4/25/2552

สามก๊ก (คริสตศักราช 220 – 280)*

สามก๊กเป็นยุคสมัยที่เกิดจากสภาพการคานอำนาจกันของกองกำลัง 3 ฝ่ายอันได้แก่ ก๊กวุ่ย(魏国) ก๊กสู(蜀国) และก๊กอู๋(吴国) ที่ต่างก็แย่งชิงกันเป็นใหญ่ โดยช่วงปีค.ศ. 220 นั้นเป็นเวลาที่วุ่ยขึ้นครองอำนาจใหญ่แทนราชวงศ์ฮั่นตะวันออก และเมื่อถึงปีค.ศ. 280 ราชวงศ์จิ้น (晋)ปราบก๊กอู๋ได้สำเร็จรวมแผ่นดินจีนเข้าด้วยกันอีกครั้ง การศึกปราบกองกำลังโพกผ้าเหลือง
ก่อนจะมาเป็นสามก๊ก ปีค.ศ. 189 ปลายยุคฮั่นตะวันออก ฮั่นหลิงตี้(汉灵帝)เสด็จสวรรคต รัชทายาทหลิวเปี้ยน(刘辫)สืบทอดราชบัลลังก์ต่อมาเป็นฮั่นเส้าตี้ (汉少帝)แต่พี่ชายของเหอไทเฮาคบคิดกับขุนนางฝ่ายกลาโหมหยวนเส้าหรืออ้วนเสี้ยว (袁绍)กวาดล้างขุนนางที่เป็นปฏิปักษ์ เป็นเหตุให้บ้านเมืองระส่ำระสายอย่างหนัก ต่งจัวหรือตั๋งโต๊ะ(董桌)ที่เป็นขุนนางครองเมืองปิงโจวใช้สถานการณ์วุ่นวายดังกล่าว เป็นข้ออ้างยกกองกำลังเข้าลั่วหยังเพื่อให้ความ


ช่วยเหลือ เมื่อกองทัพของตั๋งโต๊ะเข้าสู่ลั่วหยังแล้ว ก็ถอดถอนฮั่นเส้าตี้และสถาปนาหลิวเสีย(刘协)ผู้เป็นน้องขึ้นเป็นฮ่องเต้ ทรงพระนามว่า ฮั่นเสี้ยนตี้ (汉献帝)โดยตั๋งโต๊ะกุมอำนาจสั่งการไว้ในมือ เป็นเหตุให้ขุนนางเก่าที่ไม่เห็นด้วยลุกฮือขึ้นต่อต้าน เกิดเป็นสงครามภายในติดตามมา





อ้วนเสี้ยว


ฝ่ายอ้วนเสี้ยวนั้น เมื่อตั๋งโต๊ะกรีฑาทัพเข้าลั่วหยัง ก็หลบหนีไปยังเมืองจี้โจว(ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอเป่ยทางภาคเหนือของจีน) เรียกร้องให้บรรดาผู้ครองแคว้นรอบนอกรวมกำลังกันเพื่อปราบตั๋งโต๊ะ ซึ่งก็ได้รับเสียงสนับสนุนให้อ้วนเสี้ยวเป็นผู้นำ เมื่อถึงปีค.ศ. 190 ตั๋งโต๊ะบีบบังคับฮั่นเสี้ยนตี้เสด็จลี้ภัยไปยังนครฉางอัน ในขณะที่กองกำลังของตั๋งโต๊ะเต็มไปด้วยการแก่งแย่งอำนาจกัน อีก 3 ปีต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการทหาร (เป็นที่มาของตำนานการเสียสละของเตียวเสี้ยน (貂蝉)หนึ่งในสี่หญิงงามแห่งยุคของจีน) ตั๋งโต๊ะถูกสังหาร บ้านเมืองจึงเกิดโกลาหลครั้งใหญ่



อ้องอุ้น ตั๋งโต๊ะเตียวเสี้ยน ลิโป้ (จากขวามาซ้าย) จากตำนานการเสียสละของเตียวเสี้ยน


