5/30/2552

ราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1271-1368)

“มองโกล เผ่าพันธุ์ลูกหลานแห่งเจงกีสข่านผู้ยิ่งใหญ่ ชนชาติจากแผ่นดินทุ่งหญ้าอันเวิ้งว้าง นักล่าผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักขี่ม้าและนักยิงธนูตัวยง ได้เริ่มต้นประกาศแสนยานุภาพด้วยการยาตราทัพอันแข็งแกร่งบุกสู่ยุโรป ผนวกแผ่นดินซี่เซี่ยและจิน กระทั่งยึดครองลงใต้มายังราชธานีของราชวงศ์ซ่ง จนจีนต้องถึงกาลผลัดแผ่นดินอีกครั้ง...“
ราชวงศ์หยวน หรือที่เรียกในนามว่าต้าหยวน (大元)เป็นมหาอาณาจักรที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยชนชาติมองโกลที่อาศัยอยู่บนที่ราบสูงทางตอนเหนือของประเทศจีน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีชนกลุ่มน้อยสามารถเข้ายึดครองอำนาจการปกครองทั่วทั้งแผ่นดินจีนได้ ชาวมองโกลที่เชี่ยวชาญด้านการสัประยุทธ์ ไม่เพียงแต่ใช้กำลังทหารยึดครองเขตภาคกลางและพื้นที่ทางตอนใต้ของแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) ของจีนเท่านั้น แต่ยังได้แผ่ขยายแสนยานุภาพควบคุมไปจนถึงเขตเอเชียตะวันตก กลางเป็นราชวงศ์ที่มีขอบเขตการปกครองที่กว้างใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีประวัติศาสตร์จีนเป็นต้นมา
อุบัติกาลชนชาติมองโกล

ชนชาติมองโกล(蒙古族)จัดเป็นชนเผ่าเก่าแก่หนึ่ง ที่อาศัยการเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ในการดำรงชีวิต เนื่องจากอาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่แห้งแล้ง ทุรกันดาร มีอากาศหนาวจัด และเป็นที่ราบอันกว้างใหญ่ไพศาล ทำให้ชาวมองโกลเป็นคนที่มีความทรหดอดทน และเก่งกล้าสามารถในการขี่ม้าและยิงธนู กระทั่งช่วงศตวรรษที่ 12 ในชนเผ่ามองโกลได้บังเกิดยอดคนที่เป็นผู้นำขึ้นคนหนึ่งนามว่า เถี่ยมู่เจิน (铁木真) หรือเตมูจินที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของชนเผ่าด้วยการรวบรวมชาวมองโกลที่แตกแยกกระจัดกระจายได้สำเร็จ จนได้รับการขนานนามเป็น “เจงกิสข่าน” (成吉思汗)ในปีค.ศ. 1206

ภายใต้การนำของเจงกีสข่าน ชนเผ่ามองโกลได้เติบโตและเข้มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นกองกำลังทางเหนือของจีนที่ไม่อาจดูแคลนได้อีกต่อไป ในขณะนั้น นอกจากอาณาจักรซ่งใต้ (南宋)แล้ว ยังมีอาณาจักรซีเซี่ย(西夏) และอาณาจักรจิน(金国)ที่จัดว่าเป็นดินแดนที่มีเอกราชอธิปไตยของตนอยู่ จนกระทั่งปี 1227 เจงกิสข่านได้นำทัพเข้าพิชิตดินแดนซีเซี่ย และสิ้นพระชนม์จบชีวิตอันเกรียงไกรของตนลงในปีเดียวกัน

แม้ว่าเจงกิสข่านจะสิ้นชีพไปแล้ว ทว่าด้วยรากฐานที่ได้วางเอาไว้ ส่งผลให้อาณาจักรของมองโกลมิเพียงไม่ถดถอย ซ้ำยังรุดหน้าขยายแผ่นดินไปเรื่อยๆ หลังจากกลืนแผ่นดินซีเซี่ยเป็นผลสำเร็จ ก็เบนเข็มต่อมายังอาณาจักรจิน ซึ่งถือว่าเป็นรัฐกันชนระหว่างอาณาจักรซ่งใต้กับมองโกล ซึ่งในช่วงเวลานั้น ราชสำนักซ่งใต้ ได้เลือกที่จะจับมือเป็นพันธมิตรกับมองโกล จนกระทั่งในปีค.ศ. 1234 กองทัพอันเหี้ยมหาญของชนชาติที่ยิ่งใหญ่บนทุ่งหญ้า ก็สามารถพิชิตอาณาจักรจินที่กำลังเสื่อมถอยลงได้
สถาปนาราชวงศ์ต้าหยวน

หลังจากผ่านการสืบทอดอำนาจมาหลายรุ่น จากเจงกีสข่าน มาสู่วอคั่วข่าน กุ้ยโหยวข่าน เมิ่งเกอข่าน และเมื่อมาถึงสมัยของกุบไลข่าน หรือฮูปี้เลี่ย (忽必烈) หลานของเจงกีสข่านผู้ขนานนามตนเองว่าหยวนซื่อจู่ (元世祖)ได้ยอมรับความคิดเห็นของขุนนางนามหลิวปิ่งจง, หวังเอ้อ สถาปนาราชวงศ์ต้าหยวนขึ้นในปีค.ศ. 1271 และย้ายราชธานีมาอยู่ที่ต้าตู (大都) หรือปักกิ่งในปัจจุบันโดยคำว่าหยวนมาจากคำในคัมภีร์โบราณของจีน “อี้จิง” (易经) โดยยังคงรักษาซั่งตู ให้เป็นเมืองหลวงทางตอนเหนือเอาไว้ ซึ่งเหตุการณ์นี้นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของอาณาจักรมองโกลผู้แผ่ขยายอาณาเขตไปจนถึงเปอร์เซีย รัสเซีย ที่แต่เดิมสนใจเพียงปล้นชิงขูดรีดจากแผ่นดินจีน กลายมาเป็นถือเป็นแผ่นจีนเป็นศูนย์กลางในการปกครองอาณาจักร อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้ปักกิ่งค่อยๆกลายเป็นแหล่งศูนย์รวมทางการปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
แม้ว่าจะมีการตั้งเมืองหลวงอยู่ในต้าตูแล้ว ทว่า ณ เวลานั้นชนชาติมองโกลยังไม่สามารถครอบครองแผ่นดินจีนทั้งหมด ด้วยปณิธานที่ต้องการจะรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น กุบไลข่านจึงนำทัพบุกดินแดนซ่งใต้แล้วจับตัวฮ่องเต้ซ่งกงตี้กับพระมารดาไป ในห้วงเวลาดังกล่าวก็ยังมีขุนนางซ่งผู้จงรักภักดีอีกกลุ่มหนึ่งที่ต่อต้านกองทัพมองโกลอย่างกล้าหาญ ทว่าในที่สุดราชวงศ์ซ่งใต้ก็ถูกพิชิตอย่างราบคาบในปี 1279 ราชวงศ์หยวนสามารถรวมแผ่นดินจีนเป็นปึกแผ่นโดยมีอาณาเขตทางเหนือจรดแผ่นดินมองโกล ไซบีเรีย ทางใต้จรดหนันไห่ (ทะเลใต้) ตะวันตกเฉียงใต้ครอบคลุมไปถึงมณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) และทิเบตในปัจจุบัน ตะวันตกเฉียงเหนือไปถึงทางตะวันออกของซินเจียง (ซินเกียง) ตะวันออกเฉียงเหนือไปถึงทะเลโอคอตสค์ เป็นมหาจักรวรรดิแห่งแรกที่ครองพื้นที่ไปทั่วทั้งเอเชียและยุโรป

อารยธรรมอันรุ่งโรจน์ – มาร์โคโปโล เยือนจีน

ในยุคสมัยของหยวนซื่อจู่ ปฐมฮ่องเต้ในราชวงศ์หยวน ประเทศจีนในยามนั้นนับว่าเป็นประเทศที่แข็งแกร่งและมั่งคั่งมากแห่งหนึ่งในโลก จนกระทั่งมีบรรดาทูต พ่อค้าวาณิชย์ และนักท่องเที่ยวมากมายที่เดินทางเข้ามายังแผ่นดินจีน

นอกจากนั้นฮ่องเต้หยวนซื่อจู่เองก็ยังทรงโปรดให้นำชาวต่างชาติเข้ามาทำงาน และแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านต่างๆอย่างกว้างขวาง ทำให้ราชวงศ์หยวนเป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านสถาปัตยกรรม การแพทย์ ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ การทำปืนใหญ่ และหัตถกรรมฯลฯ

และสืบเนื่องจากชนชั้นผู้ปกครองได้ทุ่มเทผลักดันการกสิกรรมแทนการเลี้ยงสัตว์เพียงอย่างเดียว ทำให้วิวัฒนาการทางการเกษตรในช่วงเวลานี้ได้พัฒนาไปเป็นอันมาก โดยเฉพาะเมื่ออาณาเขตได้แผ่ขยายไปจนถึงเอเชียตะวันตก ทำให้จีนกับยุโรปมีการไปมาหาสู่กันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น จนมีการถ่ายเทกรรมวิธีและความรู้ต่างๆไปมาอย่างรวดเร็ว
ในช่วงปีค.ศ. 1231-1316 กัวโส่วจิ้ง(郭守敬) ผู้เป็นทั้งนักดาราศาสตร์ นักประดิษฐ์ นักคณิตศาสตร์ และนักชลประทานชื่อดังแห่งราชวงศ์หยวน โดยกัวโส่วจิ้งกับหวังสวิน (王恂)ได้รับบัญชาจากหยวนซื่อจู่ ให้คุมงานการจัดสร้างหอดาราศาสตร์ขนาดใหญ่ขึ้นที่ต้าตู โดยนอกจากการก่อสร้างแล้ว กัวโส่วจิ้งยังได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆขึ้นกว่าสิบสามชนิด เพื่อใช้ในหอดาราศาสตร์ดังกล่าว โดยเฉพาะเครื่องดูดาวพิกัดท้องฟ้าทรงกลม(简仪) ซึ่งจัดเป็นนวัตกรรมที่ล้ำยุคอย่างยิ่งในสมัยนั้น
ส่วนการร่วมงานกับต่างชาติในยุคนี้ เห็นได้ชัดจากบันทึกของมาร์โค โปโล นักเดินทางชาวอิตาเลียน ซึ่งถือว่าเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางข้ามทวีปเอเชียและเขียนบันทึกการเดินทางถึงสิ่งที่ได้พบได้ยินเอาไว้ในหนังสือที่ชื่อ The Travels of Marco Polo

โดย Niccolo กับ Maffeo บิดาและลุงของมาร์โคโปโลได้เดินทางมายังประเทศจีน และได้รับการต้อนรับด้วยไมตรีจิตจากกุบไลข่าน หลังจากกลับจากแผ่นดินจีนไปยังบ้านเกิด การมาอีกครั้งหนึ่งของพวกเขาได้นำพาบุตรชายมาร์โค โปโลติดตามมาด้วย

มาร์โค โปโลมาใช้เวลาเดินทาง 3 ปี กระทั่งมาถึงประเทศจีนด้วยวัย 20 ย่าง 21 ปี โดยเดินทางไปถึงซั่งตู และได้รับพระราชทานจัดงานเลี้ยงต้อนรับขึ้นในวังหลวง จากนั้นก็ให้ตระกูลโปโลอยู่ถวายงานในราชสำนัก ทำให้ในช่วงเวลา 17 ปีที่มาร์โค โปโลพำนักอยู่ในประเทศจีน มีโอกาสได้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆเพื่อปฏิบัติภารกิจมากมาย
ในหนังสือของมาร์โค โปโลมีการบันทึกถึงรูปร่างของแผ่นดิน สัตว์ พืชพันธุ์ต่างๆ รวมไปถึงสิ่งประดิษฐ์ การเล่าถึงหินและของเหลวที่ติดไฟได้ (ถ่านหินและน้ำมัน) โดยเขาได้พรรณนาถึงอารยธรรมจีนว่ามีความเจริญเหนือกว่าวัฒนธรรมและเทคโนโลยีของชาวยุโรป และระบุว่าจีนมีแหล่งพลังงานที่ยิ่งใหญ่อยู่ 2 อย่างก็คือ “ดินปืนและบะหมี่”

การแบ่งชั้นวรรณะและการปกครองอันเหี้ยมโหด

ราชวงศ์หยวนเป็นยุคสมัยที่ประเทศต้องปกครองผู้คนหลากหลายชนชาติเผ่าพันธุ์ โดยมีประชากรที่เป็นชาวฮั่นมากที่สุด การปกครองในสมัยนั้นจึงยึดเอาชนชาติมองโกลเป็นกลุ่มชนหลักในการบริหารประเทศ

เพื่อปกครองและป้องกันการต่อต้นขัดขืนจากชาวฮั่นที่มีอยู่อย่างมหาศาลในแผ่นดินจีน ชนชั้นปกครองในสมัยนั้นจึงได้เลียนอย่างอาณาจักรจินที่มีการแบ่งชนชั้นของประชาชน ซึ่งในสังคมราชวงศ์หยวนชาวมองโกลทั้งหลายจะถูกจัดว่ามีฐานะทางสังคมสูงที่สุด รองลงมาจะเป็นพวกเซ่อมู่ (เป็นชื่อเรียกรวมผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ทางตะวันตก อาทิพวกซี่เซี่ย หุยหุย ซีอี้ว์ เป็นต้น) จากนั้นก็เป็นชาวฮั่นทางเหนือที่เคยอยู่ใต้อาณัติการปกครองของอาณาจักรจิน ซึ่งรวมถึงชาวหนี่ว์เจิน ชี่ตาน ป๋อไห่ และที่ต่ำสุดก็คือชาวใต้ที่หมายถึงชาวฮั่นจากซ่งใต้ที่ถูกรวบเข้ามาอยู่ในอาณัติปกครองหลังสุด และแม้ว่าในสมัยนั้น ราชสำนักไม่ได้มีการออกกฎหมายการแบ่งชนชั้นออกมา ทว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนอยู่ในสิทธิอำนาจและหน้าที่ต่างๆของกฎหมายหลายๆฉบับ ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันที่มีอยู่
นอกจากการแบ่งชนชั้นแล้ว สมัยราชวงศ์หยวนยังมีการแบ่งระดับความสูงต่ำของอาชีพเอาไว้เป็น 10 ลำดับได้แก่ ระดับที่1 ขุนนาง 2 ข้าราชการ 3 พระสงฆ์ 4 นักบวชเต๋า 5 แพทย์ 6 กรรมกร (แรงงาน) 7 ช่างฝีมือ 8 โสเภณี 9 บัณฑิต 10 ขอทาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า บรรดาบัณฑิต หรือปัญญาชนทั้งหลายได้สูญเสียจุดยืนความสำคัญที่เคยมีมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง ถูกจัดลำดับในสังคมอยู่ต่ำกว่ากระทั่งโสเภณีจนเกิดคำล้อเลียนเสียดสีในยุคสมัยนั้นว่า “หนึ่งขุนนางสองข้าราชการ เก้าบัณฑิตสิบขอทาน”ขึ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อมีวัตถุอุดมสมบูรณ์มากขึ้น บรรดาชนชั้นปกครองของราชวงศ์หยวนก็เริ่มที่จะใช้ชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อฟอนเฟะ อีกทั้งเกิดการแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจภายในอย่างรุนแรง โดยหลังจากที่ฮ่องเต้เฉินจง ที่สืบทอดต่อจากหยวนซื่อจู่ ซึ่งนับว่ายังพอจะรักษาผลงานของกุบไลข่านไว้ได้บ้างแล้ว หลังจากนั้นในระยะเวลาสั้นๆเพียง 25 ปีนับตั้งแต่ปี 1308-1333 ราชวงศ์หยวนมีฮ่องเต้ถึง 8 พระองค์จากฮ่องเต้อู่จง เหรินจง อิงจง ไท่ติ้งตี้ เทียนซุ่นตี้ เหวินจง หมิงจง หนิงจง และหยวนซุ่นตี้ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่ามีการแย่งชิงอำนาจอย่างหนักหน่วง โดยบางพระองค์ครองราชย์เพียงปีเดียวเท่านั้น

ในยุคหลังของราชวงศ์หยวน ฮ่องเต้แต่ละพระองค์ต่างใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย เพื่อที่จะตอบสนองตัณหาของตน จึงขูดรีดภาษีจากประชาชนอย่างไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะกับชาวฮั่น ที่โดนกดขี่อย่างหนักหน่วง จนทำให้ชาวฮั่นทั้งหลาย ต้องเริ่มที่จะใช้วิธีการต่างๆในการตอบโต้กับการปกครองอันเหี้ยมโหดนี้

กองทัพโพกผ้าแดงและการล่มสลายของราชวงศ์

ความฟอนเฟะในราชสำนักได้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งช่วงปลายราชวงศ์หยวน ชาวมองโกลในชนชั้นปกครองยิ่งขูดรีดประชาชนสาหัส ใช้ความรุนแรงและโหดเหี้ยมกับทาส มีการอายัดที่ดินจำนวนอย่างมหาศาลเพื่อเอาไปใช้เสพสุข และผลักดันให้ประชาชนที่สูญเสียที่ดินกลายไปเป็นทาส อีกทั้งเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าต้นราชวงศ์ถึง 20 เท่าตัว

นอกจากนั้นยังมีการคร่ากุมสตรีชาวบ้านที่งดงาม ถลุงเงินจนรายจ่ายคลังหลวงไม่เพียงพอต่อรายรับ จนต้องมีการพิมพ์ธนบัตรออกมาอย่างมากมาย ทำให้ค่าของเงินตราที่ใช้ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ผนวกกับในยามนั้นเขื่อนกั้นแม่น้ำฮวงโหไม่ได้รับการบูรณะมาเป็นเวลาหลายปี จนเกิดอุทกภัยขึ้นหลายครั้ง ทำให้ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ยากลำเค็ญ จนกลายเป็นสภาพ “ผู้คนอดตายเกลื่อนถนน คนเป็นก็ไม่พ้นใกล้เป็นผี” (饿死已满路 生者与鬼邻)

ในปี 1351 ภายใต้สถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ ราชสำนักต้าหยวนได้ส่งทหาร 20,000 คนเพื่อบังคับเกณฑ์แรงงานชาวฮั่นถึง 150,000 คนเพื่อไปขุดลอกแม่น้ำและซ่อมเขื่อนที่พัง ซ้ำรายขุนนางที่มีหน้าที่คุมการขุดลอกยังฉวยโอกาสโกงกินเงินค่าอาหารของแรงงาน ทำให้ชาวฮั่นที่ถูกเกณฑ์มาต้องทนหิวทนหนาว จนมวลชนเกิดความเจ็บแค้นต่อราชสำนัก ในเวลานั้นเอง หลิวฝูทง (刘福通) จึงได้อาศัยลัทธิดอกบัวขาว (白连教) ในการรวบรวมชาวบ้านเป็นกองทัพชาวนาขึ้น

ต่อมาหลิวฝูทงได้ส่งสาวกลัทธิดอกบัวขาว ให้ออกไปปล่อยข่าวลือว่า “เมื่อใดที่มนุษย์หินตาเดียวปรากฏ ก็จะมีการพลิกฟ้าผลัดแผ่นดิน” หลังจากนั้นก็ลอบส่งคนไปทำรูปปั้นหินมนุษย์ตาเดียวแล้วนำไปฝังไว้บริเวณที่มีการขุดลอกแม่น้ำ ภายหลังเมื่อมีชาวบ้านไปขุดพบรูปปั้นหิน การต่อต้านชาวมองโกลจึงลุกลามขึ้นเป็นไฟลามทุ่ง
เมื่อโอกาสสุกงอม หลิวฝูทง และหานซันถง (韩山童)ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้นำลัทธิดอกบัวขาว ได้นำพาชาวบ้านจัดตั้งเป็นกองทัพขึ้น เนื่องจากชาวบ้านที่รวมตัวกันนี้ต่างโพกผ้าสีแดงเอาไว้บนศีรษะ จึงได้รับการเรียกขานเป็น “กองทัพโพกผ้าแดง” (红巾军)

