6/28/2552

ราชวงศ์หมิง (1368-1644) - ตอนจบ / ธารประวัติศาสตร์

หลังราชวงศ์หมิงก่อตั้งมาได้เพียง 2 รัชกาล ก็เกิดสงครามกลางเมืองที่เรียกว่า “การจลาจลจิ้งหนาน” ขึ้น จนกระทั่งเจ้ารัฐเอี้ยน – จูตี้ ยกทัพเข้ายึดปักกิ่งสถาปนาตนขึ้นเป็นฮ่องเต้หมิงเฉิงจู่หรือฮ่องเต้หย่งเล่อ แม้ว่าราชวงศ์หมิงจะมีความเจริญรุ่งเรืองในหลายๆด้าน อาทิการจัดทำสารานุกรมหย่งเล่อ การสร้างพระราชวังปักกิ่งอันโอฬาร การจัดขบวนเรือเจิ้งเหออันเป็นกองเรือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์จีน ทว่าหย่งเล่อเองก็ได้ฝังรากปัญหาอันเป็นต้นเหตุสำคัญแห่งความเสื่อมของราชวงศ์หมิงเอาไว้ด้วยเช่นกันสู่ยุคขันทีครองเมือง- มูลเหตุความวิบัติ

แม้ว่าแต่ละยุคสมัยจะเดินไปตามกฎแห่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ทว่าการเกิดดับเหล่านั้นย่อมมีมูลเหตุสำคัญอยู่ ในราชวงศ์หมิง ถือว่าเป็นราชวงศ์หนึ่งที่ “ขันที” เข้ามามีบทบาทและอำนาจทางการเมืองอย่างสูง จนการแทรกแซงการปกครองจากเหล่าขันทีทำให้ระบบราชการมีแต่ความฟอนเฟะ โดยเฉพาะเมื่อมีการยกเลิกระบบอัครเสนาบดี ได้ทำให้อำนาจถูกควบรวมศูนย์อยู่ที่ฮ่องเต้ ฉะนั้นเมื่อใดที่ฮ่องเต้ทรงหย่อนยานในราชกิจ ก็มักจะหันมาพึ่งขันทีจนเกิดเป็นความสับสนในระบบ กระทั่งท้ายที่สุดในบางสมัยขันทีถึงกับมีอำนาจเทียบเท่าอัครเสนาบดีทีเดียว

ในช่วงต้นราชวงศ์หมิง หมิงไท่จู่ หรือจูหยวนจางได้เล็งเห็นถึงอุทาหรณ์จากประวัติศาสตร์ในอดีต โดยเฉพาะช่วงปลายราชวงศ์ถังที่ขันทีเข้ามาข้องแวะกับอำนาจทางการเมือง จนเกิดความวุ่นวายในแผ่นดิน จึงทรงดำเนินการตรากฎหมายมากมายเพื่อควบคุม อาทิห้ามมิให้ขันทีเรียนหนังสือ ห้ามมิให้ไปมาหาสู่กับขุนนางในราชสำนัก ไม่อนุญาตให้ขันทีรับตำแหน่งขุนนางทั้งพลเรือนและทหารเป็นต้น โดยมีพระประสงค์ที่จะควบคุมขันทีให้อยู่ในร่องในรอย ถึงกับทรงตั้งป้ายเหล็กไว้ที่หน้าพระตำหนัก ที่สลักข้อความว่า “ห้ามขันทีข้องแวะกับการปกครอง ผู้ละเมิดมีโทษประหาร”

ถัดมาในสมัยของหมิงฮุ่ยตี้ กฎเกณฑ์ดังกล่าวยังคงดำเนินไปซ้ำยังเข้มงวดมากเสียยิ่งกว่า แต่เมื่อมาถึงรัชกาลของหมิงเฉิงจู่ (จูตี้) กฎเกณฑ์เรื่องขันทีก็ค่อยๆเปลี่ยนไป อันมีสาเหตุมาจากในช่วงเวลาที่จูตี้กำลังทำสงครามภายใน มีขันทีจำนวนมากที่ไม่พอใจต่อความเข้มงวดของหมิงฮุ่ยตี้ จนหลายคนลอบส่งข่าวจากในราชสำนักออกมาให้กับหมิงเฉิงจู่ซึ่งยังดำรงตำแหน่งเจ้ารัฐเอี้ยนในขณะนั้น ขันทีบางคนถึงกับหนีมาร่วมกองทัพ ผนวกกับขันทีข้างกายของจูตี้เองหลายคนก็ได้เข้าร่วมในสงครามและสร้างผลงานการศึกเอาไว้มาก ทำให้หมิงเฉิงจู่มีความไว้วางพระทัยต่อบุคคลเหล่านี้ไม่น้อย


