4/25/2552

ฮั่นตะวันออก (คริสตศักราช 25 – 220)

'กวงอู่ตี้ ' - ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก อดีตผู้นำกองกำลังลี่ว์หลิน
'หลิวซิ่ว'
นับแต่หวังหมั่ง (王莽)ถอดถอนหยูจื่ออิง (孺子婴)ยุวกษัตริย์องค์สุดท้ายในราชวงศ์ฮั่นตะวันตก เพื่อตั้งตนเป็นใหญ่ โดยจัดระเบียบการปกครองใหม่และก่อตั้งราชวงศ์ซิน (新朝) ขึ้น แต่ความล้มเหลวของระเบียบใหม่ได้สร้างกระแสต่อต้านจากประชาชน เกิดเป็นกบฏชาวนาในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ กองกำลังคิ้วแดง (赤眉军)ที่นำโดยฝานฉง(樊崇)จากแถบซานตง และกองกำลังลี่ว์หลิน (绿林军)ซึ่งนำโดยหลิวซิ่ว (刘秀)จากหูเป่ย เป็นต้นโดยในบรรดากองกำลังเหล่านี้ ถือว่ากองทัพของหลิวซิ่วมีกำลังกล้าแข็งที่สุด
ภายหลังการศึกที่คุนหยัง ชัยชนะอย่างเด็ดขาดของกองกำลังลี่ว์หลินต่อกองทัพราชวงศ์ใหม่ ทำให้หลิวซิ่วถือเป็นโอกาสเข้ากลืนขุมกำลังติดอาวุธขนาดเล็กทางตอนเหนือ ขยายฐานกำลังไปยังเหอเป่ย ซึ่งเป็นดินแดนทางภาคเหนือของจีนในปัจจุบัน เมื่อถึงกลางปีคริสตศักราช 25 หลิวซิ่วก็ตั้งตัวขึ้นเป็นฮ่องเต้ครองดินแดนเหอเป่ย ภายใต้สมญานามว่า กวงอู่ตี้ (光武帝)และใช้ชื่อราชวงศ์ฮั่นตามเดิม โดยทางประวัติศาสตร์ได้แบ่งยุคนี้เป็นฮั่นตะวันออก เนื่องจากนครหลวงตั้งอยู่ที่เมืองลั่วหยัง กระจกส่องหน้าทำจากทองแดง ด้านหลังสลักลวดลายและตัวหนังสือไว้อย่างวิจิตรงดงาม ศิลปะสมัย 'หวังหมั่ง' ราชวงศ์ซิน

ภารกิจแรกของกวงอู่ตี้คือการปราบกองกำลังคิ้วแดงที่กำลังปิดล้อมเมืองฉางอัน
เมื่อถึงปีรัชสมัยที่ 12 ก็สามารถปราบก๊กของกงซุนซู่ในเสฉวนลงอย่างราบคาบ รวมประเทศจีนกลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง จากนั้นตามมาด้วยประกาศปลดปล่อยแรงงานทาส ซึ่งถือเป็นการปลดปล่อยแรงงานการผลิตครั้งใหญ่ นอกจากนี้ ยังซ่อมสร้างการชลประทานทั่วประเทศ รื้อฟื้นภาคการเกษตรให้กลับมีชีวิตชีวาอีกครั้ง เมื่อถึงรัชสมัยหมิงตี้ ก็ยกเลิกการผูกขาดการค้าเกลือและเหล็กกล้า อีกทั้งธุรกิจอื่น ๆ อาทิ ธุรกิจหลอมและหล่อทองแดง ธุรกิจผ้าไหมเป็นต้น ทำให้บ้านเมืองและการค้าขายในยุคฮั่นตะวันออกเจริญรุ่งเรืองขึ้น เมืองลั่วหยังกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าของประเทศ ส่วนศูนย์กลางทางภาคใต้ ได้แก่ เมืองหยังโจว จิงโจว อี้โจว ก็มีความเจริญในด้านธุรกิจหัตถกรรม จำนวนประชากรในเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เคียวเหล็ก-เครื่องมือทำการเกษตรสมัยฮั่นตะวันออก
