5/08/2552

ห้าราชวงศ์สิบแคว้น (ค.ศ. 907 – 960)

"หลังจากราชวงศ์ถังล่มสลาย แผ่นดินตกอยู่ในสภาพกลียุค แผ่นดินภาคกลางแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโหต่อมาอีก 54 ปี ได้มีการผลัดแผ่นดินของห้าราชวงศ์ได้แก่ โฮ่วเหลียง(后梁)โฮ่วถัง(后唐) โฮ่วจิ้น(后晋)โฮ่วฮั่น(后汉)โฮ่วโจว(后周)ขณะเดียวกัน บรรดาขุนศึกที่ครองเขตปกครองลุ่มน้ำฉางเจียงหรือแยงซี ภาคใต้และเขตชายฝั่งทะเล ต่างแยกตัวเป็นแว่นแคว้นอิสระถึงสิบแคว้น นักประวัติศาสตร์จีนจึงรวมเรียกยุคสมัยนี้ว่า สมัยห้าราชวงศ์สิบแคว้น" อนึ่ง เนื่องจากชื่อแคว้นและราชวงศ์ในยุคนี้ มีการรื้อฟื้นนำชื่อราชวงศ์ในยุคก่อนมาใช้เป็นอันมาก ดังนั้น เพื่อความสะดวกในการแยกแยะความแตกต่างของยุคสมัย นักประวัติศาสตร์จีนจึงได้เพิ่มคำลงในชื่อดังกล่าว อาทิ โฮ่ว(后) หมายถึง (ยุค)หลัง, เฉียน(前) หมายถึง (ยุค)ก่อน, เป่ย(北)หมายถึง (อยู่ทาง)เหนือ, หนัน(南)หมายถึง (อยู่ทาง)ใต้ เป็นต้น

รูปสลักหยกขาว มีร่องรอยการปิดทองและเขียนสี

ห้าราชวงศ์ผลัดแผ่นดิน ปลายราชวงศ์ถัง บ้านเมืองอยู่ในสภาพระส่ำระสาย บรรดาแม่ทัพนายกองที่ถูกส่งไปประจำท้องถิ่น ต่างพากันก่อหวอด เกิดศึกสงครามไม่ว่างเว้น หลังผ่านศึกตะลุมบอนหมู่มาหลายปี ในที่สุดหลงเหลือเพียงกลุ่มกองกำลังที่เข้มแข็ง ขณะที่ขุนศึกทางภาคใต้ต่างปักหลักยึดครองดินแดนของตน หันมาทำการค้าขาย ทางภาคเหนือมีจูเวิน(朱温)ตั้งมั่นที่เปี้ยนโจวหรือไคเฟิง เผชิญหน้ากับหลี่เคอย่ง(李克用)ที่มีศูนย์กลางในแดนไท่หยวน จวบจนปี 907 จูเวินล้มล้างราชวงศ์ถัง สถาปนาแคว้นเหลียง ซึ่งนักประวัติศาสตร์จีนขนานนามว่าโฮ่วเหลียงขึ้น จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคห้าราชวงศ์ หลังจากสถาปนาโฮ่วเหลียง (ปี 907 – 923) จูเวินยังคงทำสงครามขยายดินแดนต่อไปจนสามารถครองดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโหตอนกลางและล่างไว้ได้ แต่ภายหลังถูกบุตรชายตัวเองลอบสังหาร การแก่งแย่งในราชสำนักโฮ่วเหลียง ทำให้ราชสำนักอ่อนแอลง


หลี่ฉุนซี่ว์ ผู้สถาปนา โฮ่วถัง

กองกำลังของหลี่ฉุนซี่ว์(李存勖)บุตรชายของหลี่เคอย่ง(李克用)คู่ปรับเก่าฉวยโอกาสจากความวุ่นวายนี้ เข้ายึดแดนเหอเป่ย สถาปนาโฮ่วถัง (ปี 923 – 936) จากนั้นบุกเข้ายึดเมืองไคเฟิงได้ในปีเดียวกัน โฮ่วเหลียงล่มสลาย

