6/03/2552

ราชวงศ์หมิง (1368-1644) - ตอนที่ 1

เมื่อทุพภิกขภัยแพร่ขยายลุกลามไปทุกหย่อมหญ้า กองทัพชาวนากลุ่มแล้วกลุ่มเล่าจึงลุกฮือขึ้นทวงความเป็นธรรมจากชนชั้นผู้ปกครองแห่งราชวงศ์หยวน จูหยวนจางผู้นำกลุ่มที่ถือกำเนิดจากลูกชาวนา ได้นำกองกำลังบุกยึดอิ้งเทียนฝู่ จากนั้นส่งทัพตะลุยขึ้นเหนือขับไล่ชาวมองโกลออกจากผืนปฐพีจงหยวน รวบรวมอำนาจและแผ่นดินกลับสู่เงื้อมมือของชาวฮั่นเป็นครั้งสุดท้าย....

ราชวงศ์หมิงหรือต้าหมิง (大明)เป็นราชวงศ์สุดท้ายที่สถาปนาขึ้นโดยชนชาติฮั่น ภายใต้กองทัพประชาชนที่นำพาโดยจูหยวนจางในปีค.ศ. 1368 ด้วยการตั้งอิ้งเทียนฝู่ (นานกิง) ขึ้นเป็นราชธานี ใช้ชื่อรัชกาลว่าหงอู่ และขนานนามตนเองเป็นหมิงไท่จู่(明太祖) จากนั้นทรงออกปราบปรามกองกำลังต่างๆที่เหลืออยู่ในซื่อชวน (เสฉวน) หยุนหนัน (ยูนนาน) อีกทั้งบุกขึ้นทางเหนือจนแผ่นดินมีความเป็นปึกแผ่น

ปฐมฮ่องเต้ราชวงศ์หมิงนามจูหยวนจาง เดิมถือกำเนิดในอำเภอเพ่ย มณฑลเจียงซู มีนามว่าจูจ้งปา ในวัยเยาว์จูหยวนจางมักจะแวะเวียนไปเที่ยวเล่นที่วัดหวงเจี๋ยว์ จนเจ้าอาวาสที่วัดให้ความเอ็นดูในความฉลาดหลักแหลม และสอนการอ่านเขียนให้ จนทำให้จูหยวนจางสามารถรู้หนังสือได้ในระดับหนึ่ง

เมื่อจูหยวนจางอายุได้ 17 ปีได้เกิดภัยแล้ง ภัยจากตั๊กแตน และโรคระบาดขึ้น ทำให้บิดา มารดา และพี่ของเขาทยอยเสียชีวิตไปในเวลาเพียงครึ่งเดือน จูหยวนจางจึงตัดสินใจปลงผมออกผนวช โดยมีหน้าที่คอยจุดธูป กวาดพื้น ตีระฆัง อีกทั้งในช่วงเวลานั้นยังต้องอดทนต่อการถูกหลวงจีนรูปอื่นๆค่อนขอดว่าออกบวชเพื่อให้มีข้าวกิน

ภายหลังภัยแล้งลุกลามสาหัสขึ้น ทำให้แม้แต่วัดวาอารามอันเป็นสถานที่ต้องอาศัยผู้คนมาบริจาคก็อยู่ไม่รอด เจ้าอาวาสจำต้องส่งพระสงฆ์ให้ออกไปธุดงค์หาทางอยู่รอดเอาเอง จูหยวนจางจึงต้องแบกสัมภาระติดตามขบวนธุดงค์ออกมา ซึ่งในช่วงเวลาที่ออกธุดงค์นี่เอง ทำให้จูหยวนจางได้เห็นและสัมผัสถึงความทุกข์ยากของประชาชน

