาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีปักกิ่ง พอมาถึงวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1918 ก็แต่งตั้งสีว์ซื่อชัง(徐士昌)เป็นประธานาธิบดี กระทั่งในเที่ยงวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1919 ขณะที่สีว์ซื่อชัง กำลังจัดงานเลี้ยงอยู่ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในจงหนันไห่ ก็เป็นช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่าขบวนการ 4 พฤษภาคมขึ้น

โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ตั้งแต่ปีค.ศ.1914 ญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับเยอรมนี แล้วบุกยึดเกาะชิงเต่าและเส้นทางรถไฟเจียวจี้ไว้ตลอดทั้งสาย ควบคุมและแย่งชิงสิทธิทุกอย่างของเยอรมนีในมณฑลซันตงเอาไว้ กระทั่งในปีค.ศ. 1918 เมื่อสงครามโลกสิ้นสุด เยอรมนีพ่ายแพ้สงคราม ประเทศที่ชนะสงครามจึงได้ชัดเจรจาสันติภาพขึ้นในวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1919 ขึ้นที่ปารีส รัฐบาลปักกิ่งกับรัฐบาลทหารที่กว่างโจวได้ร่วมกันส่งตัวแทนไปประชุม และได้ยื่นข้อเสนอให้ยกเลิกสิทธิพิเศษของประเทศต่างๆในจีน รวมถึงยกเลิกสัญญาอยุติธรรมที่หยวนซื่อไข่ได้ทำไว้กับญี่ปุ่น อีกทั้งคืนสิทธิพิเศษต่างๆในมณฑลซันตงที่ญี่ปุ่นได้ชิงมาจากเยอรมนี แต่เนื่องจากการประชุมในปารีสนั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของมหาอำนาจ ข้อเรียกร้องของจีนจึงไม่เพียงแต่ถูกปฏิเสธ แถมได้ระบุให้ยกเอาสิทธิพิเศษของเยอรมนีในซันตงโอนถ่ายมาให้กับญี่ปุ่น ทำให้ในขณะที่รัฐบาลปักกิ่งกำลังเตรียมจะลงนามในสนธิสัญญานั้น ประชาชนชาวจีนจึงลุกขึ้นมาประท้วงต่อต้านอย่างรุนแรง

นักศึกษาและประชาชนออกมาประท้วงในช่วงเหตุการณ์ขบวนการ 4 พฤษภาคม
ในวันที่ 4 พฤษภาคม นักศึกษาจาก 13 สถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มัธยมปักกิ่ง มหาวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยเฉาหยาง มหาวิทยาลัยหมินกั๋ว ราว 3,000 คนได้ไปรวมตัวที่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน แล้วร้องตะโกนว่า “ภายนอกชิงอธิปไตยชาติ ภายในปราบโจรแผ่นดิน” “ปฏิเสธการลงนามในสนธิสัญญา” “ยกเลิกสัญญา 21 ข้อ” “แม้ตายก็ขอเอาเกาะชิงเต่าคืน” โดยเป็นการแสดงให้เห็นถึงการยืนยันที่จะต่อต้านและขอให้ลงโทษเฉาหรู่หลิน (曹汝霖) ที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มขายชาติให้กับญี่ปุ่น โดยในครั้งนักศึกษาที่รักชาติได้พากันออกมาเดินขบวน แต่ก็ถูกทหารตำรวจกลุ่มใหญ่ทำการควบคุม และจับกุมตัวนักศึกษาไป 32 คน

วันต่อมานักศึกษาจากวิทยาลัยและมหาวิทายาลัยต่างทำการประท้วงหยุดเรียน และส่งข่าวการต่อต้านไปยังทั่วประเทศ แล้วจัดทั้งกลุ่มสมาพันธ์นักศึกษาขึ้น โดยการออกมาประท้วงของนักศึกษาในครั้งนี้ได้รับความสนใจและสนับสนุนจากผู้คนอย่างกว้างขวาง ในการช่วยกันกดดันให้รัฐบาลปักกิ่งทำการปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุม

วันที่ 19 นักศึกษาในปักกิ่งได้เริ่มต้นประกาศหยุดเรียนอีกครั้ง คราวนี้นักเรียนนักศึกษาในเทียนจิน เซี่ยงไฮ้ ฉางซา กว่างโจว ต่างก็ออกมาร่มเดินขบวน ในขณะที่นักศึกษาจีนที่ไปเรียนต่อในญี่ปุ่น ฝรั่งเศสก็เริ่มดำเนินกิจการสนับสนุนการประท้วง

ต่อมาในวันที่ 1 มิถุนายน รัฐบาลปักกิ่งจำต้องออกมาประณามกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกขายชาติ เพื่อที่จะยับยั้งกิจกรรมการประท้วงต่างๆ ทว่าหลังจากนั้นอีก 2 วันนักเรียนนักศึกษาก็ยังเดินหน้าออกกล่าวปราศรัย จนกระทั่งมีนักเรียนถูกจับไป 170 คน และถูกจับอีก 700 คนในวันต่อมา เมื่อถึงวันที่ 5 ก็ยังมีนักเรียนอีกกว่า 2,000 คนที่เดินขบวนอยู่บนท้องถนน การกระทำที่ใช้ความรุนแรงของทางการได้ทำให้บุคคลในวงการต่างๆไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง จนคนงาน 60,000 คนในเซี่ยงไฮ้ได้นัดหยุดงานสนับสนุนนักศึกษา แล้วลุกลามไปกลายเป็นมีการหยุดงานและเดินขบวนทั้งในปักกิ่ง ถังซัน ฮั่นโข่ว นานกิง เทียนจิน หังโจว ซันตง อันฮุยเป็นต้น นอกจากนั้นพ่อค้าในเซี่ยงไฮ้กับอีกหลายเมืองก็หยุดทำการค้าขาย การหยุดเรียน หยุดงาน และหยุดค้าขายได้แผ่ขยายไปกว่า 100 เมืองใน 20 มณฑลทั่วประเทศ

เจียงไคเช็คในวัยหนุ่ม

ในที่สุดท่ามกลางแรงกดดันมหาศาล ในวันที่ 10 มิถุนายน รัฐบาลปักกิ่งจึงยอมปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับกุม และปลดเฉาหรู่หลิน ลู่จงอี๋ว์ และจางจงเสียงที่ถูกระบุว่าขายชาติออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 27 นักศึกษา แรงงานและชาวจีนในฝรั่งเศสหลายร้อยคนได้เดินทางไปยังที่พักของตัวแทนรัฐบาลจีนในฝรั่งเศส เรียกร้องให้ปฏิเสธการลงนามในสนธิสัญญา จนในวันที่ 28 ไม่มีตัวแทนจากจีนไปลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว

การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์

หลังจากเหตุการณ์ขบวนการ 4 พฤษภาคม กระแสและแนวความคิดใหม่ๆ ได้ไหลบ่าเข้ามาสู่แผ่นดินจีน โดยเฉพาะแนวความคิดลัทธิมาร์กซ์ที่แต่เดิมมีอิทธิพลในจีนเพียงเล็กน้อย ก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มคอมมิวนิสต์ศึกษาขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากองค์การคอมมิวนิสต์สากล จนได้มีการรวมตัวแทนกลุ่มต่างๆและจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้น

เวลา 20.00 น.ของวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1921 การประชุมตัวแทนจากทั่วประเทศครั้งแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆเข้าร่วมทั้งสิ้น 12 คนอาทิเหมาเจ๋อตง (毛泽东), เหอซูเหิง ,ต่งปี้อู่,หลี่ต๋า,จางกั๋วเทา และเปาฮุ่ยเจิง ซึ่งเป็นตัวแทนของเฉินตู๋ซิ่วเป็นต้น (陈独秀)เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีคนจากองค์การพรรคคอมมิวนิสต์สากลมาเข้าร่วมด้วย จนกระทั่งเมื่อเสร็จสิ้นการประชุมใหญ่ในวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ประชุมได้เลือกเฉินตู๋ซิ่วให้เป็นเลขาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และประกาศตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นอย่างเป็นทางการ

ภายหลังเมื่อดร.ซุนยัตเซ็น ได้ทำการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรคกั๋วหมินตั่ง หรือก๊กมินตั๋ง โดยอนุญาตให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาเข้าร่วมด้วย จากนั้นภายใต้ความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย กับทางโซเวียตจึงได้มีการจัดตั้งโรงเรียนทหารและการปกครองหวงผู่ ซึ่งนับเป็นผลิตผลแรกของความร่วมมือระหว่างซุนยัตเซ็นกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน

โรงเรียนทหารและการปกครองที่จัดตั้งขึ้น มีซุนยัตเซ็นเป็นผู้อำนวยการ และเจี่ยงจงเจิ้ง (蔣中正) หรือเจียงไคเช็ค เป็นครูใหญ่ ดร.ซุนได้วางจุดประสงค์ไว้ที่การ “สร้างกองกำลังปฏิวัติ เพื่อช่วยจีนให้พ้นวิกฤต” มีการจัดสอนการใช้อาวุธ สอนแนวความคิดลัทธิไตรราษฎร์ และแนวความคิดของลัทธิมาร์กซ์ โดยให้ความสำคัญทั้งหลักสูตรทางด้านการทหารและการปกครอง จนสามารถสร้างบุคลากรชั้นนำในประเทศในภายหลังได้เป็นจำนวนมาก โดยระหว่างปีค.ศ. 1924-1949 มีนักเรียนที่จบทั้งสิ้น 23 รุ่น เมื่อรวมนักเรียนที่จบออกมาจากโรงเรียน และสาขาแล้วมีมากถึง 230,000 คน