หลังจากโฮ่วถังรวบรวมดินแดนภาคเหนือไว้ได้ จึงย้ายเมืองหลวงไปยังนครลั่วหยาง ปี 925 ยกทัพลงใต้กวาดล้างแคว้นเฉียนสู ถังจวงจง(唐庄宗)หลี่ฉุนซี่ว์แม้จะเชี่ยวชาญการศึก แต่ไม่ใช่นักปกครองที่ดี ปลายรัชกาลหลงเชื่อขุนนางฉ้อราษฎร์ เป็นเหตุให้เกิดจราจลขึ้น ท่ามกลางความวุ่นวาย ถังจวงจงถูกสังหาร หลี่ซื่อหยวน(李嗣源)บุตรบุญธรรมของหลี่เคอย่งขึ้นครองราชย์ต่อมา ทรงพระนามว่าถังหมิงจง(唐明宗)ทรงหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการผลิตภายใน ละเว้นการสงคราม ทำให้บ้านเมืองได้รับการฟื้นฟูขึ้นในระดับหนึ่ง ปี 933 หมิงจงสิ้น เกิดการแย่งชิงอำนาจในราชสำนัก บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะความวุ่นวายอีกครั้ง

สือจิ้งถัง(石敬瑭)ราชบุตรเขยในถังหมิงจงดำรงตำแหน่งแม่ทัพรักษาแดนเหอตง ฉวยโอกาสนี้ สวามิภักดิ์ต่อชนเผ่าชี่ตัน(契丹)ถึงกับยอมเรียกหัวหน้าเผ่าชี่ตันเยลี่ว์เต๋อกวง(耶律德光)เป็นบิดา ทั้งสัญญาจะยกดินแดนแถบเหอเป่ย ซันซีและมองโกเลียใน 16 เมือง พร้อมผ้าไหมแพรพรรณ ม้าศึกชั้นดีเป็นบรรณาการ เพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางทหารในการขึ้นสู่อำนาจ ปี 936 เยลี่ว์เต๋อกวงสนับสนุนสือจิ้งถังขึ้นเป็นใหญ่ที่แดนไท่หยวน สถาปนาโฮ่วจิ้น (ปี 936 – 947) จากนั้นยกทัพบุกลั่วหยาง โฮ่วถังสิ้น

ปี 937 โฮ่วจิ้นย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองไคเฟิง เนื่องจากต้องแบกรับภาระส่งบรรณาการให้กับชี่ตันเป็นจำนวนมหาศาล ราษฎรต้องทุกข์ยากแสนเข็ญ ปี 942 สือจิ้งถังสิ้น สือฉงกุ้ย(石重贵)ผู้หลานขึ้นครองราชย์สืบต่อมา ต้องการปลดพันธนาการดังกล่าว ชี่ตันจึงหาเหตุยกทัพลงใต้บุกโฮ่วจิ้น หลังจากการศึกโรมรันกว่า 5 ปี ในที่สุดปลายปี 946 กองทัพของชี่ตันบุกเข้าเมืองไคเฟิง โฮ่วจิ้นล่มสลาย

