6/03/2552

ขบวนเรือของเจิ้งเหอ (2)



เจิ้งเหอกับเรือมหาสมบัติ
“ในยุคสมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีโทรคมนาคมและเครื่องไม้เครื่องมือเช่นในยุคปัจจุบัน บนท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ด้วยจำนวนคนและกองเรือขนาดมโหฬารนี้ พวกเขาสามารถฟันฝ่าคลื่นลมพายุกลับมาโดยปลอดภัยทุกครั้งได้อย่างไร ? คำตอบอยู่ที่ภูมิปัญญาในการจัดระเบียบการติดต่อสื่อสารระหว่างเรือแต่ละลำ”

ขบวนเรือที่มีเจิ้งเหอเป็นผู้บัญชาการสูงสุดนี้ จัดรูปแบบตามกองเรือรบ มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ในสมัยนั้น กล่าวได้ว่า เป็นการแสดงแสนยานุภาพทางทะเลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคหรือของโลกทีเดียว กล่าวคือ ทั้งขบวนเรือ (อาทิ เรือ ข้าวของเครื่องใช้ อาวุธยุทโธปกรณ์) บุคคลากรและการจัดการ อีกทั้งวิทยาการของจีนในช่วงเวลาดังกล่าว ยังถือเป็นวิทยาการระดับแนวหน้าของแผ่นดินในยุคนั้นอีกด้วย





เรือกำลังพล เรือบรรทุกม้า เรือมหาสมบัติ


เรือกรรเชียง เรือบรรทุกน้ำ เรือรบ เรือเสบียง
ขบวนเรือ
กิจกรรมในการท่องสมุทรย่อมไม่อาจขาดเรือได้ จากบันทึกการเดินทางของเจิ้งเหอและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่รวบรวมได้ พบว่าขบวนเรือของเจิ้งเหออย่างน้อยประกอบด้วยเรือ 7 ชนิด ได้แก่ เรือมหาสมบัติหรือเรือใหญ่(宝船) เรือบรรทุกม้า(马船) เรือรบ(战船) เรือกำลังพล (座船)เรือเสบียง(粮船) เรือบรรทุกน้ำ(水船) เป็นต้น

เรือมหาสมบัติ หรือเรือใหญ่เป็นเรือบัญชาการ และใช้บรรทุกทรัพย์สินมีค่าต่างๆ เรือบรรทุกม้า เป็นเรือสำรองยามฉุกเฉิน บรรทุกเครื่องบรรณาการและสินค้าจากนานาประเทศ สามารถใช้ในการรบเมื่อถึงคราวจำเป็น เรือรบ ใช้ในการรักษาความปลอดภัยของขบวนเรือ มีขนาดเล็กเพรียว มีความคล่องตัวสูง ประกอบด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ (อาวุธปืนไฟของจีน ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นตั้งแต่สมัยปลายราชวงศ์ซ่ง) และทหารประจำการณ์ เรือกำลังพล เป็นหน่วยป้องกันการปล้นสะดมหรือโจมตีโดยโจรสลัด พร้อมสำหรับการต่อสู้แบบสะเทินน้ำสะเทินบก เรือเสบียง และ เรือน้ำ บรรทุกเสบียงอาหารและน้ำจืด ซึ่งการเดินเรือในสมัยนั้น ยังไม่เคยมีการจัดเตรียมเรือน้ำเป็นการเฉพาะมาก่อน

ลูกเรือ
การเดินทางแต่ละครั้งของเจิ้งเหอ ใช้เรือมากกว่า 200 ลำ มีลูกเรือที่ร่วมเดินทางในแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 27,000 คน ประกอบด้วยผู้ที่ทำหน้าที่ด้านต่างๆมากมาย อาทิ ขุนนาง ทหาร เจ้าหน้าที่พิธีทางการทูต พ่อค้า ช่างฝีมือ แพทย์ ล่าม นักสอนในศาสนาอิสลาม และพระภิกษุในพุทธศาสนา เป็นต้น มีการจัดแบ่งกองกำลังออกเป็น 5 หน่วย หน่วยละ 5,000 – 5,500 คน ตามหน้าที่ภารกิจในกองเรือ ได้แก่ กองบัญชาการ กองปฏิบัติการเดินเรือ กองการค้าและการระหว่างประเทศ กองเสบียง และกองกำลังป้องกัน

กองบัญชาการ รับหน้าที่ในการวางแผนและกำหนดทิศทางการเดินเรือ ตลอดจนนโยบายด้านการทูต การค้าและการศึกสงครามทั้งหมด นำโดยเจิ้งเหอ กองปฏิบัติการเดินเรือ มีหน้าที่ในการเดินเรือ ซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย การพยากรณ์อากาศ เป็นต้น กองการค้าและการทูต ดูแลด้านพิธีการการทูต ล่าม และการติดต่อค้าขายกับต่างแดน กองเสบียง จัดการสนับสนุนด้านเสบียง ยุทโธปกรณ์และอำนวยความสะดวกทั่วไป รวมถึงหน่วยแพทย์ที่คอยดูแลสุขภาพให้กับลูกเรือ เป็นต้น ส่วนกองกำลังป้องกัน ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยทั่วไปของขบวนเรือ