ผ่านไป 3 ปีจูหยวนจางได้กลับมายังวัดหวงเจี๋ยว์อีกครั้ง เขาได้รับจดหมายชักชวนจากสหายนามทังเหอให้ไปเข้าร่วมกองทัพประชาชนภายใต้ธงของกัวจื่อซิง (郭子興)หลังจูหยวนจางไปเข้าร่วมกับกองทัพ ได้สร้างผลงานทางการศึกหลายครั้ง บวกกับเป็นคนที่อ่านออกเขียนได้ในระดับหนึ่ง จึงได้รับการให้ความสำคัญจากกัวจื่อซิงเป็นอย่างยิ่ง จนได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในแม่ทัพสำคัญในกองทัพ อีกทั้งได้แต่งงานกับบุตรีบุญธรรมของกัวจื่อซิง กระทั่งภายหลังจึงได้ออกจากหาวโจวซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของกัวจื่อซิง สร้างกองกำลังของตนขึ้นมา

กองทัพภายใต้การนำพาของจูหยวนจางได้บุกเข้ายึดจี๋ชิ่ง (นานกิงในปัจจุบัน) แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นอิ้งเทียนฝู่ จากนั้นก็ค่อยๆขยายกองกำลังไปเรื่อยๆ สามารถบุพิชิตกองทัพของเฉินโหย่วเลี่ยงได้ในปี 1367 เอาชนะกองกำลังของจางซื่อเฉิง (张士诚) จนจางซื่อเฉิงต้องฆ่าตัวตาย กระทั่งเมื่อเอาชนะกองกำลังตามแนวชายฝั่งเจ้อเจียงของฟังกั๋วเจิน (方国珍)ได้ จึงตั้งตนขึ้นเป็นฮ่องเต้ และทำให้ประเทศจีนได้กลับคืนสู่ความเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง
ประหารขุนนาง – ยกเลิกเสนาบดี - จัดอำนาจรวมศูนย์

หลังจูหยวนจาง หรือที่ถูกขนานพระนามตามชื่อรัชกาลว่าฮ่องเต้หงอู่ขึ้นครองราชย์ ได้ทุ่มเทเพื่อที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม และผลผลิตในประเทศ โดยด้านหนึ่งพยายามลดภาระของประชาชนและชาวนา ในขณะที่อีกด้านก็เร่งปฏิรูประบบการปกครองที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งลงโทษขุนนางที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง

โดยในช่วงเวลานี้ หมิงไท่จู่ได้ให้โอกาสชาวบ้านที่ต้องอพยพเพราะภัยสงครามจนไม่มีที่ทำกิน ให้เข้าไปจับจองที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า โดยทางการจะเป็นผู้จัดหาพันธุ์พืชและเครื่องมือให้ นอกจากนั้นยังมีการยกเว้นภาษีและการเกณฑ์แรงงานให้กับผู้ที่ไปบุกเบิกพื้นที่ใหม่ๆเป็นเวลา 3 ปี ทำการส่งเสริมด้านชลประทาน ทำให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยลำดับ


ทว่าในด้านการปฏิบัติต่อขุนนางนั้น แม้ในช่วงต้นของการสถาปนาราชวงศ์ จะมีการปูนบำเหน็จและพระราชทานตำแหน่งให้กับขุนนางที่มีผลงาน ทว่าเพื่อที่จะรวบอำนาจให้รวมศูนย์ไว้ที่องค์ฮ่องเต้ บวกกับการที่มีนิสัยเป็นคนที่ระแวงสงสัยในตัวผู้อื่น ทำให้ในรัชกาลหงอู่มีการประหารฆ่าขุนนางผู้มีคุณูปการไปไม่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกรณีสำคัญที่เห็นได้ชัดก็อย่างเช่นกรณีของหูเหวยยง (胡惟庸) กับหลันอี้ว์ (蓝玉)