เยลี่ว์เต๋อกวงสถาปนาแคว้นเหลียว(辽)ขึ้นที่เมืองไคเฟิง ออกปล้นสะดมทรัพย์สินเข่นฆ่าราษฎรทั่วไป เป็นเหตุให้ราษฎรลุกฮือขึ้นต่อต้าน ทหารเหลียวจำต้องล่าถอยกลับขึ้นเหนือไป ดินแดนภาคกลางเกิดสุญญากาศทางอำนาจขึ้น หลิวจือหย่วน(刘知远)ที่เป็นแม่ทัพรักษาแดนเหอตง จึงเข้ายึดครองแทนที่ ในปี 947 ประกาศตัวขึ้นเป็นใหญ่ที่แดนไท่หยวน สถาปนาโฮ่วฮั่น (ปี 947 – 950) จากนั้นย้ายเมืองหลวงมาที่เมืองไคเฟิง ปีถัดมาหลิวจือหย่วนสิ้น ฮั่นอิ่นตี้(汉隐帝)บุตรชายขึ้นครองราชย์ต่อมา ในเวลานั้นบ้านเมืองทรุดโทรมเสียหายจากการปล้นชิงเข่นฆ่าของชี่ตันไม่น้อย จึงเกิดการก่อหวอดขึ้นในท้องที่ต่างๆ ปี 950 ฮั่นอิ่นตี้ทรงระแวงว่าแม่ทัพนายกองจะแปรพักตร์จึงวางแผนกำจัด หนึ่งในจำนวนนั้นคือ กัวเวย(郭威)ที่กุมอำนาจทางทหารอยู่แดนเหอเป่ย แต่แผนการไม่สำเร็จ กัวเวยจึงนำทัพบุกไคเฟิง อิ่นตี้ถูกสังหาร โฮ่วฮั่นสิ้น

ภาพพิมพ์จากตำราทางพุทธศาสนาเริ่มเป็นที่แพร่หลายสู่ประชาชน ปี 951 กัวเวยขึ้นครองราชย์ สถาปนาโฮ่วโจว (ปี 951 – 960) ที่เมืองไคเฟิง ดำเนินการปฏิรูปการปกครอง ผ่อนปรนการเก็บภาษี ให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะผู้มีปัญญา ขจัดการโกงกินของขุนนางชั่ว กระตุ้นให้มีการเพิ่มผลผลิต สภาพเศรษฐกิจและสังคมได้รับการฟื้นฟูในระดับหนึ่ง จวบจนปี 954 กัวเวยล้มป่วยเสียชีวิตลง บุตรบุญธรรมไฉหรง(柴荣)ขึ้นครองราชย์ต่อมา ทรงพระนามว่า โจวซื่อจง(周世宗)ถือเป็นนักปกครองที่มีบทบาทอย่างสูงในประวัติศาสตร์จีน ทรงสืบทอดแนวทางปฏิรูปการเมืองการปกครองของรัชกาลก่อน ตระเตรียมกำลังพล พร้อมเปิดศึกรวมแผ่นดินอีกครั้ง ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญต่อการรวมแผ่นดินของราชวงศ์ซ่ง(宋)ในเวลาต่อมา แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ปณิธานยังไม่ทันสัมฤทธิผลก็ทรงประชวรสิ้นพระชนม์เสียก่อนในปี 959 ทิ้งให้บุตรชายวัย 7 ขวบขึ้นครองบัลลังก์ต่อมา เป็นโจวก้งตี้(周恭帝) ปีถัดมา ขณะเจ้าควงอิ้น(赵匡胤)นำทัพบุกขึ้นเหนือ เกิดเหตุเปลี่ยนแปลงที่เฉินเฉียว(陈桥兵变)บรรดานายทัพพร้อมใจกันสนับสนุนเจ้าควงอิ้นขึ้นสู่บัลลังก์มังกร เป็นเหตุให้ต้องนำทัพกลับเข้านครหลวง ราชวงศ์โฮ่วโจวสิ้น ยุคห้าราชวงศ์ที่เต็มไปด้วยสงครามแย่งชิงบัลลังก์จึงสิ้นสุดลง


เหรียญกษาปณ์ที่ใช้ในราชวงศ์โฮ่วโจว

บุคคลในภาพคือหานซีไจ่ เนื่องจากไม่ได้รับความไว้วางใจจากเจ้าแคว้นหนันถัง จึงส่งจิตรกรมาวาดภาพกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเขา ซึ่งล้วนเป็นการร้องรำทำเพลง แต่จิตรกรได้สะท้อนถึงความอัดอั้นใจของเขาเอาไว้อย่างชัดเจน ถือเป็นตัวแทนผลงานชิ้นเอกแห่งยุค