สภาพสามเส้าคานอำนาจเหนือใต้ โจโฉตั้งตัวเป็นวุ่ยอ๋อง ต่อมาปีค.ศ. 200 โจโฉสิ้นชีวิต เฉาผี่หรือโจผี(曹丕)ผู้เป็นบุตรชายจึงบีบบังคับให้ฮั่นเสี้ยนตี้สละราชบัลลังก์ แล้วสถาปนารัฐวุ่ยขึ้น ในปีถัดมา เล่าปี่ก็ประกาศสถาปนาตั้งตนเป็นฮ่องเต้ที่เมืองเฉิงตู ใช้ชื่อรัฐฮั่น (โดยมากเรียกสูหรือสูฮั่น) ถึงปีค.ศ. 229 ซุนกวนหรืออู๋อ๋องก็ตั้งรัฐอู๋ ประกาศตนเป็นฮ่องเต้เช่นกัน ดังนั้นจึงเกิดเป็นขุมกำลังสามเส้า กล่าวคือ วุ่ยครอบครองดินแดนทางตอนเหนือ สูครองดินแดนภาคตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนอู๋ครองดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ โดยสองแคว้นทางใต้ คือรัฐสูร่วมมือกับรัฐอู๋ต่อต้านรัฐวุ่ยทางภาคเหนือที่มีกำลังเข้มแข็งที่สุด




แผนที่การแบ่งอาณาเขตสมัยสามก๊ก
พัฒนาการและความล่มสลาย


ในช่วงเริ่มต้น ทั้งสามรัฐต่างก็ทุ่มเทให้กับการบริหารบ้านเมือง ฟื้นฟูระเบียบทางสังคมและพัฒนาเศรษฐกิจของตน รัฐที่มีผลงานโดดเด่นก็คือรัฐวุ่ย (魏)ที่นำโดยโจโฉ ซึ่งเริ่มจากการฟื้นฟูผลผลิตทางการเกษตร ด้วยการเกณฑ์กำลังทหารที่ประจำในท้องที่ทำการเพาะปลูกเป็นเสบียงต่อไป จัดการปฏิรูประบบการปกครองที่เคยเป็นจุดอ่อนของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก นั่นคือ จำกัดอำนาจของเหล่าเจ้าที่ดิน กวาดล้างอำนาจของบรรดาขุนนางและเชื้อพระวงศ์ เพื่อดึงดูดการเข้าร่วมจากกลุ่มชนชั้นระดับกลางและล่าง มีการแบ่งขุนนางปกครองท้องถิ่นออกเป็น 9 ระดับชั้น (九品中正制)เปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่ได้มาจากตระกูลสูงได้มีโอกาสเข้ามามีอำนาจทางการเมือง ทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง
ด้านศิลปะและวิทยาการนั้นก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก อาทิ ทางการแพทย์จีนได้ปรากฏบุคคลสำคัญคือ หัวถัวหรือแพทย์วิเศษฮูโต๋ (华陀)ที่เป็นเอกในการผ่าตัด และกล่าวกันว่ายังมีการเริ่มใช้ยาชาในสมัยนี้อีกด้วย สำหรับด้านศาสนานั้น เนื่องจากลัทธิเต๋าของกองกำลังโพกผ้าเหลืองประสบความพ่ายแพ้ทางการเมือง จึงตกอยู่ในภาวะอ่อนแอลง ขณะที่ศาสนาพุทธที่มีการเผยแพร่เข้ามาในช่วงปลายยุคฮั่นตะวันออก ก็ฟูมฟักตัวเองในนครหลวงลั่วหยัง


บุคคลสำคัญในก๊กวุ่ย จากซ้ายมาขวา ได้แก่ โจโฉ โจผี โจสิด สุมาอี้

หลังจากวุ่ยฉีหวัง (魏齐王)ยุวกษัตริย์ขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ศูนย์กลางอำนาจ

ในรัฐวุ่ยก็เริ่มคลอนแคลน เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของเฉาส่วง(曹爽)และ

ซือหม่าอี้(司马懿)ที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทน เฉาส่วงพ่ายแพ้ถูกสำเร็จโทษ