ทว่าในห้วงเวลาที่เริ่มก่อตั้งกองทัพนั้น เนื่องจากเกิดความลับรั่วไหล ทำให้กองทัพโพกผ้าแดงที่เพิ่งจะเป็นรูปเป็นร่างถูกทหารทางการล้อมปราบ หานซันถงหนึ่งในผู้นำถูกจับกุมตัวและสังหาร ในขณะที่หลิวฝูงทงหนีฝ่าวงล้อมออกมา

หลังจากที่หลิวฝูทงหลบรอดออกมาได้ ก็ทำการรวบรวมกองกำลังขึ้นอีกครั้ง แล้วทำการบุกตีเมืองต่างๆ และเนื่องจากไม่ว่ากองทัพบุกยึดไปถึงที่ใด ก็จะมีการเปิดคลังหลวงเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ยากไร้ทั้งหลายจนทำให้กองทัพมีกองกำลังเพิ่มขึ้นเป็นเรือนแสนในเวลาไม่นาน และเมื่อถึงปี 1355 เมื่อกองทัพภายใต้การนำพาของหลิวฝูทงสามารถพิชิตเมืองป๋อโจวได้ จึงสถาปนา หานหลินเอ๋อ (韩林儿) บุตรชายของหานซันถงขึ้นเป็น “เสี่ยวหมิงหวัง” (小明王) จัดตั้งอำนาจการปกครองที่เกิดจากการปฏิวัติของชาวนาขึ้น

กระทั่งในปี 1357 เมื่อหลิวฝูทงได้แบ่งกำลังเป็น 3 สายบุกขึ้นเหนือ โดยเส้นตะวันออกบุกผ่านซันตง เหอเป่ย มุ่งไปยังต้าตู เส้นกลางบุกผ่านซันซี เหอเป่ย ไปยังซั่งตู ราชธานีทางเหนือของมองโกล จนสามารถเผาพระราชวังทางเหนือของมองโกลได้ ทางตะวันตกบุกผ่านกวนจง ซิงหยวน เฟิ่งเสียง แล้วตีไปทางเสฉวน กานซู่ หนิงเซี่ยโดยประสบชัยชนะมาตลอดทางถือเป็นช่วงที่กองทัพโพกผ้าแดงมีความรุ่งเรืองและเข้มแข็งที่สุด

ทว่าในภายหลัง ราชวงศ์หยวนยังคงดิ้นรนด้วยการให้ตำแหน่งกับบรรดาเจ้าของที่ดินและเหล่าเศรษฐีที่สามารถช่วยระดมพลมาช่วยทำศึกได้ ผนวกกับในขณะนั้นที่กองทัพโพกผ้าแดงได้แบ่งเป็นสามทัพแยกย้ายทำศึก ไม่มีการปักหลักแหล่งที่แน่นอนอีกทั้งขาดแผนการที่รัดกุมเพียงพอ จึงทำให้ต้องสูญเสียดินแดนที่ยึดมาได้กลับไปใหม่หลายครั้งหลายคราว จนกระทั่งในห้วงเวลาที่กองทัพโพกผ้าแดงกำลังสู้ศึกในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อกับกองทัพหยวน หลิวฝูทงผู้นำของกองทัพก็ต้องมาเสียชีวิตลงในปี 1362

เมื่ออำนาจของกองกำลังโพกผ้าแดงเสื่อมสลายนั้น ประจวบกับเป็นช่วงเวลาที่อีกกองกำลังทางใต้ที่นำโดยจูหยวนจาง (朱元璋)กำลังขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจูหยวนจางผู้นี้เป็นลูกชาวนาเกิดในครอบครัวที่แร้นแค้น เดิมสังกัดอยู่กับกัวจื่อซิงในกองทัพโพกผ้าแดง ทว่าภายหลังได้ออกมาตั้งกองกำลังของตนเอง และได้แผ่ขยายขึ้นหลังจากที่ได้บุกยึดเมืองจี๋ชิ่ง (นานกิงในปัจจุบัน) เพื่อใช้เป็นฐานที่ตั้งแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นอิ้งเทียนฝู่ พร้อมทั้งยอมรับคำแนะนำจากนักกลยุทธนามจูเซิงที่ได้ชี้ว่า “ให้สร้างกำแพงเมืองสูง สั่งสมเสบียงอาหาร ชะลอการตั้งตนเป็นอ๋อง” บวกกับได้รับการสนับสนุนจากมหาเศรษฐีเสิ่นวั่นซันทำให้กองทัพนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
จูหยวนจางเองแม้สร้างผลงานมากมาย แต่ในระยะแรกก็ยึดมั่นในคำแนะนำดังกล่าว พยายามสนับสนุนให้ชาวเมืองเพิ่มพูนผลผลิต และตั้งตนเองเป็นเพียงอู๋กั๋วกง (เจ้าพระยา) อีกทั้งเชิญตัวเสี่ยวหมิงหวังที่กองทัพโพกผ้าแดงตั้งเป็นกษัตริย์มาอยู่ด้วย ทำให้ชาวฮั่นทั้งหลายเชื่อถือในความชอบธรรมของกองทัพนี้มากกว่ากองกำลังอื่นๆ จนสุดท้ายสามารถเอาชนะกองกำลังขุนศึกอื่นๆอย่างสีว์โซ่วฮุย เฉินโหย่วเลี่ยง และจางซื่อเฉิงไปได้

เมื่อวันขึ้นสี่ค่ำ เดือนอ้าย ปี1368 (ตรงกับวันที่ 23 มกราคม) ทั่วทั้งแดนใต้ก็อยู่ในอำนาจของจูหยวนจางทั้งหมด จูหยวนจางจึงได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ราชวงศ์หมิง (明朝)ขึ้นที่อิ้งเทียนฝู่ โดยตั้งชื่อรัชกาลว่าหงอู่ ตั้งเมืองอิ้งเทียนเป็นเมืองหลวงทางใต้ และตั้งไคเฟิงเป็นเมืองหลวงทางเหนือ

ที่มาของชื่อราชวงศ์นั้น มีตำนานเล่าขานกันว่ามาจากการที่ในอดีตจูหยวนจางเคยเป็นสาวกลัทธิแสงสว่าง (หมิงเจี้ยว) เมื่อขึ้นเป็นฮ่องเต้จึงได้ใช้คำว่า “หมิง” มาเป็นชื่อราชวงศ์ จนกระทั่งถึงเดือน 7 ในปีเดียวกัน จูหยวนจางได้ส่งแม่ทัพใหญ่สีว์ต๋าบุกถึงต้าตู อันเป็นราชธานีของราชวงศ์หยวน จนกระทั่งหยวนซุ่นตี้ต้องลี้ภัยขึ้นไปทางเหนือจึงถือว่าเป็นกาลอวสานของราชวงศ์หยวนอันเกรียงไกร

ราชวงศ์หยวนเป็นราชวงศ์ที่สถาปนาขึ้นโดยชนชาติมองโกล มีอายุทั้งสิ้น 97 ปี และมีฮ่องเต้ทั้งหมด 11 พระองค์ (นับจากที่กุบไลข่านสถาปนาราชวงศ์) นับเป็นหนึ่งในราชวงศ์ที่มีอาณาจักรกว้างใหญ่และมีความเข้มแข็งมากราชวงศ์หนึ่ง ทว่าด้วยความแบ่งแยกชนชั้น ความฟุ้งเฟ้อ การขูดรีดและการกดขี่ชาวฮั่นทำให้ต้องล่มสลายเร็วกว่าที่ควร ซึ่งความผิดพลาดในครั้งนี้ ได้กลายมาเป็นอุทาหรณ์ให้กับชนชั้นปกครองของราชวงศ์ชิงในยุคต่อมา

อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์หยวนจัดว่าเป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองในระดับหนึ่ง อีกทั้งเป็นช่วงเวลาที่ได้กำหนดอาณาเขตการปกครองของแผ่นดินจีนในภายหลังขึ้น เนื่องจากตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวนจนถึงช่วงกลางหลังของราชวงศ์ชิง อาณาเขตของแผ่นดินจีนนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก

5/28/2552

งักฮุย

尽忠报国- รู้รักภักดี พลีชีพเพื่อชาติ วลีที่กล่าวถึงเมื่อใดย่อมนึกถึงวีรบุรุษนามงักฮุย (岳飞)

ความซื่อสัตย์เป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะในวัฒนธรรมของโลกตะวันออกที่ 'ความซื่อสัตย์' เกาะเกี่ยวอยู่กับ 'ความกตัญญู' และแฝงอยู่ในคำสอนของศาสนาและลัทธิปรัชญาของชาวตะวันออกมาโดยตลอด

สำหรับสังคมจีนที่ช่วงเวลาสองพันกว่าปีที่ผ่านมาได้รับอิทธิพลจากคำสอนของ ยอดปราชญ์'ขงจื๊อ (ขงจื่อ:孔子)' อย่างหยั่งรากฝังลึกนั้น ขงจื๊อบอกว่าหัวใจของการเป็นมนุษย์ในสายตาของท่านก็ คือ เหริน หรือ เหยิน (仁)

คำๆ นี้มีผู้รู้หลายท่านแปลความหมายเป็นไทยไว้ว่า เมตตาธรรม มนุสสธรรม มนุษยธรรม เป็นต้น แต่ด้วยข้อจำกัดทางภาษาและอิทธิพลจากศาสนาพุทธ ทำให้ความเข้าใจในความหมายแท้จริงของคำๆ นี้ค่อนข้างจะคลาดเคลื่อน แต่ทั้งนี้หากจะอธิบายถึง "เหริน" ก็อาจระบุความได้อย่างกว้างๆ ว่า คือ คุณธรรมและความดีงามที่พึงกระทำระหว่างบุคคลต่อบุคคล

ทั้งนี้ใน 'เหริน' หรือคุณธรรมขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ขงจื๊อกล่าวถึงนี้มีส่วนประกอบสำคัญประการหนึ่งที่มิอาจละเลยได้ก็คือ ความซื่อสัตย์ หรือ ซิ่น (信)

ประวัติศาสตร์จีนตลอดช่วงเวลานับร้อยนับพันปีที่ผ่านมา ในระบบสังคมที่การปลูกฝังทางความคิดระบุว่าความซื่อสัตย์ถูกเน้นย้ำไปที่ "ความภักดีต่อสังคมโดยรวม" หรือที่ปัจจุบันเราให้คำจำกัดความกันในกรอบใหญ่ว่า "ความรักชาติ" นั้น หากเราจะเอ่ยถึงวีรบุรุษผู้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์และรักชาติแล้ว ก็มิอาจละเลยที่จะกล่าวถึงคนสองคน

หนึ่งนาม กวนอู อีกหนึ่งนาม งักฮุย .............................



เวลาแดดร่มลมตกต้นเดือนพฤษภาคม ผมก้าวลงจากรถประจำทาง ณ ป้าย 'ศาลเจ้ากวนอู' ห่างจากตัวเมืองลั่วหยางมาทางทิศใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร

สำหรับประวัติและเรื่องราวกวนอู (关羽) หรือในภาษาจีนกลางอ่านว่า กวนอี่ว์ นั้น เนื่องจากเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนไทยอยู่แล้วตามกระแสความนิยมในเรื่อง สามก๊กที่ดำเนินมายาวนานตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ดังนั้นผมจึงขอเล่าเรื่อง งักฮุย วีรบุรุษผู้รักชาติของชาวจีนให้ฟังกันเสียก่อน ไว้ในตอนหน้าผมจะค่อยกล่าวถึงกวนอูอย่างคร่าวๆ แล้วก็นำท่านผู้อ่านเที่ยวชมศาลกวนอูไปพร้อมๆ กัน งักฮุย* หรือชื่อเรียกในภาษาจีนกลางคือ เย่ว์เฟย (岳飞; ค.ศ.1103-1142) เกิดในยุคปลายของราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ.960-1127) ที่มณฑลเหอหนาน เมื่อครั้งยังเล็ก ณ บ้านเกิดของเขาเกิดอุทกภัยใหญ่จากการแตกของเขื่อนกั้นแม่น้ำเหลือง (黄河) มารดาของงักฮุยต้องอุ้มบุตรชายไว้ในอ้อมกอด อาศัยซุกตัวอยู่ในโอ่งลอยตามน้ำไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาชีวิตให้รอด

เมื่อล่วงเข้าสู่วัยหนุ่ม ในภาวะที่ประเทศกำลังตกอยู่ในวิกฤตเนื่องจากฮ่องเต้สองพระองค์ของราชวงศ์ซ่งเหนือ คือ ซ่งฮุยจง (宋微宗) และซ่งชินจง (宋钦宗) ถูกพวกจิน (金; ค.ศ.1115-1234) จับตัวไปเป็นเชลยศึก จนในที่สุดนำมาสู่จุดจบของราชวงศ์ซ่งเหนือ งักฮุยเมื่อพบเห็นกับเหตุการณ์เช่นนี้จึงตั้งปณิธานกับตัวเองไว้ว่าจะต้องกอบกู้ดินแดนที่สูญเสียและชาติกลับคืนมาให้ได้

ความตั้งใจนี้เมื่อประกอบกับการสนับสนุนมารดา เขาจึงสมัครเข้าเป็นทหารรับใช้ให้กับราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋; ค.ศ.1127-1279) ที่ขณะนั้นองค์ฮ่องเต้คือ ซ่งเกาจง (宋高宗) ได้ย้ายเมืองหลวงหนีมาทางใต้ จากเปี้ยนเหลียง (汴梁; ปัจจุบันคือเมืองไคเฟิง) มาอยู่ที่หลินอัน (临安; ปัจจุบันคือเมืองหางโจว)

โดยก่อนที่งักฮุยจะออกจากบ้านไปรับใช้ชาติ มารดาได้สลักอักษรจีน 4 ตัวไว้ที่กลางแผ่นหลังของบุตรชาย ความว่า

尽忠报国 จิ้นจงเป้ากั๋ว รู้รักภักดี พลีชีพเพื่อชาติ


เมื่อเข้ารับราชการทหาร งักฮุยที่พกความมุ่งมั่นไว้เต็มเปี่ยมก็แสดงความกล้าหาญและสามารถรบชนะสังหารข้าศึกไปเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งผลงานไปเข้าตาแม่ทัพนาม จงเจ๋อ (宗泽) ต่อมาแม่ทัพจงเจ๋อก็ถ่ายทอดวิชาความรู้ในการทำศึกสงครามนานาประการให้กับงักฮุยโดยหมดสิ้น โดยหวังว่างักฮุยจะเป็นกำลังสำคัญในการกู้ชาติต่อไป

หลังจากที่แม่ทัพจงเจ๋อเสียชีวิต งักฮุยก็ได้เป็นผู้สืบทอดในตำแหน่งแม่ทัพต่อตามคาด และสร้างผลงานจนได้ดำรงแม่ทัพใหญ่ในตำแหน่งเจี๋ยตู้สื่อ (节度使) เมื่ออายุเพียง 32 ปีเท่านั้น แต่ทั้งนี้งักฮุยก็มิได้แสดงอาการยโสโอหังต่อตำแหน่งใหญ่ของตัวเองแต่อย่างใด สังเกตได้จากที่ครั้งหนึ่งฮ่องเต้เคยออกปากว่าจะสร้างจวนหลังใหม่ให้ งักฮุยกลับตอบปฏิเสธโดยกล่าวกับฮ่องเต้ไปว่า

"ในเมื่อยังกวาดล้างศัตรูได้ไม่สิ้นซาก กระหม่อมจะมีมาคำนึงถึงเรื่องบ้านของตัวเองได้อย่างไร?"

เมื่อก้าวขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่ ชื่อเสียงของงักฮุยก็ยิ่งขจรขจาย โดยเฉพาะในแง่ของความเข้มงวดและระเบียบวินัยของกองทัพ มีอยู่ครั้งหนึ่งขณะที่ฝึกซ้อมการรบอยู่นั้น เมื่อบุตรชาย (เย่ว์หยุน:岳云) ของงักฮุยบังคับม้าศึกควบขึ้นเนินลาดแล้วเกิดบังคับม้าไม่อยู่จนทั้งคนทั้งม้าเสียหลักล้มลง ด้านงักฮุยเมื่อทราบดังนั้นก็มิได้แสดงความอาทรต่อบุตรของตัวเองเหนือกว่าพลทหารนายอื่นแต่อย่างใด ออกคำสั่งให้ดำเนินการลงโทษบุตรชายของตนไปตามกฎระเบียบ

มากกว่านั้น สิ่งที่ทำให้กองทัพของงักฮุยครองใจชาวบ้านมากไปกว่านั้นก็คือ "ความซื่อสัตย์" และ "ซื่อตรง"

เมื่อพบว่าพลทหารขอเชือกปอจากชาวบ้านหนึ่งเส้นเพื่อนำมามัดไม้ฟืน งักฮุยก็สั่งให้ลงโทษพลทหารผู้นั้นไปตามระเบียบ ขณะที่เมื่อกองทัพของงักฮุยผ่านไปยังหมู่บ้านใดก็จะตั้งค่ายนอนกันริมทาง แม้ชาวบ้านเชิญให้เหล่าทหารเข้าไปพักผ่อนในบ้านอย่างไรก็ไม่ยินยอม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่เลื่องลือกันไปทั่วว่าในกองทัพของงักฮุยมีคำขวัญที่ได้รับการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดประการหนึ่ง คือ

"แม้ต้องหนาวตายก็ไม่ขอเบียดเบียนบ้านชาวประชา แม้ต้องอดตายก็จะไม่ปฏิบัติตัวเยี่ยงโจร-ขโมย"



ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างงักฮุยกับเหล่าทหารในกองทัพก็เป็นไปด้วยความแนบแน่นยิ่ง โดยเมื่อมีพลทหารคนใดป่วยงักฮุยก็จะไปเยี่ยมด้วยตัวเอง พร้อมส่งคนไปให้การดูแลครอบครัวของพลทหารผู้นั้น ขณะที่หากเบื้องบนตบรางวัลอะไรให้มา งักฮุยก็จะจัดสรรแบ่งปันให้พลทหารของตนอย่างเท่าเทียมโดยที่ไม่คำนึงว่าจะเหลือตกถึงตนเองหรือไม่

ด้วยเหตุฉะนี้ กองทัพของงักฮุยจึงมีความแข็งแกร่งอย่างยิ่ง และเมื่อประกอบกับความรู้ความสามารถในด้านสงครามของงักฮุยแล้วก็ทำให้ในการรับทุกครั้งกับชนเผ่าจินนั้น กองทัพงักฮุยได้รับชัยชนะอยู่เสมอๆ จนพวกจินนั้นเกิดความเกรงกลัวอย่างมาก จนกระทั่งมีคำกล่าวกันว่า "โยกภูเขานั้นง่าย คลอนทัพงักฮุยนั้นยากยิ่ง"

ทัพงักฮุยประสบชัยชนะกรีฑาทัพขึ้นภาคเหนือเพื่อยึดดินแดนคืนได้มากมาย บุกจนกระทั่งตั้งทัพอยู่ห่างจากเมืองหลวงเดิมเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น**

เมื่อเห็นสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ฉินฮุ่ย (秦桧) ขุนนางกังฉิน (ว่ากันว่าฉินฮุ่ยและภรรยาแซ่หวังเคยถูกกองทัพของจินจับตัวเป็นเชลยศึก แต่สุดท้ายก็ถูกปล่อยตัวกลับมายังซ่งโดยให้สัญญาว่าจะเป็นสายลับให้กับทางจิน***) ผู้ซึ่งเชลียร์ฮ่องเต้ซ่งเกาจงจนได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงกราบทูลต่อองค์ฮ่องเต้ว่าทัพของงักฮุยนั้นเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาสงบศึกกับเผ่าจิน

ด้านฮ่องเต้ซ่งเกาจงก็เชื่อในคำของฉินฮุ่ย และออกโองการบัญชาให้งักฮุยถอนทัพกลับมายังเมืองหลวง ทางฝั่งงักฮุยแม้จะทักท้วงและออกอาการดื้อดึงเช่นไรก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งพระบัญชาของฮ่องเต้ส่งมาเป็นฉบับที่ 12 งักฮุยจึงถอดใจ พร้อมกับทอดถอนใจรำพึงกับตัวเองด้วยความช้ำใจอย่างสุดแสนว่า ความพากเพียร 10 ปีของตนกลับต้องกลายเป็นเพียงเถ้าธุลีในพริบตา