หานซีไจ่

สิบแคว้น

ปลายราชวงศ์ถัง เนื่องจากเกิดศึกสงครามทางภาคเหนือ เป็นเหตุให้ราษฎรละทิ้งที่ดินทำกิน ประชากรเบาบางลง ขณะที่เงื่อนไขทางสังคมทางภาคใต้ค่อนข้างสงบมั่นคงกว่า เศรษฐกิจก็ได้รับการพัฒนารุ่งเรืองขึ้น อาจกล่าวได้ว่า ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยห้าราชวงศ์ ได้เกิดการโอนถ่ายศูนย์กลางทางเศรษฐกิจจากแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโหหรือแม่น้ำเหลือง ลงสู่เขตลุ่มแม่น้ำฉางเจียงหรือแยงซี กลุ่มเมืองสำคัญทางตอนใต้ขยายตัวเติบโตขึ้น กลุ่มแรงงานฝีมืออาทิ การต่อเรือ หล่อโลหะ การพิมพ์ ทอผ้าเป็นต้น ที่ส่งผลต่อการพัฒนาการผลิตทวีความสำคัญขึ้น การค้าขายระหว่างท้องถิ่นกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของแว่นแคว้นทางตอนใต้ แดนเจียงหนันกลายเป็นแหล่งชุมนุมของปราชญ์กวีที่มีความสามารถ

ถ้วยหยก
แคว้นอู๋และหนันถัง (ปี 902 – 975) (吴、南唐)

หยางสิงมี่(杨行密)ผู้สถาปนาแคว้นอู๋ เดิมเป็นแม่ทัพรักษาแดนหวยหนัน (ในมณฑลอันฮุย) แห่งราชวงศ์ถัง ปี 902 ราชสำนักถังแต่งตั้งให้เป็นอู๋หวัง พื้นที่ในปกครองได้แก่ เจียงซู อันฮุย เหอหนัน บางส่วนของหูเป่ยและเจียงซี โดยมีศูนย์กลางที่เมืองหยางโจว ภายหลังสืบทอดตำแหน่งทางสายเลือดต่อต่อมา แต่เกิดแย่งชิงอำนาจกันภายใน เป็นเหตุให้เสนาบดีสีว์เวิน(徐温)มีโอกาสแทรกตัวเข้ามายึดอำนาจทางทหารไว้ จากนั้นยกบุตรคนรองของหยางสิงมี่หยางเว่ย(杨渭)ขึ้นครองบัลลังก์ โดยตระกูลสีว์กุมอำนาจทั้งมวลไว้

จวบจนปี 937 สีว์เวินสิ้น สีว์จือเก้า(徐知诰)บุตรบุญธรรมของสีว์เวินขึ้นสู่อำนาจแทน เจ้าแคว้นอู๋ ‘สละราชบัลลังก์’ สีว์จือเก้าจึงกลับมาใช้แซ่หลี่ สถาปนาแคว้นหนันถัง โดยมีนครหลวงที่เมืองจินหลิง (เมืองหนันจิงในปัจจุบัน) สีว์จือเก้าดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับแว่นแคว้นรอบข้าง ทำให้บ้านเมืองปลอดภัยสงคราม สภาพสังคมเศรษฐกิจได้รับการฟื้นฟูเข้มแข็งขึ้น ปี 943 สีว์จือเก้าสิ้น บุตรชายหลี่จิ่ง*(李璟)ครองราชย์สืบต่อมา เป็นช่วงเวลาที่หนันถังรุ่งเรืองขึ้นมา เริ่มทำสงครามขยายอาณาเขต กลายเป็นแคว้นมหาอำนาจทางตอนใต้ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ภายในราชสำนักฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม บ้านเมืองเสื่อมทรุดลง ปี 958 หนันถังยอมสวามิภักดิ์กับราชวงศ์โฮ่วโจวพร้อมกับยอมยกดินแดนบางส่วนให้ ปี 961 หลี่จิ่งสิ้น หลี่อี้ว์**(李煜)ขึ้นครองราชย์ต่อมา จวบจนปี 975 ราชวงศ์ซ่งกรีฑาทัพลงใต้ หนันถังล่มสลาย