เด็กในเซี่ยงไฮ้ในช่วงเวลาที่ถูกทหารญี่ปุ่นรุกราน
ต่อมา ซุนยัตเซ็นป่วยด้วยโรคมะเร็งในตับและเสียชีวิตในปักกิ่งวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1925 ด้วยอายุเพียง 59 ปี คำพูดสุดท้ายก่อนที่จะเสียชีวิตของเขาก็คือ “สันติภาพ.. ต่อสู้.. ช่วยประเทศจีน..” การเสียชีวิตของซุนยัตเซ็นได้สร้างความอาลัยโศกเศร้าไปทั่วประเทศ ในวันที่ 19 เมื่อมีการเคลื่อนศพจากโรงพยาบาล มีผู้คนที่ยืนไว้อาลัยอยู่รายทางนับแสนคน และหลังจากจัดพิธีฝังแล้ว ก็มีคนทยอยไปร่วมลงนามไว้อาลัยกว่า 2 ล้านคน ป้ายผ้าที่แขวนในงานศพของเขา ได้ระบุคำว่า “การปฏิวัติยังไม่สำเร็จ ขอสหายจงพยายามต่อไป”

สงครามปราบขุนศึกภาคเหนือ

หลังการเสียชีวิตของซุนยัตเซ็น พรรคก๊กมินตั๋งและกองทหารได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นที่กว่างโจว และในวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1926 รัฐบาลก็ได้แต่งตั้งเจียงไคเช็ค ให้เป็นผู้บัญชาการทหารปฏิวัติ เพื่อปราบปรามขุนศึกภาคเหนือ เริ่มต้นด้วยการบุกฉางซา เพื่อทำศึกปราบอู๋เพ่ยฝู (吴佩孚) สามารถเอาชนะได้ในศึกที่สะพานทิงซื่อ สะพานเฮ่อเซิ่ง จนกระทั่งเดือนกันยายน เจียงได้นำทัพบุกไปถึงฮั่นโข่ว ฮั่นหยาง แล้วบุกเมืองอู่ฮั่น หลังจากนั้นในศึกเจ้อเจียง เมื่อถึงยามคับขันเจียงถึงกับลงไปควบคุมทัพในการบุกเมืองด้วยตนเอง จากนั้นกองทัพได้เคลื่อนย้ายต่อเข้าไปในเจียงซี และมีคำสั่งให้กองทัพที่เฉาซ่าน บุกโจมที่มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) หลังจากที่บุกยึดฝูเจี้ยน เจ้อเจียงแล้ว ก็ได้เปิดศึกกับอู่ฮั่นต่อ จนกระทั่งสามารถทำลายกองทัพของอู๋เพ่ยฝูในอู่ฮั่นได้หมดสิ้น

ต่อมาเจียงไคเช็คได้นำกองกำลังจากฝูเจี้ยน เข้าไปทำลายกองกำลังหลักของโจวอิน บุกตีจางซู่ เฟิงเฉิง เจี้ยนชัง เต๋ออัน หย่งซิว ฝูโจว จนกระทั่งซุนฉวนฟังผู้นำอีกกองกำลังหนึ่งต้องมาขอเจรจาสงบศึกกับเจียง แต่ก็ถูกเจียงปฏิเสธไป

เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน กองทัพของเจียงก็บุกเข้าไปถึงหนันชัง ซุนฉวนฟาง (孙传芳) ผู้บัญชาการทหารที่นั่นเลือกที่จะต่อสู้อย่างเต็มที่ เจียงจึงเข้าบัญชาการรบด้วยตัวเองและบุกตีจนกองทัพเจียงซีถูกทำลาย แล้วย้ายกองบัญชาการทหารไปอยู่ที่หนันชัง และบุกต่อไปยังจางโจว เฉวียนโจว ฝูเจี้ยนผิง และเมื่อถึงเดือนธันวาคม เอี๋ยนซีซันก็เข้าร่วมกับกองทัพปฏิวัติของก๊กมินตั๋ง

ทว่าในเดือนมีนาคมในปีค.ศ. 1927 เมื่อกองทัพบุกยึดหังโจว ซูโจวแล้ว รัฐบาลอู่ฮั่นกก็ได้มีมติปลดเจียงออกจากทุกตำแหน่งอย่างกะทันหัน ในขณะนั้นเจียงไคเช็คที่อยู่หนันชังได้ยื่นหนังสือแสดงการไม่ยอมรับการตัดสินใจดังกล่าว แล้วเคลื่อนทัพบุกเซี่ยงไฮ้ นานกิง เมื่อบุกเข้านานกิงแล้ว บรรดาคนจากพรรคคอมมิวนิสต์ที่อยู่ในกองทัพปราบขุนศึกภาคเหนือได้กระทำการเข่นฆ่าชาวต่างชาติ จนทำให้กองทัพอังกฤษและสหรัฐฯนั้นหันหน้ามาโจมตีนานกิง จนกลายเป็นความขัดแย้งระดับชาติขึ้น สหภาพแรงงานในเซี่ยงไฮ้ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ก็ทำการประท้วงหยุดงาน ตัดไฟฟ้าและสายโทรศัพท์ ยึดสถานีตำรวจและสถานีรถไฟ เจียงได้ใช้วิธีการทางการทูตเพื่อเข้าแก้ปัญหา และให้ไช่หยวนเผย (蔡元培) ซึ่งเป็นสมาชิกอาวุโสในพรรคก๊กมินตั๋งออกหนังสือประณามว่า “คอมมิวนิสต์เป็นผู้ทำกลายการปฏิวัติ วางแผนให้ร้ายประเทศชาติ” จากนั้นก็มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมาเป็นการเร่งด่วน

ในภายหลัง เมื่อวันที่ 12 เมษายน ก็มีการดำเนินการยกเลิกสหภาพแรงงานในเซี่ยงไฮ้ จากนั้นก็จับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์หลายคนอาทิ วังโซ่วหัว เฉินถิงเหนียน เจ้าซื่อเอี๋ยนมาประหารชีวิต และนับเป็นจุดแตกหักระหว่างเจียงไคเช็คกับพรรคคอมมิวนิสต์

ถัดมาในวันที่ 17 ของเดือนเดียวกัน รัฐบาลก๊กมินตั๋งที่อู่ฮั่นได้ประกาศปลดตำแหน่งผู้บัญชาการทหารปฏิวัติ และขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ถัดมาอีกหนึ่งวัน เจียงจึงได้ตั้งรัฐบาลก๊กมินตั๋งขึ้นใหม่ที่นานกิง แล้วทำหนังสือประกาศสู่สาธารณชน

กองทัพของเจียงยังคงเดินหน้าบุกโจมตีจี้หนัน แต่ก็ถูกกองทหารติดอาวุธของญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซง จนกองทัพต้องอ้อมขึ้นเหนือ และบุกประชิดปักกิ่งเทียนจินได้ในช่วงต้นเดือนมิ.ย. ทำให้จางจั้วหลิน (张作霖) ขุนพลกองกำลังรัฐบาลเป่ยหยางต้องหลบหนีออกไปนอกด่าน แล้วไปเสียชีวิตจากการวางระเบิดของฝ่ายญี่ปุ่น ต่อมาจางเสียว์เหลียง (张学良) บุตรชายของเขาขึ้นเป็นผู้นำกองทัพหลบหนีแทน หลังจากผ่านการเจรจาครึ่งปี ในที่สุดในวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ.1928 จึงได้มีการส่งข่าวไปทั่วประเทศว่ายอมสนับสนุนรัฐบาลนานกิง และทำให้ประเทศจีนเหนือใต้ได้ร่วมเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง

ภาพในพิพิธภัณฑ์ที่ระลึกสงครามต่อต้านญี่ปุ่น
สงครามรุกรานจากญี่ปุ่น

นับตั้งแต่ญี่ปุ่นได้บุกยึดเสิ่นหยาง ในปีค.ศ. 1894 จนจีนพ่ายแพ้สงคราม และต้องขอเจรจาสงบศึก โดยส่งหลี่หงจางต้องเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อลงนามในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ที่จีนต้องรับรองการปกครองตนเองของเกาหลี หรืออีกนัยหนึ่งก็คือยอมรับการปกครองของญี่ปุ่นเหนือเกาหลี อีกทั้งตกยกคาบสมุทรเหลียวตง ไต้หวัน หมู่เกาะเผิงหู (เพสคาดอเรส) ให้กับญี่ปุ่นอีกทั้งชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามเป็นเงิน 230 ล้านตำลึง ยังจะต้องอนุญาตให้ญี่ปุ่นเข้ามาดำเนินการค้าขาย ประกอบอุตสาหกรรม หัตกรรมตามท่าเรือได้

ญี่ปุ่น และเป็นหนึ่ง 8 ประเทศพันธมิตรที่ร่วมบุกเข้ารุกรานประเทศจีน ญี่ปุ่นก็ได้ตั้งเป้าที่จะหาประโยชน์สูงสุดจากแผ่นดินจีนมาโดยตลอดจนกระทั่งวันที่ 18 กันยายน 1931 นั่นคือวันที่ญี่ปุ่นได้สร้างสถานการณ์ “เหตุการณ์บึงหลิ่วเถียว” (柳条湖事变)ในการโจมตีเมืองเสิ่นหยางใกล้บึงหลิ่วเถียวของจีน ซึ่งในเวลานั้น ญี่ปุ่นได้บุกยึดแมนจูเรีย และเล็งหาข้ออ้างที่จะโจมตีภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนมาโดยตลอด จึงจงใจจุดชนวนศึกขึ้น

โดยในวันที่ 18 กันยายนปีนั้น เกิดระเบิดขึ้นที่ทางรถไฟสายแมนจูเรียใต้ของญี่ปุ่น แต่มีความเสียหายน้อยมากจนไม่กระเทือนการให้บริการปกติ ทว่าทหารญี่ปุ่นกลับอ้างว่า ทหารจีนยิงใส่พวกตนจากท้องนา จึงจำเป็นต้อง “ป้องกันตนเอง”

ในเวลานั้น รัฐบาลก๊กมินตั๋งอยู่ในช่วงรวบรวมกำลัง เพื่อสู้รบกับคอมมิวนิสต์ที่ลุกขึ้นต่อต้านในประเทศ จึงได้มีคำสั่งห้ามต่อต้าน ให้พยายามแก้ไขด้วยวิธีการทางการทูต และให้ถอนกำลังไปที่ด่านซันไห่กวน ทำให้ทหารญี่ปุ่นบุกยึดเสิ่นหยาง แล้วบุกยึดต่อไปที่จี๋หลิน เฮยหลงเจียง จนกระทั่งสามารถยึด 3 มณฑลทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนได้ในเดือนมกราคม 1932