เมื่องักฮุยปฏิบัติตามพระบัญชาถอนทัพกลับมายังเมืองหลวง ฉินฮุ่ยก็ใส่ร้ายว่างักฮุยนั้นมักใหญ่ใฝ่สูง คิดการณ์ใหญ่จะก่อกบฎล้มล้างราชสำนัก งักฮุยได้ฟังดังนั้นก็ไม่โต้ตอบอะไรด้วยคำกล่าวอะไร เพียงแต่คลายชุดท่อนบนของตนออก เผยให้ฉินฮุ่ยเห็นถึงคำว่า '尽忠报国' อักษรสี่ตัวที่มารดาสลักไว้ด้านหลัง ขุนนางกังฉินเมื่อเห็นดังนั้นก็ชะงัก เอ่ยปากอะไรไม่ออกแม้แต่คำเดียว

ศาลเจ้างักฮุย (岳王庙) ริมทะเลสาบซีหู

อย่างไรก็ตาม ฉินฮุ่ยก็ยังไม่ยอมลดละความพยายามในการป้ายสีงักฮุยต่างๆ นานา แม้จะตรวจไม่พบความผิดใดๆ ก็ตาม แต่ในที่สุดฉินฮุ่ยก็ปั้นเรื่องจนทำให้งักฮุยต้องถูกโทษประหารจนได้ โดยเมื่อมีขุนนางฝ่ายงักฮุยคนอื่นๆ ทักท้วง และตั้งคำถามฉินฮุ่ยว่ามีหลักฐานในการกล่าวโทษงักฮุยหรือไม่ ฉินฮุ่ยก็ตอบว่า "อาจจะมีก็ได้ (莫须有)" คำตอบของฉินฮุ่ยที่ว่า "อาจจะมีก็ได้" นี้ ภายหลังกลายเป็นศัพท์ที่ถูกจารึกไว้ต่อๆ มาว่ามีความหมาย คือการให้ร้ายผู้อื่นโดยปราศจากหลักฐาน

ทั้งนี้ในวันที่งักฮุยถูกประหารชีวิต ก็มีพลเมืองดีที่รู้เรื่องราวและเคารพรักในตัวงักฮุยนำศพของเขามาทำพิธีฝังศพ โดยเวลาต่อมาได้มีการเคลื่อนย้ายหลุมฝังศพของงักฮุยมาตั้งไว้ริมทะเลสาบซีหู ณ เมืองหางโจว

อย่างไรก็ตาม เมื่อแผนการขายชาติ 'นายกรัฐมนตรีกังฉิน' ถูกเล่ากันจากปากต่อปากราษฎรไปจนทั่วเมืองหลวง เพื่อระบายความแค้นใจที่มีต่อฉินฮุ่ย ภรรยาและพรรคพวกที่ให้ร้ายงักฮุย ขุนศึกผู้รักชาติจนเสียชีวิต ราษฎรจึงนำแป้งสองชิ้นมาบีบติดกันแล้วทอดรับประทานเพื่อระบายความแค้น โดยเปรียบเอาว่าแป้งชิ้นหนึ่งคือฉินฮุ่ย ส่วนอีกชิ้นหนึ่งก็คือ ภรรยาแซ่หวัง

แป้งทอดที่ว่าก็คือ ปาท่องโก๋**** หรือที่ชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมเรียกกันว่า 'อิ่วจาก้วย' ส่วนในภาษาจีนกลางนั้นเขาอ่านว่า โหยวจ๋าฮุ่ย (油炸桧) แปลว่า น้ำมันทอดฉินฮุ่ย ซึ่งก็เป็นการนำชื่อของ ฉินฮุ่ย ขุนนางกังฉินผู้ขายชาติมาตั้งเป็นชื่ออาหาร เพื่อถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังจดจำถึงผู้ทรยศต่อประเทศชาติ (ส่วนทางประเทศจีนภาคเหนือเขารับประทานปาท่องโก๋กันเป็นชิ้นใหญ่ยาว เรียกว่า โหยวเถียว (油条)) สำหรับหลุมศพของงักฮุย วีรบุรุษผู้รักชาติ ปัจจุบันก็ยังตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออก ริมทะเลสาบตะวันตก (西湖) ณ เมืองหางโจว โดยคนในรุ่นต่อๆ มาได้มีการปรับปรุงยกระดับให้มีฐานะเป็นศาลเจ้า ซึ่งก็เปรียบเสมือนว่ายกย่องให้งักฮุยกลายเป็นเทพแห่งความซื่อสัตย์องค์หนึ่งนั่นเอง

ณ วันนี้หากมีโอกาสได้เข้าไปเยือนศาลเจ้างักฮุยริมทะเลสาบซีหู ติดกับโรงแรมแชงกรีลา ก็จะพบกับรูปปั้นสูงตระหง่านของงักฮุย โดยด้านบนรูปปั้นเป็นลายมือของงักฮุยตวัดพู่กันอย่างมีพลังเป็นตัวอักษร 4 ตัวอ่านว่า


"เอาแผ่นดินของข้าคืนมา (还我河山)"

ขณะที่รูปปั้นของงักฮุย แสดงความองอาจ น่าเกรงขาม และเป็นที่ชื่นชมของบุคคลที่มาเยี่ยมเยือน ข้างหน้าหลุมศพของงักฮุยในเวลาต่อมาประชาชนก็ได้หล่อรูปโลหะขึ้นมา 4 รูป ประกอบไปด้วย คนขายชาติทั้ง 4 คือ ฉินฮุ่ย ภรรยาแซ่หวัง ม่อฉีเซี่ย (万俟卨) และ จางจุ้น (张俊) นั่งคุกเข่าเอามือไพล่หลังอยู่หน้าหลุมศพ ไว้เป็นอุทาหรณ์แก่คนรุ่นหลัง

ว่ากันว่าเมื่อรูปหล่อของคนขายชาติทั้ง 4 สร้างเสร็จ ผู้คนที่มาเยือนศาลเจ้างักฮุยต่างก็นิยมถ่มน้ำลาย แสดงความเหยียดหยามต่อบุคคลทั้งสี่อยู่ แม้ปัจจุบันจะมีการสร้างรั้วกั้นไว้แล้วก็ตาม

เมื่อเทียบกับราชวงศ์อื่นๆ ในประวัติศาสตร์จีนแล้ว 'ราชวงศ์ซ่ง' นับเป็นยุคสมัยที่ประเทศจีนอันปกครองด้วยชาวฮั่นที่อ่อนแอที่สุดยุคหนึ่ง จนในเวลาต่อมาประเทศจีนก็ถูกยึดครองโดยชนกลุ่มน้อย คือชาวมองโกล

...... มิอาจปฏิเสธได้เลยว่าการขาดหายไปของวีรบุรุษกู้ชาติเช่นงักฮุย และการเรืองอำนาจของ สามี-ภรรยาปาท่องโก๋ ฉินฮุ่ย-ภรรยาแซ่หวัง ถือเป็นจุดหักเหหนึ่งที่นำพาชาติไปสู่เส้นทางแห่งความอ่อนแอ และเสื่อมสลายในที่สุด

หมายเหตุ : *ในที่นี้สำหรับชื่อ 岳飞 ผมจะอ่านว่า 'งักฮุย' แทนชื่อเรียกในภาษาจีนกลาง 'เย่ว์เฟย' ด้วยเหตุผล หนึ่ง ความคุ้นเคยของคนไทย และ สอง ความลื่นไหลในการอ่านบทความโดยมิให้เกิดความสับสน **ข้อมูลจากหนังสือ 世界文化史故事大系•中国卷 โดย จูอี้เฟย และ หลี่รุ่นซิน (朱一飞,李润新) สำนักพิมพ์ 上海外语教育出版社 หน้า 325-328 ***อ้างอิงจากบรรยายวิชาประวัติศาสตร์จีนโบราณ ภาคการศึกษาฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ.2005 โดย ดร.หวงจิ้ง (黄静) มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง ****เรื่องปาท่องโก๋ โดย สุขสันต์ วิเวกเมธากร จาก คอลัมน์โต๊ะจีนในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2546

ซ่งใต้ (ค.ศ. 1127 – 1279)


ราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋) ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าโก้ว (赵构) ชาวฮั่นซึ่งเป็นทายาทของตระกูลเจ้า ที่สืบทอดมาจากราชวงศ์ซ่งเหนือ ก่อตั้งราชธานีขึ้นในบริเวณดินแดนแถบเจียงหนาน (พื้นที่ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง) เรียกว่าเมืองหลินอัน (临安; ปัจจุบันคือเมืองหางโจว ในมณฑลเจ้อเจียง) โดยเจ้าโก้วนั้นสถาปนาตนขึ้นเป็น ซ่งเกาจง (宋高宗) ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซ่งใต้ กระนั้นตลอดระยะเวลา 153 ปีของราชวงศ์ซ่งใต้ รวมฮ่องเต้ 9 พระองค์ ราชวงศ์นี้กลับตกอยู่ภายใต้การคุกคามของอาณาจักรจิน (คนไทยมักเรียกว่า “กิม”) โดยตลอด จนกระทั่งพบจุดจบภายใต้เงื้อมมือของชนเผ่ามองโกล

ความขัดแย้งภายในและความอ่อนแอของราชวงศ์ซ่งใต้อันเป็นมรดกตกทอดมาจากราชวงศ์ซ่งเหนือ ทำให้ตลอดเวลา 150 กว่าปีของราชวงศ์ซ่งใต้ ชาวฮั่นไม่มีโอกาสที่จะกลับไปยึดครองดินแดนทางภาคเหนือคืนได้อีกเลย โดยพรมแดนทางตอนเหนือสุดของราชวงศ์ซ่งใต้ที่ติดกับเขตแดนของอาณาจักรจินนั้นก็คือ เส้นลากจากแม่น้ำเว่ยสุ่ย (淮水) ผ่านสองเขต ถัง (唐; ปัจจุบันคือถังเหอ มณฑลเหอหนาน) และ เติ้ง (ปัจจุบันคือตำบลเติ้งตะวันออก ในมณฑลเหอหนาน) ไปสิ้นสุดที่ด่านฉินหลิงต้าซ่าน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในบริเวณมณฑลส่านซี ขณะที่พรมแดนทางด้านอื่นๆ นั้นยังคงเดิมเหมือนกับราชวงศ์ซ่งเหนือ

หลังจากกองทัพจินบุกเข้าเมืองไคเฟิงกวาดต้อน ซ่งฮุยจงและซ่งชินจง สองฮ่องเต้แห่งซ่งเหนือ รวมถึงเชื้อพระวงศ์ ไปเป็นเชลย อีกทั้งปล้นสะดมทรัพย์สินในท้องพระคลังไปจนหมดสิ้นจนกระทั่งราชวงศ์ซ่งเหนือล่มสลาย ในเดือนสองปี ค.ศ.1127 เนื่องด้วยปีดังกล่าวนั้นเป็นปีแรกของศักราชจิ้งคัง (靖康元年) ทำให้นักประวัติศาสตร์จีนเรียกเหตุการณ์การจับสองฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือไปเป็นเชลยว่าเป็น เหตุการณ์ปีจิ้งคัง หรือ ทุกขภัยสมัยจิ้งคัง (靖康之变)

ต่อมาในเดือนห้าของปีเดียวกัน เชื้อพระวงศ์และแม่ทัพของกองทัพราชวงศ์ซ่งเหนือที่ล่มสลายนามเจ้าโก้ว ได้อาศัยช่วงเวลาที่กองทัพจินถอนทัพตั้งราชวงศ์ซ่งขึ้นใหม่ที่เมือนหนานจิง (ปัจจุบันคือเมืองซังชิว มณฑลเหอหนาน) และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ซ่งเกาจง ในปีถัดมา (ค.ศ.1128) ซ่งเกาจงได้ย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองหลินอัน (เมืองหางโจวในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง และเป็นเมืองที่มีภูมิชัยค่อนข้างดีในการตั้งรับการรุกรานจากอาณาจักรจิน

ทั้งนี้นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังได้เรียกขานราชวงศ์ที่ตั้งขึ้นใหม่ ณ ดินแดนเจียงหนานนี้ว่า “ราชวงศ์ซ่งใต้”

หลังยึดดินแดนในแถบเจียงหนานเป็นฐานที่มั่นได้ ฮ่องเต้ซ่งเกาจง ได้แต่งตั้งหลี่กัง (李纲)ขึ้นมาดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี และจงเจ๋อ (宗泽) ขุนนางที่ภักดีต่อราชวงศ์ซ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งเสนาบดี ทั้งยังดำเนินยุทธวิธีทางการทหารหลายประการ เพื่อปกป้องตนเองจากการรุกรานของชนเผ่าจินอย่างแข็งขัน ด้วยการกุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญในพื้นที่ต่างๆ, พัฒนายุทโธปกรณ์ทางการทหารให้มีความทันสมัยขึ้น, ปฏิรูประบบการทหารเพิ่มความเข้มแข็งให้กับกองทัพ ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จพอสมควร อย่างไรก็ตามเนื่องจากฮ่องเต้ราชวงศ์ซ่งใต้มีบัญชาให้ดำเนินนโยบายสันติและปกป้องดินแดนเป็นหลัก ทั้งยังมีแนวนโยบายพื้นฐานให้ขุนนางฝ่ายบุ๋นเป็นฝ่ายควบคุมขุนนางฝ่ายบู๊ ยกการเมืองเหนือการทหาร ส่งผลให้การขยายดินแดน การยึดครองดินแดนที่เสียไปในราชวงศ์ซ่งเหนือไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ และก็ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้หลี่กังซึ่งสนับสนุนให้มีการดำเนินนโยบายยึดดินแดนที่เสียไปกลับคืนมาดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีได้เพียง 75 วันก็ถูกปลด ขณะที่เสนาบดีจงเจ๋อถึงกับตรอมใจตาย

ในประเด็นดังกล่าวนี้ นักประวัติศาสตร์จีนได้มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ฮ่องเต้ซ่งเกาจงไม่ต้องการให้กองทัพของพระองค์บุกขึ้นเหนือไปยึดดินแดนคืนจากพวกจินก็เพราะว่า หนึ่งพระองค์เกรงกลัวต่อกองทัพจิน และสองพระองค์เกรงกลัวว่าหากสามารถปราบพวกจินได้ฮ่องเต้สองพระองค์ที่ถูกจับเป็นเชลยไปคือ ซ่งฮุยจงและซ่งชินจงจะกลับมาแย่งบัลลังก์จากพระองค์ไป ... ด้วยความขัดแย้งอันนี้นี่เองที่ทำให้ภายในราชสำนักซ่งใต้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างขุนนางฝ่ายเหยี่ยวและขุนนางฝ่ายพิราบโดยตลอด

ในปี ค.ศ.1128 กองทัพจินได้ทียกทัพลงมารุกรานดินแดนทางตอนใต้อีกครั้ง โดยสามารถบุกตีเมืองสำคัญๆ ได้หลายแห่ง คือ เปี้ยนจิง (汴京), สีว์โจว (徐州), หยางโจว (扬州) เป็นต้น ต่อมาในฤดูหนาวปีเดียวกันแม่ทัพของจินนามอูจู๋ (兀术) ได้ยกทัพใหญ่บุกเมืองเจี้ยนคัง (建康) และ หางโจว เมื่อฮ่องเต้ซ่งเกาจงเห็นสถานการณ์กำลังตกอยู่ในภาวะคับขันพระองค์จึงหลบหนีไปยังเมืองติ้งไห่ (定海; ปัจจุบันคือเมืองเจิ้นไห่ มณฑลเจ้อเจียง) และเวินโจว ในเวลาเดียวกันเนื่องจากระหว่างการยกทัพมารุกรานชาวฮั่น ทหารจินได้ทำการฆ่าฟันชาวฮั่นด้วยความโหดเหี้ยม ทำให้ในหลายๆ พื้นที่ชาวบ้านมีความโกรธแค้นทหารจินเป็นอย่างมาก จนกระแสการต่อต้านกองทัพจินในหลายพื้นที่นั้นพุ่งขึ้นสูง

ในภาวะวิกฤตของชาติเช่นนี้นี่เอง ทำให้ในกองทัพของราชวงศ์ซ่งใต้ก่อกำเนิดขุนศึกเลื่องชื่อเกิดขึ้นหลายคน โดยหนึ่งในขุนศึกที่ชนรุ่นหลังรู้จักกันดีที่สุดก็คือ งักฮุย

งักฮุย หรือ เย่ว์เฟย (岳飞; ค.ศ.1103-1142) เกิดในครอบครัวชาวนาในมณฑลเหอหนาน ค.ศ.1125 ขณะที่งักฮุยอายุได้ 22 ปี เมื่อกองทัพจินบุกลงใต้ เขาได้ร่วมกับกองทัพในการปกป้องเมืองไคเฟิง ด้วยความเก่งกาจในการรบของงักฮุยทำให้เขาได้รับชัยชนะในการต่อสู้กับกองทัพจินโดยตลอด ในเวลาต่อมาเมื่อได้เลื่อนขึ้นเป็นแม่ทัพ งักฮุยได้ฝึกฝนกองทัพอันเข้มแข็งของตัวเองขึ้นในในนาม “กองทัพงักฮุย (岳家军)” ความเข้มแข็งและชัยชนะอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทหารจินนั้นครั่นคร้ามต่อกองทัพงักฮุยเป็นอย่างยิ่ง จนมีคำร่ำลือกันในหมู่ทหารจินว่า “โยกภูเขานั้นง่าย คลอนทัพงักฮุยนั้นยากยิ่ง”

ในปี ค.ศ.1140 ภายในอาณาจักจินเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยแม่ทัพสายเหยี่ยวอย่างอูจู๋ขึ้นมามีอิทธิพลในราชสำนักจิน ส่งผลให้ในเวลาต่อมากองทัพจินยกทัพลงมารุกรานอาณาจักรซ่งใต้อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีการแบ่งการเดินทัพออกเป็นหลายสาย อย่างไรก็ตามด้วยการต่อต้านอันเข้มแข็งของประชาชนและทหารซ่งทำให้สามารถยันกองทัพจินเอาไว้ได้ นอกจากนี้ด้วยความกล้าหาญและสามารถของแม่ทัพแห่งราชวงศ์ซ่งหลายต่อหลายนายอย่างเช่น หานซื่อจง (韩世忠), จางจุ้น (张俊) รวมไปถึงงักฮุย ทำให้นอกจากจะสามารถป้องกันอาณาเขตไว้ได้แล้ว กองทัพซ่งยังสามารถรุกเอาดินแดนคืนได้อีกมากมายด้วย โดยกองทัพของงักฮุยสามารถยึดเอาไช่โจว (蔡州; ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนาน) อิ่งชาง (颍昌; ปัจจุบันอยู่ในเหอหนาน) เจิ้งโจว และลั่วหยาง คืนมาจากจินได้ โดยในเวลาต่อมากองทหารม้าของงักฮุยยังสามารถรักษาเหยี่ยนเฉิง (郾城; ปัจจุบันอยู่ในเหอหนาน) และตีกองทัพทหารม้าอันเข้มแข็งของอูจู๋เสียกระเจิงอีกด้วย โดยชัยชนะครั้งนั้นในหน้าประวัติศาสตร์จีนบันทึกเอาไว้ว่าคือ “ชัยชนะที่เหยี่ยนเฉิง (郾城大捷)”

ณ เวลานั้นแม้ว่าสถานการณ์จะเป็นใจอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูประเทศของราชวงศ์ซ่งใต้ แต่ฮ่องเต้ซ่งเกาจงที่ได้รับคำแนะนำจากนายกรัฐมนตรีนามฉินฮุ่ย (秦桧) กลับมีแนวนโยบายในการเจรจาสงบศึกกับอาณาจักรจิน โดยมองว่างักฮุยนั้นคืออุปสรรคของการเจรจา ทำให้มีการส่งป้ายทองอาญาสิทธิ์ 12 ป้ายภายในวันเดียวเรียกให้งักฮุยถอนทัพกลับมาทางใต้ แม้งักฮุยจะพยายามฝืนคำสั่งของราชสำนักเช่นไรแต่สุดท้ายก็ทัดทานไว้ไม่ไหวต้องยกทัพกลับเมืองหลวง ปล่อยให้กองทัพจินยึดดินแดนคืนกลับไป