หูเหวยยงได้เข้ากองทัพติดตามจูหยวนจางที่เหอโจว ได้เป็นที่ปรึกษาที่สำคัญตั้งแต่ก่อนจะครองราชย์ จนกระทั่งได้ดำรงตำแหน่งอัครเสนาบดีในเวลาต่อมา หูเหวยยงได้รับความโปรดปรานจากหมิงไท่จู่เป็นอย่างยิ่ง ทำให้เริ่มมีอิทธิพลและกุมอำนาจต่างๆเอาไว้ในมือ มีขุนนางจำนวนมากที่มาเข้าเป็นสมัครพรรคพวกมากมาย จนมักกระทำการโดยพลการอยู่เสมอ อย่างเช่นฎีกาที่เหล่าขุนนางเขียนถวายฮ่องเต้ หากมีฎีกาใดที่ไม่เป็นประโยชน์กับตนก็จะไม่ยอมถวายขึ้นไป

สุดท้ายในปีค.ศ. 1380 เมื่อมีคนกล่าวโทษว่าหูเหวยยงนั้นมีความคิดที่จะก่อกบฏ หมิงไท่จู่จึงมีรับสั่งให้ประหารหูเหวยยง พร้อมทั้งถือโอกาสในการกวาดล้างวงศ์ตระกูลและสมัครพรรคพวกของหูทั้งหมด นอกจากนั้นในภายหลังยังมักจะอาศัยข้ออ้างการเป็นพรรคพวกของหูเหวยยงเป็นอาวุธในการปกครอง กล่าวคือเมื่อใดที่ทรงระแวงสงสัยบุคคล ขุนนาง หรือเจ้าของที่ดินคนไหน ที่คาดว่าอาจจะเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ ก็จะถูกประหารด้วยข้อกล่าวหาดังกล่าว แม้กระทั่งล่วงเลยมาถึง 10 ปียังมีการอาศัยข้อหานี้ทำการประหารครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยในคดีดังกล่าวตั้งแต่ต้นจนจบ มีผู้ที่ถูกประหารชีวิตไปทั้งสิ้นกว่า 30,000 คน

ส่วนหลันอี้ว์ เป็นแม่ทัพที่เคยสร้างผลงานในการศึกสงครามมากมาย จนได้รับการพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเหลียงกั๋วกง แต่ด้วยความถือดีที่มีผลงาน จึงใช้อำนาจบาตรใหญ่ ไม่รักษากฎหมาย และไม่รักษาธรรมเนียมจารีตของความเป็นขุนนางกับฮ่องเต้ ภายหลังได้ถูกจับตัวในข้อหาเตรียมก่อการกบฏ โดยการลงโทษในครั้งนี้มีผู้ที่ร่วมสังเวยชีวิตไปอีกกว่า15,000 คน นอกจากคดีหู-หลันแล้ว ความระแวงที่หมิงไท่จู่มีต่อเหล่าขุนนาง ได้ลุกลามไปจนกระทั่งบรรดาขุนนางที่เคยมีคุณูปการในครั้งบุกเบิกแผ่นดินมาด้วยกันกับจูหยวนจางถูกประหารไปแทบหมดสิ้น จนเรียกได้ว่าคนที่รอดชีวิตได้นั้นมีน้อยจนนับได้

หลังจากเกิดเหตุการณ์คดีหูเหวยยงแล้ว จูหยวนจางจึงได้ยกเลิกระบบอัครเสนาบดี แล้วแบ่งอำนาจการปกครองออกเป็น 6 กระทรวงได้แก่กระทรวงการปกครอง การคลัง พิธีการ กลาโหม ราชทัณฑ์ (ยุติธรรม) และโยธาฯ โดยแต่ละกระทรวงให้มีเจ้ากระทรวง 1 คนกับผู้ช่วยอีก 2 คน และให้เจ้ากระทรวงทั้ง 6 ขึ้นตรงต่อฮ่องเต้ อีกทั้งได้กำหนดรูปแบบให้กระทรวงกลาโหมจัดสรรกำลังประกอบด้วย 5 กองบัญชาการได้แก่ กองบัญชาการฝ่ายซ้าย ขวา หน้า หลังและกลาง