* **หลี่จิ่งและหลี่อี้ว์สองพ่อลูกได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีผู้มีความสามารถอย่างสูงในประวัติศาสตร์จีน ผลงานของทั้งสองส่งผลต่อความรุ่งเรืองเชิงวรรณคดีของราชวงศ์ซ่งในเวลาต่อมา

หนึ่งในภาพ 16 อรหันต์จากฝีมือจิตรกรเอกแห่งแคว้นเฉียนสู

เฉียนสู(ปี 907 – 925)และโฮ่วสู (ปี 934 – 965) (前、后蜀) หวังเจี้ยน(王建)พ่อเมืองปี้โจว มีฐานอำนาจในแดนเสฉวนและฮั่นจงตั้งแต่ปี 894 หลังจากราชวงศ์ถังล่มสลาย ก็ตั้งตนเป็นใหญ่ที่เมืองเฉิงตู สถาปนาแคว้นเฉียนสู ดินแดนในปกครองได้แก่ เสฉวน กันซู่ ส่านซีและหูเป่ย(บางส่วน) หวังเจี้ยนดำเนินนโยบายเชิงรับ ไม่เน้นการใช้กำลังทหารกับภายนอกหากไม่จำเป็น จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดินแดนแถบนี้ยังคงความสงบสุขและพัฒนาขึ้น

แต่เนื่องจากในช่วงปลายรัชกาลหวาดระแวงขุนศึกเก่าแก่ข้างกาย จึงกำจัดเสียมากมาย ภายในราชสำนักเริ่มฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ปี 918 หวังเจี้ยนสิ้น เกิดการแก่งแย่งช่วงชิงในราชสำนัก สุดท้ายแม้ว่าหวังเหยี่ยน(王衍)ขึ้นครองราชย์ต่อมา แต่ไม่สนใจราชกิจเพียงคิดหาความสำราญ ปี 925 กองทัพของราชวงศ์โฮ่วถังบุกเข้าสู่นครหลวงเฉิงตู แคว้นเฉียนสูล่มสลาย

เมิ่งจือเสียง(孟知祥)เป็นหลานเขยของหลี่เคอย่ง ในรัชกาลถังจวงจงแห่งโฮ่วถัง เป็นที่โปรดปรานยิ่ง จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้ตรวจการแดนเจี้ยนหนัน(เสฉวนตะวันตก) ต่อมาเกิดเหตุวุ่นวายในราชสำนัก ถังจวงจงสิ้น ถังหมิงจงขึ้นครองราชย์ เมิ่งจือเสียงทราบว่าราชสำนักโฮ่วถังอ่อนแอลง จึงคิดตั้งตนเป็นอิสระ ไม่รับฟังคำสั่งจากส่วนกลางอีก ปี 930 เมิ่งจือเสียงชักชวนต่งจาง(董璋)แม่ทัพรักษาแดนเสฉวนตะวันออกลุกฮือขึ้นก่อการ แต่ภายหลังเกิดขัดแย้งกันเอง ต่งจางพ่ายแพ้ถูกสังหาร เมิ่งจือเสียงจึงสามารถยึดครองดินแดนเสฉวนทั้งหมด ฝ่ายราชสำนักโฮ่วถังได้แต่ส่งหนังสือแต่งตั้งเมิ่งจือเสียงเป็นสูหวัง (เจ้าแคว้นสู)


รูปปั้นเฉียนหลิว ที่บริเวณศาลเจ้าตระกูลเฉียนในเมืองหังโจว เพื่อระลึกถึงคุณความดีของเฉียนหวังทั้งสามรุ่น

ปี 934 เมิ่งจือเสียงสถาปนาแคว้นโฮ่วสู ครองราชย์ได้ครึ่งปีก็สิ้น บุตรชายเมิ่งฉั่ง(孟昶)รับสืบทอดอำนาจต่อมา มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบการปกครอง พัฒนาการผลิต ก่อตั้งสถานศึกษา สังคมเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าเป็นเขตที่มีเศรษฐกิจและวัฒนธรรมรุ่งเรืองเคียงคู่กันมากับแคว้นหนันถัง ปี 965 ถูกราชวงศ์ซ่งล้มล้างไป