แม้ในระยะแรกที่หมิงเฉิงจู่ขึ้นครองราชย์จะมีการระวังป้องกันการแทรกแซงการปกครองจากเหล่าขันทีอยู่บ้าง อันเห็นได้จากการสั่งลงโทษขันทีที่สั่งให้ช่างประจำวังหลวงตัดชุดให้กับตน แต่นั่นก็เป็นไปเพียงระยะแรกเท่านั้น เพราะในภายหลังนอกจากจะมีการดึงขันทีเข้ามาช่วยเหลือในด้านงานการทูตเช่นการส่งขันทีหลี่ซิงเป็นทูตไปยังประเทศสยาม หรือส่งเจิ้งเหอนำกองเรือและทหารไปเจริญสันถวไมตรียังดินแดนต่างๆ จากนั้นเป็นต้นมา ขันทีก็ค่อยๆเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทหาร และการปกครองมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะหลังจากที่ย้ายราชธานีไปยังปักกิ่ง เนื่องจากหมิงเฉิงจู่เกรงว่าขุนนางจะไม่สามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้ จึงมีการตั้งหน่วยงาน “ต่งฉั่ง” (东厂- หน่วยงานบูรพา) ขึ้น เพื่อให้ขันทีมีอำนาจในการตรวจสอบทั้งขุนนางและราษฎรว่ามีผู้ใดที่มีข้ออันพึงสงสัยได้ว่าจะเป็นผู้ที่เตรียมก่อการกบฏ และสืบเนื่องจากที่หน่วยงานนี้ควบคุมดูแลโดยเหล่าขันทีที่มีความใกล้ชิดกับฮ่องเต้ ทำให้เมื่อได้รับข่าวสารใดมา ก็สามารถทูลต่อฮ่องเต้ได้โดยตรงทันที จึงเสมือนมีฐานะอยู่เหนือองครักษ์เสื้อแพรเสียอีก

ในรัชกาลฮ่องเต้หมิงอิงจง(明英宗) หัวหน้าขันทีหวังเจิ้น (王振) ได้รับการโปรดปรานจากฮ่องเต้ จนมีอำนาจเหนือกว่าขุนนางผู้ใหญ่ในราชสำนักจนบรรดาขุนนางต่างต้องคอยมาประจบสอพลอ จนระบบการปกครองเสื่อมทรามลงทุกที มีการทุจริตกันทั้งฝ่ายนอกฝ่ายในอย่างออกนอกหน้า บรรดาขุนนางที่ต้องการมาขอพบหวังเจิ้น ก็จะต้องจ่ายเงินร้อยตำลึงเป็นของขวัญ ทำให้ภายในช่วงระยะเวลา 7 ปีที่หวังเจิ้นมีอำนาจมีทรัพย์สมบัติเป็นเงินและทองรวมกันถึงกว่า 60 โกดัง

เมื่อมาถึงรัชกาลของฮ่องเต้หมิงเสี้ยนจง(明宪宗) ยิ่งทรงไว้พระทัยเหล่าขันที นอกจากมีตงฉั่งแล้ว ยังได้จัดตั้งหน่วยงาน “ซีฉั่ง” (西厂-หน่วยงานประจิม) ขึ้นมา โดยมีขันทีวังจื๋อ (汪直)กุมอำนาจ โดยสามารถออกคำสั่งกับตงฉั่ง และใช้หน่วยงานองครักษ์เสื้อแพรเป็นเสมือนเขี้ยวเล็บในการปฏิบัติการ ทำให้มีอำนาจบาตรใหญ่จนถึงขั้นจับตัวและเข่นฆ่าชาวบ้านหรือขุนนางตามอำเภอใจ จนขุนนางผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตไปนับไม่ถ้วน