หลังงักฮุยถอนทัพกลับมายังเมืองหลวง ฉินฮุ่ยก็ใส่ร้ายว่างักฮุยนั้นมักใหญ่ใฝ่สูง คิดการใหญ่จะก่อกบฏล้มล้างราชสำนักจนถูกส่งเข้าคุก ในเวลาเดียวกันราชสำนักซ่งก็บรรลุข้อตกลงในสัญญาสงบศึกกับอาณาจักรจิน สัญญาสงบศึกดังกล่าวลงนามกันในปี ค.ศ.1411 อันเป็นปีที่ 11 ของศักราชเส้าซิงทำให้ได้ชื่อว่าเป็น “สัญญาสงบศึกเส้าซิง” สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่ซ่งใต้เสียเปรียบจินเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องซ่งใต้ต้องยอมลดตัวเป็น ‘บ่าว’ ยกย่องจินไว้เป็น ‘นาย’ ทุกปีซ่งต้องส่งของบรรณาการไปจิ้มก้องให้กับจินเป็นเงิน 250,000 ตำลึงกับผ้าไหมจำนวน 250,000 พับ ทั้งต้องยอมยกดินแดนถังโจว (唐州) เติ้งโจว (邓州) ทั้งหมดรวมไปถึงพื้นที่ครึ่งหนึ่งของ ซังโจว (商州) และฉินโจว (秦州) ให้กับจินด้วย ทั้งนี้ภายหลังการเซ็นสัญญาสงบศึกดังกล่าวได้ไม่นานงักฮุยก็ต้องโทษ “อาจจะมีก็ได้ (莫须有)”* ถึงขั้นประหารชีวิต

ทั้งนี้ในสมัยฮ่องเต้ซ่งใต้องค์ต่อๆ มาก็ยังมีการลงนามในสัญญาสันติภาพอีก 2 ครั้ง โดยมีความเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาเล็กน้อย คือ ในสมัยฮ่องเต้ซ่งเสี้ยวจง (宋孝宗) จินกับซ่งเปลี่ยนสถานะเป็นอากับหลาน โดยทุกๆ ปี ซ่งต้องส่งเงิน 200,000 ตำลึง และผ้าไหมจำนวน 200,000 พับให้กับจิน ขณะที่สัญญาสันติภาพในสมัยฮ่องเต้ซ่งหนิงจง (宋宁宗) อาณาจักรจินมีสถานะเป็นลุงของราชวงศ์ซ่ง ขณะที่ทุกๆ ปีซ่งจะต้องส่งเงิน 300,000 ตำลึง และผ้าไหมจำนวน 300,000 พับให้กับจิน

ผลจากการซื้อสันติภาพดังกล่าว ส่งผลให้ดินแดนทางภาคเหนือทั้งหมดหลุดไปจากความควบคุมของฮ่องเต้ซ่งใต้โดยเด็ดขาด ภายใต้การปกครองของจิน ชีวิตของชาวจีนทางภาคเหนือก็ตกอยู่ภายใต้ความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง โดยชาวฮั่นนั้นต้องตกอยู่ในสภาพของชาวนาเช่าที่ต้องเช่าที่ดินจากชาวจิน ขณะที่ในส่วนของราชวงศ์ซ่งใต้ การสูญเสียดินแดนทางภาคเหนือไปทำให้อาณาเขตการปกครองของซ่งใต้นั้นมีเนื้อที่เพียง 2 ใน 3 ของอาณาจักรซ่งเหนือเท่านั้น

ซ่งใต้กับอิทธิพลของมองโกล

แม้ว่าหลังจากนั้นจะเกิดศึกสามเส้า เพื่อแย่งดินแดนทางภาคเหนือกันอย่างดุเดือดระหว่าง ชนเผ่ามองโกล ซีเซี่ย และจิน แต่ด้วยความอ่อนแอของราชสำนักซ่งใต้ ทำให้ชาวฮั่นไม่สามารถขยับขยายอาณาจักรของตนให้กว้างขวางได้แต่อย่างใด ทั้งนี้เมื่ออาณาจักรมองโกลเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ และกลืนอาณาจักรซีเซี่ยไปรวมกับตน ทัพมองโกลอันเหี้ยมหาญก็หันมาสู้รบกับอาณาจักรจินที่อาจถือว่าเป็นรัฐกันชนที่ป้องกันอาณาจักรซ่งใต้จากการคุกคามของมองโกล

ภายใต้สภาวะสามเส้าดังกล่าว ราชสำนักซ่งกลับหันไปจับมือกับมองโกลเพื่อจัดการกับจิน โดยผลสุดท้ายแม้จะกำจัดอาณาจักรจินได้สำเร็จ แต่ซ่งใต้กลับไม่อาจยึดคืนดินแดนที่เคยเป็นของตนกลับมาได้ ทั้งความร่วมมือกับมองโกลยังแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของกองทัพซ่งใต้ให้เป็นที่ประจักษ์อีกด้วย


หลังจากสิ้นรัฐกันชนอย่างจินลง อาณาจักรมองโกลกับซ่งก็เกิดกรณีพิพาททางพรมแดนอยู่เสมอๆ โดยใน ปี ค.ศ.1278 กองทัพมองโกลยกทัพข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงลงมาประชิดราชธานีหลินอัน ฮ่องเต้ซ่งกงตี้ (宋恭帝) และพระมารดาจึงตัดสินใจยอมจำนนต่อกองทัพมองโกล ขณะที่ขุนนางบางส่วนที่ยังมีจิตใจคิดสู้ก็ถอนทัพลงไปทางใต้ ถอยไปตั้งหลักยังฝูเจี้ยน กวางตุ้งและตั้งราชธานีชั่วคราวขึ้นโดยยกเจ้าซื่อ และ เจ้าปิ่งขึ้นเป็นฮ่องเต้นามซ่งตวนจง (宋端宗) และซ่งม่อจง (宋末帝) ตามลำดับ ขุนนางเหล่านั้นนำโดย เหวินเทียนเสียง (文天祥), ลู่ซิ่วฟู (陆秀夫), จางซื่อเจี๋ย (张世杰) อย่างไรก็ตามในเดือน 12 ของปีเดียวกัน กองทัพของเหวินเทียนเสียงก็ต้องพ่ายให้แก่กองทัพมองโกลอันแข็งแกร่ง โดยเหวินเทียนเสียงถูกจับเป็นเชลย ณ เมืองต้าตูและเสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1282

สำหรับเหวินเทียนเสียงนั้นถือเป็นขุนนางและนักกวีผู้มีชื่อเสียงเลื่องระบืออย่างยิ่งในฐานะผู้ยืดหยัดต่อต้านมองโกล และเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์อย่างยิ่ง โดยบทกวี กั้วหลิงติงหยาง (过零丁洋) ซึ่งในสองวรรคสุดท้ายเขียนเอาไว้ว่า “นับแต่อดีตมามีผู้ใดบ้างที่เคยหนีจากความตายได้ จะเหลือทิ้งไว้ก็แต่เพียงหัวใจอันสัตย์ซื่อนี้ที่ส่องสว่างอยู่ในประวัติศาสตร์ (人生自古谁无死, 留取丹心照汗青。)” เป็นประโยคที่คนจีนทุกคนยังท่องจำได้ขึ้นใจจนกระทั่งปัจจุบัน

ค.ศ.1279 ปีที่สองของรัชสมัยเสียงซิงของซ่งม่อตี้ กองทัพมองโกลยกทัพเข้าตีภูเขาหยาซานโดยคราวนี้ลู่ซิ่วฟูต้องแบกฮ่องเต้หลบหนีและหายสาบสูญไป ขณะที่จางซื่อเจี๋ยนั้นพลีชีพไปในการรบ จากเหตุการณ์นี้เองที่นักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดของราชวงศ์ซ่งใต้


เศรษฐกิจและวัฒนธรรมสมัยซ่งใต้ ในทางการเมืองแม้สมัยซ่งใต้จะถูกจัดว่าเป็นราชวงศ์ที่อ่อนแอที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ กระนั้นความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในสมัยซ่งใต้กลับโดดเด่นสวนกระแสความตกต่ำทางการเมือง ด้วยอิทธิพลทางการค้าที่ การค้าขายภายในประเทศและกับต่างประเทศถือว่าเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ในด้านการเกษตร ด้วยความที่พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่นั้นอยู่ภายในดินแดนของอาณาจักรซ่งใต้ ทำให้ระดับปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรของซ่งใต้นั้นไม่ได้ด้อยกว่าซ่งเหนือเลย นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยี ในการผลิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตอาวุธ การพัฒนาเครื่องมือทางการเกษตรใหม่ๆ การทำเหมืองแร่ หลอมโลหะ ต่อเรือ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเทคโนโลยีและขนาดการผลิตที่เหนือกว่ายุคซ่งเหนือมาก นอกจากนี้แล้วยังมีการพัฒนาการเลี้ยงหม่อนไหม การทอผ้าไหม การทอผ้าฝ้าย การผลิตเครื่องเคลือบดินเผา ซึ่งก็ถือว่ามีความก้าวหน้ามากกว่าเดิมเช่นกัน

มากกว่านั้นหลังจากที่ปี่เซิง (毕升) ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือได้คิดค้นเทคโนโลยีการพิมพ์แบบใหม่ที่สามารถเรียงพิมพ์ได้ (活字印刷) ขึ้นทำให้การพิมพ์หนังสือเป็นจำนวนมากๆ ง่ายขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตกระดาษก้าวหน้าตามขึ้นไปด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้วัฒนธรรมของราชวงศ์ซ่งแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วและเป็นไปในวงกว้างขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด มีนัยยะต่อการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดที่เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งก็คือ “การค้า” หรือ “พาณิชยกรรม” อ้างอิงจากแฟร์แบงค์และไรสชาวร์ สองนักประวัติศาสตร์จีนคนสำคัญของโลกตะวันตกมองว่า สมัยซ่งถือเป็นจุดกำเนิดของ “การปฏิวัติพาณิชยกรรม” ในประเทศ โดยในสมัยซ่งใต้ การค้าภายในประเทศและกับต่างประเทศนั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในส่วนของพ่อค้าจีนเองก็มีการค้าผ่านทางทะเลกับเกาหลี ญี่ปุ่น และดินแดนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังมีการแข่งขันกันทำการค้ากับชาวอาหรับและเปอร์เซียอีกด้วย สำหรับสาเหตสำคัญที่การค้าทางทะเลขยายตัวขึ้นอย่างมากในสมัยซ่งใต้ก็อันเนื่องมาจาก ดินแดนทางภาคเหนือของจีนที่แต่ดั้งเดิมเป็นเส้นทางการค้าทางบกที่เรียกกันว่าเส้นทางสายไหมนั้นตกอยู่ภายใต้การควบคุมของอาณาจักรซีเซี่ยและจิน ทำให้พ่อค้าชาวจีนต้องหันไปใช้เรือขนส่งสินค้าแทน โดยผลที่ตามมาก็คือพ่อค้าทางทะเลเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ส่วนเมืองต่างๆ ตามริมชายฝ่ายทะเลก็เพิ่มความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้การค้าโดยเงินที่ทำจากกระดาษ (ธนบัตร) ก็ถือว่าแพร่หลายอย่างมากในสมัยซ่งนี่เอง ในเชิงวัฒนธรรมในสมัยซ่งใต้นั้นมีปราชญ์ถือกำเนิดขึ้นหลายคนไม่ว่าจะเป็นนักปราชญ์แห่งลัทธิขงจื๊อใหม่ (หรือเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “หลี่เสวีย (理学)” ) อย่างจูซี (朱熹), ลู่จิ่วยวน (陆九渊) รวมไปถึงกวีเอกอย่างลู่โหยว (陆游) เป็นต้น

หมายเหตุ : *โทษ “อาจจะมีก็ได้ (莫须有)” มีที่มาที่ไปคือ เมื่อมีขุนนางทักท้วงถึงการคุมขังงักฮุยอย่างไร้เหตุผล และตั้งคำถามฉินฮุ่ยว่ามีหลักฐานในการกล่าวโทษงักฮุยหรือไม่ ฉินฮุ่ยก็ตอบว่า "อาจจะมีก็ได้ (莫须有)" คำตอบของฉินฮุ่ยที่ว่า "อาจจะมีก็ได้" นี้ ภายหลังกลายเป็นศัพท์ที่ถูกจารึกไว้ต่อๆ มาว่ามีความหมาย คือการให้ร้ายผู้อื่นโดยปราศจากหลักฐาน

อาณาจักรจิน หรือ จินกั๋ว (ค.ศ.1115 – ค.ศ.1234)

ประวัติศาสตร์จีนช่วงราชวงศ์มองโกล(หยวน หรือ ง้วน)กันมาบ้าง ซึ่งสรุปได้ว่าการเรืองอำนาจของมองโกลเริ่มขึ้นจากการบุกเบิกของเจงกีสข่านหรือเตมูจินที่ได้ยึดดินแดนไปทั่วทุกสารทิศทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางและตะวันออกไกล แมนจูเรียซึ่งในขณะนั้นคือ ดินแดนจิน(หรือกิมก๊ก)ซึ่งคือชนเผ่าหนี่เจินดั้งเดิม ได้มีพื้นที่ติดต่อกับมองโกลเลีย จึงถูกคุกคามและยึดครองจากมองโกล ถ้ามองตรงนี้ในรูปแบบที่ว่ามองโกลปกครองพวกกิม(หรือแมนจูในอนาคต)ก็จะสามารถมองอย่างเหมาลวกๆได้ว่า “มองโกลสั่งให้แมนจูล้อม เพื่อมองโกลจะได้บุกจู่โจม” อันพวกจิน(หรือกิม)กับแมนจูนั้นเป็นพวกสืบเชื้อสายจากต้นตระกูลเผ่าเดียวกันคือ หนี่เจิน เพียงแตกต่างกันที่ว่าจินกับแมนจูเป็นเชื้อสายคนละแขนงสาแหรก ประมาณว่าจินยุคแรกกับจินยุคหลังมีลำดับญาติความสัมพันธ์ที่ห่างกันมาก จนจินยุคหลังต้องเปลี่ยนชื่อเรียกตัวเองเป็นชิง(หรือเช็ง)เพื่อลดความขัดแย้งกันภายในสายสาแหรกตระกูลชนเผ่า อาจสรุปจากการแต่งตัวได้ว่าจินยุคแรกห้อยเปียวงๆสองข้างแก้ม แต่มาจินยุคหลังที่เป็นแมนจูจะไว้เปียยาวครึ่งหัว หากจะมองอย่างแง่ดีก็พอจะเหมามองโกลกับแมนจูเป็นพวกเดียวกันพอไหว เพราะตอนราชวงศ์มองโกลนั้นบรรพบุรุษแมนจูต้องอยู่ใต้อำนาจมองโกล
ภาพวาดของคนเผ่าหนี่ว์เจิน
อาณาจักรจินสร้างขึ้นโดยชนเผ่าหนี่ว์เจิน ( บรรพบุรุษของชาวแมนจู) มีหวันเหยียน อากู๋ต่า หรือชื่อที่รู้จักกันว่า ‘จินไท่จู่’ ผู้ครองอาณาจักรคนแรก เริ่มแรกสร้างเมืองหลวงอยู่ที่ฮุ่ยหนิง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอไป๋เฉิง ทางตอนใต้ของเมืองอาเฉิง ในมณฑลเฮยหลงเจียง ) ต่อมาย้ายเมืองหลวงมาที่เมืองเยียนจิง (ชื่อเดิมของปักกิ่ง) และย้ายเมืองหลวงอีกครั้งมาที่ เปี้ยนจิง ( ปัจจุบันคือเมืองไคเฟิงในมณฑลเหอหนัน)
นานมาแล้วบรรพบุรุษของชนเผ่าหนี่ว์เจินอาศัยอยู่อาณาบริเวณเทือกเขาฉางไป๋ซันและลุ่มแม่น้ำเฮยหลงเจียง เรื่องราวของชนเผ่าหนี่ว์เจินยังไม่เคยมีบันทึกในประวัติศาสตร์จนกระทั่งในสมัยห้าราชวงศ์ที่กล่าวว่า เป็นชนเผ่าที่อยู่ในการปกครองของชนเผ่าชี่ตัน แห่งอาณาจักรเหลียว
เดือนกันยายน ปีค.ศ.1114 อากู๋ต่า หัวหน้าเผ่าหนี่ว์เจินนำกำลังเข้าต่อสู้แย่งชิงอำนาจจากพวกชี่ตันที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ที่ซึ่งปัจจุบันคือแม่น้ำลาหลินเหอ เขตชายแดนมณฑลเฮยหลงเจียงติดกับจี๋หลิน หลังชัยชนะเหนือพวกชี่ตันสามารถล้มราชวงศ์เหลียวได้แล้ว อากู๋ต่าก็รวบรวมชนเผ่าหนี่ว์เจินที่แยกเป็นกลุ่มๆทั้งหลายเข้าเป็นปึกแผ่นและสร้างอาณาจักรจิน ( แปลว่า ทอง) ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วในปีถัดมา แล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์นามว่า ‘ไท่จู่’ ตั้งแต่นั้น อาณาจักรจินของชนเผ่าหนี่ว์เจินก็เจริญเติบโตเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความยิ่งใหญ่
อาณาจักรจินที่เข้มแข็งโดยการปกครองของกษัตริย์ ไท่จู่อากู๋ต่าเริ่มแผ่อำนาจและขยายอิทธิพลไปยังอาณาจักรต่างๆ โดยเข้ารุกรานเมืองสำคัญๆของอาณาจักรเหลียวที่ขณะนั้นกำลังอ่อนแอ ได้แก่ เมือง ตงจิง (ปัจจุบันคือ เหลียวหยังในมณฑลเหลียวหนิง) ซ่างจิง (อยู่ในมองโกเลียใน) จงจิง (เมืองในมองโกเลียใน) ซีจิง (ต้าถงในมณฑลซันซี) หนันจิง (ปัจจุบันคือปักกิ่ง) เมื่อเมืองทั้ง 5 แตก ราชวงศ์เหลียวก็ถึงกาลอวสาน หลังจากนั้นอาณาจักรจินที่กล้าแข็งได้ค่อยๆรุกรานต่อไปยังอาณาจักรซ่งเหนือ จนในที่สุดกองทัพแห่งอาณาจักรจินก็ล้มล้างอาณาจักรซ่งเหนือได้สำเร็จในปีค.ศ.1127 ต่อมาก็ยังมีการรบพุ่งกับกองทัพแห่งอาณาจักรซ่งใต้อยู่หลายครั้ง แต่กำลังและอำนาจของทั้งสองฝ่ายก็ยังสูสีกัน
ในขณะที่อาณาจักรจินและซ่งใต้มีอิทธิพลเคียงบ่าเคียงไหล่กันได้มีการเจรจาเพื่อสันติภาพ ด้านหนึ่งอาณาจักรจินก็ยึดซีเซี่ยมาเป็นรัฐสำคัญใต้การปกครองของตน อย่างไรก็ตาม การก่อตัวขึ้นของกองทัพมองโกลอดีตศัตรูเก่าก็เริ่มเป็นภัยคุกคามของอาณาจักรจินในเวลาต่อมา


จินไท่จู่ ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรจิน (1068-1123)

