5/09/2552

ราชวงศ์เหลียว (ค.ศ. 916 – 1125)

เขตอนุรักษ์ทางธรรมชาติไซ่ฮั่นอูลา มองโกเลียใน แหล่งต้นน้ำทางภาคเหนือของจีน อันเป็นจุดกำเนิดวัฒนธรรมชนเผ่าทางเหนือของจีน

ราชวงศ์เหลียว (辽)สถาปนาขึ้นโดยชนเผ่าชี่ตัน เดิมมีถิ่นฐานอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำเหลียวในมณฑลเหลียวหนิงและมองโกเลียใน ต่อมารุ่งเรืองขึ้นจนสามารถครอบครองดินแดนทางภาคเหนือของจีนเป็นเวลานานกว่าสองศตวรรษ โดยถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับยุคห้าราชวงศ์ และสิ้นสุดไปพร้อมกับราชวงศ์ซ่งเหนือ

แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ราชวงศ์เหลียวได้เปิดศึกสู้รบกับชาวฮั่นในดินแดนภาคกลางเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ในด้านวัฒนธรรม การบริหารการปกครอง สังคมและเศรษฐกิจ ล้วนได้รับอิทธิพลจากชาวฮั่นอย่างลึกซึ้ง


อักษรชี่ตันที่ดัดแปลงจากอักษรฮั่น (ซ้าย)อักษรฮั่น (ขวา)อักษรชี่ตัน
สร้างบ้านแปงเมือง

ปลายราชวงศ์ถัง เยลี่ว์อาเป่าจี(耶律阿保机)รวบรวมชนเผ่าชี่ตันเป็นหนึ่งเดียว สถาปนาแคว้นชี่ตัน*(契丹)ขึ้นในปี 916 จากนั้นปรับปรุงบ้านเมืองขนานใหญ่ คิดประดิษฐ์ตัวอักษรชี่ตัน สร้างเมืองหลวงใหม่ที่เมืองหวงตู (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นซ่างจิง ปัจจุบันอยู่ในเขตปาหลินจั่วฉีของมองโกเลียใน ปี 926 ผนวกแคว้นป๋อไห่(ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของมณฑลเหลียวหนิง เฮยหลงเจียงและเกาหลีเหนือ) รวมแผ่นดินภาคเหนือเข้าด้วยกัน

ปี 926 เยลี่ว์อาเป่าจีสิ้น เดิมอาเป่าจีแต่งตั้งเยลี่ว์ทูอี้ว์(耶律突欲)บุตรชายคนโตเป็นรัชทายาท แต่ฮองเฮาสู้ลี่ว์(述律)และข้าราชสำนักต่างให้การสนับสนุนเยลี่ว์เต๋อกวง(耶律德光)บุตรชายรองที่มีความสามารถด้านการทหารขึ้นครองบัลลังก์แทน บีบคั้นให้เยลี่ว์ทูอี้ว์ต้องลี้ภัยยังราชสำนักโฮ่วถัง

เยลี่ว์เต๋อกวง(ปี 926 – 947) สานต่อแนวนโยบายของบิดา โดยใช้หลักการปกครองตาม ‘ประเพณีท้องถิ่นนิยม’ โดยจัดแบ่งข้าราชสำนักออกเป็นฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ ฝ่ายเหนือเป็นข้าราชการชี่ตันปกครองดูแลชนเผ่าชี่ตันและชนเผ่าปศุสัตว์อื่นๆ โดยใช้ระเบียบปกครองของชนเผ่า ส่วนฝ่ายใต้มีทั้งข้าราชการชาวฮั่นและชี่ตัน ปกครองดูแลชาวฮั่นและป๋อไห่ ที่โดยมากทำการเกษตรอยู่ทางตอนใต้และตะวันออกของแคว้น โดยใช้ระเบียบการปกครองตามแบบอย่างราชวงศ์ถัง