ในเดือนถัดมาญี่ปุ่นได้สร้างรัฐใหม่ขึ้นบนแผ่นดินแมนจูเรีย โดยมีญี่ปุ่นคอยเชิดอยู่เบื้องหลัง ตั้งชื่อว่า ประเทศแมนจูเรีย (满洲国) มีฉางชุนเป็นเมืองหลวง แล้วนำผู่อี๋ (ปูยี) ฮ่องเต้ราชวงศ์ชิงองค์สุดท้ายที่ถูกปฏิวัติในปี ค.ค. 1911 ซึ่งมีอายุ 25 พรรษในขณะนั้นมาเป็นฮ่องเต้หุ่นที่ได้ปกครองแต่ในนาม จากนั้นญี่ปุ่นก็ใช้อำนาจในการขูดรีดประชาชน ทำลายวัฒนธรรม ทำให้ชาวจีนกว่า 30 ล้านคนต้องทนทุกข์ทรมาน

เหตุร้าย 18 กันยายนได้กลายเป็นชนวนความแค้นของจีนทั่วประเทศ จนมีการเรียกร้องให้ต่อต้านญี่ปุ่น และถึงขั้นประท้วงรัฐบาลก๊กมินตั๋งที่ไม่ยอมต่อกรกับญี่ปุ่น จนกระทั่งประชาชนจีนทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนต่างเริ่มลุกฮือขึ้นต่อต้านญี่ปุ่น เมื่อถึงปี 1937 การรวมตัวก็กระจายกว้างออกไป จนสามารถยืดหยัดสู้รบกับทัพญี่ปุ่นได้อย่างยาวนาน

เรื่องราวในวันที่ 18 กันยายน เป็นหนึ่งในแผนการที่ญี่ปุ่นได้วางไว้นานแล้ว เห็นได้จากเมื่อปี 1927 ที่ญี่ปุ่นได้ประชุมที่โตเกียว แล้วกำหนด “โครงสร้างนโยบายต่อจีน” ออกมา จากนั้นก็ได้แจ้งต่อจักรพรรดิ พร้อมประกาศว่า หากต้องการยึดครองจีน จะต้องสยบแผ่นดินแมนจูเรียก่อน และหากจะพิชิตโลก ก็จะต้องสยบจีนให้ได้ก่อน

ทหารญี่ปุ่นที่กำลังสังหารชาวจีนในนานกิง

. ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่รัฐบาลก๊กมินตั๋งกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ญี่ปุ่นที่รุกรานทางเหนือ และคอมมิวนิสต์ที่อยู่ทางใต้ บวกกับทหารหลายหน่วยที่ปกครองตัวเองไม่ยอมฟังคำสั่งจากส่วนกลาง จนกระทั่งจางเสียว์เหลียงและหยางหู่ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารภาคตะวันตกเฉียงเหนือตัดสินใจยอมรับความร่วมมือจากคอมมิวนิสต์ในการต่อต้านการรุกรานจากญี่ปุ่น และนำเรื่องเสนอต่อเจียงไคเช็ค จนกระทั่งในที่สุดภายหลังการหารือทำให้รัฐบาลก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ได้บรรลุข้อตกลงร่วมมือกันต่อต้านญี่ปุ่น

กระทั่งวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1937 หลังเหตุการณ์พลิกผันที่สะพานหลูโกว ที่ทางญี่ปุ่นได้อ้างว่ามีนายทหารของญี่ปุ่นในจีนหนึ่งคนหายตัวไป และเรียกร้องที่จะเข้มาค้นหาในเมืองหวั่นผิง ในขณะที่กองทัพของจีนยืนยันปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่า ทำให้ทหารญี่ปุ่นเริ่มต้นเปิดฉากยิงระเบิดเข้าสู่สะพานหลูโกว และบุกโจมตีทหารจีนที่เฝ้ารักษาในเมืองนับเป็นการระเบิดศึกอย่าเป็นทางการของทั้ง 2 ฝ่าย .

สังหารหมู่ที่นานกิง

วันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1937 กองทัพญี่ปุ่นได้บุกเข้ามายังเมืองหนันจิง หรือเมืองนานกิง ซึ่งเป็นการบุกต่อเนื่องหลังจากที่ได้ทำการยึดเซี่ยงไฮ้ไปแล้ว โดยก่อนหน้าที่จะถูกบุกยึดนั้นกองกำลังของรัฐบาลก๊กมินตั๋งได้ทำการปะทะกับทหารญี่ปุ่นที่นอกเมือง แต่ก็ไม่อาจต่อต้านทหารญี่ปุ่นที่แยกกันบุกมา 6 สายได้ จนกระทั่งถูกทหารญี่ปุ่นยึดเมืองท่ามกลางความโกลาหล

ภายใต้คำส่งของแม่ทัพญี่ปุ่นที่นำทัพเข้ามา เมืองนานกิงจึงถูกเผาทำลาย เข่นฆ่า ข่มขืน และปล้นชิงอย่างโหดเหี้ยมอย่างที่สุด

ในวันที่ 15 ธ.ค. ทหารญี่ปุ่นได้นำทหารและตำรวจจีนจำนวนกว่า 2,000 คนไปรวมตัวที่นอกประตูฮั่นจง จากนั้นก็ใช้ปืนกลยิงกราด แล้วก็จุดไฟเผาศพ ในคืนเดียวกันมีทหารกับประชาชนอีกมากกว่า 9,000 คนที่ถูกจับกุมตัวไปที่ค่ายทหารเรือ มีคนหนีรอดมาเพียง 9 คนในขณะที่ที่เหลือทั้งหมดถูกสังหารจนหมดสิ้น

พลบค่ำวันที่ 16 ธ.ค. ทหารและประชาชนจีนอีกมากกว่า 5,000 คน ถูกทหารญี่ปุ่นจับไปที่ริมท่าเรือจงซัน แล้วใช้ปืนยิงจนเสียชีวิตโยนถมลงไปในแม่น้ำ มีผู้รอดชีวิตมาเพียงไม่กี่คน

วันที่ 17 ธ.ค. ทหารญี่ปุ่นได้นำเอาทหารที่จับได้กับคนงานในโรงไฟฟ้านานกิงรวมทั้งสิ้นกว่า 3,000 คนนำตัวไปยิงทิ้งที่บริเวณริมแม่น้ำ โดยมีคนส่วนหนึ่งที่ถูกฆ่าด้วยการใช้ฟืนเผาให้ตาย

วันที่ 18 ธ.ค. ทหารญี่ปุ่นได้นำเอาชาวบ้านและทหารในนานกิงที่หนีจากเมืองไปแล้วถูกจับได้จำนวน 57,000 คน แล้วใช้ปืนยิงกราด จากนั้นใช้ดาบไล่ฟัน และสุดท้ายจบด้วยการใช้น้ำมันราดแล้วเผา จากนั้นโยนกระดูกลงไปในแม่น้ำแยงซีเกียง โดยในการประหารครั้งนี้ มีการละเล่น “แข่งกันฆ่าคน”กันอีกด้วย

1 เดือนหลังจากที่ทหารญี่ปุ่นบุกยึดนานกิง ทั่วทั้งเมืองมีการข่มขืน และเวียนเทียนลงแขกหญิงชาวจีนชาวจีนกว่า 20,000 คดี โดยไม่เว้นไม่ว่าจะเป็นหญิงสาวหรือหญิงชรา มีสตรีอีกจำนวนมากที่หลังจากถูกข่มขืนแล้วก็ถูกฆ่าทิ้ง ทำลายศพอย่างเหี้ยมโหด มีซากจากสภาพการถูกฆ่า ถูกข่มขืน ถูกปล้นชิง วางเพลิงไปทั่วทั้งเมือง

ชาวจีนในฉงชิ่งที่ถูกสังหารโดยทหารญี่ปุ่น

ตามตัวเลขที่มีการตรวจสอบในศาลถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิง ปรากฏว่าทหารญี่ปุ่นได้ทำการสังหารหมู่ทั้งสิ้น 28 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 190,000 คน และการแยกย้ายฆ่าอีก 858 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 150,000 คน การสังหารแบบล้างเมืองเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ของทหารญี่ปุ่น ได้ทำให้มีทหารที่ถูกยิงตายและฝังทั้งเป็นมากกว่า 300,000 คน

หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา การศึกระหว่างจีนกับญี่ปุ่นก็ดำเนินไปอย่างดุเดือดเป็นระยะเวลากว่า 8 ปี ไปสิ้นสุดเอาเมื่อญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้ในสงครามสงครามโลกครั้งที่สองในวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1945 และประกาศยุติศึกกับจีนอย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ 15 สิงหาคม ทำให้นักประวัติศาสตร์หลายคนเรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่าสงครามต้านญี่ปุ่น 8 ปี ในขณะที่นักวิชาการหลายท่านคิดว่า หากจะนับเวลาที่จีนเริ่มต่อสู้กับญี่ปุ่นจริงๆ ควรจะเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1931 เท่ากับว่าสงครามระหว่าง 2 ชาติในครั้งนี้กินเวลานานกว่า 14 ปีทีเดียว

ในช่วงเวลาดังกล่าว ทหารญี่ปุ่นที่ถูกส่งเข้ามาในจีนในช่วงที่มากที่สุดมีถึงเกือบ 2 ล้านคน อีกทั้งมีทหารที่ได้มาจาก การเข้ายึดพื้นที่ต่างๆอีกมากกว่าล้านคน ตามข้อมูลที่ทางญี่ปุ่นได้จัดทำในปีค.ศ. 1964 ทหารญี่ปุ่นที่ได้เสียชีวิตในการทำศึกกับจีนมีทั้งสิ้นราว 440,000 คน ในขณะที่ข้อมูลทางฝ่ายจีนระบุว่าทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตทั้งสิ้น 483,708 คนและบาดเจ็บ 1,934,820 คน