จากความระแวงที่เกิดขึ้น ยังทำให้มีการจัดตั้งหน่วยงานสำคัญที่มีในการตรวจสอบขึ้น ได้แก่สำนักงานตรวจการ(督察院) และหน่วยงานองครักษ์เสื้อแพร (锦衣卫) เพื่อให้เป็นหน่วยงานพิเศษในการตรวจสอบขุนนางในราชสำนักและราษฎรทั่วราชอาณาจักร จากนั้นยังทรงแต่งตั้งพระโอรสทั้งหลายให้ออกไปเป็นเจ้ารัฐประจำอยู่ในหัวเมืองต่างๆ โดยมีเป้าหมายในด้านหนึ่งเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งและศักยภาพในการป้องกันชาวมองโกลจากทางเหนือ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เป็นมาตรการป้องกันการร่วมมือระหว่างเหล่าองค์ชายกับขุนนางกังฉินในราชสำนักเพื่อชิงราชบัลลังก์ อีกทั้งทรงตรามาตรการเสริมเพื่อป้องกันการใช้อำนาจบาตรใหญ่จนเกินควบคุมของบรรดาเชื้อพระวงศ์ ด้วยการบัญญัติไว้ว่า สำหรับฮ่องเต้ในอนาคตหากมีความจำเป็น ให้สามารถถอดถอนเจ้ารัฐหัวเมืองเหล่านี้ได้

การดำเนินมาตรการต่างๆดังกล่าว นับได้ว่าปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิงได้ทรงสร้างระบบรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จขึ้น โดยเฉพาะการยกเลิกตำแหน่งเสนาบดี อันถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบสังคมการปกครองจีน เนื่องจากนับย้อนไปตั้งแต่สมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้รวบรวมแผ่นดินจีนเป็นปึกแผ่นเป็นต้นมา ตำแหน่งเสนาบดีก็ดำรงอยู่ในฐานะของการเสริมพระราชอำนาจของฮ่องเต้มาโดยตลอด อีกทั้งในหลายครั้งยังเป็นอำนาจที่คอยถ่วงดุลพระราชอำนาจของฮ่องเต้เอาไว้ การที่หมิงไท่จู่ยกเลิกระบบดังกล่าว จึงเป็นการทำให้ฮ่องเต้สามารถใช้พระราชอำนาจโดยตรงยิ่งและเต็มที่มากยิ่งขึ้น


ราชธานีปักกิ่ง - สารานุกรมหย่งเล่อ

หลังหมิงไท่จู่ได้ทรงลงอาญาต่อขุนนางจำนวนมาก และส่งโอรสทั้ง 24 คนไปเป็นเจ้าหัวเมืองต่างๆ ทำให้ทรงเชื่อว่าหลังจากนี้ไปราชวงศ์ที่ก่อตั้งขึ้นมาก็จะมีเสถียรภาพอันมั่นคง ท่ามกลางบรรดาโอรสที่ส่งออกไปนั้น กลุ่มที่ไปครองหัวเมืองทางเหนือจะมีกำลังแข็งแกร่งมากที่สุด เนื่องจากมีภารกิจต้องป้องกันมองโกลจากทางเหนือ ซึ่งในกลุ่มดังกล่าวมีพระโอรสองค์ที่ 4 นามจูตี้ผู้เป็นเจ้าครองรัฐเอี้ยน (燕王朱棣) กับเจ้ารัฐจิ้นที่มีกำลังกล้าแข็งที่สุด

ในปีที่หมิงไท่จู่ทรงมีพระชนม์มายุ 64 พรรษา รัชทายาทนามจูเปียว (朱标) กลับมาด่วนสิ้นพระชนม์ไปโดยกะทันหัน จูหยวนจางทรงเสียพระทัยมาก จึงได้แต่งตั้งจูหยุ่นเหวิน(朱允炆)บุตรชายของจูเปียวขึ้นเป็นรัชทายาทแทน