หอฟ้า วัดหัวเหยียนเมืองต้าถง ถือเป็นตัวแทนสถาปัตยกรรมแบบเหลียวที่หลงเหลืออยู่

นอกจากนี้ เยลี่ว์เต๋อกวงยังศึกษาทางด้านวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวฮั่น ทั้งให้ความสนใจต่อการพัฒนาด้านการเกษตร ทำให้สภาพเศรษฐกิจและขุมกำลังของชี่ตันเจริญรุดหน้าเข้มแข็งขึ้น ไม่นาน เยลี่ว์เต๋อกวงก็สบโอกาสขยายอิทธิพลเข้าสู่ภาคกลาง ปี 936 ชี่ตันยื่นมือเข้าช่วยเหลือสือจิ้งถังล้มล้างราชวงศ์โฮ่วถัง(หนึ่งในห้าราชวงศ์) สถาปนาโฮ่วจิ้นโดยได้รับมอบดินแดนแถบเหอเป่ยและซันซี 16 เมือง(ปัจจุบันได้แก่ ปักกิ่งและต้าถง) อีกทั้งบรรณาการประจำปีเป็นการตอบแทน แต่เมื่อสือจิ้งถังสิ้น ผู้สืบบัลลังก์ของสือจิ้งถังต้องการแยกตัวเป็นอิสระ กองทัพชี่ตันก็บุกเข้านครหลวงไคเฟิง ล้มล้างราชวงศ์โฮ่วจิ้นเป็นผลสำเร็จ แต่เนื่องจากกองทัพชี่ตันไม่ได้จัดกองเสบียงสนับสนุน ทหารจึงต้องออกปล้นสะดมแย่งชิงเสบียงราษฎรตลอดเส้นทางที่ผ่าน เป็นเหตุให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านอย่างรุนแรง กองทัพชี่ตันได้แต่ล่าถอยกลับภาคเหนือ

เหยือกเหล้าแก้วตกแต่งด้วยเงินและทอง ขุดพบจากสุสานขององค์หญิงเหลียว
มรสุมแย่งชิงทางการเมือง

ปี 947 ระหว่างการถอนกำลังกลับภาคเหนือ เยลี่ว์เต๋อกวงสิ้นกะทันหันในแดนเหอเป่ย ขณะที่กองทัพไม่อาจขาดผู้นำได้ ดังนั้นบรรดานายทัพจึงสนับสนุนให้เยลี่ว์หร่วน(耶律阮)บุตรชายของเยลี่ว์ทูอี้ว์รัชทายาทองค์ก่อน ซึ่งร่วมรบอยู่ในกองทัพด้วยกันขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ ทรงพระนามว่าเหลียวซื่อจง(辽世宗) (ปี 947 – 951)

ทว่า ภายในราชสำนักเหลียว ซู่ลี่ว์ไทเฮาที่สนับสนุนหลี่หู(李胡)น้องชายของเยลี่ว์เต๋อกวงเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์ เมื่อทราบข่าวก็ส่งหลี่หูนำทัพมาแย่งชิงอำนาจกลับคืน แต่หลี่หูพ่ายแพ้ สองฝ่ายจึงต้องหันมาเจรจากัน

สุดท้ายแม้ว่าทั้งสองฝ่ายตกลงให้ทายาทของทั้งสองสายสลับกันขึ้นเป็นผู้นำ โดยซู่ลี่ว์ไทเฮายอมรับให้ ‘หลานชาย’เหลียวซื่อจงครองราชย์ต่อไป แต่กระแสการแย่งชิงอำนาจภายในราชสำนักเหลียวยังไม่หมดสิ้นไป เหลียวซื่อจงใช้มาตรการรุนแรงในการกำจัดศัตรูทางการเมืองอย่างเด็ดขาด ทั้งให้การสนับสนุนชาวฮั่นอย่างมาก สร้างความไม่พอใจให้กับชนชั้นสูงของชนเผ่า เป็นเหตุให้มีผู้คิดก่อการโค่นล้มราชบัลลังก์หลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ถูกปราบราบคาบลง

ภาพวาดฝาผนังจากสุสานเหลียว
จนกระทั่งปี 951 ราชวงศ์โฮ่วโจวแทนที่โฮ่วฮั่น หลิวฉงทายาทราชวงศ์โฮ่วฮั่นแยกตัวออกมาสถาปนาแคว้นเป่ยฮั่น จากนั้นหันมาสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์เหลียว เพื่อขอให้เหลียวส่งกำลังคุ้มครอง เหลียวซื่อจงคิดฉวยโอกาสนี้รุกเข้าภาคกลางอีกครั้ง จึงนำทัพลงใต้มา แต่แล้วระหว่างทางเกิดเหตุกบฏขึ้น เหลียวซื่อจงถูกสังหาร หลังจากปราบกบฏลงได้ นายทัพทั้งหลายต่างยกให้เยลี่ว์จิ่ง(耶律璟)บุตรชายของเยลี่ว์เต๋อกวงขึ้นเป็น เหลียวมู่จง(辽穆宗)กษัตริย์องค์ต่อไป