ตระกูลซือหม่าซึ่งนำโดยซือหม่าอี้ผู้เป็นบิดา ซือหม่าซือ(司马师)และซือหม่าเจา(司马昭)สองคนพี่น้อง เข้ากุมอำนาจทางการเมืองทั้งหมดไว้ได้ ระหว่างนั้น ในปีค.ศ. 263 รัฐวุ่ยภายใต้การนำทัพของตระกูลซือหม่าบุกเข้าปราบรัฐสู (蜀)ของเล่าปี่ หลังจากนั้น 2 ปี ซือหม่าเอี๋ยน(司马炎)บุตรของซือหม่าเจาก็บีบให้วุ่ยฉีหวังสละราชบัลลังก์ และสถาปนาราชวงศ์จิ้น(晋)ขึ้นแทนวุ่ย

บุคคลสำคัญในก๊กสู จากซ้ายมาขวา ได้แก่ เล่าปี่ ขงเบ้ง กวนอู เตียหุย

รัฐสู (蜀)นำโดยเล่าปี่ ก็ได้ขงเบ้งเป็นที่ปรึกษาและเสนาบดี ในช่วงเวลาก่อน

หลังการสถาปนารัฐสูได้ไม่นาน เล่าปี่ก็ต้องสูญเสียขุนพลคู่ใจคนสำคัญ คือ

กวนอวี่หรือกวนอู(关羽)และจางเฟยหรือเตียหุย (张飞)ไปในเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นเหตุให้กำลังทางทหารอ่อนโทรมลง อีกทั้งเล่าปี่ไม่ฟังคำทัดทานของเหล่าเสนาอำมาตย์ เร่งทำศึกกับรัฐอู๋ เพื่อแก้แค้นให้กับกวนอู สุดท้ายพ่ายแพ้ย่อยยับ เล่าปี่ล้มป่วยเสียชีวิตที่เมืองหย่งอัน บุตรชายหลิวฉานหรืออาเต๊า(刘禅)ขึ้นครองราชย์ต่อมา โดยมีขงเบ้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทน

ขงเบ้งเห็นว่ารัฐสูอยู่ในสภาพอ่อนแอและลำบากจากการคุกคามรอบข้าง

พร้อมกันนั้นเขตพื้นที่ทางตอนใต้ (ปัจจุบันคือเสฉวนและหยุนหนันของจีน)

เกิดความวุ่นวาย จึงต้องเจรจาสงบศึกกับรัฐอู๋ เมื่อถึงปีค.ศ. 225 ขงเบ้งยกทัพลงใต้ ทำศึกพิชิตใจเมิ่งฮั่ว(孟获)หัวหน้าชนเผ่าพื้นเมือง นำความสงบสุขคืนมาอีกครั้ง หลังจากนั้น ขงเบ้งได้แต่งตั้งชนเผ่าพื้นเมืองบางส่วนเข้ารับราชการและกองทัพ

อีกทั้งมีการนำวัวและม้าที่เป็นพาหนะพื้นเมืองเข้ามาใช้ในกองทัพอีกด้วย

แต่นั้นมา ความสัมพันธ์กับชนเผ่าพื้นเมืองทางตอนใต้ก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ขณะเดียวกันภาคการเกษตรและหัตถกรรมได้รับการฟื้นฟูก้าวหน้า บ้านเมืองเข้มแข็งขึ้น เพื่อเตรียมรับการทำศึกกับก๊กวุ่ยทางตอนเหนือในอีกหลายปีต่อมา ขงเบ้งที่เร่งทำศึกแย่งชิงดินแดนภาคเหนือกับก๊กวุ่ยเป็นเวลาหลายปี สุดท้ายล้มป่วยเสียชีวิตกลางคัน ก๊กสูต้องถอยทัพกลับ นับแต่นั้นมาก๊กสูก็จำต้องพลิกสถานะกลายเป็นฝ่ายตั้งรับ สุดท้ายในปีค.ศ. 263 ก๊กวุ่ยยกทัพเข้ารวมก๊กสูเป็นผลสำเร็จ




บุคคลสำคัญในก๊กอู๋ จากซ้ายมาขวา ได้แก่ ซุนเจี้ยน ซุนเช่อ ซุนกวน จิวยี่
ก๊กอู๋ (吴)เมื่อครั้งกองกำลังโพกผ้าเหลืองลุกขึ้นก่อการจราจล ซุนเจี้ยน