รูปการณ์ดูคล้ายจะดีขึ้นในสมัยฮ่องเต้หมิงเสี้ยวจง (明孝宗) ที่ทรงให้ความเอาใจใส่ต่อราชการบ้านเมือง จนการปกครองในยุคนั้นเริ่มที่จะดีขึ้นบ้าง แต่แล้วหลังจากทรงสวรรคต หมิงอู่จง (明武宗) ฮ่องเต้องค์ถัดมาที่ครองราชย์ด้วยวัยเพียง 15 ปี ด้วยเป็นฮ่องเต้ที่นิยมความสำราญ จึงทรงเชื่อฟังเหล่าขันที โดยเฉพาะหลิวจิ่น (刘瑾) ขันทีที่มีอำนาจมากที่สุดในขณะนั้น ได้จัดตั้ง “เน่ยฉั่ง” (内厂- หน่วยงานฝ่ายใน) ซึ่งโหดเหี้ยมทารุณและใช้อำนาจบาตรใหญ่ยิ่งกว่า”ตงฉั่ง” กับ “ซีฉั่ง”เสียอีก ในยุคสมัยที่หลิวจิ่นเรืองอำนาจนั้น การทุจริตฉ้อฉลรับสินบนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติอย่างกว้างขวางไปทั่ว ซึ่งในภายหลังเมื่ออดีตขุนนางพี่น้องแซ่หยางกับหวังหยางหมิง (王阳明)สามารถทำให้ขันทีผู้หนึ่งเอาใจออกห่าง จนเป็นเหตุให้สามารถล่วงรู้ถึงแผนการชิงราชสมบัติของหลิวจิ่น และสามารถจับกุมตัวพร้อมสมัครพรรคพวกและพี่น้องได้ทั้งหมดเพื่อทำการประหารชีวิต ซึ่งต่อมาหลังจากมีการตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมดของหลิวจิ่นแล้วพบว่ามีทองคำมากกว่า 12 ล้านตำลึง มีเงินกว่า250 ตำลึง ซึ่งยังไม่รวมถึงเพชรนิลจินดาและสิ่งมีค่าอื่นๆอีกมากมาย โดยทรัพย์สินของหลิวจิ่นที่ถูกริบนี้ยังมีมูลค่ามากกว่างบประมาณแผ่นดินเสียอีก

ความพลิกผันที่ถู่มู่ (土木之变)

การเข้ามาแทรกแซงอำนาจการปกครองของขันที ได้ก่อให้เกิดความวิบัติในราชวงศ์หมิงหลายครั้ง หลังจากที่ฮ่องเต้หมิงเซวียนจง (明宣宗)สวรรคต รัชทายาทจูฉีเจิ้น (朱祈鎮)ขึ้นครองราชย์เป็นฮ่องเต้หมิงอิงจง (明英宗) ด้วยวัยเพียง 9 ชันษา ในขณะนั้นหวังเจิ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าขันทีดูแลฝ่ายใน ได้คอยช่วยเหลือหมิงอิงจงในการตรวจฎีกาต่างๆที่ถูกส่งมาจากขุนนาง ส่วนหมิงอิงจงเองก็ใฝ่พระทัยแต่กับการเล่นสนุกเสเพล ไม่สนใจกิจการบ้านเมือง จนกระทั่งหวังเจิ้นค่อยๆฉวยโอกาสในการรวบอำนาจทางการทหารและการปกครองมาไว้ในมือ ขุนนางราชสำนักคนใดกล้าขัดใจ ก็จะถูกปลดออกจากตำแหน่ง ไม่ก็ถูกส่งไปเป็นทหารในกองทัพ แม้แต้บรรดาขุนนางราชนิกูลเองยังคอยประจบหวังเจิ้นถึงกับเรียกขานเป็นเหมือนบิดาว่า “เวิงฟู่” (翁父) เลยทีเดียว