เหลียวมู่จง(ปี 951 – 969) แม้ขึ้นครองราชย์ แต่ภายในยังมีการแย่งชิงระหว่างพี่น้อง มีการก่อหวอดและกวาดล้างทางการเมืองหลายครั้ง การปกครองภายในล้มเหลว บ้านเมืองอ่อนแอลง ในเวลาเดียวกัน ภาคกลางเกิดการผลัดแผ่นดิน ราชวงศ์ซ่ง(宋)เข้าแทนที่ราชวงศ์โฮ่วโจว ซ่งไท่จู่เจ้าควงอิ้นเห็นเป็นโอกาสรวมแผ่นดินทางภาคใต้ก่อน ต่อเมื่อหันกลับมาอีกครั้ง สถานการณ์ทางภาคเหนือก็เปลี่ยนไปแล้ว

พระโพธิสัตว์ศิลปะเหลียว

สัญญาสงบศึก ปี 969 เหลียวมู่จงถูกลอบสังหาร เยลี่ว์เสียน(耶律贤)บุตรชายของเหลียวซื่อจงจากสายรัชทายาทองค์โตขึ้นครองราชย์ต่อมา ทรงพระนามว่า เหลียวจิ่งจง(辽景宗) (ปี 969 – 982) จากนี้ไป จนถึงรัชกาลเหลียวเซิ่งจง (辽圣宗) (983 – 1031) เมื่อผ่านการปฏิรูปครั้งใหญ่ เปลี่ยนผ่านสังคมสู่วัฒนธรรมแบบฮั่น ก็เข้าสู่ยุคทองของราชวงศ์เหลียว ตลอดรัชกาลเหลียวจิ่งจงมีสุขภาพอ่อนแอ เซียวฮองเฮาจึงเข้าดูแลราชกิจแทนทั้งหมด ปี 979 ซ่งไท่จงแห่งราชวงศ์ซ่งผนวกแคว้นเป่ยฮั่นเข้ากับภาคกลางเป็นผลสำเร็จ ต่อมาไม่นาน เหลียวจิ่งจงสิ้น โอรสวัย 12 ขวบเยลี่ว์หลงซี่ว์ (耶律隆绪)ขึ้นครองราชย์ต่อมา เป็นเหลียวเซิ่งจง ภายใต้การดูแลของเซียวไทเฮา (953 – 1009) ระหว่างนี้ ราชวงศ์ซ่งและเหลียวต่างเปิดศึกปะทะกันหลายครั้ง แต่ไม่อาจเอาชนะกันได้ การศึกในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายจากตำนานวีรกรรมอันลือลั่นของขุนศึกตระกูลหยาง

ปี 990 ดินแดนทางภาคตะวันตก (มณฑลซ่านซีในปัจจุบัน) เกิดอาณาจักรใหม่สถาปนาขึ้นในนาม ซีเซี่ย (西夏)โดย หลี่จี้เชียน (李继迁)(963 – 1004) ** ผูกมิตรกับราชวงศ์เหลียว ราชวงศ์ซ่งต้องเผชิญกับการคุกคามจากศึกทั้งสองด้าน เมื่อถึงปี 1004 หลังจากสู้ศึกครั้งแล้วครั้งเล่า ราชวงศ์ซ่งเหนือกับเหลียวก็บรรลุข้อตกลงร่วมกันที่ฉานหยวน(澶渊之盟)(ปัจจุบันคือเมืองผูหยางมณฑลเหอหนัน) โดยซ่งเหนือยินยอมจัดส่งบรรณาการให้เหลียวทุกปี เพื่อแลกกับข้อตกลงไม่ให้เหลียวยกกองกำลังมาปล้นสะดมราษฎรแถบชายแดนภาคเหนืออีก ขณะที่ซ่งเหนือก็ต้องยอมละทิ้งความต้องการที่จะช่วงชิงเมืองปักกิ่งและต้าถงที่เคยเสียไปกลับคืนมา ข้อตกลงดังกล่าวแลกมาซึ่งความสงบสุขของดินแดนภาคเหนือเป็นเวลาร้อยกว่าปี ทั้งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและการผสมผสานวัฒนธรรมชนเผ่ากับดินแดนภาคกลางในเวลาต่อมา