การตัดสินพระทัยในครั้งนี้ถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ประการหนึ่ง เพราะหลังจากที่หมิงไท่จู่สวรรคต จูหยุ่นเหวินได้ขึ้นครองราชย์ด้วยวัยเพียง 21 พรรษามีพระนามว่าฮุ่ยตี้ (惠帝) มีชื่อรัชกาลว่า เจี้ยนเหวิน (建文) หลังก้าวสู่บัลลังก์มังกรไม่นาน ฮุ่ยตี้ทรงเชื่อข้อเสนอที่ให้ยกเลิกเจ้ารัฐหัวเมืองของขุนนางใหญ่อย่างฉีไท่ หวงจื่อเฉิง จึงทยอยปลดเจ้ารัฐโจว รัฐไต้ รัฐฉี รัฐเซียง โดยบางคนถูกลดขั้นเป็นสามัญชน บ้างก็ถูกประหาร อีกทั้งใช้ข้ออ้างป้องกันชายแดง โยกย้ายกองกำลังของเจ้ารัฐเอี้ยน เพื่อเตรียมปลดในลำดับต่อไป ทว่าคำสั่งนี้ถูกเจ้ารัฐเอี้ยนได้แก้ลำด้วยการใช้ข้ออ้าง “กำจัดขุนนางชั่วข้างกายฮ่องเต้” (清君側) เคลื่อนทัพลงใต้ ยกพลมุ่งลงมายังอิ้งเทียนฝู่ โดยเรียกชื่อกองทัพว่า “กองทหารจิ้งหนัน” (靖难之役)ที่มีความหมายว่า กองทหารกำจัดเภทภัยภายในขึ้น

สงครามกลางเมืองครั้งนี้กินเวลายืดเยื้อกว่า 3 ปี กระทั่งปีค.ศ. 1402 เมื่อกองทัพของจูตี้บุกถึงเมืองหลวง หลีจิ่งหลง แม่ทัพรักษาเมืองได้เปิดประตูเมืองให้ทัพจิ้งหนานเข้าเมือง ทว่าในยามนั้น กลับมองเห็นว่าพระราชวังเกิดเพลิงลุกโหมพวยพุ่ง กว่าที่เจ้ารัฐเอี้ยน-จูตี้ได้ส่งทหารเพื่อไปดับเพลิง ก็พบว่ามีคนถูกคลอกตายไปแล้วไม่น้อย ในขณะที่หมิงฮุ่ยตี้ก็เหมือนหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้เรียกเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า “การจลาจลจิ้งหนาน” (靖难之变)

เมื่อยึดครองเมืองอิ้งเทียนได้แล้ว จูตี้จึงปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ ทรงมีพระนามว่าหมิงเฉิงจู่ (明成祖) และตั้งชื่อรัชกาลว่า “หย่งเล่อ” (永乐) หลังทรงครองราชย์แล้ว หมิงเฉิงจู่ได้ดำเนินการกวาดล้างครั้งใหญ่ โดยมีขุนนางผู้ใหญ่ข้างกายหมิงฮุ่ยตี้กว่า 50 คนที่ถูกจัดให้เป็นขุนนางฉ้อฉล ถูกสั่งประหาร 9 ชั่วโคตร โดยหนึ่งในนั้นมีคดีอันเลื่องลือของฟังเซี่ยวหรู (方孝孺) ที่ถูกประหาร 10 ชั่วโคตรโดยนอกจากญาติ 9 ชั่วโคตรแล้ว ยังมีสหายและลูกศิษย์ประหารรวมไปด้วยจำนวนถึง 873 คน

หมิงเฉิงจู่ทรงให้ความสำคัญกับพื้นที่ทางเหนือเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นในปีแรกของรัชกาลหย่งเล่อ ทรงเปลี่ยนชื่อเป่ยผิงเป็นเป่ยจิง (ปักกิ่ง) อีกทั้งมีดำริจะย้ายศูนย์กลางการปกครองขึ้นไปอยู่ทางเหนือ ดังนั้นในปีค.ศ. 1416 ทรงมีรับสั่งสร้างพระราชวังขึ้นที่ปักกิ่ง ใช้ระยะเวลาการสร้างถึงเกือบ 4 ปี ด้วยการระดมช่างฝีมือจากเหอหนัน ซันตง ซันซี และอันฮุยจำนวนหลายแสนคน จนสำเร็จเสร็จสิ้นในราวปีค.ศ. 1420 จากนั้นในปีค.ศ. 1422 จึงมีราชโองการให้ย้ายราชธานีจากอิ้งเทียนฝู่ไปยังปักกิ่งอย่างเป็นทางการ