ขณะที่ทาง ทหารของกองทัพปฏิวัติจีนในช่วงที่มากที่สุดมีถึง 5 ล้านคน ได้ต่อสู้ครั้งใหญ่กับญี่ปุ่นทั้งสิ้น1,117 ครั้ง ศึกเล็กอีก 28,931 ครั้ง และมีทหารบกที่เสียชีวิต-สูญหายทั้งสิ้น 3,211,914 คน มีทหารอากาศเสียชีวิต 4,321 คน และสูญเสียเครื่องบินรบ 2,468 ลำ ในขณะที่ทหารเรือถูกทำลายจนแทบย่อยยับหมดสิ้น

ด้านประชากรจีนที่ต้องเสียชีวิตในสงคราม 9 ล้านคน และอีก 8 ล้านคนตายด้วยสายเหตุอื่น มีประชากร 95 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้ประสบภัย และค่าเสียหายที่จีนได้รับในขณะนั้น หากคิดตามอัตราของเมื่อปี 1945 จะอยู่ที่ราว 650,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ความสูญเสียในด้านชีวิตของประชากรและทหารของจีนในสงครามครั้งนี้ ถูกประเมินไว้แตกต่างกันหลายแห่ง โดยที่ต่ำที่สุดได้ประเมินว่ามีผู้ที่ตายและสูญหายทั้งสิ้น 20.62 ล้านคน ในขณะที่บ้างก็ว่า 41 ล้านคน 45 ล้านคน กระทั่งมีผู้ประเมินว่าในศึกต่อต้านญี่ปุ่นนั้นทำให้มีคนจีนตายและสูญหายไปมากกว่า 50 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ในสงครามครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่จีนได้รับชัยชนะในสงครามนักตั้งแต่สงครามฝิ่นครั้งที่ 1 เป็นต้นมา อีกทั้งมีการมองว่าการพลีชีวิตของคนจีนกว่า 20 ล้านคนนี้ มีส่วนช่วยรั้งไม่ให้ทหารบกของญี่ปุ่นนั้นสามารถรุกรานไปทั่วเอเชียแปซิฟิก และช่วยลดทอนความกดดันในสงครามทางมหาสมุทรแปซิฟิกลง จนสามารถส่งกำลังไปช่วยในศึกที่ยุโรปได้อย่างเต็มที่

ความเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งก็คือ หลังจากผ่านช่วงสงครามครั้งนี้มาแล้ว กองกำลังของรัฐบาลก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง โดยพรรคคอมมิวนิสต์ที่เดิมมีกำลังเพียง 40,000 คนได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 1.2 ล้านคน ในขณะที่ก๊กมินตั๋งต้องทุ่มเทสู้ศึกและประสบความสูญเสียอย่างมหาศาล

สงครามกลางเมืองกับสามยุทธการ

ไม่นานหลังจากที่เสียงไชโยโห่ร้อง และเสียงการฉลองในผืนแผ่นดินอันกว้งใหญ่ได้จบลง พลันสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้ระเบิดขึ้นอีกระลอก

ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ต่างเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งหวังช่วงชิงเอาไว้ โดยเฉพาะเมืองจิ่นโจว อันเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการพลิกผันจากการตัดสินใจของเจียงไคเช็คกับเหมาเจ๋อตง

ยุทธการเหลียวหนิง-เสิ่นหยาง (辽沈战役)

สงครามที่เหลียวหนิงถือเป็นสงครามแรกในสามยุทธการ ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1948 กองทัพปลดแอกของคอมมิวนิสต์ได้แยกย้ายไปตามถนนสายเป่ยหนิง และได้ตัดถนนเป่ยหนิง แบ่งกำลังส่วนหนึ่งเข้าสู่นอกเมืองจิ่นโจวในวันที่ 1 ตุลาคม จากนั้นทางก๊กมินตั๋งเองก็ได้การจัดกำลังบุกเข้าตีอย่างหักโหมจากทางตะวันตกของเมืองจิ่นโจว ในช่วงเวลา 6 วันของการต่อสู้อย่างดุเดือด ทหารกองทัพปลดแอกก็สามารถยันกลับไปได้ทุกครั้ง จนสามารถเอาชนะและยึดจิ่นโจวไว้ได้ จากนั้นกองทัพปลดแอกได้มุ่งหน้าไปยึดเสิ่นหยาง อิ๋นโข่วแล้วประกาศปลดปล่อยพื้นที่ดังกล่าวในวันที่ 2 พฤศจิกายน

ในศึกครั้งนี้ พรรคคอมมิวนิสต์ได้สูญเสียทหารไปทั้งสิ้น 69,000 คนในขณะที่ก๊กมินตั๋งต้องพลีชีพไปถึง 472,000 คน ทำให้กำลังพรรคคอมมิวนิสต์เพิ่มขึ้นมาเป็น 3 ล้านคน ในขณะที่ก๊กมินตั๋งลดลงเหลือเพียง 2.9 ล้านคนจนสถานการณ์เริ่มพลิกกลับ ซึ่งเห็นได้จากคำพูดของเหมาเจ๋อตงที่กล่าวไว้ด้วยความมั่นใจว่า “เช่นนี้ การรบที่เราได้คาดการณ์กันไว้แต่เดิมนั้น ก็จะลดขั้นตอนลงไปได้มาก” “ดูจากสถานการณ์ในตอนนี้ อีกสักประมาณ 1 ปี พวกเราก็อาจจะสามารถขุดรากถอนโคนก๊กมินตั๋งได้”

รูปถ่ายร่วมกันในการเจรจาที่ฉงชิ่งของเจียงไคเช็ค (ซ้าย) กับเหมาเจ๋อตง (ขวา) ในปีค.ศ.1945

ยุทธการไฮว๋เหอ-ไห่โจว(淮海战役)

ยุทธการศึกแห่งที่สองเปิดขึ้นโดยมีเมืองสีว์โจว (徐州)เป็นศูนย์กลาง ศึกครั้งนี้ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายนและกินระยะเวลายาวนานไปจบสิ้นในวันที่ 10 มกราคม

จากชัยภูมิสีว์โจวที่เป็นจุดเชื่อมต่อมณฑลเหอหนัน ซันตง อันฮุย และเจียงซู โดยกินพื้นที่ตั้งแต่ที่ราบหวงไฮว๋ และอยู่ระหว่างแม่น้ำฮวงโหกับแยงซีเกียง ทำให้เมืองสีว์โจวกลายเป็นสมรภูมิสำคัญที่เรียกได้ว่าผู้ใดได้ครอบครองสีว์โจวกับไฮว๋เหอก็จะยึดกุมพื้นที่เหนือแม่น้ำแยงซีเกียงเอาไว้ได้

การศึกนี้แบ่งเป็น 3 ช่วง ในช่วงแรกทหารกองทัพปลดแอกได้นำกำลังเข้าล้อมทางตะวันออกของเมืองสีว์โจว และทำการรบกันอย่างดุเดือดเป็นเวลา 10 วัน สามารถสังหารหน่วยของทหารของก๊กมินตั๋งที่ประจำการในที่นั้นและทหารไปอีกมากกว่าแสนคน จากนั้นช่วงที่สองการรรบได้เปิดขึ้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอซู่ ซึ่งทหารกองทัพปลดแอกได้ทำการล้อมทหารศัตรูไว้ 12 หน่วย จากนั้นก็ทำการสู้รบต่อเนื่องกันหลายครั้ง จนกระทั่งถึงวันที่ 15 ธันวาคม กองกำลังของก๊กมินตั๋งถูกสังหารไปกว่า 120,000 คน ทว่าเพื่อประสานกับศึกปักกิ่ง-เทียนจินที่เปิดคู่ขนานด้วยในขณะนั้น กองทัพปลดแอกจึงได้รับคำสั่งให้หยุดรบเพื่อปรับกองทัพ 20 วัน จนกระทั่งศึกรอบสุดท้ายเปิดขึ้นในวันที่ 6 มกราคม ค.ค.1949 และยุติลงในอีก 4 วันหลังจากนั้น

เมื่อศึกนี้ยุติลงด้วยชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ใช้กำลังเพียง 600,000 คนสามารถเอาชนะทหารของพรรคก๊กมินตั๋งที่มีการระดมกำลังก่อนหลังรวมกันทั้งสิ้นราว 800,000 คน ในเวลา 65 วัน กองทัพปลดแอกได้สังหารทหารก๊กมินตั๋งไปมากกว่า 555,000 คน เรียกได้ว่าทำลายกองทัพทางใต้ของเจียงไคเช็คไปจนแทบจะหมดสิ้น และทำให้เมืองนานกิงซึ่งเป็นศูนย์กลางของฝ่ายก๊กมินตั๋งถูกคุกคามในระยะประชิด

ยุทธการเป่ยผิง-เทียนจิน (平津战役)

ยุทธการเป่ยผิง-เทียนจิน หรือยุทธการปักกิ่ง-เทียนสิน ถือเป็นยุทธการสุดท้าย ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ.1948 จนถึง วันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1949 หลังจากยุทธการเหลียวหนิง-เสิ่นหยาง กองทัพปลดแอกได้รับคำสั่งให้เข้าโอบล้อมพื้นที่ โดยเริ่มต้นบุกจากเส้นทางตะวันตกอย่างซินเป่าอัน จางเจียโข่ว จนกระทั่งวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1949 ก็สามารถสังหารทหารก๊กมินตั๋งทั้งสิ้น 130,000 คน ยึดครองเมืองเทียนจิน หลังจากนั้นไม่นานหลังจากความพยายามของหน่วยงานใต้ดินของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป่ยผิง (ปักกิ่ง) กับกองทัพปลดแอก ในที่สุดทหารรักษาการณ์ของก๊กมินตั๋งในปักกิ่งจำนวน 250,000 คนก็ยอมจำนน ทำให้กองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเป็นผลสำเร็จ