ในเวลานั้นชนเผ่าหว่าล่า (瓦剌) ของชนชาติมองโกลทางเหนือเริ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีค.ศ. 1449 เหยี่ยเซียน (也先)หัวหน้าชนเผ่าหว่าล่าได้ส่งทูตสามพันคนมายังปักกิ่ง เพื่อที่จะถวายม้า และร้องขอพระราชทานทองคำเป็นการตอบแทน ขันทีหวังเจิ้นกลับกดราคาม้า และลดจำนวนทองคำที่จะให้ นอกจากนั้นทางเหยี่ยเซียนได้ขอพระราชทานบุคคลจากราชวงศ์หมิงเพื่อที่จะไปสมรสกับบุตรชายของตน แต่ก็ถูกหวังเจิ้นปฏิเสธไปอีก จนทำให้เหยี่ยเซียนเกิดโทสะ นำกองทัพม้าของหว่าล่าบุกไปยังด่านต้าถง

แม่ทัพที่รักษาด่านนำทหารออกรับมือ แต่พ่ายแพ้ให้กับทหารของหว่าล่าอย่างยับเยิน จึงได้ส่งสาส์นด่วนไปยังราชสำนัก ฮ่องเต้หมิงอิงจง รีบเรียกประชุมขุนนางเพื่อหาวิธีรับมือ ชัยภูมิที่ต้าถงอยู่ไม่ไกลจากอี๋ว์โจว (蔚州) บ้านเกิดของหวังเจิ้น และหวังเจิ้นเองก็มีที่นาอยู่ในอี๋ว์โจวเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงได้พยายามยุยงให้ฮ่องเต้หมิงอิงจงนำทัพออกศึกด้วยพระองค์เอง ในยามนั้นฝ่ายกลาโหมและอีกหลายคนได้พยายามทูลทัดทานไว้ ด้วยเหตุผลที่ว่าราชสำนักยังเตรียมการไม่พร้อม มิบังควรให้ฮ่องเต้เป็นจอมทัพออกศึก ทว่าหมิงอิงจงกลับเลือกที่จะเชื่อหวังเจิ้นโดย เสี่ยงนำทัพออกศึกโดยไม่ฟังคำทัดทานของเหล่าขุนนาง

ในยามนั้นแม่ทัพเฝินจงที่แค้นขันทีชั่วหวังเจิ้นมานาน จึงทำการจบชีวิตหวังเจิ้นแล้วพาตัวเข้าไปสู้ตายในสมรภูมิ ฮ่องเต้หมิงอิงจงเห็นว่าหมดหวังที่จะหนีได้ จึงได้ยอมลงจากม้าแล้วปล่อยให้ทหารหว่าล่าของมองโกลจับตัวไป โดยในศึกครั้งนี้ ต้าหมิงต้องสูญเสียทหารไปกว่า 2 แสนคน และนักประวัติศาสตร์ได้เรียกขานเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า “การพลิกผันที่ถู่มู่”

หมิงอิงจงได้ฝากฝังให้พระอนุชาเฉิงหวัง (郕王) เฝ้าเมืองหลวงเอาไว้ จากนั้นก็นำพาหวังเจิ้น กับขุนนางอีกกว่าร้อยกนำทัพใหญ่ที่มีจำนวนถึง 500,000 คนออกจากปักกิ่งมุ่งสู่ด่านต้าถงอย่างเอิกเกริก ทว่าการออกศึกนี้เนื่องจากไม่ได้มีการเตรียมการที่พร้อมสรรพ กอปรกับวินัยทหารที่หย่อนยาน ตลอดทางยังต้องพบกับพายุลมฝน ผ่านไปเพียงไม่กี่วัน การจัดส่งเสบียงก็ขาดความต่อเนื่อง ทำให้ทหารต้องทนหนาวทนหิวร้องโอดครวญตั้งแต่ยังไม่ได้พบหน้ากับทหารหว่าล่าของมองโกลด้วยซ้ำ