หมิงเฉิงจู่ยังเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับด้านวิทยาการความรู้ โดยรับสั่งให้รวบรวมสรรพวิชาที่มีมาตั้งแต่ในอดีตไม่ว่าจะเป็นดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ พยากรณ์ศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา ศิลปะ ฯลฯขึ้น มีการระดมบุคคลากร 147 คนเข้ามาช่วยกันจัดเรียบเรียง และออกมาเป็นเล่มในครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1404 ทว่าหมิงเฉิงจู่ยังเห็นว่าตำราดังกล่าวยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์พอ จึงให้ทำการปรับปรุงแก้ไขอีกครั้ง คราวนี้มีการใช้คนเรียบเรียงและเขียนทั้งสิ้นมากถึง 2,169 คน และใช้หอคัมภีร์เหวินยวน (文渊阁) ที่นานกิงที่เป็นเก็บตำรา การเรียบเรียงแก้ไขครั้งนี้ได้ลุล่วงในปี 1407 และคัดลอกเย็บเล่มเสร็จสิ้นในปีถัดมา มีจำนวนทั้งสิ้น 22,877 บรรพ จัดเรียบเรียงเป็น 11,095 เล่ม ฮ่องเต้หมิงเฉิงจู่ได้พระราชทานนามว่า สารานุกรมหย่งเล่อ (永乐大典)

นอกจากสารานุกรมชิ้นใหญ่นี้แล้ว ในราชวงศ์หมิงยังเป็นยุคที่วรรณกรรมประเภทนิยายเริ่มต้นได้รับความนิยมอย่างมาก ถือเป็นเป็นยุคต้นที่นิยายในรูปแบบภาษาพูดที่เรียบง่าย (白话)ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายและสืบเนื่องไปถึงราชวงศ์ชิง โดยเฉพาะในราชวงศ์หมิง ได้บังเกิดผลงานประพันธ์ที่โดดเด่นๆที่เป็นที่รู้จักกันจนถึงทุกวันนี้มากมายอาทิ นิยายพงศาวดารสามก๊ก (三国演义) ในช่วงปลายราชวงศ์หยวนถึงต้นราชวงศ์หมิง ส่วนเรื่องซ๋องกั๋ง หรือผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน (水浒传)และ ไซอิ๋ว ()西游记 และบุปผาในกุณฑีทอง (金瓶梅) ถูกประพันธ์ขึ้นในสมัยรัชกาลเจียชิ่งกับวั่นลี่ โดยสามก๊กที่ประพันธ์โดยหลอก้วนจงนั้นน่าจะเป็นนิยายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดานิยายจีนที่เคยมีมา

สมุทรยาตราของเจิ้งเหอ (郑和下西洋)

หลังจากหมิงเฉิงจู่ได้ชิงบัลลังก์มาจากพระนัดดา สิ่งที่ส่งผลให้ไม่สบายพระทัยมาโดยตลอดก็คือหลังเกิดเพลิงไหม้พระราชวังแล้ว กลับไม่สามารถค้นพบพระศพของหมิงฮุ่ยตี้ (เจี้ยนเหวินตี้) และเพื่อสืบเรื่องราวดังกล่าวให้ชัดเจน จึงมีพระประสงค์ที่จะส่งขุนนางออกไปเพื่อตามหาร่องรอยอย่างลับๆ