เจดีย์ไม้แปดเหลี่ยมที่ต้าถง สูง 5 ชั้น สร้างในปี 1056 ปัจจุบันเป็นเจดีย์ไม้ที่มีอายุเก่าแก่และสูงที่สุดในประเทศจีนที่ยังหลงเหลืออยู่

สู่เส้นทางล่มสลาย

ปี 1009 หลังจากเซียวไทเฮาปล่อยวางภารกิจทั้งมวล โดยส่งมอบอำนาจให้กับเหลียวเซิ่งจง จากนั้นไม่นานก็สิ้น เหลียวเซิ่งจงปกครองเหลียวต่อมาถึงปี 1031 สิ้น ถือเป็นยุคที่ราชวงศ์เหลียวเจริญรุ่งเรืองถึงสูงสุด สภาพสังคมเจริญรอยตามอารยธรรมของชาวฮั่นอย่างสมบูรณ์ รัชสมัยเหลียวซิ่งจง(辽兴宗)และเหลียวเต้าจง(辽道宗)ในยุคต่อมา เกิดการแย่งชิงอำนาจในราชสำนักเหลียวเป็นระลอก เมื่อถึงปี 1075 ภายหลังการก่อการของเยลี่ว์อี่ซิน(耶律乙辛)กับจางเสี้ยวเจี๋ย(张孝杰)รัชทายาทถูกสังหาร เกิดการกวาดล้างทางการเมืองขนานใหญ่ บ้านเมืองอยู่ในสภาพคลอนแคลนอย่างหนัก กลุ่มชนเผ่าทางเหนือพากันลุกฮือขึ้นก่อหวอดเป็นระยะ ทรัพย์สินในท้องพระคลังและกำลังทหารสูญสิ้นไปกับการปราบปรามกลุ่มกบฏ

เจดีย์ไม้แปดเหลี่ยมที่ต้าถง สูง 5 ชั้น สร้างในปี 1056 ปัจจุบันเป็นเจดีย์ไม้ที่มีอายุเก่าแก่และสูงที่สุดในประเทศจีนที่ยังหลงเหลืออยู่
จวบจนปี 1101 เหลียวเต้าจงล้มป่วยเสียชีวิต เทียนจั้วตี้ (天祚帝)ขึ้นครองราชย์ต่อมา ขณะที่กองกำลังของชนเผ่าหนี่ว์เจิน(女真)ที่อยู่ตามแถบชายแดนเหลียว ภายใต้การนำของหวันเหยียนอากู่ต่า(完颜阿骨打)มีกำลังแข็งกล้าขึ้น เกิดการลุกฮือขึ้นที่แดนป๋อไห่ทางตะวันออกของเหลียว หลังจากเอาชนะกองทัพเหลียวที่ส่งมาปราบลงได้แล้ว อากู่ต่าก็สถาปนาแคว้นจินหรือกิม(金)ขึ้นในปี 1115 จากนั้นบุกยึดแดนเหลียวตงฝั่งตะวันออก และเมืองสำคัญของเหลียวจนหมดสิ้น (รวมทั้งปักกิ่งและต้าถง) เทียนจั้วตี้ได้แต่หลบนีไปทางตะวันตก แต่ถูกจับได้ในที่สุด ราชวงศ์เหลียวล่มสลาย *ชื่อแคว้นและชื่อราชวงศ์เป็นชื่อเดียวกัน แต่มีการปรับเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง อาทิ ในปี 938 ชี่ตันสถาปนาดินแดน 16 เมืองที่ได้รับมอบเป็นต้าเหลียว ปี 947 ล้มล้างราชวงศ์โฮ่วจิ้นสถาปนาต้าเหลียวขึ้นที่เมืองไคเฟิง จากนั้นปี 983 ใช้ชื่อชี่ตัน ถึงปี 1066 กลับมาใช้ชื่อแคว้นเหลียวอีกครั้ง

** เป็นชนเผ่าตั่งเซี่ยง (党项)หลี่จี้เชียน เป็นชื่อในภาษาฮั่น ใช้แซ่ตามราชวงศ์ในภาคกลางเพื่อแสดงความจงรักภักดี ภายหลังเปลี่ยนมาใช้แซ่เจ้า(赵)ตามราชวงศ์ซ่ง

รถเทียมอูฐของชนเผ่าชี่ตัน


ภาพชีวิตการพักผ่อนของชนเผ่าชี่ตัน


























































































































































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น