เมื่อทหารเดินทางมาถึงต้าถง ก็เป็นสภาพศพทหารต้าหมิงนอนเกลื่อนไปทั่ว จนทำให้รู้สึกหวั่นเกรง ส่งผลให้ขวัญของกองทัพถดถอยลงทันที ในยามนั้นมีขุนนางที่พยายามทูลขอให้ถอยทัพ แต่ก็ถูกหวังเจิ้นด่ากลับอย่างรุนแรงทั้งยังลงโทษให้คุกเข่าเป็นเวลาหนึ่งวัน

การศึกผ่านไปไม่กี่วันทัพหน้าของทหารต้าหมิงก็พ่ายแพ้อย่างหมดรูป จนทัพต่างๆต้องทยอยถอยร่นกลับมา หวังเจิ้นเริ่มรู้สึกถึงลางหายนะจึงยอมให้ถอนทัพกลับปักกิ่ง ซึ่งอันที่จริงแล้ว ตามยุทธวิธีการศึกการถอยทัพนั้นควรเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ขันทีหวังเจิ้นกลับอยากจะกลับไปอวดบารมีที่บ้านเกิดตน จึงสั่งให้ทหารมุ่งตรงไปยังที่นั่นก่อน จากนั้นก็เปลี่ยนใจถอยทัพเนื่องจากเกรงว่าทหารจะไปเหยียบไร่นาของตนเสียหาย

การถ่วงเวลาเช่นนี้ทำให้ทหารหว่าล่าของมองโกลไล่ตามมาทัน จนทหารหมิงต้องต่อสู้พลางถอยพลาง จนกระทั่งมาถึงป้อมถู่มู่ พลบค่ำวันนั้นมีขุนนางที่พยายามทูลให้หมิงอิงจงเดินทางต่อยามดึกไปอีกสักระยะเพื่อไปหลบพักยังเมืองหวายไหล ซึ่งจะยังสามารถยันไว้ได้หากทัพศัตรูตามมาทัน แต่หวังเจิ้นเห็นว่ารถขนสมบัติของตนอีกหลายเกวียนยังมาไม่ถึง จึงบังคับให้ทหารหยุดลงที่ป้อมถู่มุ่ อันเป็นป้อมซึ่งสร้างขึ้นจากไม้และดิน ไม่สามารถที่จะป้องกันได้ดีนักอีกทั้งไม่มีน้ำให้ดื่มใช้อีกด้วย

เช้าอีกวันหนึ่งทหารหว่าล่าได้ไล่มาถึงและล้อมทหารหมิงเอาไว้อย่างแน่นหนา หมิงอิงจงทราบดีว่าไม่สามารถที่จะบุกฝ่าออกไปจึงได้ส่งคนไปเพื่อเจรจา ทางฝ่ายเหยี่ยเซียนแสร้งทำทีเป็นยอมรับ รอจนทางฝ่ายหมิงวางใจปล่อยให้ทหารหมิงที่อดน้ำมานานกำลังพุ่งเข้าไปหาแม่น้ำจนสับสนอลม่าน ค่อยนำทหารที่ดักซุ่มไว้บุกเข้าเข่นฆ่า แล้วประกาศว่าจะไว้ชีวิตผู้ที่ยอมจำนนจนทหารหมิงต่างพากันวางอาวุธ


รัฐประหารแห่งตั๋วเหมิน (夺门之变)

เมื่อข่าวของฮ่องเต้หมิงอิงจงถูกส่งมายังปักกิ่ง ได้ทำให้ขุนนางทั่วราชสำนักเกิดความสับสนอลหม่าน จนถึงกับมีคนที่เสนอให้ทำการย้ายราชธานีหลบหนีลงใต้อีกครั้ง ขณะที่ประเด็นดังกล่าวกำลังเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางโดยหาข้อสรุปไม่ได้ เจ้ากระทรวงกลาโหม อี๋ว์เชียน (于谦) ได้ออกมาเตือนสติทุกคนว่าราชธานีถือเป็นรากฐานของประเทศ หากทำการย้ายราชธานีไป สถานการณ์จะยิ่งย่ำแย่ โดยสามารถดูจากสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ที่ผ่านมาไม่นานนี้