ภายหลังหมิงเฉิงจู่ทรงมีดำริว่าหมิงฮุ่ยตี้อาจจะหลบหนีออกไปทางทะเล จึงตัดสินพระทัยที่จะสร้างขบวนเรือเพื่อเดินทางไปค้นหา โดยพระองค์ได้มอบหมายภาระหน้าที่นี้ให้กับเจิ้งเหอ (郑和) ขันทีที่ติดตามพระองค์มาเป็นเวลานาน

เจิ้งเหอเดิมแซ่หม่า มีนามว่าเหอ นามรองซันเป่า เป็นชนชาติหุยที่เกิดในมณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) หลังจากที่เข้ามาเป็นขันที หมิงเฉิงจู่หรือองค์ชายจูตี้ในยามนั้นทรงให้ความไว้เนื้อเชื่อใจและโปรดปรานในสติปัญญาความสามารถของหม่าเหอมาก ภายหลังจึงพระราชทานแซ่ “เจิ้ง” ให้ โดยในประวัติศาสตร์ได้บันทึก เจิ้งเหอมีรูปร่างสูงใหญ่ถึง 7 ฟุต มีน้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม ท่าเดินสง่าน่าเกรงขาม น้ำเสียงกังวานมีพลัง

ในปีค.ศ. 1405 ขบวนเรือของเจิ้งเหออันประกอบด้วยเรือที่ประกอบด้วยเรือสินค้า เรือรบ และเรือสนับสนุนในแบบต่างๆ โดยแบ่งเป็นเรือใหญ่จำนวน 62 ลำ และเรือเล็กอีกมากกว่า 200 ลำ พร้อมด้วยผู้คนกว่า 27,800 คน อันประกอบด้วยลูกเรือ ทหาร ช่างเทคนิค นักพยากรณ์อากาศ แพทย์ และล่าม และแล้วกองเรือยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์จีนและของโลกในยุคนั้นจึงได้เริ่มออกเดินทางโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะตามหาร่องรอยของหมิงฮุ่ยตี้ รวมไปถึงเจริญสัมพันธไมตรีกับแว่นแคว้นต่างๆ อีกทั้งเป็นการไปแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าอีกด้วย

เจิ้งเหอได้ออกกองเรือเดินสมุทรทั้งสิ้น 7 ครั้งตั้งแต่ปีค.ศ. 1405 – ปีค.ศ. 1433 นับเป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปี และเดินทางเป็นระยะทางมากกว่า 50,000 กิโลเมตร ผ่านดินแดนกว่า 30 ประเทศจากทะเลจีนใต้ไปจนถึงชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกา โดยกองเรือภายใต้การนำพาของขันทีเจิ้งเหอผู้นี้ได้เคยติดต่อกับอาณาจักรอยุธยาด้วย นอกจากนั้นกาวิน แมนซี (Gavin Menzies) อดีตทหารเรือชาวอังกฤษ ได้เคยนำเสนอทฤษฎีที่ว่า ในการเดินเรือครั้งหนึ่งของเจิ้งเหอ เขาน่าจะไปไกลถึงทวีปอเมริกา ซึ่งหากเป็นจริง เขาก็จะเป็นผู้ค้นพบทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัสเกือบร้อยปี

ตอนต่อไปจะเป็นเรื่องราวที่ทำให้เห็นว่า การที่ราชวงศ์หมิงที่ในช่วงต้นมีความเจริญก้าวหน้ามากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นกำลังทหาร สถาปัตยกรรม วรรณกรรม แต่หารู้ไม่ว่าหลังจากที่ฮ่องเต้หมิงเฉิงจู่ได้ขึ้นครองราชย์ ได้ทรงบ่มเพาะมูลเหตุแห่งความวิบัติเอาไว้ จนทำให้ช่วงกลางราชวงศ์บังเกิดความพลิกผันและการรัฐประหารอันเป็นเหตุราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ ต้องทรุดโทรมจนถึงกาลพินาศภายใต้เงื้อมมือของชนชาติโฮ่วจินในที่สุด

ที่มา
http://www.manager.co.th/China/viewnews.aspx?NewsID=9510000017736&Page=2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น