ในรัชสมัยจางตี้ (章帝)และเหอตี้ (和帝) ถึงกับมีการเดินทางออกไปติดต่อเชื่อมสัมพันธไมตรียังดินแดนฝั่งตะวันตก เพื่อสานต่อแนวการค้าบนเส้นทางสายไหม ขณะเดียวกัน บรรดาเจ้าที่ดินทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊ต่างก็อยู่ในช่วงสั่งสมกำลังบารมี ภายหลังรัชสมัยเหอตี้ บรรดาเชื้อพระวงศ์และเหล่าขุนนางชั้นสูงต่างก็มีอำนาจที่เข้มแข็งมากขึ้น มักปรากฏว่าเชื้อพระวงศ์และขุนนางผลัดกันหรือร่วมมือกันเข้ากุมอำนาจในระหว่างการผลัดแผ่นดินอยู่บ่อยครั้ง ในสี่รัชสมัยต่อมาอันได้แก่ ซุ่นตี้ ช่งตี้ จื้อตี้และเหิงตี้ กษัตริย์ทั้ง 4 มีเชื้อพระวงศ์เหลียงจี้ (梁冀)คอยเป็นที่ปรึกษาว่าราชการให้ถึง 20 ปี สั่งสมเงินทองทรัพย์สินกว่า 3,000 ล้าน
'ตีกล้องร้องรำ' - ตุ๊กตาเครื่องปั้นดินเผาสูง 56 เซนติเมตร ตัวแทนสะท้อนถึงความรุ่งเรืองทางศิลปะของยุคฮั่นตะวันออก
ภายหลังยุคกลางของฮั่นตะวันออก กลุ่มครอบครัวตระกูลใหญ่เข้ากุมอำนาจทางการเมือง ทำให้เกิดสภาพเป็นขั้วการเมืองแบบผูกขาด เมื่อถึงยุคปลายของฮั่นตะวันออก ได้เกิดกระแสการวิพากษ์การเมืองจากกลุ่มปัญญาชนและขุนนางผู้น้อยส่วนหนึ่ง ที่ต้องการแสดงความไม่พอใจต่อระบบการเมืองการปกครองในสมัยนั้น จนเกิดวิกฤตทางการเมือง
'ฮั่นซู' หนังสือที่มีการจดบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชนชาติฮั่น
รัชสมัยของพระเจ้าฮั่นเต้ ซึ่งพระเจ้าฮั่นเต้พระองค์นี้ไร้ซึ่งราชบุตรสืบ
สายโลหิต จึงได้ไปขอ “เลนเต้” ไม่ทราบว่าเป็นบุตรของใคร แต่ทราบว่ามารดาชื่อ
“นางตังไทฮอ” จึงได้ขอมาเป็นรัชทายาทได้รับการสถาปนาเป็น “พระเจ้าเลนเต้”
พระเจ้าเลนเต้พระองค์นี้ มิได้ตั้งองค์ในทศพิธราชธรรม ใส่ใจอยู่กับเหล่าขันทีและนางสนมกำนัล มากกว่าการออกว่าราชการ จึงเปิดช่องให้ขุนนางทำการฉ้อราษฎร์บังหลวง กดขี่ข่มเหงราษฎร เบียดเบียนที่ดินของราษฎรเป็นของตน เมื่อราษฎรทนการกดขี่ไม่ไหว จึงลุกขึ้นต่อต้าน ในนามของ “โจรโพกผ้าเหลือง” โดยมี “เตียวก๊ก” เป็นแกนนำ กองทัพโจรโพกผ้าเหลืองนั้นแบ่งเป็น ๓๖ ฟาง (๑ ฟางเท่ากับ ๑ เขต) ได้ชาวบ้านแลทหารเป็นกำลังหลายสิบหมื่น ทำให้เกิดการจลาจลไปทั่วประเทศ ร้อนถึงราชสำนักฮั่นต้องส่งกำลังเข้าปราบปราม โดยการระดมเรียกอาสาสมัคร ชาวนา ชาวบ้าน ให้จับอาวุธต่อสู้กับโจรโพกผ้าเหลืองซึ่งก็เป็นชาวบ้านด้วยกัน ผลสุดท้ายโจรโพกผ้าเหลืองเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
กล่าวถึงพระเจ้าเลนเต้กันต่อ พระเจ้าเลนเต้ทรงมีราชบุตรสองพระองค์คือ
“หองจูเปียน” ซึ่งประสูติกับพระนางโฮเฮา อัครมเหสี และ “หองจูเหียบ” ซึ่งประสูติจากนางอองบีหยิน มเหสีรอง เมื่อพระเจ้าเลนเต้สิ้นพระชนม์ เมื่อพระชนม์ได้ ๓๔ พรรษา พระนางโฮเฮาและโฮจิ๋น พี่ชาย ได้ชิงสถาปนา หองจูเปียน เป็น “พระเจ้าเซ่าเต้” ซึ่งทำให้พระนางตังไทฮอ พระมารดาพระเจ้าเลนเต้ไม่พอใจอย่างมาก