มีผู้วิเคราะห์ว่า อาณาจักรจินที่ตั้งอยู่ในวงล้อมของอาณาจักรมองโกลทางเหนือ ซีเซี่ยทางตะวันตก และซ่งใต้ทางตอนใต้ หนทางที่น่าจะเป็นคือ อาณาจักรจินจำต้องดำเนินยุทธศาสตร์เป็นมิตรกับซีเซี่ยและซ่งใต้เพื่อต่อต้านมองโกล
กล่าวคือ การมีมิตรที่แน่นแฟ้นเช่นซ่งใต้ทำให้เป็นหลักประกันความปลอดภัยจากดินแดนทางใต้ และการเป็นพันธมิตรกับซีเซี่ยก็เท่ากับช่วยสกัดกั้นการเดินทัพลงใต้ของพวกมองโกล เช่นนี้แล้วอาณาจักรจินก็ไม่จำเป็นต้องพะวงต่อศึกด้านอื่น สามารถมุ่งความสนใจไปที่การเผชิญหน้ากับพวกมองโกลฝ่ายเดียว
ทว่า อาณาจักรจินผู้มั่งคั่งและโอหังกลับโดดเดี่ยวตัวเอง ละทิ้งซีเซี่ย และมาทำศึกกับอาณาจักรซ่งใต้พร้อมๆกับงัดข้อกับพวกมองโกลในเวลาเดียวกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างศัตรู 3 ด้านอย่างช่วยไม่ได้ ภายหลังเมื่อมองโกลบุกเข้าตีเมืองซีเซี่ย ซีเซี่ยได้ขอความช่วยเหลือไปยังอาณาจักรจินแต่กลับได้รับการปฏิเสธ ซีเซี่ยจึงจำต้องยอมศิโรราบให้กับพวกมองโกล เมื่อทั้ง 2 อาณาจักรรวมกำลังกันเข้าก็เดินทางมาบุกอาณาจักรจิน นั่นก็ทำให้ผู้ครองอาณาจักรจินถูกต้อนจนมุมเสียแล้ว
เพื่อผ่องถ่ายความวุ่นวายจากการถูกโจมตีจากทางตะวันตกและภาคเหนือ อาณาจักรจินได้ย้ายเมืองหลวงไปที่เปี้ยนจิง และพยายามที่จะเอาชนะศึกทางใต้เพื่อชดเชยการสูญเสียจากศึกทางเหนือ ในการนี้ทำให้อาณาจักรจินได้เปิดช่องให้กับพวกมองโกลเข้าพิชิตชายแดนทางเหนือและเริ่มโจมตีอาณาจักรซ่งใต้ อย่างไรก็ตามผลสำเร็จแทบไม่ได้ให้อะไรเลย การโอบล้อมจากทัพมองโกลและซ่งใต้ต่อมาค่อยๆทำให้อาณาจักรจินเสื่อมอำนาจลงและปราชัยให้กับข้าศึกในที่สุด
‘อาณาจักรทอง’ ปกครองโดยกษัตริย์ 9 พระองค์ รุ่งเรืองมาได้ 120 ปีก็เสื่อมอำนาจ ในช่วงเวลาแห่งความชีวิตชีวาอาณาจักรแห่งนี้เป็นที่อาศัยของประชากร 44.7 ล้านคน มีอาณาเขตกว้างใหญ่แผ่ขยายจากเทือกเขาซิงอันทางตอนเหนือจรดแม่น้ำหวยเหอทางตอนใต้ และกินดินแดนจากแนวชายฝั่งทะเลตะวันออกไปจรดส่านซีทางภาคตะวันตก
กล่าวในแง่ระบบการเมือง การปกครอง การทหาร ตลอดจนด้านเศรษฐกิจของอาณาจักรจินนั้น มีความเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันในช่วงต้นและปลายสมัย ในยุคที่เป็นการอยู่รวมกันแบบชนเผ่า อำนาจบริหารเป็นการร่วมกันปกครองโดยหัวหน้าเผ่าแต่ละเผ่ากับหัวหน้าสูงสุด แต่หลังจากที่มีการก่อตั้งเป็นอาณาจักรขึ้นมาแล้ว หัวหน้าเผ่าและหัวหน้าสูงสุดถูกแทนที่โดยคณะผู้บริหารระดับสูง 4 คนและภายหลังเพิ่มขึ้นเป็น 5 คน ที่จะกุมอำนาจการบริหารบ้านเมืองภายใต้กษัตริย์

เทือกเขาฉางไป๋ซัน ดินแดนต้นกำเนิดของเผ่าหนี่ว์เจินผู้ก่อตั้งอาณาจักรจิน

หลังจากที่อาณาจักรจินเอาชัยเหนือสงครามน้อยใหญ่ในการโจมตีเมืองในอาณาจักรเหลียวและเมืองชายแดนของอาณาจักรซ่งสำเร็จ กษัตริย์แห่งอาณาจักรจินได้ซึมซับเอาระบบการทหารจากอาณาจักรเหล่านั้นรวบรวมเข้ามาพัฒนาเป็นระบบของตน ตั้งแต่กษัตริย์จินซีจง และกษัตริย์จินไห่หลิง ที่เริ่มเสนอให้มีการปฏิรูประบบการบริหารปกครองในอาณาจักรจินขึ้น เรื่อยมาจนถึงในสมัยของกษัตริย์จินซื่อจง ระบบการปกครองของอาณาจักรจินก็พัฒนาปรับเปลี่ยนจนสมบูรณ์เป็นระบบเฉพาะตัว ทั้งนี้มีศูนย์กลางการปกครองคล้ายรัฐบาลกลางที่ควบคุมดูแลการเมืองการปกครองในอาณาจักร ถัดลงมาเป็นหน่วยงานฝ่ายต่างๆ 6 ฝ่ายได้แก่ ฝ่ายประวัติศาสตร์ ฝ่ายงานประชาชน ฝ่ายพิธีการ ฝ่ายทหาร ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายแรงงาน นอกจากนี้ หน่วยปกครองในท้องถิ่นยังแบ่งย่อยลงไปเป็น 4 ลำดับขั้น
ด้านระบบการทหารมีรากฐานมาจากระบบที่ใช้ในชนเผ่าหนี่ว์เจิน และมีการผสมผสานกับระบบของชนเผ่าชี่ตัน ป๋อไห่ เผ่าซี และชาวฮั่น ซึ่งมีระบบในองค์กรแบบง่ายๆ เน้นหนักไปที่กองทหารม้าในขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาอาวุธไปด้วย กองทัพแห่งอาณาจักรจินประกอบด้วยทหารหลากหลายเชื้อชาติ มีทั้งที่เป็นทหารรับจ้างและทหารเกณฑ์ โดยมีเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งกินตำแหน่งสูงสุด ระบบนี้ได้รับการยอมรับและนำมาใช้ในราชวงศ์ต่อๆมาด้วย
ด้านการเกษตร การหัตถกรรมและการค้ามีความรุ่งเรืองอย่างมาก ในแต่ละท้องที่ให้ดอกผลและมีส่วนส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าด้านสังคมและเศรษฐกิจในระดับแตกต่างๆกัน
ด้านวัฒนธรรม ถึงแม้ว่าประเพณีวัฒนธรรมบางอย่างของชาวหนี่ว์เจินจะได้รับการสืบทอดต่อมาพร้อมๆกับความรุ่งเรืองของอาณาจักรจิน ทว่า เมื่ออาณาจักรฮั่นยิ่งใหญ่ขึ้นมาแทน อาณาจักรจินถูกรวมเป็นปึกแผ่นกับอาณาจักรฮั่นในเวลาต่อมา วัฒนธรรมต่างๆก็ถูกกลืนหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมฮั่นไปในที่สุด
อาณาจักรจินล่มสลายในปีค.ศ.1234 ในปีที่ 2 แห่งรัชกาลเทียนซิง โดยการรุกรานของกองทัพพันธมิตรแห่งอาณาจักรมองโกลและซ่งใต้ .
**** เรียบเรียงจาก บทความของศาสตราจารย์ หานจื้อหยวน แห่งสถาบันวิจัยและศึกษาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ในสังกัดบัณฑิตยสภาด้านสังคมศาสตร์

5/11/2552

ผู้กล้าเขาเหลียงซาน

คุณค่าของนิยายเรื่อง “ซ้องกั๋ง” เป็นที่ยอมรับกันอย่างสูงในระดับสากล อีกทั้งยังได้รับการประเมินว่าเป็นวรรณกรรมเอกของโลก ด้วยคุณค่าทางวรรณศิลป์ที่เป็นวรรณกรรมของมวลชน เหมาะสำหรับผู้คนทุกรุ่นทุกวัย กระทรวงศึกษาธิการจีนจึงได้กำหนดให้นักเรียนมัธยมต้องอ่านนิยายเรื่องนี้เพราะนิยายเรื่องนี้มีความผูกพันระหว่างบุคคล มีเนื้อหาลึกซึ้งที่ส่งผลสะเทือนต่อจิตใจของมนุษย์ เด็กๆ จะชอบเพราะอ่านแล้วเข้าใจง่ายสนุกสนานน่าติดตาม เป็นเรื่องของตัวเด่น 108 คนที่มีที่มาที่ไปต่างกัน แต่มีเหตุให้ต้องมารวมตัวกันที่ป่าแห่งหนึ่ง เพื่อต่อสู้กับทางราชสำนัก เมื่ออ่านจบจะทำให้เด็กๆ อยากเป็นวีรบุรุษอย่างตัวเอกในเรื่อง หนังสือเล่มนี้สอนให้คนรู้จักต่อสู้เพื่อทวงสิทธิประโยชน์ของตน บทบาทที่สำคัญที่เร้าใจที่สุดคือ การตอบคำถามที่ว่า เราจะให้ผู้อื่นข่มเหงรังแกเราอย่างไม่มีเหตุผลต่อไปหรือไม่ หัวใจของเรื่องก็คือการกล้าสู้ กล้าอาละวาด กล้าต่อต้าน กล้าเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่อยุติธรรมต่างๆ
“ซ้องกั๋ง” เป็นเรื่องราวของชาวบ้านที่จับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลในราชวงศ์ซ้องเหนือ ( 北宋 ค.ศ.960-1127) เพื่อป้องกันตัว เพื่อความอยู่รอด ถ้าพวกเขาไม่สู้ พวกเขาก็จะไม่มีอนาคต ไม่มีชีวิตรอด
ตัวละครที่เป็นที่รู้จักกันดีในนิยาย “ซ้องกั๋ง” มีอยู่ด้วยกันหลายคน หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของตัวเอกคนหนึ่งที่มีนามว่า “หลินชง”(林冲) หลินชงเป็นครูฝึกทหารที่ถือว่ามีตำแหน่งไม่เล็กนัก แต่เขาก็ยังถูกขุนนางใหญ่ที่เป็นคนโปรดปรานของกษัตริย์รังแก จนถึงขนาดจะฆ่าล้างครอบครัว ตอนแรกหลิงชงได้แต่ก้มหน้ายอมรับโทษทัณฑ์ต่างๆ ตามที่ตนพลาดท่าเสียทีจนถูกใส่ความ แต่ท้ายที่สุดเขาก็ทนไม่ไหวจึงฆ่าผู้คุม และเดินทางไปร่วมกับผู้กล้าทั้งหลายที่รวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลที่เขาเหลียงซาน เรื่องราวที่สนุกสนานน่าติดตามของผู้กล้าทั้งหลายเหล่านั้นยังมีให้ติดตามค้นหาอีกมากมาย นอกเหนือจากเรื่องของหลินชง ยังมีเรื่องของ “บู๊สง(武松) ผู้ฆ่าเสือด้วยมือเปล่า” ฯลฯ สำหรับท่านที่สนใจสามารถติดตามหาอ่านกันได้จากนิยายเรื่อง “ซ้องกั๋ง”
จุดมุ่งหมายสูงสุดของหนังสือเล่มนี้คือ อยากให้ทุกคนเป็นคนกล้า กล้าที่จะแสดงออก กล้าสู้ กล้าที่จะยืนอยู่ในจุดยืนที่ถูกต้อง เป็นตัวตั้งตัวตี เป็นกำลังสำคัญของชุมชน มีคำพูดกล่าวไว้ว่า “คนดีมีมากแต่คนกล้ามีน้อย”หวังว่าคำพูดนี้จะไม่เป็นความจริง เพราะเราจะช่วยกันเพิ่มคนดีและคนกล้าในสังคมของเราให้มากยิ่งๆ ขึ้น !

เรื่องราวในตำนาน “วีรบุรุษเขาเหลียงซาน” (水浒传)ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ยอดวรรณดีของจีน

ภาพวาดจากม้วนหนังสือโบราณของจีน เรื่อง สุยหู่จ้วน
วาดราวคริสต์ศตวรรษที่ 15

ขณะที่หงซิ่นกำลังยืนมองดูอยู่ข้างใน ทันใดนั้นในหลุมก็ลั่นดังเป็นควันดำพุ่งขึ้นมาออกทางประตู ควันดำนั้นลอยอยู่บนอากาศแล้วแตกกระจายแยกย้ายกันไปทั้งแปดทิศ เล่าโจ๊วเซียนซือแต่ครั้งแผ่นดินก่อนบอกไว้ว่า "ในเก๋งนี้ขังดวงจิตดาวทหารที่ดุร้ายถึง 108 ดวง มีดาวเทียนกังแช (Heavenly Spirits) 36 ดวง และดาวตีสัว(Earthly Fiends) 72 ดวง รวมเป็น 108 ดวง ขังไว้มิให้ไปเกิดเพราะกลัวจะรบกวนไพร่บ้านพลเมืองได้รับความเดือดร้อน" หงซิ่นมาเปิดปล่อยไปดังนี้จึงแยกย้ายกันไปเกิดเป็นมนุษย์ทั้ง 108 คน (พุทธศักราช. 1595)


บทที่ ๑
เซียนวิเศษทำพิธีขจัดโรคระบาด เสนาบดีหง ปลดปล่อยมารปีศาจ




ปีศาจ

ท่ามกลางความระส่ำระสายในยุค อู่ไต้ เมฆร้ายพลันคลี่คลายฟ้าสดใสละอองฝนชโลมพืชพันธุ์ที่แห้งแล้งมานานปี เข้าสู่ยุคบ้านเมืองสงบสันติยั่งยืนนานผู้คนต่างประดับประดาทั่วทุกแห่งหน เสียงมโหรีบรรเลงทุกบ้านช่องใต้ฟ้าสุขสันติ์ไร้เรื่องราว ไพร่ฟ้านอนตาหลับไร้กังวล




บทกลอนข้างบนนี้เป็นบทกลอนที่แต่งโดย นักพรต คังเจี๋ย (เ ส้าเหยาฟู ) ในสมัยจักรพรรดิซ่งเสินจง ( 宋神宗 ) เป็นบทรำพึงรำพันถึงความระส่ำระสายในยุคปลายราชวงศ์ถัง ที่ต่อมานักประวัติศาสตร์เรียกว่าสมัย อู่ไต้ แผ่นดินในยุคนั้นเปลี่ยนแปลงราชวงศ์กันแทบทุกเช้าค่ำ รบพุ่งกันไม่เว้นแต่ละวัน แย่งชิงอำนาจกันในห้าสกุลคือ จู หลี่ สือ หลิว กวอ ก่อตั้ง เหลียง ถัง จิ้น ฮั่น โจว ห้าราชวงศ์ มีกษัตริย์ปกครองรวม 15 พระองค์ ตลอดช่วง 50 ปี ไม่เคยมีปีใดที่ประชาชนจะได้อยู่เย็นเป็นสุข