(孙坚)ที่เป็นขุนนางมีหน้าที่เข้าปราบปรามในพื้นที่เขตเจียงหนัน เมื่อครั้ง

อ้วนเสี้ยวและพวกร่วมมือปราบตั๋งโต๊ะ ซุนเจียนก็เข้าร่วมด้วย ต่อมาเมื่อซุนเจียน

เสียชีวิต ซุนเช่อ (孙策)บุตรชายเข้าคุมกองทัพต่อ ปี 194ได้รับความช่วยเหลือจากโจวอวี่หรือจิวยี่ (周瑜)เสริมกำลังทางทหารให้เข้มแข็งขึ้น เริ่มขยายอำนาจออกสู่เจียงตงทางตะวันออกของลุ่มน้ำแยงซี ต่อมาเมื่อโจโฉเข้าควบคุมฮั่นเสี้ยนตี้

ไว้ได้ ซุนเช่อก็หันมาเข้ากับโจโฉ และได้รับการอวยยศเป็นอู๋โหว หลังจาก

ซุนเช่อสิ้น ซุนเฉวียนหรือซุนกวน (孙权)ผู้เป็นน้องชายก็เข้าสืบทอดอำนาจ

ต่อมา ภายหลังการศึกที่ชื่อปี้ เป็นเหตุให้โจโฉต้องถอยร่นกลับไปยังภาคเหนือ

ซุนกวนก็เข้าคุมพื้นที่เขตตะวันออกเฉียงใต้ไว้ได้ เกิดเป็นกองกำลังสามเส้าต่าง

คุมเชิงกัน

วัตถุโบราณทางวัฒนธรรมระดับ1 เป็นตะเกียงรูปคนนั่งอยู่บนหลังกิเลนในก๊กอู๋

ปัญหาที่ก๊กอู๋ต้องเผชิญคือ ต้องคอยป้องกันชาวเขาเผ่าเยว่ (越)ที่คอยก่อความไม่สงบ และมีแรงกดดันจากกองกำลังของก๊กวุ่ยทางตอนเหนือ ในปีค.ศ. 234 ภายหลังดำเนินยุทธการปิดล้อม ทำให้ชาวเขาเผ่าเยว่วางอาวุธยอมแพ้ จากนั้นมา ชาวฮั่นและชาวเผ่าเยว่ก็มีการหลอมรวมทางชนชาติเข้าด้วยกัน สำหรับปัญหากองกำลังของก๊กวุ่ยที่กดดันอยู่ทางตอนเหนือ ก็มีการผลัดกันรุกรับ หลังจากขงเบ้งเสียชีวิตและก๊กวุ่ยปราบก๊กสูลงได้แล้ว ก๊กวุ่ยก็เพิ่มแรงกดดันทางทหารต่อก๊กอู๋มากขึ้น แต่เนื่องจากความสามารถทางน้ำของกองทัพก๊กวุ่ยมีจำกัด การสู้รบจึงยืดเยื้อยาวนานต่อมาอีกหลายปี


รูปปั้นหุ่นเล่นดนตรีที่ขุดพบในก๊กอู่

ในช่วงเวลา 52 ปีของการสถาปนารัฐวุ่ยนี้ ได้มีการบุกเบิกที่ดินทำการเกษตร

การเมืองการปกครองก็มั่นคงมีเสถียรภาพ ดินแดนแถบเจียงหนันได้มีการพัฒนา

กิจการต่อเรือและการขนส่งทางน้ำอย่างมาก แม่น้ำสายต่าง ๆได้รับการเชื่อมต่อ

จนกลายเป็นเส้นทางการคมนาคมสายหลักจากตะวันออกสู่ดินแดนทางตอนใต้

ถึงกับมีการเดินเรือขึ้นเหนือถึงเหลียวตง ทิศใต้ล่องถึงหนันไห่หรือเขตทะเลใต้

เมื่อถึงปีค.ศ. 230 ได้มีคณะเดินเรือไปถึงเกาะไต้หวันเป็นครั้งแรกเท่าที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ ราชทูตจากรัฐอู๋ยังเดินทางล่องใต้ลงไปจนถึงแถบทาง