หลังจากผ่านสามยุทธการซึ่งกินเวลาเพียง 142 วัน ทหารของพรรคก๊กมินตั๋งไม่ว่าจะเป็นการถูกสังหาร ยอมจำนน แปรพักตร์ รวมกันแล้วมีจำนวนทั้งสิ้นถึง 1.54 ล้านคน ชัยชนะในสามยุทธการจึงกลายเป็นการวางรกฐานแห่งชัยชนะอันมั่นคงทั่วประเทศให้กับพรรคคอมมิวนิสต์

พิธีเฉลิมฉลองที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยมีเหมาเจ๋อตงเป็นประธานท่ามกลางทหารและประชาชนกว่า 300,000 คน
สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในเดือนมกราคมของปี ค.ศ. 1949 เจียงไคเช็คได้ประการสละตำแหน่งให้กับหลี่จงเหรินเป็นผู้รักษาการ กระทั่งวันที่ 20 เดือนเมษายนในปีเดียวกันตัวแทนของพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ได้ประชุมเพื่อสงบศึกกันที่ปักกิ่ง ทว่ารัฐบาลนานกิงกลับปฏิเสธการลงนามสันติภาพภายในประเทศฉบับนั้น รุ่งขึ้นเหมาเจ๋อตงกับจูเต๋อจึงได้มีคำสั่งประกาศไปยังกองทัพปลดแอกให้เคลื่อนพลเข้าควบคุมทั่วประเทศ และทำศึกครั้งใหญ่เพื่อข้ามแม่น้ำแยงซีเกียง ท่ามกลางการคุ้มกันจากปืนใหญ่ ทำให้ทหารจำนวนนับล้านของกองทัพปลดแอกสามารถฝ่าด่านแม่น้ำแยงซีเกียงไปได้อย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเพียง 2 วันกองทัพคอมมิวนิสต์สามารถยึดเมืองเจิ้นเจียง หยางโจว เจียงหยาง และยึดครองนานกิงซึ่งเป็นเมืองหลวงของฝ่ายก๊กมินตั๋งสำเร็จในวันที่ 23 เมษายน จากนั้นกองทัพปลดแอกจึงรีบบุกยึดไปยังตะวันออกเฉียงใต้ ทางใต้ และยึดครองดินแดนผืนใหญ่ทางใต้ จนพรรคก๊กมินตั๋งต้องถอยร่นไปตั้งหลักที่กว่างโจว เฉิงตู ฉงชิ่ง และไปยังไต้หวันในที่สุด

วันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1949 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เปิดประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีนเต็มคณะครั้งที่ 1 ได้กำหนดชื่อประเทศว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเลือกเหมาเจ๋อตงเป็นประธานรัฐบาลกลาง ในวันที่ 30 ของเดือนเดียวกัน เหมาเจ๋อตงได้ประกาศว่า “ในวันที่เราได้จัดประชุม เท่ากับว่าประชาชนจีนได้เอาชนะศัตรูของตน เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของประเทศจีน และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น พวกเรา 475 ล้านคนต่างได้ลุกขึ้นแล้ว และอนาคตของชนชาติเรานั้นก็คือความรุ่งโรจน์อันไร้ที่สิ้นสุด”

วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1949 คณะกรรมาธิการกลางจัดประชุมสภาเต็มคณะสมัยแรกที่จงหนันไห่ มีการประกาศให้ประธาน และรองประธานรัฐบาลกลางเข้ารับตำแหน่ง โดยมีเหมาเจ๋อตงควบตำแหน่งประธาน (ประธานาธิบดี)กับตำแหน่งประธานคณะกรรมการกลางทหารรัฐบาลประชาชน และแต่งตั้งให้โจวเอินไหลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

บ่าย 3 วันเดียวกัน ก็มีการจัดพิธีเฉลิมฉลองที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยมีเหมาเจ๋อตงเป็นประธานท่ามกลางทหารและประชาชนกว่า 300,000 คนที่ลานจัตุรัสเทียนอันเหมินในวันนั้น หลังจากที่ทำการร้องเพลงชาติแล้ว เหมาเจ๋อตงได้เป็นผู้กดปุ่มไฟฟ้า ให้ธงแดงห้าดาวได้โบกสะบัด ท่ามกลางเสียงของผู้คนที่ตะโกนว่า “ประธานเหมาจงเจริญ” และเสียงตอบกลับว่า

“ประชาชนจงเจริญ”

แผนที่ (ส่วนสีชมพู) แสดงถึงอาณาเขตที่ถูกรุกรานจากญี่ปุ่น

2/21/2554

ของดี ของเมืองคุนหมิง


1.ถ่านหิน  ทองสำเร็จ เหล็ก  ส่วนใหญ่จะตีดาบที่ดีแข็งแกร่งและสวย 
ต้องตีที่เมืองต้าหลี่

2.ใบชา 
ชาผูอ้า จะเป็นชาต้นใหญ่   3700 ปีที่แล้วเป็นชาเฉพาะฮ่องเต้ ในสมัยราชวงค์ถัง โดยไม่ได้ทำเป็นผงแต่ทำเป็นก้อนเพราะเส้นทางใบชานั้นไม่มีแม่น้ำ ดังนั้นจึงต้องใช้ม้าเป็นพาหนะ ดังนั้นชาจึงต้องอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมแพ็คเป็นโหล 12 แผ่น ซึ่งชาชนิดนี้มีข้อดีคือ ไม่มีคาแฟอีน และรักษาสุขภาพ



3.บุหรี ใบยาสูบ คนจีน 10 คน สูบบุหรี่ 8 คน ตัวอย่างเช่น บุหรี่หมีแพนด้า ยี่ห้อนี้เต้งเสียวผิงชอบมาก
   263 หยวน หรือ ประมาณ  1075 บาท ต่อ มวน

4.หนอนฉลางไอ  ฤดูหนาวเป็นหนอน  ฤดูร้อนเป็นหญ้า
หนอนชนิดหนึ่งเหมือนพยาธิที่ติดในคางคาวถ่ายมาสู่ต้นหญ้าแล้วเติบโตในหิมะและถูกหญ้ากักตัวและดูดอาหารหนอนตัวนั้น จึงเรียนกว่าหญ้ากินนอน สรรพคุณ ป้องกันมะเร็ง
1 กรัม 300 หยวน ประมาณราคา 1500 บาท
 5.ขนมจีนข้ามสะพาน
ขนมจีนเป็นอาหารพื้นเมืองของมณฑลยูนนาน คนต่างถิ่นมาถึงคุนหมิงชอบทานขนมจีนคนยูนนานเองก็ชอบทานเช่นกัน คนที่มายูนนานไม่ว่าใครก็ตามต่างก็ชอบชิมขนมจีนข้ามสะพานซึ่งเป็นอาหารรสชาติยูนนานที่ลือชื่อ อาหารชนิดนี้ปรุงและใช้ส่วนประกอบของอาหารอย่างพิถีพิถัน รสชาติกลมกล่อม เป็นที่นิยมชมชอบของคนทั้งหลายที่ได้รับประทาน

    ขนมจีนข้ามสะพานมีขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644-1911) นิทานเล่ากันว่าบริเวณทะเลสาบหนานหู อำเภอหมิงจื้อ ทางภาคใต้ของมณฑลยูนนาน กลางทะเลสาบมีเกาะเล็กๆ อยู่เกาะหนึ่งมีนักศึกษาไปท่องตำราเรียนเพื่อสอบจอหงวนอยู่บนเกาะทุกวัน ภรรยาต้องส่งสำรับข้าวไปให้ทานทุกวัน เนื่องจากระยะทางจากบ้านมาถึงเกาะค่อนข้างไกล และยังต้องเดินข้ามสะพานยาวกว่าจะถึงเกาะ กว่าอาหารจะไปถึงก็เย็นชืดหมดรสชาติแล้ว

     แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่งภรรยาได้ต้มซุปไก่บรรจุโถไปให้สามีเมื่อไปถึงเกาะซุปไก่ก็ยังรักษาความร้อนอยู่ เป็นเพราะมีน้ำมันไก่ปกผิวซุปรักษาความร้อนไว้ วันต่อมาภรรยาจึงทำซุปไก่ร้อนๆบรรจุโถเช่นเดิม แล้วเอาขนมจีน หมูแล่บางๆ กับผักสดและเครื่องปรุง นำไปให้สามีลวกน้ำซุปรับประทาน สามีหลังจากรับประทานแล้ว ก็พูดกับภรรยาว่าอาหารมื้อนี้อร่อยจริงๆ สามีจึงได้ถามภรรยาว่า “อาหารมื้อนี้ชื่อว่าอะไร” ภรรยาตอบว่า “ยังไม่มีชื่อ” สามีจึงบอกว่า “เนื่องจากเธอเดินข้ามสะพานมาก็เรียกว่าขนมจีนข้ามสะพานเถอะ” และด้วยความขยันท่องตำราของสามีก็ไม่ทำให้ภรรยาผิดหวัง โดยได้สอบไล่จนเป็นจอหงวนได้สำเร็จ

    
ซึ่งฮ่องเต้เห็นหน้าก็ถามว่าทำสมบูรณ์ขนาดนี้ จงหงวนก็บอกเพราะอาหาร ที่เรียกว่า “ กั้วเฉียวหมี่เซี่ยน” “ หรือ ขนมจีนข้ามสะพานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากนั้นก็นิยมนำมาเป็นสูตรปรุงกินกันและใส่เครื่องปรุงต่างๆมากขึ้นจนกลายเป็น ตำนานขนมจีนข้ามสะพานอันเลื่องลือของมณฑลยูนานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