แคว้นอู๋เยี่ยว์ (ปี 907 – 978) (吴越)

ปลายราชวงศ์ถัง เฉียนหลิว(钱镠)เดิมเป็นพ่อค้าเกลือเถื่อน ต่อมาสมัครเป็นทหารรับจ้าง ไต่เต้าจนกระทั่งได้เป็นแม่ทัพรักษาดินแดนชายฝั่งทะเลตะวันออก กุมอำนาจในดินแดนแถบเจียงหนันไว้ได้ (มณฑลเจ้อเจียงและเจียงซู) ปี 902 ถังเจาจงตั้งให้เป็นเยี่ยว์หวัง ปี 904 ตั้งให้เป็นอู๋หวัง ภายหลังเมื่อจูเวินสถาปนาโฮ่วเหลียง ตั้งให้เป็นอู๋เยี่ยว์หวัง มีนครหลวงที่เมืองหังโจว

แคว้นอู๋เยี่ยว์แม้มีพื้นที่แคบเล็ก แต่อุดมสมบูรณ์ และถึงแม้จะมีกำลังทหารไม่มากนัก แต่แคว้นอู๋เยี่ยว์มีท่าทีอ่อนน้อมต่อราชสำนักในภาคกลาง จึงสามารถป้องกันการรุกรานจากแว่นแคว้นที่เข้มแข็งรอบข้าง สภาพเศรษฐกิจรุ่งเรือง สังคมสงบร่มเย็น จวบจนปี 978 เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรซ่ง นับเป็นแคว้นที่มีเวลาปกครองยาวนานที่สุดในยุคนี้

ตำรา‘จิ่วจิง’ ที่ได้จัดพิมพ์ขึ้นในยุคนี้ อันเป็นจุดเริ่มของธุรกิจการพิมพ์ที่รุ่งเรืองและแพร่หลายสู่ประชาชนในยุคต่อมา

แคว้นฉู่ (ปีค.ศ. 897 – 951) (楚)

ปลายราชวงศ์ถัง หม่าอิน(马殷)ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่หูหนัน หลังจากราชวงศ์ถังล่มสลาย โฮ่วเหลียงแต่งตั้งเป็นฉู่หวัง มีศูนย์กลางที่เมืองถานโจว(เมืองฉางซาในปัจจุบัน) หลังหม่าอินสิ้น เกิดการแย่งชิงอำนาจภายในวุ่นวาย ปี 951 จึงถูกหนันถังล้มล้างไป

แคว้นหมิ่น (ปีค.ศ. 909 – 945) (闽)

ปลายราชวงศ์ถัง หวังเฉา(王潮)และหวังเสิ่นจือ(王审知) สองพี่น้องต่อสู้ยึดครองดินแดนฝูเจี้ยน ถังเจาจงแต่งตั้งหวังเฉาเป็นแม่ทัพรักษาดินแดน ภายหลังหวังเสิ่นจือสืบทอดตำแหน่งต่อมา ปี 909 โฮ่วเหลียงตั้งเป็นหมิ่นหวัง สภาพโดยรวมสงบมั่นคงดี แต่หลังจากหวังเสิ่นจือสิ้น การเมืองภายในปั่นป่วนวุ่นวาย ผู้สืบทอดล้วนแต่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ทั้งเหี้ยมโหดมากระแวง จนกระทั่งปี 945 ถูกแคว้นหนันถังกวาดล้างไป หนันฮั่น (ปีค.ศ. 917 -971) (南汉)