๑๐ ขันทีคนสนิทแนะนำให้ ตั้ง หองจูเปียน เป็น “ตันหลิวอ๋อง” เพื่อคานอำนาจ ซึ่งพระนางตังไทฮอ ก็เห็นด้วย ซึ่งต่อมาโฮจิ๋นก็ชิงกำจัดพระนางตังไทฮอเสียก่อน เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ฝ่าย ๑๐ ขันทีเห็นเจ้านายของตนถูกกำจัดก็ร้อนตัว จึงแสร้งอ่อนน้อมกับโฮจิ๋น และคิดกำจัดโฮจิ๋นเสีย ด้านโฮจิ๋นก็ทราบ จึงใช้แผนการเขลาเบาปัญญา เรียกตั๋งโต๊ะแห่งเสเหลียงเข้าเมืองหลวง เพื่อกำจัด ๑๐ ขันที ทั้งที่
ขุนนางอย่างอ้วนเสี้ยวและโจโฉ คัดค้านก็มิฟัง ดึงดันจะให้กองทัพตั๋งโต๊ะเข้า
เมืองหลวงให้ได้ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะของราชวงศ์ฮั่นอย่างแท้จริง
เครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหว จากการคิดค้นของจางเหิง สร้างขึ้นในคริสตศักราช 132 ถือเป็นเครื่องวัดแผ่นดินไหวเครื่องแรกของโลก
สำหรับความเจริญก้าวหน้าในด้านวัฒนธรรมและวิทยาการในสมัยฮั่นตะวันออกนั้นมีมากมาย อาทิ ในยุคต้นของราชวงศ์ ก่อเกิดนักคิดแนววัตถุนิยมที่โดดเด่นคือหวังชง ส่วนการศึกษาทางประวัติศาสตร์ก็มีการจดบันทึกประวัติศาสตร์ชนชาติฮั่น ทางด้านวรรณคดีที่เป็นตัวแทนแห่งยุคสมัยได้แก่บทความเชิงปกิณกะและเพลงพื้นบ้านต่าง ๆ ในช่วงปลายราชวงศ์ยังก่อเกิด สัตตกวีแห่งยุค ได้แก่ข่งหยง เฉินหลิน หวังชั่น สวีกั้น หยวนอวี่อิงหยังและหลิวเจิน ซึ่งมีผลงานที่โดดเด่นส่งอิทธิพลถึงยุคสามก๊กในเวลาต่อมา ไช่หลุน' ผู้คิดค้นปรับปรุงคุณภาพกระดาษ จนเป็นที่นิยมแพร่หลาย
ในช่วงกลางของฮั่นตะวันออก ยังมีนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงอย่าง จางเหิง (张衡)ซึ่งเป็นทั้งนักคิด นักกวี และนักวิชาการ โดยเขาได้คิดประดิษฐ์เครื่องวัดตำแหน่งดวงดาวและเครื่องวัดแผ่นดินไหวที่สามารถใช้ในทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย ในรัชสมัยเหอตี้ ก็ยังมีไช่หลุน (蔡伦)ผู้ซึ่งได้ปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตกระดาษจากพืช ซึ่งทำให้ราคากระดาษถูกลง และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย อันเป็นการสร้างคุณูปการต่อชาวโลกครั้งยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ องค์ความรู้ต่าง ๆในด้านการเกษตร การคำนวณและการแพทย์ ต่างก็ประสบความก้าวหน้าใหญ่ ศาสนาพุทธและเต๋าที่ทรงอิทธิพลล้ำลึกทางความคิด วัฒนธรรมและวิถีชีวิตในสังคมจีน ก็ล้วนเจริญรุ่งเรืองขึ้นในยุคนี้เอง.
ที่มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น