2/18/2554

"วัดเส้าหลิน" ถิ่นยอดกังฟูแดนมังกร




วัดเส้าหลิน ตั้งอยู่ อ.เติงเฟิง เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ตั้งอยู่กลางกลางระหว่างเมืองเจิ้งโจว(ห่างประมาณ 70 กม.) และเมืองลั่วหยาง(ห่างประมาณ 80 กม.มีรถโดยสารประจำทางสายวัดเส้าหลินวิ่งถึง ราคา 20 หยวน) ซึ่งจากเมืองทั้ง 2 สามารถนั่งรถไปใช้เวลาประมาณ 1 ชม.กว่าๆ ผู้สนใจเที่ยววัดเส้าหลิน หรือมณฑลเหอหนาน ตั้งอยู่ภายใน ซงซาน (嵩山) ภูกลาง อันเป็นหนึ่งใน 5 ยอดเขาแห่งแผ่นดินจีนหรือที่เรียกกันว่า อู่เยว่ (五岳) โดยอีก 4 เขาที่เหลือนั้นประกอบไปด้วย เหิงซาน (恒山) ภูเหนือในมณฑลซานซี เหิงซาน (衡山) ภูใต้ในมณฑลหูหนาน ไท่ซาน (泰山) ภูตะวันออกในมณฑลซานตง และหัวซาน (华山) ภูตะวันตกในมณฑลส่านซีมีสำนวนจีนกล่าวเอาไว้ว่า 五岳归来不看山 "ไปชม 5 ภู กลับมาไม่มองภูเขา " อันเป็นการบ่งบอกว่า ภูทั้ง 5 นั้นมีความสวยงามติดอยู่ในระดับหัวแถวของแผ่นดินในยุคชุนชิว แล้วคำว่า "เยว่ (岳)" ในยุคชุนชิว นั้นมีความหมายบ่งบอกถึง ตำแหน่งขุนนางผู้ดูแลภูเขาใหญ่ๆใน 4 ทิศรอบดินแดนจงหยวน (中原) ทั้งนี้ในเวลาต่อมาคำว่า "เยว่" นอกจากจะมีความหมายถึงขุนนางผู้ดูแลภูเขาใหญ่แล้วก็ถูกนำมาเรียกขาน ขุนเขาทั้ง 4 แห่งซึ่งขุนนางทั้ง 4 ดูแลอยู่ด้วย ในตอนนั้นคำว่า 4 ยอดภู (四岳) จึงปรากฎขึ้นสู่บรรณพิภพในยุคถัดจากชุนชิว คือ ยุคสงครามระหว่างรัฐ (战国; ก่อนคริสกาลราว 475-221 ปี) เมื่อความเชื่อที่ว่า สรรพสิ่งในโลกประกอบขึ้นด้วยธาตุ 5 ประการคือ เหล็ก ไม้ น้ำ ไฟ และ ดิน จากสองเจ้าทฤษฎี "ยินหยาง (阴阳)" คือ โจวแหย่น (邹衍) และ โจวซื่อ (邹奭) เป็นที่เชื่อถือกันโดยทั่วไป ก็เริ่มมี 'เยว่ที่ห้า' ปรากฎขึ้น จนต่อมา "5 ยอดภู" ก็มาแทนที่ "4 ยอดภู" ในที่สุด*ทั้งนี้การที่มีการยกย่องว่า 5 ภูเขา ดังกล่าวเป็น ยอดในแผ่นดินนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาจะพิจารณากันที่ "ความสูง" แต่อย่างใด แต่เขาพิจารณากันตรงที่ รูปลักษณ์และความสวย สง่างาม ตามคตินิยมของคนจีนตั้งแต่โบราณกาล โดยตั้งแต่สมัยของ จิ๋นซีฮ่องเต้ (หรือ ฉินสื่อหวงตี้) ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฉิน และ ฮั่นอู่ตี้ (汉武帝) แห่งราชวงศ์ฮั่น ก็ปรากฎประเพณีขององค์ฮ่องเต้เมื่อออกตรวจราชการตามพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของ 5 ยอดภู มักจะต้องแวะไปทำการ เซ่นสรวงบูชาเทวดาฟ้าดิน ที่ภูเหล่านี้ อันเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นว่า ฮ่องเต้เป็นโอรสสวรรค์ได้รับอาณัติจากสวรรค์จริง**อย่างไรก็ตามในบรรดา 5 ยอดภูนี้ ก็มีจัด ที่สุดของที่สุดอีก โดย ภูตะวันออก หรือ ไท่ซาน แห่งมณฑล ซานตงถูกจัดให้อยู่หัวแถวที่สุดรูปปั้นสัญลักษณ์ของวัดเส้าหลิน หน้าทางเข้าวัดวัดเส้าหลินแอบตัวอยู่กลางหุบเขาและลำเนาไพรของซงซาน ที่ประกอบไปด้วยเขา 72 ยอด โดยแบ่งย่อยเป็นสองกลุ่ม คือในกลุ่มของเขาไท่ซื่อ (太室山) 36 ยอด และเขาเส้าซื่อ (少室山) 36 ยอด อย่างไรก็ตามความงดงามของธรรมชาติแห่งซงซานนั้นดูจะถูกบดบังไปสิ้นด้วยรัศมีแห่งวัดเส้าหลิน วัดนิกายฌาน (เซน) อันดับหนึ่งในใต้หล้า ที่ตั้งอยู่ในภายในหุบเขา 36 ยอดของภูเขาเส้าซื่อสามารถติดต่อได้ตามบริษัททัวร์ทั่วไป ทั้งนี้การเดินทางจากเมืองไทยที่สะดวกที่สุดสู่วัดเส้าหลินคือ จากกรุงเทพฯเดินทางสู่เมืองเจิ้งโจว (Zhengzhou) ซึ่งปัจจุบันมีสานการบินบางกอกแอร์เวยส์เปิดบินตรง กรุงเทพฯ-เจิ้งโจว สอบถามได้ที่ 1771จากนั้นเดินทางสู่วัดเส้าหลินที่อำเภอเติงเฟิง ค่าเข้าชมวัดเส้าหลิน 40 หยวน( 1 หยวนประมาณ 5 บาท)
ยอดเขาเส้าซื่อซาน
วัดเส้าหลินสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.495 ในราชวงศ์เว่ย(โจ) รัชสมัยของพระเจ้าเสี้ยวเหวินตี้ (孝文帝) หรือโจผี โดยแรกเริ่มเดิมทีมีจุดประสงค์ก็เพื่อให้พระภิกษุจากอินเดีย นาม ป๋าถัว (跋陀) มาจำวัดและเผยแพร่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท โดยว่ากันว่าในขณะนั้นพระอาจารย์ป๋าถัวมีลูกศิษย์ลูกหานับร้อยๆ คนเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามหลังจากพระอาจารย์ป๋าถัวมรณภาพ ชื่อเสียงของวัดเส้าหลินก็ค่อยๆ เสื่อมถอยลง
ล่วงมาถึง ค.ศ.527 เมื่อพระภิกษุจากอินเดียอีกรูปหนึ่งนาม ต๋าม๋อ (达摩) หรือพระโพธิธรรม หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนาม "ตั๊กม้อ" เดินทางมาถึงวัดเส้าหลินเพื่อเผยแพร่นิกายเซนตามตำนานร่ำลือกันว่าภิกษุตั๊กม้อใช้เวลาถึง 3 ปีเดินทางจากประเทศอินเดียกว่าจะมาถึงวัดเส้าหลิน โดยเมื่อมาถึงท่านกลับไม่ได้เข้าวัด แต่เดินเลยขึ้นถึงถ้ำแห่งหนึ่งใกล้ๆ กับวัด ในถ้ำภิกษุตั๊กม้อหันหน้าเข้าผนังแล้วจึงนั่งลงขัดสมาธิ ท่านนั่งทำสมาธิและใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำแห่งนั้นเป็นเวลายาวนานถึง 9 ปี ก่อนที่จะลงจากถ้ำเพื่อมาถ่ายทอดพระธรรมและวิทยายุทธ์ให้กับสานุศิษย์ เมื่อถ่ายทอดแก่เหล่าศิษย์สำเร็จท่านจึงเดินทางออกจากวัดเส้าหลินและไปมรณภาพที่อี่ว์เหมิน (禹门) พื้นที่แห่งหนึ่งซึ่งปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนานว่ากันว่าจากการที่ปรมาจารย์ตั๊กม้อนั่งหันหน้าเข้าผนังทำสมาธิอยู่ในถ้ำถึง 9 ปีนั้นทำให้บนผนังเกิดอภินิหารเป็นรอยเงาของท่านติดตรึงอยู่เลยทีเดียว โดยปัจจุบันถ้ำแห่งนี้นั้นอยู่ในบริเวณเที่ยวชมของวัดเส้าหลิน โดยเรียกกันว่า ถ้ำตั๊กม้อ (达摩洞)**ในส่วนวิทยายุทธ์ที่ปรมาจารย์ตั๊กม้อคิดค้นขึ้นนั้นก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ท่านเห็นว่าวัดเส้าหลินนี้ตั้งอยู่ ณ หุบเขาซงซาน ซึ่งเป็นป่าทึบที่ชุกชุมไปด้วยสัตว์เดรัจฉานน้อยใหญ่ การที่บรรดาหลวงจีนต้องนั่งสมาธินานๆ โดยไม่ได้ออกกำลังกายจะทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมทรุดได้ ดังนั้นท่านจึงพินิจการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของสัตว์ชนิดต่างๆ และดัดแปลงนำมากำหนดเป็นท่าร่างเพื่อการออกกำลังกายและใช้ป้องกันตัว
ต่อมาด้วยวิทยายุทธ์อันล้ำลึกเหล่านี้เองที่ผลักให้ พระแห่งวัดเส้าหลินกลับกลายต้องเข้ามามีเกี่ยวพันเอากับเรื่องโลกของปุถุชนภายนอก โดยหนึ่งในเรื่องที่โด่งดังก็เช่น เมื่อต้นศตวรรษที่ 7 ในยุคสุย-ถัง พระวัดเส้าหลินได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ 'หลี่ซื่อหมิน' เพื่อต่อสู้กับ 'หวังซื่อชง' โดยต่อมาเมื่อหลี่ซื่อหมินได้รับการสถาปนาเป็นองค์ฮ่องเต้ถังไท่จงแห่งราชวงศ์ถัง นอกจากพระสงฆ์ 13 รูปที่ได้การแต่งตั้งจากฮ่องเต้ให้ได้ดำรงตำแหน่งในทางโลกแล้ว วัดเส้าหลินยังได้อานิสงส์จากการอุปถัมป์ขององค์ฮ่องเต้ไปด้วยอย่างมากมาย
ขณะที่เมื่อราชวงศ์ถังเข้าสู่ยุคของพระนางบูเช็กเทียน (อู่เจ๋อเทียน:武则天) เนื่องจากในยุคพระนางบูเช็กเทียนนี้มีการสนับสนุนการเผยแผ่ศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก ด้านวัดเส้าหลินก็กลายเป็นวัดอันดับหนึ่งในใต้หล้า (天下第一名刹) ไปโดยปริยายเมื่อวันคืนผันผ่าน เวลาล่วงเลยมาพันกว่าปี พอประเทศจีนเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐ วัดเส้าหลินก็ถึงยุคตกต่ำ เข้าขั้นหายนะ
เมื่อปี ค.ศ.1927 ในช่วงที่จีนกำลังวุ่นวายกับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของเหล่าขุนศึก วัดเส้าหลินก็ถูกเผาทำลายครั้งใหญ่โดยเพลิงได้ลุกโชนอยู่นานถึง 45 วัน สิ่งก่อสร้างในวัดเส้าหลินเกือบทั้งหมดต้องวายวอดสิ้น วิหาร ศาลา ตึกหลักๆ นั้นถูกเผาเรียบวุธ ส่วนตำราไม้แกะสลัก "ประวัติวัดเส้าหลิน" กับ "กังฟูมวยเส้าหลิน" รวมถึงตำราและสมบัติล้ำค่าของวัดมากมาย ต่างก็สูญหายไปในเพลิงอัคคีครั้งนั้น