ต่อมาถึงคราฟ้าเปลี่ยนสี ได้กำเนิดจักรพรรดิผู้ทรงคุณธรรมและปรีชาสามารถ ร่ำลือกันว่าเมื่อจอมจักรพรรดิทรงพระประสูติ มีแสงสีแดงฉาบทาทั่วท้องฟ้า กลิ่นหอมอบอวลครอบคลุมทั่วทั้งแผ่นดิน เหมือนหนึ่งเป็นสัญญานการจุติของทวยเทพมิปาน จักรพรรดิองค์นั้นเกิดในตระกูลจ้าว (趙) ลักษณะสูงสง่า บุคคลิกยากที่จะหาจักรพรรดิองค์ใดที่ผ่านมาเทียมเทียบได้ มีความรอบรู้กว้างขวาง รบพุ่งหาญกล้า สามารถสยบความระส่ำระสายในแผ่นดิน รวบรวมแผ่นดินจงหยวนเป็นปึกแผ่น สถาปนาราชวงศ์ ซ่ง(宋朝) ที่เมืองเปี้ยนเหลียง (ปัจจุบันอยู่มนฑลเหอหนาน) เป็นการวางรากฐานราชวงศ์ที่มั่นคงต่อไปอีก 400 ปี สอดคล้องกับบทกลอนประโยคที่สองของ เส้าเหยาฟู ที่กล่าวว่า เมฆร้ายพลันคลี่คลายฟ้าสดใส บนเขา หัวซาน(華山) มียอดคนผู้หนึ่งชื่อ เฉินป๋อ เป็นคนมีคุณธรรมสูงส่ง บำเพ็ญเพียรจนมีตะบะแก่กล้า สามารถควบคุมได้แม้กระทั่งลมฝน วันหนึ่งได้ขี่ลาลงเขามาถึงเมือง หัวอิง ตามทางได้ยินชาวบ้านกล่าวกันว่า ที่เมือง ตงจิง จักรพรรดิ ไฉซื่อจง ได้สละบัลลังก์ให้แก่ เจ้าเจี๋ยนเตี่ยน (趙匡胤) เฉินป๋อ ได้ยิน ก็เอามือแตะที่หน้าผาก หัวเราะด้วยความยินดี บอกว่า ต่อไปนี้บ้านเมืองถึงคราวสงบร่มเย็น สอดคล้องกับเจตนาฟ้าดิน และเป็นที่สมหวังของประชาชนโดยทั่วไป เจ้าเจี๋ยนเตี่ยน ครองราช 17 ปี ก็สละให้ พระราชอนุชา ซ่งไท่จง (宋太宗) ซ่งไท่จง ครองราชย์อยู่ 22 ปี ก็สืบราชบัลลังก์ต่อให้ ซ่งเจินจง(宋真宗) จากซ่งเจินจง สืบให้แก่ซ่งเหยินจง(宋仁宗) สำหรับจักรพรรดิ ซ่งเหยินจง นั้น ได้รับขนานนามว่า เทวดาเท้าเปล่า ตอนประสูตินั้นร้องไห้ทั้งวันทั้งคืน จนต้องประกาศหาแพทย์มารักษา กระเทือนถึงบนสวรรค์ ต้องส่ง ไท่ไป๋จิน (太白君) จำแลงกายเป็นชายชรามาฉีกประกาศ อาสาเข้าทำการรักษา เมื่อ จักรพรรดิ เจินจง อนุญาตให้ชายชราเข้าทำการรักษา ชายชราก็อุ้มรัชทายาทไว้กับอก เพียงกระซิบเบาๆว่า ฝ่ายบุ๋นมีเทพแห่งบุ๋น (文星) ฝ่ายบู๊มีเทพแห่งบู๊ (武星) องค์รัชทายาทก็หยุดร้องทันที ชายชราผู้นั้นก็หายตัวไปทันทีโดยที่ยังไม่ได้ถามชื่อแซ่ เทพฝ่ายบุ๋นก็คือ บันฑิต เปาเจิ่ง(包青天)เจ้าเมือง ไคเฟิง (開封) ส่วนเทพแห่งบู๊ ก็คือแม่ทัพปราบซีเซี่ย ตี๋ชิง เป็นข้าราชการที่ภัคดีทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊ ที่ช่วยงานปกครองบ้านเมืองให้เป็นไปอย่างราบรื่น ตลอดช่วงการครองราชสมบัติของ ซ่งเหยินจงฮ่องเต้ง ถึง 42 ปี มีการเปลี่ยนศักราชถึง 9 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ปี ขุ่ย เดือน ไห้ เป็น เทียนเซิ่ง (天聖) ศักราชที่ 1 จนถึงศักราชที่ 9 บ้านเมืองสงบสุขไร้โจรภัย พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ถือเป็นช่วงที่หนึ่ง จากหมิงเต้า (明道) ศักราชที่ 1 จนถึงหวงหยิ้ว (皇祐) ศักราชที่ 3 อีก 9 ปี ยังคงสงบไร้เรื่องราวเป็นช่วงที่สอง จากหวงหยิ้ว ศักราชที่ 3 จนถึง เจียหยิ้ว (嘉祐) ศักราชที่ 2 อีก 9 ปีรวมแล้ว 27 ปี ที่ไพร่ฟ้าประชาชนต่างอยู่อย่างสงบสุขไร้เรื่องราว โดยไม่คาดคิดว่าจะมีเคราะห์มาเยือน
[ เด็กฉ้ายตึ๋ง - 2/01/2009 - 08:15 ] ในฤดูใบไม้ผลิของปีเจียหยิ้ว ศักราชที่ 3 ตั้งแต่ เจียงหนาน ไปจนถึง ตงจิง และ หนานจิง ได้เกิดโรคระบาดใหญ่ เฉพาะเมือง ตงจิง ทั้งข้าราชสำนัก และพลเมือง เสียชีวิตกว่าครึ่ง ท่าน เปาเจิ่ง แห่งเมือง ไคเฟิง ถึงกับต้องนำเสบียง และยารักษาโรค ไปแจกจ่ายให้กับประชาชน และตรวจตราสถานะการณ์ด้วยตัวเอง โรคระบาดยิ่งเพิ่มความรุนแรง จนไม่อาจควบคุมสถานะการณ์ได้ ข้าราชบริพารทั้งบุ๋นและบู๊ ต่างชุมนุมกันที่ท้องพระโรงตั้งแต่กลางดึก เพื่อรอกราบทูลห้องเต้ ตอนนั้นคือ เจียหยิ้ว (嘉祐) ศักราชที่ 3 วันที่ 3 เดือน 3 เวลาตี 3 เมื่อจักรพรรดิเหยินจง เสด็จออกท้องพระโรง ข้าราชบริพาลต่างแย่งกันกราบทูล อำมาตย์ เจ้าเจ๋อ และ เหวินเยี่ยนปํอ ได้กราบทูลว่า ขณะนี้เกิดโรคระบาดไปทั่วทุกหัวระแหง และทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ขอให้พระองค์ทรงกรุณางดเว้นภาษี ผ่อนเบาภาระ และหาทางขจัดทุกข์ภัยให้กับประชาชน พระเจ้า เหยินจง จึงสั่งการให้ราชเลขาออกราชโองการด่วน ทางหนึ่งอภัยโทษแก่นักโทษแผ่นดิน ทางหนึ่งให้งดเว้นภาษีประชาชนทั่วไป และยังสั่งให้วัดวาอารามบำเพ็ญบุญกุศลปัดรังควาญ แต่โรคระบาดก็ยังไม่ทุเลาลง พระเจ้าเหยินจงทรงกังวลเป็นยิ่งนัก จึงเรียกประชุมข้าราชบริพาล เพื่อหาหนทางแก้ไข อำมาตย์ ฟ่านจ้งเยียน กราบทูลว่า ขนะนี้ภัยพิบัติร้ายแรง ทำร้ายประชาชนแสนสาหัส จนไม่อาจนอนตาหลับได้ จะขจัดเภทภัยครั้งนี้ คงต้องบนบานเทพยดาปกป้องราชสำนัก จึงจะสามารถหลบพ้นเภทภัยครั้งนี้ได้ พระเจ้าเหยินจง จึงทรงพระอักษรด้วยพระองค์เอง และมอบหมายให้ เสนาบดี หงซิ่น เป็นผู้แทนพระองค์นำสารและธูปหอมพระราชทาน เดินทางไปยัง เขา เสือมังกร ที่เจียงซี อัญเชิญเซียนวิเศษ จางเจินเหยิน มาปัดเป่าเภทภัยครั้งนี้ เสนาบดีหง นำพระราชโองการ พร้อมทั้งธูปพระราชทาน และผู้ติดตามอีกสิบกว่าคนเดินทางโดยไม่รอช้า เมื่อถึงเมือง ซิ่นโจว มนฑล เจียงซี (江西) ข้าราชการน้อยใหญ่ต่างให้การต้อนรับ และส่งม้าเร็วแจ้งต่อเจ้าอาวาสวัด ซ่างชิงกง ที่อยู่บนเขา เสือมังกร(龍虎山) ทันที เมื่อเดินทางถึงวัด ซ่างชิงกง เห็นทั่วทั้งวัดประดับประดาด้วยโคมไฟ และธงทิวหลากสี เจ้าอาวาสและบรรดาพระสงฆ์ ต่างเข้าแถวรอรับพระราชโองการ เสนาหง จึงถามว่า "เซียนวิเศษอยู่ที่ไหน?" เจ้าอาวาสตอบว่า "ท่านเซียนมีฉายาว่า เซียนว่างเปล่า มีจิตใจสูงส่ง ไม่สนใจในพิธี ปัจจุบันบำเพ็ญสมาธิอยู่ในกระท่อมเล็กๆบนยอดเขา" เสนาหงถามอีกว่า "ตอนนี้เรานำพระราชโองการมา จะมอบให้ได้อย่างไร"
[ เด็กฉ้ายตึ๋ง - 2/01/2009 - 08:17 ] เจ้าอาวาสจึงเชิญเสนาหงเข้าไปปรึกษากันในห้องโถง หลังจากรับน้ำชาและอาหารเจเรียบร้อยแล้ว เสนาหงจึงเอ่ยว่า " เมื่อเซียนวิเศษอยู่บนยอดเขา ไยไม่เชิญลงจากเขาเพื่อรับราชโองการ" เจ้าอาวาสตอบว่า " เซียนวิเศษถึงแม้อยู่บนยอดเขา แต่สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ร่องรอยไม่แน่นอน แม้แต่พวกเรายังไม่สามารถจะพบได้ง่ายนัก ไหนเลยจะเชื้อเชิญลงจากเขาได้" เสนาหงกล่าวว่า " ปัจจุบันโรคระบาดคุกคามข้าราษฎรแสนสาหัส ฮ่องเต้จึงส่งข้าผู้น้อยนำราชโองการมา พร้อมด้วยธูปมังกร หวังเชื้อเชิญท่านเซียนทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ช่วยปัดเป่าภัยพิบัติ ขจัดเภทภัยให้แก่ราษฎร ถ้าหากไม่อาจพบท่านเซียนแล้วจะทำอย่างไรได้ " เจ้าอาวาสจึงกล่าวว่า "จะปัดเป่าทุกข์ภัยให้กับประชาชน ขอเพียงท่านเสนาแสดงความจริงใจสักนิด รับอาหารเจชำระร่างกายให้บริสุทธิ์ ผัดเปลี่ยนเสื้อผ้า จุดธูปมังกร อธิษฐานต่อเซียนวิเศษ แล้วนำราชโองการขึ้นเขาโดยลำพัง อาจจะได้พบท่านเซียน แม้นไม่บริสุทธิ์ใจก็ยากจะได้พบ" เสนาหงกล่าวว่า "เราอุตส่าห์เดินทางจากเมืองหลวงมาด้วยความยากลำบาก ไหนเลยไม่บริสุทธิ์ใจ ถ้าเป็นไปตามท่านว่า พรุ่งนี้เราจะขึ้นเขาทันที " ฟ้าสางวันรุ่งขึ้น เหล่าพระเณรเตรียมน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ให้เสนาหงชำระร่างกาย เปลี่ยนเสื้อผ้าบริสุทธิ์ สวมใส่รองเท้าฟาง หลังจากรับประทานอาหารเจ เหล่าพระเณรชี้ทางขึ้นเขาน้อมส่งเสนาหง เจ้าอาวาสกล่าวว่าท่านเสนาจะช่วยเหลือราษฎร ต้องจริงใจอย่าท้อถอยแม้แต่น้อย เสนาหงสะพายห่อผ้าเหลืองใส่พระราชโองการ สองมือประคองกระถางธูปเงินที่จุดธูปมังกร เดินขึ้นเขาเพียงคนเดียว ปากท่องอธิษฐานต่อเซียนวิเศษไปตลอดทาง ผ่านเส้นทางที่รกชัฎ และขึ้นลงคดเคี้ยวไปสักสองสามลี้ เสนาหงรู้สึกเหน็ดเหนื่อยจนก้าวขาไม่ออก ในใจครุ่นคิด ตัวเราเป็นถึงเสนาบดี อยู่ในเมืองหลวงกินนอนแสนจะสุขสบายไหนเลยจะเคยใส่รองเท้าฟาง มาตรากตรำบนหนทางที่ยากลำบากขนาดนี้ เซียนวิเศษที่ว่าก็ไม่รู้อยู่ที่ไหน กลับกลั่นแกล้งเราถึงเพียงนี้ คิดแล้วก็รู้สึกท้อใจนัก เดินต่อไปอีกประมานห้าสิบก้าว เห็นที่ต่ำข้างหน้ามีลมกระโชกมาหอบหนึ่ง แล้วมีเสียงคำรามก้องป่าดังมาจากด้านหลังต้นสน พร้อมกับมีเสือตัวเขื่องกระโจนออกมา เสนาหงตกใจร้องลั่นแล้วล้มลงกับพื้น เสือตัวนั้นจ้องมองเสนาหง หันซ้ายทีขวาทีคำรามก้องแล้วเดินจากไป เสนาหงตกใจกลัวจนเข่าอ่อนหัวใจแทบหยุดเต้น ชั่วกาน้ำเดือดผ่านไป เสนาหงค่อยๆลุกขึ้นเก็บกระถางธูปและธูปมังกร แล้วเดินต่อไป ผ่านไปอีกห้าสิบก้าว ลมหายใจเริ่มหอบถี่ ขณะที่ใจกำลังรำพึงรำพันถึงความยากลำบาก พลันรู้สึกมีลมแห่งความชั่วร้ายโชยมา เสนาหงเพ่งมองไปยังเสียงกรอบแกรบที่ดังมาจากป่าไผ่เชิงเขา เห็นงูยักษ์ลายพร้อยตัวหนึ่งเลื้อยออกมา เสนาหงตกใจแทบสิ้นสติ กระถางธูปหลุดจากมือ ปากร้องว่าตายแน่คราวนี้ วิ่งไปขดตัวสั่นอยู่ข้างโขดหิน งูตัวนั้นเลื้อยเข้าใกล้โขดหิน ตาโปนแวววับ อ้าปากกว้างแลบลิ้นสีแดงขู่ฟ่อๆอยู่ตรงหน้าเสนาหง แล้วก็เลื้อยลงจากเขาไป เสนาหงลุกขึ้นยืน เหงื่อเย็นเม็ดโป้งผุดขึ้นเต็มหน้า ปากก็สบถด่าเซียนวิเศษหาว่า กลั่นแกล้งให้ตกใจกลัว หลังจากจัดแจงเสื้อผ้าให้เรียบร้อย ประคองกระถางธูปขึ้น แล้วเดินทางขึ้นเขาต่อไป
[ เด็กฉ้ายตึ๋ง - 2/01/2009 - 08:21 ]
เสนาหงเดินทางต่อไปได้อีกช่วงหนึ่ง ก็ได้ยินเสียงขลุ่ยดังมาจากหลังต้นสน เสียงขลุ่ยค่อยๆดังใกล้เข้ามา จนเสนาหงเห็นนักพรตอ่อนเยาว์ผู้หนึ่ง นั่งเป่าขลุ่ยเงินอยู่บนหลังวัว ค่อยๆเคลื่อนใกล้เข้ามาด้วยใบหน้าที่ยิ้มละไม เสนาหงจึงร้องตะโกนถามว่า " เจ้าเป็นใครมาจากไหน รู้จักเราหรือไม่ " นักพรตน้อยยังคงเป่าขลุ่ยต่อไปโดยไม่สนใจ เสนาหงร้องถามอีกหลายครั้ง นักพรตน้อยจึงหัวร่อ เอาขลุ่ยชี้หน้าเสนาหงแล้วกล่าวว่า " ท่านเดินทางมาที่นี่ คงต้องการพบท่านเซียนใช่หรือไม่" เสนาหงกล่าวว่า
" เจ้าเป็นแค่เด็กเลี้ยงวัว ทำไมถึงรู้เรื่องนี้ " นักพรตน้อยตอบว่า "เราเป็นเด็กรับใช้ท่านเซียนอยู่ในกระท่อม ได้ยินท่านเซียนพูดว่า วันนี้จะมีเสนาบดีชื่อ หงซิ่น นำเอาพระบรมราชโองการ พร้อมด้วยธูปมังกรเดินทางขึ้นเขามา ชักชวนให้ข้าเดินทางไปทำพิธีบวงสรวงเทพยดาที่ ตงจิน ปัดเป่าเภทภัย ขจัดโรคระบาดให้กับปวงชน ตอนนี้ท่านเซียนได้ขี่นกกระเรียนเทพเดินทางไปตั้งแต่เช้า ไม่ได้อยู่ในกระท่อมแล้ว ท่านไม่ต้องขึ้นเขาอีกต่อไป ในป่าเขามีสัตว์ร้าย พบพานอาจทำร้ายท่านถึงแก่ชีวิตได้ " เสนาหงกล่าวว่า "เจ้าไม่ได้หลอกลวงข้านะ" นักพรตน้อยไม่ตอบ เพียงแต่หัวร่อแล้วเป่าขลุ่ยขี่วัวจากไป เสนาหงครุ่นคิดว่า ทารกน้อยนี้ทำไมจึงรู้เรื่องของตน คงเป็นเพราะท่านเซียนกำชับมาแน่ๆ ครั้นจะขึ้นเขาต่อไป ก็กลัวจะเจอกับสัตว์ร้ายดังที่ผ่านมา อาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตจริงๆ ไม่สู้ลงจากเขาดีกว่า เสนาหงยังคงประคองกระถางธูปเงิน เดินย้อนกลับมาทางเดิม จนกลับมาถึงวัด เมื่อพบกับเจ้าอาวาสถามว่า " ได้พบท่านเซียนหรือไม่ " เสนาหงกล่าวว่า " เราเป็นข้าราชสำนักชั้นสูง ไยจึงกลั่นแกล้งให้ไปตรากตรำกลางป่าเขา ขึ้นไปได้แค่กลางเขา ก็พบเสือใหญ่ตัวหนึ่ง ทำเอาเราตกใจแทบสิ้นสติ เดินต่อไปยังไม่พ้นยอดเขา ก็ปะงูยักษ์เข้าอีกตัวหนึ่ง ขวางทางที่จะไป ถ้าไม่ใช่เพราะเรายังมีบุญบารมี คงไม่สามารถเอาชีวิตรอดกลับมาได้ พวกท่านเหตุไฉนจึงกลั่นแกล้งจนเราแทบเอาชีวิตไม่รอด " เจ้าอาวาสกล่าวว่า " พวกเราไหนเลยกล้าคิดกลั่นแกล้งท่านเสนาบดี แต่เป็นเพราะท่านเซียนต้องการทดสอบท่านเสนา บนเขาลูกนี้ถึงจะมีสัตว์ร้าย แต่ก็ไม่เคยทำร้ายผู้คน " เสนาหงจึงเล่าต่อว่า " ขณะที่เราเหนื่อยจนก้าวขาไม่ออก ก็เห็นนักพรตน้อยผู้หนึ่งนั่งเป่าขลุ่ยอยู่บนหลังโค ค่อยๆเดินใกล้เข้ามา เขาบอกว่าเขารู้เรื่องทั้งหมดจากท่านเซียน และท่านเซียนได้ขี่นกกระเรียนไป ตงจิน ตั้งแต่เช้าแล้ว เราจึงเดินทางกลับมา " เจ้าอาวาสกล่าวว่า " ท่านเสนาไม่น่าพลาดเลย เพราะว่านัดพรตน้อยท่านนั้นก็คือท่านเซียนนั่นเอง " เสนาหงจึงถามว่า " ท่านเซียนไฉนจึงดูราวกับทารกน้อย " เจ้าอาวาสกล่าวว่า "ท่านเซียนถึงแม้นอายุไม่มาก แต่เป็นคนมีบุญญาธิการเหนือมนุษย์ สามารถปรากฏกายได้ทุกแห่งราวกับเป็นวิญญานศักดิ์สิทธิ์ คนทั่วไปยกย่องให้เป็น เทพล่องหน " เสนาหงจึงอุทานว่า " ตัวเราช่างมีตาแต่ไม่มีแววจริงๆ " เจ้าอาวาสจึงกล่าวว่า " ท่านเซียนเมื่อเดินทางไปแล้ว ท่านเสนาก็ไม่ต้องกังวล เรื่องทั้งหมดคงจะเรียบร้อย " เมื่อถึงวันที่ท่านเสนากลับถึงเมืองหลวง ท่านเจ้าอาวาสจึงอัญเชิญพระราชโองการและธูปมังกรประดิษฐานในห้องโถง แล้วสั่งการให้จัดเตรียมสุราอาหารต้อนรับเสนาหง วันรุ่งขึ้นเจ้าอาวาสได้จัดเตรียมให้เสนาหงเดินชมทิวทัศน์บริเวณวัดโดยรอบ เสนาหงและผู้ติดตามเดินชมจากด้านหน้าไปถึงด้านหลัง มาถึงด้านซ้ายเห็นมีวิหารจิ่วเทียน วิหารจื่อเหวย วิหารเป่ยจี๋ ด้านขวามีวิหารไท่อี่ วิหารซานกวาน วิหารชวีเสีย เสนาหงหยุดตรงหน้าวิหารที่ก่อด้วยกำแพงดินแดง ด้านหน้ามีแอกม้าสีแดงสองข้าง ประตูถูกลงกลอนอย่างแน่นหนา มีกระดาษยันต์ปิดทับไขว้กันหลายสิบแผ่น มีป้ายสีแดงสดติดอยู่เหนือประตู มีอักษรสีทองสี่ตัวข้อความว่า
[ เด็กฉ้ายตึ๋ง - 2/01/2009 - 08:25 ]
วิหารสยบมาร เสนาหงถามว่า นี่เป็นสถานที่เช่นไร เจ้าอาวาสตอบว่า ที่นี่เป็นสถานที่ปรมาจารย์ได้กักขังพญามารเอาไว้ เสนาหงถามอีกว่า ทำไมด้านบนจึงต้องมีผ้ายันต์ปิดทับกันหลายชั้น เจ้าอาวาสตอบว่า แรกเริ่มปรมาจารย์เราคือ ท่านราชครู ต้งสวน แห่งราชวงศ์ถัง ได้กักขังพญามารไว้ที่นี่ แต่เมื่อมีการสืบทอดปรมาจารย์รุ่นใหม่ ต่างก็ทำพิธีสยบมารและปิดผ้ายันต์ทับเพิ่มอีกหนึ่งชั้น เพื่อตอกย้ำไม่ให้พญามารและลูกๆหลานๆมันหนีออกมา สร้างความเดือดร้อนแก่มนุษย์โลกตลอดกาล สืบทอดมาถึงแปดเก้ารุ่น ไม่เคยมีใครเปิดเข้าข้างใน อาตมารับผิดชอบที่นี่มาสามสิบกว่าปี ก็เพียงแค่ได้ยินเท่านั้น เสนาหงรู้สึกตื่นเต้น นึกอยากเห็นตัวพญามารขึ้นมา จึงบอกให้เจ้าอาวาสเปิดประตู เจ้าอาวาสตอบว่า " ประตูนี้ไม่อาจเปิดได้ ปรมาจารย์รุ่นก่อนต่างกำชับแน่นหนาห้ามเปิดประตูนี้อย่างเด็ดขาด " เสนาหงหัวเราะแล้วตอบว่า " เหลวไหล พวกท่านเจตนาสร้างสถานที่เช่นนี้ขึ้น แล้วกุเรื่องว่ามีพญามารถูกกักขังอยู่ที่นี่ เพื่ออวดอ้างฤทธิ์เดชหลอกลวงประชาชน ตัวเราร่ำเรียนมาก็ไม่น้อย ไม่เชื่อว่ามีเรื่องเหลวไหลเหล่านี้ จงรีบเปิดประตูให้เราดูข้างในทันที " เจ้าอาวาสพยายามทัดทาน และชี้แจงให้ทราบถึงภัยพิบัติที่จะตามมาหลังเปิดประตูวิหารนี้