ความเห็นของอี๋ว์เชียนได้รับความเห็นชอบจากขุนนางจำนวนมาก เหล่าขุนนางจึงได้ขอให้มีการปราบดาภิเษกจูฉีอี้ว์ (朱祈钰) หรือเฉิงหวังซึ่งเป็นพระอนุชาของหมิงอิงจงขึ้นเป็นฮ่องเต้ มีพระนามว่าหมิงจิ่งตี้ จากนั้นให้อี๋ว์เชียนรับหน้าที่ในการดูแลการศึกเพื่อรับมือทหารหว่าล่า

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทหารหว่าล่าบุกประชิดเมืองหลวงเข้ามาทุกที แม้อี๋ว์เชียนต้องรับศึกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมการรบ การรับสมัครทหารใหม่ การโยกย้ายลำเลียงเสบียง การเร่งสร้างอาวุธ แต่ในเวลาเพียงหนึ่งเดือนอี๋ว์เชียนสามารถรวบรวมทหารได้ถึง 2 แสนนายเพื่อเตรียมออกศึกครั้งนี้


ยามนั้นทหารของเหยี่ยเซียนบุกตีหักเอาด่านจื่อจิง แล้วมุ่งสู่เมืองหลวงทันที อี๋ว์เชียนได้ส่งทหารส่วนหนึ่งรักษาเมืองหลวง จากนั้นแบ่งทหารออกมาตั้งเตรียมรับศึกที่หน้าประตูเมืองทั้ง 9 แห่ง เหยี่ยเซียนเห็นว่าต้าหมิงมีการเตรียมพร้อมคงยากที่จะบุกโดยตรง จึงทำทีว่าจะส่งตัวหมิงอิงจงกลับมาเพื่อหลอกฆ่าอี๋ว์เชียนและพรรคพวก แต่แผนการดังกล่าวกลับถูกอี๋วเชียนมองออกเสียก่อน

ในที่สุดเหยี่ยเซียนก็ตัดสินใจนำทหารเข้าโจมตี โดยอี๋ว์เชียนก็ไปเข้าปะทะโดยตรง ส่งกองทหารม้าสู้รบหลอกล่อทหารหว่าล่าไปยังกับดักระเบิดที่วางไว้จนทหารมองโกลเสียหายอย่างหนัก ทหารหว่าล่าพยายามบุกตีเมืองหลวงหลายครา แต่ก็ประสบความพ่ายแพ้ตลอด จนต้องถอยทัพหนีกลับไป แล้วส่งตัวฮ่องเต้หมิงอิงจงกลับมา

หลังหมิงอิงจงถูกส่งกลับ ก็ถูกหมิงจิ่งจง (明景宗) ที่เป็นฮ่องเต้ในขณะนั้นยกให้เป็นไท่ซั่งหวง แล้วให้ไปพำนักที่วังทางใต้ ซึ่งก็คือการถูกกักบริเวณนั่นเอง กระทั่งปี 1457 ฮ่องเต้หมิงจิ่งจงประชวรหนัก ขุนนางใหญ่อย่างสีว์โหยว่เจิน สือเฮิง และขันทีเฉาจี๋เสียงจึงวางแผนจะคืนบัลลังก์ให้กับหมิงอิงจง แอบส่งทหารลอบเข้าไปรับตัวหมิงอิงจงออกจากวัง แล้วทำการยึดอำนาจ ประกาศให้หมิงอิงจงกลับคืนสู่บัลลังก์มังกรในวันต่อมา หลังจากหมิงอิงจงคืนสู่ตำแหน่ง ได้ทำการปลดให้หมิงจิ่งจงกลับไปเป็นอ๋อง เปลี่ยนชื่อรัชกาลเป็นเทียนซุ่น จากนั้นก็ทำการประหารฆ่าอี๋ว์เชียน หวังเหวินและผู้คนที่เคยสนับสนุนให้หมิงจิ่งจงขึ้นเป็นฮ่องเต้เสีย ซึ่งการกลับคืนสู่อำนาจของฮ่องเต้หมิงอิงจงในครั้งนี้ถูกเรียกว่า “การรัฐประหารแห่งตั๋วเหมิน”