ในปี ค.ศ.1949 เมื่อประเทศจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบสังคมนิยม วัดเส้าหลินก็มิพ้นต้องรกร้าง จะมีก็เพียงวิชากังฟูเส้าหลินที่ยังคงถูกถ่ายทอดกันต่อๆ มา และเป็นที่เลื่องลือ โดยเฉพาะในนิยายกำลังภายในเล่มแล้วเล่มเล่า มิพ้นต้องกล่าวถึงแขนงวิทยายุทธ์ที่ล้ำลึกจากวัดเส้าหลิน
จนกระทั่งเมื่อจีนเริ่มเปิดประเทศ และความสนใจเกี่ยวกับกังฟูวัดเส้าหลินจากภายนอกเริ่มร้อนแรง ทางนักลงทุนจากเกาะฮ่องกงก็สนใจจะผลิตภาพยนตร์จอเงินเกี่ยวกับกังฟูของวัดเส้าหลิน โดยยกทีมงานเข้ามาหานักแสดงถึงจีนแผ่นดินใหญ่ และถ่ายทำ ณ สถานที่จริงและอย่างเช่นที่ทราบ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 80 หรือ 25 ปีก่อนเมื่อออกฉาย ภาพยนตร์ "เสี้ยวลิ้มยี่ (少林寺)" ก็โด่งดังเป็นพลุแตก พร้อมๆ กับการถือกำเนิดของดารานักบู๊คนใหม่ หลี่เหลียนเจี๋ย (李连杰) หรือที่ฝรั่งรู้จักกันในนามเจ็ทลี (Jet Li)

หลังจาก "เสี้ยวลิ้มยี่" หนังกังฟูเกี่ยวกับวัดเส้าหลินก็ถูกสร้างขึ้นมาอีกเป็นชุดทั้งหนังใหญ่และหนังจอแก้ว และส่งอิทธิพลกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมชมวัดเส้าหลินอย่างไม่ขาดสายด้านทางฝั่งรัฐบาลจีนเองก็ได้โอกาสผลักดันวัดเส้าหลินให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักของมณฑลเหอหนานเสียเลย โดยเน้นชูประวัติความเก่าแก่ของวัด 1,500 ปี กับกังฟูแห่งวัดเส้าหลิน (ที่ปัจจุบันมีโรงเรียนเปิดสอนกังฟูเส้าหลินแทบจะทั่วมณฑลเหอหนานอยู่แล้ว) นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะยื่นต่อยูเนสโกขอบรรจุ 'วัดเส้าหลิน' ในรายชื่อมรดกโลกอีกด้วย

ตัว“ปี้ซี”ที่เป็นหนึ่งในสัตว์ศักดิสิทธิ์ของคนจีน ตัวเป็นเต่าแต่มีหัวเป็นมังกร ซึ่งข้าพเจ้าคิดไปคิดมาก็คล้ายๆกับนักการเมือง ข้าราชการ ผู้สูงวัยหลายๆคนที่มีตัวเป็นคนแต่หัวเป็นงู(ฮา)ความพิเศษคนจีนโบราณเชื่อกันว่าเมื่อไปลูบคลำตรงหัว จะโชคดีไม่มีอดตาย หากลูบคอจะปลอดภัยไร้โรคา ส่วนลูบฟันจะถูกหวยรวยทรัพย์ และถ้าลูบหลังจะมีลูกดกด้วยเหตุนี้ตัวปี้ซีส่วนใหญ่จึงถูกลูบคลำกันจนมันแผล็บ ไม่แพ้ถันนางอัปสราที่นครวัดเหมือนกันแต่ว่านั่นก็เป็นความเชื่อของคนจีนรุ่นเก่า ส่วนรุ่นใหม่นั้นตัวปี้ซีคือแบบถ่ายรูปชั้นเยี่ยมที่นิยมไปยืนจุ้ยถ่ายรูปคู่กับปี้ซี ส่วนที่หนักไปกว่านี้ก็คือเห็นปี้ซีเป็นเก้าอี้ชั้นดี ใช้นั่งใช้ขี่กันอย่างสนุก ส่วนข้าพเจ้านั้นเพื่อความชัวร์ก็ขอขอลูบปี้ซีทั้งตัว เรียกว่าเอาแบบเต็มเวอร์ชั่นกันเลย
บรรยากาศในวัดเส้าหลินยังคงขรึมขลังไม่สร่างซา


“วิหารตั๊กม้อ” หรือ “วิหารเจ้าอาวาส” ซึ่งปรากฏเป็นฉากในหนังกำลังภายในและในยุทธจักรนิยายมากมายภายในวิหารนอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปตามแบบมหายานแล้ว หากสังเกตดีๆที่พื้นในวิหารจะดูเป็นหลุมเป็นบ่อ ซึ่งหากใครไม่รู้อาจจะนึกว่าพื้นทรุด แต่จริงๆแล้วที่นี่ในอดีตคือสถานที่ฝึกเพลงยุทธ์ของ 18 อรหันต์ทองคำวัดเส้าหลิน ที่ส่วนใหญ่มีกำลังภายในเหลือล้นจึงกระทืบพื้นวิหารเป็นหลุมเป็นบ่อทั่วไปหมดส่วนสิ่งที่น่าสนใจอีก 2 จุดในวิหารตั๊กม๊อ ก็คือทางด้านซ้ายมือสุดจะมีรูปปั้น “หลวงจีนกั๊กเอี้ยง” ยืนโดดเด่น ท่านผู้นี้เป็นยอดหลวงจีนที่งำประกายตัวเองด้วยการเป็นพระพ่อครัว และเป็นผู้คิดค้นกระบวนท่า 18 อรหันต์ ก่อนที่จะพา “เตียซำฮง”อดีตศิษย์ตัวน้อยแห่งเส้าหลิน ออกไปฝึกปรือวิทยายุทธ์ จนท่านเตียซำฮง กลายเป็นยอดจอมยุทธ์และไปเปิด“สำนักบู๊ตึ้ง”อันลือลั่น(หาอ่านเพิ่มเติมได้ในเรื่อง“ดาบมังกรหยก”ของ”กิมย้ง”)ส่วนทางขวามือสุดยังมีรูปปั้นของท่านตั๊กม้อที่หน้าตาขึงขัง หนวดเคราครึ้ม ยืนสะพายง้าว และม้วนคัมภีร์โดดเด่นอยู่ ซึ่งข้าพเจ้าเมื่อไปยืนสักการะท่านตั๊กม้อแล้วรู้สึกว่าท่านจากไปแค่ร่างกายเท่านั้น ส่วนชื่อของท่านและเรื่องราวที่กระทำยังคงอยู่และจะคงอยู่คู่เส้าหลินไปจวบจนกาลปาวสาน...

ที่มา

http://www.pantown.com/board.php?id=14701&name=board4&topic=2&action=view
http://blog.spu.ac.th/Dhanapon/2009/03/11/entry-2

2/10/2554

คุนหมิง อากาศอบอุ่นตลอดทั้งปีขนานนามว่า "นครแห่งฤดูใบไม้ผลิ"

 เมืองเอกคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน ชื่อย่อ หยุน หรือ เตียน เป็นมณฑลชายแดนภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีพื้นที่ทั้งสิ้น 394,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 4.1%ของพื้นที่ทั้งคุนหมิงเป็นเมืองสำคัญที่เป็นประตู เปิดไปสู่เส้นทางสายไหม ( Silk Road ) สู่ ทิเบต เสฉวน และเป็นศูนย์กลางทางด้านการเมืองการปกครอง รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของมณฑล ยูนนาน นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน


ประชากรส่วนใหญ่ในคุนหมิงเป็นชาวจีนฮั้น และใช้ภาษาท้องถิ่นซึ่งมีสำเนียงที่จัดอยู่ในกลุ่มแมนดารินใต้แต่ภาษามาตรฐานกลางหรือภาษา Mandarin ก็เป็นภาษาที่ใช้สื่อสาร และเข้าใจกันได้ทั่วไป เนื่องจากมีอากาศอบอุ่นตลอดทั้งปีจึงถูกขนานนามว่า "นครแห่งฤดูใบไม้ผลิ"