เสนาหงชี้หน้ากล่าวด้วยความโกรธว่า "ถ้าเจ้าไม่ยอมเปิด เราจะกลับไปนำกำลังทหารมา จับพวกเจ้าทั้งหมด ข้อหาขัดพระราชโองการ ขัดขวางมิให้เราพบท่านเซียนผู้วิเศษ และยังจะตั้งข้อหาพวกเจ้า สร้างเรื่องเท็จ หลอกลวงผู้คนเรื่องพญามาร ลงโทษสักหน้า ยึดใบอนุญาตของพวกเจ้า แล้วเนรเทศพวกเจ้าไปถิ่นทุรกันดาร " ด้วยความเกรงกลัวอำนาจของเสนาหง เจ้าอาวาสจึงสั่งให้ช่วยกันดึงเอาผ้ายันต์ออก ทำลายกลอนประตูทองสัมริดเสีย แล้วเปิดประตูออก ภายในมืดมิดจนมองไม่เห็นอะไรเลย เสนาหงจึงสั่งให้จุดคบเพลิงขึ้น พอเดินเข้าไปข้างใน เห็นมีแต่ห้องว่างเปล่า ไม่มีอะไรนอกจากเสาหินกลมแท่งหนึ่งปักอยู่กลางห้อง สูงประมาน 4-5 เชียะ ด้านหน้าของเสาหินมีอักษรลวดลายหงษ์มังกร แต่อ่านไม่เข้าใจว่ามีความหมายอย่างไร ส่วนด้านหลังกลับมีอักษรธรรมดาอยู่สี่ตัว เขียนว่า เปิดเมื่อพบหง เสนาหงกล่าวกับเจ้าอาวาสด้วยความตื่นเต้นว่า "พวกเจ้าขัดขวางไม่ให้เราเข้ามา แต่ความจริงได้กำหนดไว้เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว คำว่า เปิดเมื่อพบหง ย่อมหมายความว่าให้เราเป็นผู้เปิด คิดว่าพญามารคงต้องอยู่ใต้หลักหินนี้เป็นแน่ " ว่าแล้วจึงสั่งให้เอาจอบเสียมมาขุดเพื่อถอนหลักหินขึ้นมา เจ้าอาวาสรีบทัดทานด้วยความตระหนกว่า " ท่านเสนาไม่อาจแตะต้องหลักหินนี้โดยเด็ดขาด มิฉะนั้นอาจชักนำเภทภัยสู่มวลมนุษย์อย่างคาดไม่ถึง " เสนาหงกล่าวว่า " พวกท่านเกรงกลัวอันใด ไม่เห็นหรือว่าหลักหินนี้ระบุให้เราเป็นผู้เปิด ใครบังอาจจะขัดขวางเรา รีบๆขุดเข้าไป " ไม่ว่าเจ้าอาวาสจะทัดทานอย่างไรก็ไม่เป็นผล เสนาหงยังคงสั่งให้ขุดต่อไป จนหลักหินนั้นถูกถอนขึ้นมา แล้วขุดลึกลงไปอีก 3-4 เชียะ ก็พบแผ่นหินแผ่นใหญ่อีกแผ่นหนึ่ง เสนาหงสั่งให้ช่วยกันงัดแผ่นหินนั้นขึ้นมา เจ้าอาวาสร้องเสียงหลงว่า " อย่าแตะต้องแผ่นหินนั้น " เสนาหงไม่ฟังเสียง ยังคงสั่งการให้งัดต่อไป จนแผ่นหินค่อยๆถูกงัดขึ้นมาทีละน้อย ที่แท้ใต้แผ่นหินนี้เป็นอุโมงค์ที่ลึกจนมองไม่เห็นก้น ได้ยินแต่เสียงกราวๆดังมาจากในอุโมงค์ เมื่อเสียงเงียบสงบลง มีเงาดำสายหนึ่งม้วนขึ้นมาจากอุโมงค์ แผ่คลุมครึ่งห้องลอยอยู่กลางอากาศ แล้วแตกเป็นแสงสีนับร้อยสาย กระจัดกระจายหายไปในทันที ทุกคนตื่นตกใจโยนจอบเสียมทิ้ง แย่งกันวิ่งออกจากห้องโถง จนล้มทับกันระเนระนาด เสนาหงตกใจจนหน้าซีด อ้าปากค้างวิ่งออกจากห้องโถงเช่นกัน เห็นเจ้าอาวาสร่ำร้องว่า " แย่แล้ว! แย่แล้ว! " อยู่ไม่ขาดปาก เสนาหงจึงถามว่า " ที่หลบหนีไปได้นั้น เป็นมารปีศาจจำพวกไหนกันบ้าง " เจ้าอาวาสกล่าวว่า " ท่านเสนาไม่ทราบว่าที่กักขังอยู่ในวิหารนี้ มีดาวพระกาฬ 36 ดวง และดาวเพชรฆาตอีก 72 ดวง รวมแล้วเป็นมารปีศาจที่ชั่วร้าย 108 ตน ถูกจารึกชื่อเป็นอักขระหงส์มังกร (龍鳳) บนหลักศิลากักขังอยู่ที่นี่ เมื่อถูกท่านเสนาปลดปล่อยออกมาแล้ว ต่อนี้ไปแผ่นดินคงยากจะสงบสุข " เสนาหงได้ยินถึงกับเข่าอ่อนยืนไม่ติด เหงื่อซึมจนเปียกชุ่มทั้งตัว รีบสั่งให้ผู้ติดตามจัดเก็บสัมภาระแล้วออกเดินทางทันที หลังจากส่งเสนาหงแล้วเจ้าอาวาส กลับเข้าไปในวิหารจัดทุกอย่างให้อยู่ในสภาพปกติ แล้วปักหลักศิลาไว้ในตำแหน่งเดิม ส่วนเสนาหงกำชับผู้ติดตามทั้งหลาย ไม่ให้แพร่งพรายเรื่องปลดปล่อยมารปีศาจให้ผู้อื่นล่วงรู้โดยเด็ดขาด แล้วเร่งรีบเดินทางทั้งกลางวันและกลางคืน จนกระทั่งเข้าสู่เมืองเปี้ยนเหลียง ก็ได้ยินชาวบ้านโจษจันกันถึงเรื่องเซียนผู้วิเศษได้มาทำพิธีบวงสรวงเทพยดา ถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน ติดยันต์ไล่ผี ปัดเป่าเภทภัย ขจัดโรคระบาดให้แก่ราษฎร์ ชาวบ้านยังล่ำลือกันว่า เซียนผู้วิเศษนี้ขี่นกกระเรียน เหาะเหินเดินอากาศได้ อาศัยอยู่ที่เขาเสือมังกร เมื่อได้เข้าเฝ้าฮ่องเต้ เสนาหงจึงกราบทูลว่า ตนเองได้ไปเชิญเซียนวิเศษด้วยตนเอง แต่เนื่องจากเซียนวิเศษขี่นกกระเรียนเหาะมายังเมืองหลวง ตนเองต้องเดินทางด้วยเท้าจึงเพิ่งจะมาถึงวันนี้ ฮ่องเต้ปูนบำเน็จให้แก่เสนาหง แล้วไม่ทรงกล่าวอะไรอีก เหยินจงฮ่องเต้ครองราชย์อยู่ 42 ปี ไม่มีรัชทายาท บัลลังก์จึงตกแก่ ซ่งอิงจง (宋英宗) ซึ่งเป็นบุตรของ ผูอันอี๋อ๋อง หลานของ ซ่งไท่จงฮ่องเต้ ซ่งอิงจง ครองราชย์ได้ 4 ปี ก็สืบราชบัลลังค์ให้แก่ราชโอรส ซ่งเจ๋อจง (宋哲宗) แผ่นดินอยู่ในยุคสงบสุขตลอดมา จะว่าสงบสุขก็ไม่เชิงนัก เพราะท่ามกลางความสงบสุข ยังมีเรื่องราวของ 36 ดาวพญายม และ 72 ดาวเพชรฆาต ลงมาจุติในโลกมนุษย์ ที่แฝงเร้นราวกับเสือซ่อนมังกรหลบรออยู่ภายภาคหน้า




5/10/2552

少年杨家将 - ขุนศึกตระกูลหยาง

<<หยางหลิงกง - หยางเย่>>

หยางฟู่เหยิรน - เสอไซ่ฮวา>>

หยางเย่ เดิมเป็นขุนพลของแคว้นเป่ยฮั่น แต่ต่อมายอมสวามิภักดิ์ต่อซ่งไทจู่จ้าวควงอิ้นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ จึงได้รับการแต่งเป็นแม่ทัพ แต่เพราะสาเหตุที่เป็นขุนศึกสวามิภักดิ์ทำให้ลึกๆฮ่องเต้ไม่ค่อยจะให้ความไว้วางใจเท่าไหร่นัก

เสอไซ่ฮวา เป็นภรรยาของหยางเย่ มีลูกชาย 7 คน ลูกสาว 1 คน ในภาคนี้จะเน้นบทบาทการเป็นแม่ และภรรยา ที่ต้องดูแลสามีและลูกๆ

<<หยางซื่อหลาง - หยางเหยียนฮุย>>

<<หยางซื่อเหนียง - หลอซื่อ หนวี่>>

ลูกชายคนที่ 4 หยางซื่อหลาง พลัดพลากจากครอบครัวไปตั้งแต่ยังเด็กเพราะสงคราม ทำให้มีความแค้นกับตระกูลหยาง เปิดตัวในเรื่องด้วยชื่อ ฉิวมู่อี้ (ฉิว แปลว่าแค้น อักษร มู่ กับ อี้ เมื่อรวมกันจะเท่ากับ หยาง; ความหมายคือ แค้นหยาง) ต้องการที่จะมาแก้แค้นตระกูลหยาง หลอซื่อหนวี่ เป็นหมอรักษาโรค ในเรื่องจะมีบทรัก 3 เส้า กับ พานเป้า ที่เป็นลูกชายของพานเหยินเหม่ย คู่ปรับตลอดเรื่องของตระกูลหยาง เรื่องราวรัก 3 เส้าที่เกิดขึ้นระหว่าง หยางซื่อหลาง หลอซื่อหนวี่และ พานเป้า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นำไปสู่จุดสำคัญของเรื่อง

หยางอู่หลาง - หยางเหยียนเต๋อ>>

ลูกชายคนที่ 5 ในเรื่องเป็นคนที่มีฝืมือสูงที่สุดในบันดาลูกชายทั้ง 7 คน ( อาจจะเท่ากับ หยางซื่อหลาง) ในเรื่องนี้จะต้องห้ำหั่นกับ เยลวี่เสีย แม่ทัพแคว้นเหลียว ทั้งในสนามรบและสนามรัก กวนหง ช่างทำอาวุธ เป็นผู้หญิงที่มีนิสัยโผงผาง และอารมณ์ร้อน เป็นคนกลางที่อยู่ระหว่างหยางอู่หลางและเยลวี่เสีย ในเรื่องนี้การตัดสินใจครั้งสำคัญส่งผลต่อปลายทางของหยางอู่หลาง

หยางลิ่วหลาง - หยางเหยียนเจา>>

<<หยางลิ่วเหนียง - ท่านหญิงไฉ>>

ลูกชายคนที่ 6 เป็นคนที่มีนิสัยรักสนุกขี้เล่น ชอบประดิษฐ์เครื่องมือแปลกๆ ฉลาดและมีไหวพริบดี ในตอนต้นเรื่องยังมีความเห็นที่ไม่ค่อยลงรอยกับพ่อ แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ เป็นคนที่มีพัฒนาการทางความคิดก้าวหน้าไปมากที่สุด

ท่านหญิงไฉ เป็นผู้หญิงที่ค่อนข้างอารมณ์ร้อน และเอาแต่ใจนิดหน่อย มีบทบาทสำคัญในโครงเรื่องย่อยๆที่เกี่ยวกับความลับของฮ่องเต้ และ อ๋องแปด

นอกจากนี้ยังมีบทรัก 3 เส้ากับ หยางลิ่วหลางและพานอิ่ง

<<หยางชีหลาง - หยางเหยียนฉือ>>


<<หยางชีเหนียง - ตู้จินเอ๋อ>>
ลูกชายคนเล็ก เป็นคนขี้เล่น รักสนุก มองโลกในแง่ดี ขี้อ้อนตามประสาลูกคนเล็ก แต่เคยทำผิดพลาดจนเป็นสาเหตุให้หญิงคนรักคนแรกต้องตาย รวมถึงเป็นสาเหตุให้พานเป้าต้องตาย ตู้จินเอ๋อ เป็นลูกสาวหัวหน้าค่ายโจร ที่ต้องแต่งงานก่อนอายุครบ 18 ปีเพราะคำทำนายของหมอดู นิสัยร่าเริง ออกจะเปิ่นๆ เรื่องราวความรักระหว่างทั้ง 2 คนนี้เป็นตอนที่ดูแล้วสนุกและตลกที่สุดในเรื่องนี้

พงศาวดารเรื่องเปาบุ้นจิ้น โดย สนิท กัลยาณมิตรราชวงศ์ซ้องรัชกาลที่ 1 พระเจ้าซ้องไทโจ๊วฮ่องเต้ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ซ้อง เสด็จยกทัพไปปราบปรามเล่ากึนเมืองปักหั้น เอียเลงก๋ง (หยางเยี่ย) เจ้าเมืองซัวอ๋าวยกกองทัพมาช่วยข้างเล่ากึน สงครามจึงสงบกันไปคราวหนึ่ง พอดีพระเจ้าซ้องไทโจ๊วเสด็จสวรรคต เตียคังหงีพระอนุชาได้เสวยราชสมบัติ ทรงพระนามว่าพระเจ้าซ้องไทจงฮ่องเต้

รัชกาลที่ 2 พระเจ้าซ้องไทจงฮ่องเต้ เสด็จยกกองทัพหลวงไปตีเมืองปักหั้นอีก คราวนี้เกลี้ยกล่อม เอียเลงก๋ง (หยางเยี่ย) กับบุตรชายเจ็ดคนไว้ได้ หลังจากนั้นได้ยกทัพไปปราบเมืองไซเหลียวต่อไป เมื่อพระเจ้าซ้องไทจงฮ่องเต้ถูกล้อมอยู่ในระหว่างศึก เอียเลงก๋งกับบุตรก็ช่วยกันแก้ไขเอาพระเจ้าซ้องไทจงฮ่องเต้ออกมาได้ แต่ต้องสู้กับข้าศึกจน เอียเอียนเผง (หยางอี่หลาง) เอียเอียนเตง (หยางเอ้อหลาง) เอียเอียนฮุย (หยางซันหลาง) ตายในที่รบ และ เอียเอียนเต๊ก

(หยางอู่หลาง) หนีไปบวชจึงรอดจากเงื่อมมือข้าศึก ส่วน เอียเอียนหลัง (หยางซื่อหลาง) นั้นถูกพวกฮวนจับเอาไป เหลือแต่ตัวเอียเลงก๋ง (หยางเยี่ย) กับ เอียเอียนซือ (หยางชีหลาง) เอียเอียนเจียว (หยางลิ่วหลาง) บุตรสองคนรอดกลับมาได้ พระเจ้าซ้องไทจงฮ่องเต้จึงโปรดให้สร้างบ้านเทียนโปเหลากับบ้านบูเหนงฮู้พระราชทานเอียเลงก๋งเป็นเกียรติยศ ภายหลังเอียเลงก๋งกับเอียเอียนซือ (หยางชีหลาง) ถูกพัวยินหมุยขุนนางกังฉินกำจัดเสีย คงเหลือแต่เอียเอียนเจียว (หยางลิ่วหลาง) คนเดียว พระเจ้าซ้องไทจงฮ่องเต้ อยู่ในราชสมบัติได้ยี่สิบสองปีก็เสด็จสวรรคต

รัชกาลที่ 3 พระเจ้าซ้องจินจงฮ่องเต้ ทรงโปรดให้เอียเอียนเจียว (หยางลิ่วหลาง) เป็นแม่ทัพไปปราบปรามเมืองไซเหลียวและเมืองไซฮวนได้มาเป็นเมืองขึ้น เมื่อเอียเอียนเจียวตาย เมืองไซฮวนกลับกำเริบขึ้นอีก ครั้งนี้ถูกเอียจงเปาพร้อมกับพวกหญิงม่ายภายนายทหารพวกแซ่เอียสิบสองคนยกทัพไปปราบปราม เมื่อไซฮวนหมดกำลังลงก็ต้องยอมขึ้นแก่แผ่นดินซ้อง ตั้งแต่นั้นบ้านเมืองก็ราบคาบสิ้นเสี้ยนศัตรูแผ่นดิน บรรดาขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองหลวงก็ล้วนเป็นคนตงฉิน ฝ่ายพลเรือนมีโขวจุ้นเป็นใหญ่ ฝ่ายทหาร เอียจงเปา บุตรเอียเอียนเจียวได้บังคับบัญชาการงานทั้งปวงโดยสิทธิ์ขาด ทั้งยังมี เซงอิวอ๋อง (อ๋องแปด) พระราชบุตรของพระเจ้าซ้องไทโจ๊วฮ่องเต้ เนื่องจากไม่ยอมรับราชสมบัติ พระเจ้าซ้องไทจงฮ่องเต้จึงพระราชทานกระบองทองอาญาสิทธิ์ไว้สำหรับปราบปรามผู้ทุจริต ถึงแม้พระเจ้าแผ่นดินเองถ้าทำผิดก็ให้ลงอาญาตีได้ โปยอ๋องทรงทำการสิ่งใดล้วนแต่ยุติธรรมมิได้เห็นแก่หน้าบุคคล ราชการในเมืองหลวงทั่วทั้งพระราชอาณาเขตจึงเป็นที่เรียบร้อย
เอียจงเปา (หยางจงเป่า)

5/09/2552

เปาบุ้นจิ้น

เปาเจิ่ง包拯
ชื่อจริง เปาเจิ่ง包拯






งาน-อาชีพ ข้าราชการ(ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร)


สัญชาติ จีนเชื้อชาติ จีน


วุฒิสูงสุด บัณฑิตหลวงอันดับ 1
เปาเจิ่ง (จีน: 包拯; พินอิน: Bāo Zhěng) , สมัญญาว่า "ซีเหริน" (จีน: 希仁; พินอิน: Xīrén; "ยอดคน") , นามที่ได้รับการเฉลิมเมื่อถึงแก่กรรมแล้วว่า "เสี้ยวสู้" (จีน: 孝肅; พินอิน: Xiàosù; "ผู้เป็นปูชนียะประหนึ่งบิดามารดา") หรือส่วน​คำ​ว่า​ เปาบุ้นจิ้น ​นั้น​ ​เป็น​คำในสำ​เนียงแต้จิ๋ว ภาษาจีนกลางออกเสียงว่า​ เปาอุ๋นเจิ่ง ​หน้าสุสานบันทึก​ไว้​ว่า​ เปา​เซี่ยวซู่[1] มีชีวิตอยู่จริงในรัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิเหรินจงแห่งราชวงศ์ซ่ง มีชื่อเสียงมากและเป็นที่สรรเสริญในด้านความซื่อสัตย์และความยุติธรรม กระทั่งต่อมาภายหลังได้รับยกย่องในเอเชียว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความยุติธรรมและเป็นสัญลักษณ์แห่งความยุติธรรมโดยทั่วไปแล้ว ผู้คนมักคำนึงว่าเปาบุ้นจิ้นเป็นตุลาการ แต่ความจริงแล้วงานตุลาการเป็นหน้าที่หนึ่งในครั้งที่รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด เปาบุ้นจิ้นนั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหลายประเภท โดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหกเดือนก่อนถึงแก่อสัญกรรม