โฮ่วจิน – กบฏชาวนา ศึกในศึกนอกสู่กาลอวสาน

ปลายราชวงศ์หมิงที่มีแต่ความเสื่อมโทรม กลับเป็นช่วงเวลาที่ชนเผ่าหนี่ว์เจิน (女真)ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแผ่นดินต้าหมิงค่อยๆเติบใหญ่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ นูรฮาชี (奴爾哈赤) ผู้นำที่เป็นทั้งนักรบและนักปกครอง อีกทั้งคล่องแคล่วในภาษาฮั่น ได้เริ่มต้นรวบรวมชนเผ่าหนี่ว์เจินเป็นปึกแผ่น

หลังนูรฮาชีสามารถรวบรวมชนชาติหนี่ว์เจินได้แล้ว ก็ได้ทำการวางระบบ 8 กองธงขึ้น โดยแต่ละกองธงนั้นเป็นทั้งหน่วยงานการปกครองและเป็นองค์กรทางทหารในตัว แต่ในยามนั้น เพื่อไม่ให้ราชสำนักหมิงเกิดความระแวงสงสัย นูรฮาชีจึยังเลือกที่จะยอมเรียกตนเป็นเสมือนขุนนางของราชสำนักหมิง และส่งเครื่องบรรณาการไปให้จนกระทั่งราชสำนักหมิงวางใจในท่าทีอันเป็นมิตร ถึงกับพระราชทานตำแหน่งให้เป็นแม่ทัพหลงหู่ (มังกรพยัคฆ์)


กระทั่งปีค.ศ. 1616 เมื่อนูรฮาชีเห็นว่าสถานการณ์เหมาะสมแล้ว ท่ามกลางการสนับสนุนของผู้นำทั้ง 8 กองธง จึงสถาปนาตนขึ้นเป็นข่านหรือปฐมกษัตริย์ของโฮ่วจิน (จินยุคหลัง) โดยการที่เรียกเป็นโฮ่วจินนั้น เพื่อให้สามารถแยกแยะจากอาณาจักรจินที่สถาปนาขึ้นในช่วงหลังสมัยราชวงศ์ซ่ง

ในช่วงต้นรัชกาลฮ่องเต้หมิงซีจง (明熹宗) ขันทีเว่ยจงเสียน (魏忠贤)ได้เป็นคนโปรดของฮ่องเต้ และกุมอำนาจตงฉั่ง ได้พยายามส่งคนของตนที่เป็นพวกประจบสอพลอฉ้อฉลเข้าไปประจำยังตำแหน่งสำคัญต่างๆ กระทั่งผู้ตรวจการคนหนึ่งนามหยางเหลียน (杨涟) ได้เสี่ยงตายทำฎีกาทูลต่อฮ่องเต้ ระบุความผิดของเว่ยจงเสียนถึง 24 ประการ แต่ความปรารถนาดีดังกล่าว กลับทำให้เว่ยจงเสียนซึ่งกุมอำนาจไว้หมดสิ้นถือโอกาสรวบรวมรายชื่อขุนนางที่เป็นศัตรูของตน แล้วทำการกวาดล้างครั้งใหญ่พร้อมกับหยางเหลียนแล้วจับเข้าคุกทั้งสิ้น 700 คนโดยมีจำนวนไม่น้อยที่ถูกทรมานจนตายในคุก

ในขณะที่เว่ยจงเสียนเรืองอำนาจ ฮ่องเต้หมิงซีจงก็ทรงสิ้นพระชนม์โดยกะทันหัน ผู้ที่รับตำแหน่งต่อเป็นพระอนุชาที่มีพระชนม์เพียง 17 พรรษา ขึ้นครองราชย์มีพระนามว่าฮ่องเต้หมิงซือจง (明思宗) ใช้ชื่อรัชกาลว่าฉงเจิน (崇祯) ซึ่งเป็นฮ่องเต้องค์สุดท้ายในราชวงศ์หมิง