เมืองคุนหมิงตั้งอยู่บนที่ราบสูงในมณฑลยูนนาน มีภูเขาล้อมรอบตัวเมือง 3 ด้าน อาณาเขตทิศใต้ติดกับทะเลสาบ สูง 1,850 เมตรจากระดับน้ำทะเล มณฑลยูนนานมีชื่อเสียงอันดีงามว่าเป็น "ทางใต้เมฆสี" "แหล่งเกิดเขียวชอุ่ม ณ ที่นี้มีภูเขา และแม่น้ำลำธารสวยสดงดงาม มีวิวทัศน์ธรรมชาติสวยวิจิตระการตามีภูเขาสูงที่เต็มไปด้วยหิมะตลอดปีในซีกโลกเหนือ มีป่าดึกดำบรรพ์อันหนาทึบ มีหุบเขาอันลึกลับและอันตราย มีสิ่งมหัสจรรย์ป่าหิน ถ้ำหิน และถ้ำหินย้อยที่ก่อขึ้นจากการผันแปรของลักษณะภูมิประเทสคาร์สท์....สิ่งเหล่านี้ทำให้ยูนนานกลายเป็นพิพิธภัณฑ์สถานทางทัศนียภาพธรรมชาติคุนหมิงเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมหลักคือ ด้านการท่องเที่ยว ดังนั้น เรื่องการจัดระเบียบต่างๆ รวมทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆ ภายในเมืองจึงทำได้ดี มีสถานที่สำหรับเดินเล่นพักผ่อนหย่อมใจมากมายหลายแห่ง ทั้งภายในตัวเมืองและรอบๆ ตัวเมือง และยังมีค่าครองชีพที่นับว่าถูกมากเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ๆ อย่างปักกิ่งหรือ เซี่ยงไฮ้

เงินตรา สกุลเงินของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนคือเงินเหยินหมินปี้ ( Renminbi แปลตามตัวว่าเงินของประชาชน ) มักใช้ตัวย่อ RMB หน่วยเงินของจีนเรียกว่าหยวน ( yuan ) หนึ่งหยวนมีสิบเจี่ยว ( jiao )หรือเหมา หนึ่งเจี่ยวมีสิบเฟิน ( fen ) 100 เฟินเท่ากับหนึ่งหยวน ธนบัตรแบ่งออกเป็นใบละ 1 หยวน , 5 เจี่ยว , 1,2 และ 5 เฟิน เฟินเป็นหน่วยเล็กสุด < เจี่ยวหรือเหมาเป็นหลักสิบ < จากนั้นเป็นหยวน

 ประวัติศาตร์คุนหมิง ปี พ.ศ. 1308 มีการสร้างเมืองขึ้นในบริเวณนี้ เมืองนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า ถัวตง (Tuodong) ราวศตวรรษที่ 13 มาร์โค โปโล ได้เดินทางมายังดินแดนแห่งนี้ และเขียนบันทึกบอกเล่าความประทับใจ ต่อมาเมืองนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น คุนหมิง โดยเหล่าชนชั้นปกครองชาวมองโกลแห่งราชวงศ์หยวนเมื่อปี พ.ศ. 1819

ราวศตวรรษที่ 14 คุนหมิงถูกยึดอำนาจกลับคืนโดยราชวงศ์หมิง และมีการสร้างกำแพงล้อมรอบส่วนที่เป็นเมืองในปัจจุบัน ในศตวรรษที่ 20 คุนหมิงตกเป็นเป้าของการโจมตีจากกองทัพอากาศหลวงญี่ปุ่นเมื่อครั้งที่บุกจีนแผ่นดินใหญ่

                                                                          สถานที่ท่องเที่ยว
  

ตำหนักทองจินเตี้ยน ซึ่งสร้างโดยแม่ทัพในสมัยราชวงศ์หมิง อดีตเคยเป็นที่พักของ อู๋ซันกุ้ย ขุนศึกผู้ขายชาติ และนางงามเฉินหยวนหยวนเป็นตำหนักแห่งเดียวที่มีฝาผนัง และหลังคาสร้างด้วยทองเหลืองถึง380 ตัน จึงทำให้ตำหนักมีความสวนเด่น แลดูเสมือนทอง จึงได้ชื่อว่าตำหนักทอง จึงนับได้ว่าเป็นวิหารที่ใหญ่ที่สุดของจีน 

ประตูมังกร เขาซีซาน คนจีนกล่าวไว้ว่ามาถึงคุนหมิงจะต้องไปลอดประตูมังกร เมื่อลอดแล้วฐานะจะเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งร้อยเท่า มีตำนานเล่ากันมาว่า ในสมัยก่อนแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดคือแม่น้ำเหลืองจะมีปลาหลีหือซึ่งเป็นปลาประจำชาติของจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ครั้งหนึ่งเกิดน้ำท่วมทำให้ปลาไหลไปอยู่ตามแม่น้ำสายอื่น เมื่อปลาไปอยู่แม่น้ำอื่นปลาไม่ชินกับคุณภาพน้ำจึงมีความพยายามว่ายทวนน้ำเพื่อกลับไปอยู่ในแม่น้ำเหลืองของปลา ท่านเลยสั่งให้ไปสร้างประตูตรงแม่น้ำเหลือง ถ้าปลาตัวไหนกระโดดข้ามประตูได้ ท่านก็จะให้เป็นมังกร ถ้าปลาตัวไหนกระโดดข้ามไม่ได้ ก็ต้องไปอยู่ในแม่น้ำเหลือง ปลาก็เลยมีความพยายามไปกระโดดข้ามประตูเพื่อเป็นมังกร เลื่อนจากปลาเป็นมังกรถือว่าฐานะของปลาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเท่า ดังนั้นประตูมังกรเหมือนเป็นการสอนคนจีนมาโดยตลอด คือเมื่อเรามีความพยายามก็จะประสบความสำเร็จ ตั้งห่างจากตัวเมือง 29 กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของวัดในลัทธิเต๋า สร้างในช่วง ค.ศ.1718-1843 ผ่านอุโมงค์หินที่สกัดไว้ตามไหล่เขา พร้อมชมศาลเจ้าและวัดจีนลัทธิเต๋า ซึ่งสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านที่มีประวัติความเป็นมายาวนานนับ 1,000 ปี ชมความงดงามของ ทะเลสาบคุนหมิง เตือนฉือ จากมุมมองจากที่สูง มาลอดประตูมังกร หลงเหมิน ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง
ถ้ำจิ่วเซียง เป็นถ้ำมหัศจรรย์ของจีนที่สวยงามมากและเป็น 1 ใน 10 สถานที่สำคัญทางธรรมชาติของมณฑลยูนาน ถ้ำนี้เกิดจากการกัดเซาะของภูเขาไฟโบราณ จนเกิดเป็นโพรงถ้ำขนาดยาว 3-4 กิโลเมตรช่วงแรกจะเดินผ่านไปทางเส้นทางที่ขนานไปกับภูเขาสูง เข้าชมความงามภายในถ้ำจิ่วเซียง ที่ประกอบด้วยหินงอกหินย้อยที่สวยงามรูปร่างแปลกตาเต็มไปด้วยสีสันสวยงาม ซึ่งประกอบเสมือนเป็นโลกใต้ดินได้อย่างน่าอัศจรรย์ ชมธารน้ำตกถ้ำเล็กๆอยู่ภายใน อาทิ ถ้ำช้างเผือก, ถ้ำค้างคาว, วังเทพธิดา, ถ้ำเทวดา, ถ้ำนา ขั้นบันได ฯลฯ สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดภายในถ้ำนี้ก็คือตอนกลางของถ้ำจะมีลำน้ำทั้งสายลงมาจากหน้าผาตกลงมาเป็นน้ำตก 2 สาย เรียกกันว่า น้ำตกผัวเมีย เป็นน้ำตกใหญ่และตกอยู่กลางระหว่างถ้ำเป็นภาพที่สวยงามยิ่งนัก สมกับคำกลอนที่ว่า บนดินชมป่าหินงาม ใต้ดินชมจิ่วเซียง 


ป่าหินยูนนาน ตั้งอยู่ในอำเภอสือหลินเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนานของประเทศจีน ป่าหินแห่งนี้มีรูปลักษณ์ต่างๆของหินทั่วโลก อย่างเช่นที่ ป่าหินใหญ่ หินส่วนใหญ่มีรูปเหมือนเป็นดาบ เมื่อไปถึงอีกแห่งหนึ่ง หินจะมีรูปคล้ายเจดีย์ ไปถึงอีกที่หนึ่ง หินที่นั่นก็ดูเหมือนเห็ด มีทั้งสีดำและสีเหลือง มีผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเคยบอกว่า เมื่อมาถึงป่าหินแล้ว รู้สึกเดี๋ยวก็อยู่คิวบา เดี๋ยวก็ถึงสเปน เหมือนกับว่า ป่าหินในทั่วโลกได้ย้ายมาอยู่ที่นี่วางแสดง ป่าหินคุนหมิงนับเป็นพิพิธภัณฑ์ของป่าหินทั่วโลก ซึ่งมีคุณค่ามาก"


วัดหยวนทง  เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของมณฑลยูนนาน สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618 ค.ศ.907) จนถึงปัจจุบัน เป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,200 ปี ตั้งอยู่ที่ถนนหยวนทงเจียง เป็นอารามทางพระพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในคุนหมิง ภายในวัดตกแต่งร่มรื่นสวยงาม กลางลานมีสระน้ำขนาดใหญ่ มีสะพานข้ามไปสู่ศาลาแปดเหลี่ยมกลางสระ ปัจจุบันวัดหยวนทงจะเป็นลักษณะของวัดในสมัยราชวงศ์ชิง เนื่องจากวัดนี้ได้ถูกทำลายในสมัยราชวงศ์หมิง และได้รับการบูรณะโดยหูซาน ผู้เป็นคนพลิกประวัติศาสตร์จีน เป็นผู้ที่ทำให้ประเทศจีนเกิดราชวงศ์ชิง ภายในวัดที่ศักดิ์สิทธิ์และมีชื่อเสียงแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาถึง 3 นิกาย ได้แก่นิกายมหาญาณของพม่า นิกายหินญาณของไทย และนิกายลามะของธิเบต

ที่มา

http://siritep.multiply.com/photos/album/59/59#photo=5
http://www.youtube.com/watch?v=JHo4KmWqChA&feature=player_embedded#at=11
http://www.oknation.net/blog/mrtaweesak/2008/08/31/entry-1
http://www.btnewstartour.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539117136
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%87
http://www.คุนหมิง.com/