เมื่อเทียบกับกองเรือจากตะวันตกที่ออกสำรวจโลกทางทะเลในภายหลัง นำโดย คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส(Christopher Columbus) ค้นพบทวีปอเมริกาในปี 1492 มีจำนวนลูกเรือเพียง 90 – 1,500 คน วาสโก ดา กามา(Vasco da Gama) เข้าเทียบฝั่งเมืองท่าคาลิคัทของอินเดีย ในปี 1498 มีลูกเรือ 265 คน และเฟอร์ดินัน แมคแจลลัน(Ferdinand Magallen) ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมายังโลกตะวันออกในปี 1521 ด้วยลูกเรือจำนวน 170 คนเท่านั้น

แผนที่ดาราศาสตร์ประกอบเส้นทางเดินเรือของเจิ้งเหอ
ปัจจัยแห่งความสำเร็จกับภูมิความรู้และวิทยาการ
ในเวลานั้น กองเรือของเจิ้งเหอที่มีเพียงเรือไม้ อาศัยคลื่นลมทะเลตามธรรมชาติ ออกสู่ท้องทะเลกว้าง ไม่เพียงต้องอาศัยวิทยาการทางด้านการเดินเรือ การต่อเรือ ประสบการณ์ ภูมิความรู้สติปัญญา และยังต้องมีความกล้าหาญและจิตใจที่รักการผจญภัยอย่างมากทีเดียว

วิทยาการที่ใช้ในการเดินเรือในยุคนั้น ที่สำคัญได้แก่ ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ในการคำนวณหาตำแหน่งดวงดาวบนท้องฟ้า ที่ตั้งของกองเรือและกำหนดทิศทางการเดินเรือ ความรู้เกี่ยวกับท้องทะเล เพื่อช่วยในการพยากรณ์ลมฟ้าอากาศ ผสมผสานกับการใช้เครื่องมือต่างๆ อาทิ เข็มทิศ มาตรวัด เครื่องวัดระดับน้ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีโทรคมนาคมและเครื่องไม้เครื่องมือเช่นในยุคปัจจุบัน บนท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ด้วยจำนวนคนและกองเรือขนาดมโหฬารนี้ พวกเขาสามารถฟันฝ่าคลื่นลมพายุกลับมาโดยปลอดภัยทุกครั้งได้อย่างไร ? คำตอบอยู่ที่ภูมิปัญญาในการจัดระเบียบการติดต่อสื่อสารระหว่างเรือแต่ละลำ ซึ่งมีเพียง เรือเร็ว สัญญาณจากธง เสียงและแสง เป็นต้น โดยในเวลากลางวัน เรือแต่ละลำจะแขวนธงสัญญาณสีสันต่างกัน เพื่อบ่งบอกทิศทางและภารกิจของตน ขณะที่ยามค่ำคืนก็ใช้สัญญาณจากโคมไฟ เมื่อมีลมฝนหรือหมอกหนา คอยบดบังทัศนะวิสัย ก็ใช้การเคาะเกราะ สัญญาณระฆัง หรือสัญญาณจากแตรสังข์ ฯลฯ การบัญชากองเรือในรูปแบบของการจัดทัพนี้ ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของความสำเร็จในการเดินทางไกลของเจิ้งเหอ

อนึ่ง ภาพแผนที่การเดินเรือของเจิ้งเหอ ปัจจุบันถือเป็นแผนที่การเดินเรือที่เก่าแก่ที่สุดในโลก จัดทำขึ้นในราวปีค.ศ. 1425 – 1430 ภายหลังการเดินทางครั้งที่ 6 ของเจิ้งเหอ (เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว จักรพรรดิหมิงเซวียนจงมีดำริที่จะรื้อฟื้นกองเรือให้ออกเดินทางอีกครั้งหลังจากต้องชะงักงันไปในช่วงก่อนหน้านี้ จึงได้มีการรวบรวมจัดทำแผนที่การเดินทางที่ผ่านมาขึ้น) ต้นฉบับเดิมเป็นม้วนภาพยาว ภายหลังได้มีการจัดพิมพ์เป็นเล่ม โดยแบ่งเป็น 20 แผ่น 40 หน้ากระดาษ จดบันทึกรายชื่อเมืองท่าชายฝั่งทะเลไว้กว่า 300 แห่ง แผนที่ดังกล่าวแสดงจุดเริ่มการเดินทางตั้งแต่เมืองหนันจิง จนกระทั่งถึงปลายทางที่เมืองมอมบาซา เมืองชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา แผนที่แสดงตำแหน่งของเมือง กระแสน้ำในแต่ละฤดูกาลทิศทางตำแหน่งดวงดาว สภาพเกาะแก่งและร่องน้ำในการเดินทางไว้อย่างชัดเจน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น