ตอนใต้ของเวียดนามและอาณาจักรฟูนัน(กัมพูชาในปัจจุบัน) เป็นต้น ได้มี

การเผยแพร่ของพุทธศาสนาจากลั่วหยังลงสู่ดินแดนทางตอนใต้ พร้อม ๆ

กับลัทธิเต๋า



ตะเกียงดินเผา สินค้าขึ้นชื่อของก๊กอู๋

หลังจากซุนกวนเสียชีวิตในปีค.ศ. 252 รัฐอู๋ก็อ่อนแอลง ในขณะที่ก๊กวุ่ยที่นำโดยตระกูลซือหม่านับวันจะมีกองกำลังเข้มแข็งขึ้น หลังจากรวมก๊กสูเข้าไว้ในปีค.ศ. 263 และผลัดแผ่นดินสถาปนาราชวงศ์จิ้นในปีค.ศ. 265 ราชวงศ์จิ้นต้องวุ่นวายอยู่กับการวางรากฐานการปกครองให้กับราชวงศ์ใหม่ เป็นเหตุให้รัฐอู๋ยังสามารถประคองตัวมาได้อีกระยะเวลาหนึ่ง เมื่อถึงปีค.ศ. 269 จิ้นที่ได้ผู้เชี่ยวชาญทางน้ำจากรัฐสู เริ่มฝึกกองกำลังทางน้ำ เมี่อถึงปี ค.ศ. 279 กองทัพจิ้นก็ยกประชิดอู๋ทางตอนเหนือของลำน้ำแยงซี และสามารถเข้าถึงเมืองหลวงเจี้ยนเย่ได้ในปีค.ศ. 280 รัฐอู๋ก็ถึงกาลล่มสลาย


ซือหม่าเอี๋ยนหรือจิ้นอู่ตี้ ผู้สถาปนาราชวงศ์จิ้น

ในยุคสามก๊กนี้ถึงแม้ว่าจะมีการศึกสงครามอยู่เสมอ แต่สภาพบ้านเมืองยังมี

ความแตกต่างจากความวุ่นวายในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เนื่องจากเป็นสงครามที่ประชาชนต่างก็มุ่งหวังให้มีการรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียว ทางด้านกำลังทหารแล้ว ต้องถือว่าก๊กวุ่ยเข้มแข็งที่สุด รองลงมาคืออู๋ จากนั้นเป็นสูอ่อนแอที่สุด

นั้นภาระการรวมแผ่นดินสุดท้ายจึงตกอยู่ที่วุ่ยหรือจิ้น นับจากสภาพความวุ่นวายในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกจนถึงการคานอำนาจในยุคสามก๊กแล้ว นี่คือความก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง และหากนับตามช่วงเวลาของการอยู่ในอำนาจแล้ว

ก๊กอู๋อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดถึง 52 ปี รองลงมาคือก๊กวุ่ย 45 ปี และสุดท้ายคือก๊กสู

43 ปี ในปีค.ศ. 280 เมื่อจิ้นอู่ตี้ (晋武帝)แห่งราชวงศ์จิ้นยกทัพเข้ากวาดล้างก๊กอู๋ที่เหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียวแล้ว ยุคสมัยของสามก๊กก็เป็นอันสิ้นสุด.

*เนื่องจากความคิดเห็นของนักประวัติศาสตร์จีนเกี่ยวกับการจัดแบ่งช่วงเวลาในยุคนี้แตกต่างกันเป็น 2 ฝ่าย คือความเห็นแรก (ปีค.ศ 220 – 265) เริ่มต้นจากที่วุ่ยทะยานขึ้นสู่อำนาจใหญ่แทนราชวงศ์ฮั่นในปีค.ศ. 220และสิ้นสุดเมื่อราชวงศ์จิ้น(晋)สถาปนาขึ้นแทนวุ่ยในปี 265 และความเห็นที่สองคือ (ปีค.ศ. 196 – 280) เริ่มต้นเมื่อตั๋งโต๊ะ(董桌)บีบให้ฮั่นเสี้ยนตี้(汉献帝)องค์ฮ่องเต้หุ่นเชิดของฮั่น เสด็จออกจากนครหลวงลั่วหยังไปยังสวี่ชางในปีค.ศ. 196และสิ้นสุดในปีค.ศ. 280 เมื่อจิ้นปราบก๊กอู๋ได้สำเร็จ และรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง

















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น