เปาบุ้นจิ้นนั้นเป็นที่เลื่องลือกันทั่วไปถึงความเข้มงวดในการปฏิบัติราชการ ความกตัญญูกตเวที และการปฏิเสธความอยุติธรรมและการทุจริตในหน้าที่ราชการชนิดหัวชนฝา ชื่อเสียงดังกล่าวทำให้เปาบุ้นจิ้นกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ยุติธรรม (จีน: 清官; พินอิน: qīngguān, ชิงกวน) และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วกระทั่งต่อมาได้รับความนับถือเลื่อมใสถึงขนาดยกย่องเสมอเทพเจ้า เรื่องราวเกี่ยวกับเปาบุ้นจิ้นได้รับการเล่าขานและปรากฏตัวในรูปมุขปาฐะ จนสมัยต่อ ๆ มามีการสร้างสรรค์วรรณกรรมหลายเรื่องเกี่ยวกับเปาบุ้นจิ้น เช่น เรื่อง "เปาเล่งถูกงอั้น" หรือ "ประมวลคดีของเปาบุ้นจิ้น" และเรื่อง "เจ็ดผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม" เป็นต้น ซึ่งวรรณกรรมเหล่านี้ได้มีการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ในชั้นปัจจุบัน และยังส่งผลระดับสูงถึงสูงมากต่อการปลูกฝังวัฒนธรรมที่ดีในประเทศที่มีการนำไปแพร่ภาพด้วย ทั้งนี้ ตามการวิจัยของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2541[1]วรรณกรรมข้างต้นทำให้เปาบุ้นจิ้นเป็นที่รู้จักในชื่อ "เปากง" (จีน: 包公; พินอิน: Bāo Gōng; "ปู่เปา" "ท่านเปา" หรือ "เจ้าเปา") "เปาไตจื้อ" (จีน: 包待制; พินอิน: Bāo Dāizhì; "ว่าที่ราชเลขาฯ เปา") "เปาหลงถู" (จีน: 包龍圖; พินอิน: Bāo Lóngtú; "เปาผู้เป็นประดุจมังกร" ชื่อนี้รู้จักในไทยว่า "เปาเล่งถู") และ "เปาชิงเทียน" (จีน: 包青天; พินอิน: Bāo Qīngtiān; "เปาผู้ทำให้ฟ้ากระจ่าง")เปาบุ้นจิ้นมีชีวิตอยู่ในช่วงก่อนสมัยสุโขทัยเมื่อเทียบกันแล้ว ส่วนชื่อ "เปาบุ้นจิ้น" ในไทยเป็นคำอ่านสำเนียงแต้จิ๋ว ซึ่งสำเนียงจีนกลางว่า "เปาอุ๋นเจิ่ง" หรือ "เปาเหวินเจิ่ง"[2] นอกจากนี้ ในไทยเอง คำ "เปาบุ้นจิ้น" หรือ "ท่านเปา" ยังมีความหมายว่า ตุลาการ ศาล หรือผู้พิพากษาอีกด้วย และบางทีก็เจาะจงว่าหมายถึงตุลาการที่เที่ยงธรรมด้ว ]ประวัติเปาบุ้นจิ้นถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวนักวิชาการแห่งนครเหอเฟย์ มณฑลอานฮุย ที่ซึ่งในปัจจุบันประดิษฐานวัดเจ้าเปา (จีน: 包公祠; พินอิน: Bāogōngcí; คำอ่าน: เปากงฉือ) วัดดังกล่าวสถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 1609 ใกล้กับสุสานของเปาบุ้นจิ้นเปาบุ้นจิ้นนั้นเมื่ออายุได้ยี่สิบเก้าปีได้เข้ารับการทดสอบหลวง และผ่านการทดสอบระดับสูงสุด ได้รับแต่งตั้งเป็นบัณฑิตเรียกว่า "จินฉื่อ" (พินอิน: Jinshi) และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงไคฟง อันเป็นเมืองหลวงแห่งประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ซ้งมีประวัติ​เล่าว่า​เปาบุนจิ้นรับราชการ​เป็น​เวลา​ 45 ​ปี​ ​ใน​ฝ่ายบริหาร​ ​เริ่มตั้งแต่นายอำ​เภอ​ ​เจ้า​เมือง​ ​ผู้​ตรวจราชการแผ่นดิน​ ​เจ้า​เมืองไคฟง ​เสนาบดีการคลัง​ ​เป็น​ต้น​ ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่ในราชการ เปาบุ้นจิ้นไม่ปรานีและประนีประนอมกับความทุจริตใด ๆ เลย เปาบุ้นจิ้นนั้นมีนิสัยรักและเทิดทูนความยุติธรรม ปฏิเสธที่จะเข้าถึงอำนาจหน้าที่โดยวิถีทางอันมิชอบ บุคคลผู้หนึ่งที่ชิงชังเปาบุ้นจิ้นนักได้แก่ราชครูผัง (จีน: 龐太師; พินอิน: Pángtàishī; คำอ่าน: ผังไท้ชือ) อย่างไรก็ดี ยังไม่ปรากฏข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่แน่ชัดรับรองว่าราชครูผังผู้นี้มีความชิงชังในเปาบุ้นจิ้นจริง นอกจากนี้ การปฏิบัติราชการโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างไม่เห็นแก่หน้าผู้ใดยังทำให้เปาบุ้นจิ้นมีความขัดแย้งกับข้าราชการชั้นสูงบางกลุ่ม ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีซ้งหยาง (พินอิน: Song Yang) เปาบุ้นจิ้นเคยสั่งลดขั้นตำแหน่งและปลดข้าราชการถึงสามสิบคนในคราเดียวกัน เหตุเพราะทุจริตต่อหน้าที่ราชการ รับและ/หรือติดสินบน และละทิ้งหน้าที่ราชการ กับทั้งเปาบุ้นจิ้นยังเคยกล่าวโทษจางเหยาจั๋ว (พินอิน: Zhang Yaozhuo) พระปิตุลาของพระวรชายา ถึงหกครั้ง อย่างไรก็ดี เนื่องจากความซื่อสัตย์และเฉียบขาดในการปฏิบัติหน้าที่ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมเด็จพระจักรพรรดิเหรินจงจึงมิได้พระราชทานราชทัณฑ์แก่เปาบุ้นจิ้นในอันที่ได้ล่วงเกินบุคคลสำคัญดังกล่าวนี้เพื่อนร่วมงานและผู้สนับสนุนคนสำคัญคนหนึ่งของเปาบุ้นจิ้น ได้แก่ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอพระองค์ที่แปดในสมเด็จพระจักรพรรดิ (จีน: 八王爺; พินอิน: Bāwángyé; คำอ่าน: ปาหวังอี๋ ในละครโทรทัศน์เรื่องเปาบุ้นจิ้นที่พากย์เป็นภาษาไทยมักเรียกว่า "อ๋องแปด") สมเด็จพระบรมวงศ์เธอผู้นี้เป็นพระมาตุลาในสมเด็จพระจักรพรรดิเหรินจงเปาบุ้นจิ้นไม่เคยรับของขวัญใด ๆ เลยแม้จะเป็นชิ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงคำครหาและความไม่เหมาะสมต่าง ๆด้านความเป็นอยู่ส่วนตัวและอัธยาศัยนั้น ประวัติศาสตร์จีนบันทึกไว้ว่า เปาบุ้นจิ้นเป็นคนตรงไปตรงมา รังเกียจข้าราชการฉ้อราษฎร์บังหลวง และกดขี่ขูดรีดประชาชน แม้จะเกลียดคนเลวแต่ก็มิใช่เป็นคนดุร้าย เปาบุ้นจิ้นเป็นคนซื่อสัตย์และให้อภัยคนทำผิดโดยไม่เจตนา กับทั้งไม่เคยคบคนง่าย ๆ อย่างไร้หลักการ ไม่เสแสร้งทำหน้าชื่นและป้อนคำหวานเพื่อเอาใจคน มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเปิดเผย ไม่มีลับลมคมใน จึงไม่มีฝักไม่มีฝ่าย แม้ว่ายศฐาบรรดาศักดิ์สูงส่ง แต่เสื้อผ้า เครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย และอาหารการกินก็ไม่ได้แตกต่างจากเมื่อครั้งยังเป็นสามัญชนเลยการที่เปาบุ้นจิ้นได้รับยกย่องว่าเป็นประดุจเทพเจ้าแห่งความยุติธรรมทำให้ชาวจีนเชื่อว่า เปาบุ้นจิ้นนั้นกลางวันตัดสินคดีความในมนุษยโลก กลางคืนไปตัดสินคดีความในยมโลก



ในงิ้วตลอดจนในละครและภาพยนตร์ ผู้แสดงมักแสดงเป็นเปาบุ้นจิ้นโดยมีใบหน้าสีดำ และมีพระจันทร์เสี้ยวอันเป็นเครื่องหมายที่มีมาแต่กำเนิดประดิษฐานอยู่บนหน้าผาก กับทั้งเปาบุ้นจิ้นยังใช้เครื่องประหารเป็นชุดซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระจักรพรรดิอีกด้วย



โดยชุดเครื่องประหารประกอบด้วย เครื่องประหารหัวสุนัขสำหรับประหารอาชญากรที่เป็นสามัญชน เครื่องประหารหัวพยัคฆ์สำหรับอาชญากรที่เป็นข้าราชการและผู้มีบรรดาศักดิ์ และเครื่องประหารหัวมังกรสำหรับพระราชวงศ์ นอกจากนี้ เปาบุ้นจิ้นยังได้รับพระราชทานหวายทองคำจากสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ก่อนโดยให้สามารถใช้เฆี่ยนตีสั่งสอนสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ปัจจุบันได้ และกระบี่อาญาสิทธิ์โดยให้มีอาญาสิทธิ์สามารถประหารผู้ใดก็ได้นับแต่สามัญชนจนถึงเจ้าโดยไม่ต้องได้รับพระราชานุญาตก่อนตามธรรมเนียมปฏิบัติ แต่หลังจากประหารแล้วให้จัดทำรายงานกราบบังคมทูลทราบพระกรุณาด้วย เป็นที่มาของสำนวนจีนว่า "ฆ่าก่อน รายงานทีหลัง" (จีน: 先斬後奏; พินอิน: xiānzhǎnhòuzòu, เซียนฉ่านโฮ้วโจ้ว)



ในวรรณกรรมจีนหลายเครื่อง ระบุถึงคดีสำคัญที่ได้รับการตัดสินโดยเปาบุ้นจิ้น ดังต่อไปนี้
คดีฉาเม่ย (จีน: 鍘美; พินอิน: zháměi) : เปาบุ้นจิ้นได้ตัดสินประหารเฉินชื้อเม่ย (จีน: 陳世美; พินอิน: Chénshìměi) ผู้ทอดทิ้งภรรยาไปสมรสกับพระราชวงศ์จนได้รับพระราชทานยศเป็นพระราชบุตรเขย และต่อมาได้พยายามฆ่าภรรยาผู้นั้นเนื่องจากนำความไปร้องต่อศาลกรุงไคฟง ชื่อคดีนี้รู้จักกันทั่วไปจากละครโทรทัศน์ชุดเปาบุ้นจิ้นในชื่อ "คดีประหารราชบุตรเขย"
คดีหลีเมาฮ้วนไท้จี๋ (จีน: 貍貓換太子; พินอิน: límāohuàntàizǐ) : หรือคดีเกี่ยวกับการทำลายชื่อเสียงของพระวรชายาด้วยการลักลอบนำชะมดมาสับเปลี่ยนกับพระราชโอรสที่เพิ่งมีประสูติกาลและต่อไปจะได้ทรงเป็นมกุฎราชกุมาร คดีนี้มีขันทีชื่อกัวหวาย (จีน: 郭槐; พินอิน: Guōhuái) เป็นจำเลย
ขันทีกัวหวายนั้นสนับสนุนงานของเปาบุ้นจิ้นมาตลอดและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระจักรพรรดิ ทำให้กระบวนการสอบสวนเป็นไปได้โดยลำบาก เปาบุ้นจิ้นจึงปลอมตัวเป็นหยานหลัว (จีน: 阎罗; พินอิน: Yánluó; มัจจุราช) และจำลองยมโลกขึ้นเพื่อล่อลวงให้ขันทีรับสารภาพ ชื่อคดีนี้รู้จักกันทั่วไปจากละครโทรทัศน์ชุดเปาบุ้นจิ้นในชื่อ "คดีสับเปลี่ยนองค์ชาย" ​ประวัติของเปาบุ้นจิ้น​ส่วน​ใหญ่​เน้นที่การตัดสิน​ความ​ ​แม้ว่า​ความ​จริง​แล้ว​ ​เปาบุ้นจิ้น​ไม่​ได้​มีอาชีพ​เป็น​ตุลาการ​โดย​ตรงก็ตาม​ ​ความ​เด็ดเดี่ยว​ ​กล้าตัดสินใจ​ ​ทำ​ให้​ผู้​คนพา​กัน​ยกย่อง​ ​และ​คอยร้องทุกข์ต่อเปาบุ้นจิ้นเสมอ เปาบุ้นจิ้นมีหลัก​ใน​การบริหารว่า​ "จิตใจสะอาด​ ​บริสุทธิ์​ ​คือหลักแก้​ไขปัญหามูลฐาน​ ​ความ​เที่ยงตรง​เป็น​หลัก​ใน​การดำ​เนินชีวิต​ ​จงจดจำ​บทเรียน​ใน​ประวัติศาสตร์​ไว้​ ​อย่า​ให้​คนรุ่นหลังเย้ยหยัน​ได้​" นอกเหนือ​จาก​การตัดสินคดีอย่างตรงไปตรงมา​แล้ว​ ​เปาบุ้นจิ้นก็​ยัง​มีชื่อเสียง​ ​ใน​ฐานะข้าราชการตงฉิน ​ไม่​เคยรับสินบน​ใดๆ​ ​แม้​จะ​เป็น​ของขวัญ​เล็กๆ​ ​น้อยๆ​ ​ก็ตาม มีการเขียนยกย่องเปาบุ้นจิ้น​ไว้​ใน
​หนังสือประวัติศาสตร์จีน​ ​ว่า​ ​"​เป็น​คนตรงไปตรงมา​ ​รังเกียจข้าราชการฉ้อราษฎร์บังหลวง​ ​และ​กดขี่ขูดรีดประชาชน​ ​แม้​จะ​เกลียดคนเลว​ ​แต่ท่านก็มิ​ใช่​เป็น​คนดุร้าย​ ​ท่าน​เป็น​คนซื่อสัตย์​และ​ให้​อภัยคนทำ​ผิด​โดย​ไม่​เจตนา​ ​ท่าน​ไม่​เคยคบคนง่ายๆ​ ​อย่างไร้หลักการ​ ​ไม่​เสแสร้งทำ​หน้าชื่น​และ​ป้อนคำ​หวานเพื่อเอา​ใจคน​ ​ท่านมีชีวิต​ความ​เป็น​อยู่​อย่างเปิดเผย​ ​ไม่​มีลับลมคม​ใน​ ​จึง​ไม่​มีฝัก​ไม่​มีฝ่าย​ ​แม้ว่ายศฐาบรรดาศักดิ์สูงส่ง​ ​เสื้อผ้า​ ​เครื่อง​ใช้​และ​อาหารการกินก็​ไม่​ได้​แตกต่าง​จาก​เมื่อครั้ง​ยัง​เป็น​คนสามัญธรรมดา​เลย​ ​เปาบุ้นจิ้นนับว่า​เป็น​คนที่มีอายุยืนยาวคนหนึ่ง​ ​เปาบุ้นจิ้นมีอายุ​ถึง​ 105 ​ปีก่อน​จะ​สิ้นใจ




ข้อเท็จจริง​ใน​ประวัติศาสตร์​เกี่ยว​กับ​เปาบุ้นจิ้นนี้มีปรากฏการบันทึก​ไว้​เพียง​เล็ก​น้อย​ ​แต่มีการแต่ง​ไว้​ใน​เรื่องพื้นบ้าน​ ​นิทาน​ ​หรือ​ละครมากมาย​ ​ซึ่ง​นับ​ได้​ว่า​เรื่องราวการสอบสวนคดีของเปาบุ้นจิ่น​ ​ถือ​เป็น​นิยายแนวสืบสวนสอบสวนเรื่องแรกของโลก​ด้วย​ ​ไม่​ว่า​จะ​เรื่องราวเหล่า​นั้น​แปลกออกไปเพียง​ใด​ ​เนื้อแท้ก็คง​ยัง​ต้อง​การสะท้อน​ความ​จริงที่ว่าสังคม​ยัง​ต้อง​การยกย่องคนทำ​ดี​ ​และ​มี​ความ​ชื่นใจที่คนทำ​ชั่ว​ได้​รับผลกรรม เกียรติศัพท์และคดีของเปาบุ้นจิ้นได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์ยอดนิยมในปัจจุบันหลายครั้งหลายคราอนึ่ง ได้มีการนำรูปเคารพที่เชื่อกันว่าสร้างขึ้นหลังจากเปาบุ้นจิ้นถึงแก่อนิจกรรมนั้นมาประดิษฐานในประเทศไทย โดยตั้งอยู่ที่อเนกกุศลศาลา ใกล้กับวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีปัจจุบัน​ ​เปาบุ้นจิ้น​ได้​รับการเคารพยกย่องเสมือนเทพเจ้าองค์หนึ่ง​ ​ทั้ง​จาก​ชาวจีนแผ่นดิน​ใหญ่​ ​ชาวจีนโพ้นทะ​เล​ ​และ​ชนชาติ​แม้กระทั่งชาวไทย​ ​และ​มีการสร้างเรื่องราว​เป็นภาพยนตร์และ​ละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง รูปเคารพที่ว่า​กัน​ว่าสร้างหลัง​จาก​เปาบุ้นจิ้น​ถึง​แก่อนิจกรรม​ได้​นำ​มา​ไว้​ใน​เมืองไทย​โดย​ตั้ง​อยู่​ที่อเนกกุศลศาลา (วิหารเซียน) ​ใกล้​กับวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อ​.​บางละมุง จ​.​ชลบุรี




คณะเปาบุ้นจิ้นตามวรรณกรรมในวรรณกรรมจีนส่วนใหญ่ เปาบุ้นจิ้นมีคณะผู้ช่วย ประกอบด้วยองครักษ์ จั่นเจา (พินอิน: Zhan Zhao) ชายผู้มีพละกำลังมหาศาลและมีฝีมือในการต่อสู้ชนิดยากหาใครเทียบได้ ในวรรณกรรมบางเรื่อง องค์รักษ์จั่นเจาถือว่าเป็นตัวแทนแห่งฝ่ายทหารหรือฝ่ายบู๊ ในขณะที่เปาบุ้นจิ้นเป็นตัวแทนแห่งฝ่ายพลเรือนหรือฝ่ายบุ๋น ที่ปรึกษาและเลขานุการ


กงซุนเช่อ (พินอิน: Gongsun Ce) ชายผู้มีสติปัญญาและความซื่อสัตย์เป็นเลิศที่คอยช่วยเหลือเปาบุ้นจิ้นในกิจการต่าง ๆ กงซุนเช่อนี้เชื่อกันว่ามีที่มาจากขงเบ้งของเล่าปี่ในวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก เจ้าหน้าที่ใหญ่สี่นาย หวังเฉา, หม่าฮั่น, จางหลง และจ้าวหู่ (พินอิน: Wang Chao, Ma Han, Zhang Long, Zhao Hu) ซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาขององค์รักษ์จั่นเจาอีกทอดหนึ่ง โดยสองนายแรกเป็นองค์รักษ์ฝ่ายซ้ายของเปาบุ้นจิ้น อีกสองเป็นฝ่ายขวา ผู้ช่วยทั้งหมดนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และความสามารถศาลไคฟงศาลไคฟงอันเป็นที่ว่าความของเปาบุ้นจิ้นนั้น ปัจจุบันอยู่ในอำเภอไคฟงหรืออดีตคือกรุงไคฟง จังหวัดเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน เดิมจมน้ำพังทลายไปหมดสิ้น ต่อมารัฐบาลจีนได้บูรณะขึ้น ปัจจุบันในเวลาเก้านาฬิกาของทุก ๆ วัน จะมีผู้แต่งกายเป็นเปาบุ้นจิ้นออกมาเปิดศาลไคฟงรับเรื่องราวร้องทุกข์และพิจารณาคดี นอกจากนี้ ที่ศาลใหม่ดังกล่าวมีการจัดแสดงไว้ที่หน้าห้องว่าความซึ่งชุดเครื่องประหารของเปาบุ้นจิ้น ด้านในห้องมีหุ่นขี้ผึ้งของคณะเปาบุ้นจิ้น ด้านมี "ชิงซินโหลว" หรือ "บ้านใจบริสุทธิ์" เชื่อกันว่าเป็นจวนของเปาบุ้นจิ้น โดยเป็นหอสูงสี่ชั้น ชั้นที่หนึ่งปัจจุบันมีรูปปั้นเปาบุ้นจิ้นอยู่ รูปปั้นนี้หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ สูง 3.8 เมตร หนัก 5.6 ตัน นับเป็นรูปปั้นที่หนักที่สุดในเมืองจีน