ปลายราชวงศ์ถัง หลิวอิ่น(刘隐)ดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพรักษาแดนหลิ่งหนัน (มณฑลกว่างตงและกว่างซี) ปี 917 หลิวเหยียน(刘岩)น้องชายได้รับสืบทอดตำแหน่งต่อมา สถาปนาแคว้นเยี่ยว์ มีนครหลวงที่เมืองกว่างโจว ปีถัดมาเปลี่ยนชื่อเป็นฮั่น ประวัติศาสตร์ขนานนามว่า หนันฮั่น ปี 971 ถูกราชวงศ์ซ่งล้มล้างไป

รูปสลักมังกรหยก

หนันผิง (ปีค.ศ. 907 – 963) (南平)

ปี 907 โฮ่วเหลียงแต่งตั้งเกาจี้ซิง(高季兴)

เป็นแม่ทัพรักษาแดนจิงหนัน(มณฑลหูเป่ย) ปี 924 โฮ่วถังแต่งตั้งเป็นหนันผิงหวัง มีศูนย์กลางที่เมืองเจียงหลิง ถือเป็นแคว้นที่มีกำลังอ่อนด้อยที่สุดในบรรดาสิบแคว้น

ปี 963 ราชวงศ์ซ่งล้มล้างไป

เป่ยฮั่น (ปีค.ศ.951 – 979) (北汉)

ในบรรดาสิบแคว้น มีแว่นแคว้นหนึ่งเดียวที่อยู่ทางเหนือ คือเป่ยฮั่น ผู้ก่อตั้งคือหลิวฉง(刘崇)น้องชายของหลิวจือหย่วนแห่งราชวงศ์โฮ่วฮั่น ปี 951 เมื่อกัวเวยสถาปนาโฮ่วโจวขึ้นแทนที่โฮ่วฮั่น หลิวฉงก็เข้ายึดครองแดนไท่หยวนไว้ ตั้งตนเป็นกษัตริย์ และยังคงใช้ชื่อราชวงศ์ฮั่นสืบต่อมา ประวัติศาสตร์จีนขนานนามว่า เป่ยฮั่น(ฮั่นเหนือ)

เป่ยฮั่นเป็นแดนทุรกันดาร ราษฎรอดอยากยากจน แต่เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากชนเผ่าชี่ตัน จึงยังคงรักษาดินแดนไว้ได้ สภาพสังคมเต็มไปด้วยข้อพิพาทขัดแย้ง ปี 979 ราชวงศ์ซ่งกรีฑาทัพเข้าสู่ไท่หยวน เป่ยฮั่นสิ้นสุดลง

หลิวฉง ผู้สถาปนา เป่ยฮั่น

ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ บริเวณพื้นที่รอบนอกเขตแดนต่อแดนของอาณาจักรจีน ยังมีกลุ่มชนเผ่าที่ตั้งตนเป็นอำนาจรัฐอิสระขึ้น ที่สำคัญได้แก่ หลิวโส่วกวง(刘守光)สถาปนารัฐเอี้ยน(燕)ที่แดนเหอเป่ย (ปี 895 – 913) บริเวณชิงไห่และทิเบตมีถู่ฟาน(吐蕃)แถบหยุนหนันจากแคว้นน่านเจ้าเดิม กลายเป็นต้าฉางเหอ(大长和)(902~928) ต้าเทียงซิ่ง(大天兴)(928~929) ต้าอี้หนิง(大义宁)(929~ 937)ภายหลังเป็นต้าหลี่หรือตาลีฟู(大理)(937~ 1254) ภาคอีสานมีแคว้นป๋อไห่(渤海) (713~926) แถบมองโกเลียในมีชนเผ่าชี่ตัน(契丹) นำโดยเยลี่ว์อาเป่าจีที่มีกำลังกล้าแข็งขึ้น ปี 916 สถาปนาแคว้นชี่ตัน จากนั้นกวาดรวมแคว้นป๋อไห่เข้าด้วยกัน นำกองกำลังรุกเข้าสู่ภาคกลาง จวบจนปี 947 เปลี่ยนชื่อแคว้นเป็นเหลียว(辽)กลายเป็นขุมกำลังที่ตั้งประจันกับราชวงศ์ซ่งเหนือ(北宋)ในเวลาต่อมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น