ขึ้นครองราชย์ สิ่งแรกที่ทรงกระทำก็คือการกำจัดขันทีเว่ยจงเสียนด้วยการปลดออกจากราชการ จนเว่ยจงเสียนต้องเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดของตน ในภายหลัง ยังมีการประกาศความผิดของเว่ยจงเสียนโดยระบุว่าเป็นผู้ไม่จงรักภักดีต่อบ้านเมือง ผิดต่อพระกรุณาธิคุณของฮ่องเต้พระองค์ก่อน ใช้อำนาจบาตรใหญ่ เล่นพรรคเล่นพวก อ้างราชโองการป้ายสีขุนนางสุจริต ในขณะนั้นเว่ยจงเสียนเมื่อทราบข่าวก็รู้ชะตากรรมของตนเองดี จึงชิงฆ่าตัวตายไป ส่วนพรรคพวกก็ถูกกวาดล้างลงโทษไปตามๆกัน

หลังนูรฮาชีสถาปนาโฮ่วจิน ก็ได้ทำศึกมีชัยเหนือทหารของต้าหมิงหลายครั้ง จนเหล่าขุนนางทั้งหลายต่างครั้นคร้ามกันไปทั่ว จนไม่มีใครอาสาไปรับศึกอีก แต่แล้วในยามนั้นขุนนางนามหยวนฉงฮ่วน ( 袁崇焕)ได้แสดงเจตจำนงต่อเจ้ากรมกลาโหม อาสานำทัพไปยันกองทัพโฮ่วจินที่บุกมาถึงหนิงหย่วนในมณฑลเหลียวตงด้วยตนเอง

ปี 1626 นูรฮาชีนำทัพ 130,000 คนข้ามแม่น้ำเหลียวเข้าโจมตีหนิงหย่วน แต่หยวนฉงฮ่วนก็รับศึกอย่างแข็งขัน จนทหารของโฮ่วจินล้มตายเป็นจำนวนมาก นูรฮาชีเองก็บาดเจ็บสาหัสจนต้องมีคำสั่งถอยทัพไปยังเสิ่นหยาง แล้วเสียชีวิตลงที่นั่น

หลังจากเอาชนะทัพของโฮ่วจินได้ทางการได้แต่งตั้งให้หยวนฉงฮ่วนขึ้นเป็นผู้ตรวจการมณฑลเหลียวตง จากนั้นก็มีการเร่งรับสมัครทหาร ซ่อมบำรุงกำแพงเมืองและแนวคูคลองเพื่อเตรียมรับศึกกับทหารโฮ่วจินต่อ

ทางฝ่ายโฮ่วจินหลังจากนูรฮาชีสิ้นพระชนม์ หวงไท่จี๋ (皇太极)โอรสองค์ที่ 8 ก็ได้ขึ้นเป็นข่านแห่งโฮ่วจินแทน ปีที่ 2 หลังจากที่ขึ้นเป็นข่าน ได้นำทัพแบ่งเป็น 3 สายบุกจีนอีกครั้ง หยวนฉงฮ่วนถูกฮ่องเต้หมิงซือจงเรียกตัวมา แต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารในแถบเหอเป่ย เหลียวตงทั้งหมด

เมื่อกองทัพของหวงไท่จี๋ไม่สามารถบุกตีเมืองที่เป็นด่านสำคัญอย่างหนิงหย่วนได้ จึงได้เปลี่ยนกลยุทธใหม่ โดยในปีค.ศ. 1629 หวงไท่จี๋นำทัพหลายแสนคนผ่านไปยังด่านหลงจิ่ง ต้าอันโข่ว อ้อมเหอเป่ยมุ่งตรงไปยังราชธานีปักกิ่งแทน

แผนนี้อยู่เหนือความคาดหมายของหยวนฉงฮ่วน เมื่อได้รับรายงานข่าว หยวนฉงฮ่วนจึงเร่งเดินทางทั้งกลางวันกลางคืน ใช้เวลา 2 วัน 2 คืนจึงเดินทางมาถึงปักกิ่ง เปิดศึกกับกองทัพโฮ่วจินอย่างดุเดือดโดยไม่ได้พักผ่อน จนทัพโฮ่วจินต้องถอยไปอีกครั้ง

ฮ่องเต้ฉงเจินหรือหมิงซือจงเดิมคิดที่จะเรียกตัวหยวนฉงฮ่วนมาเพื่อปูนบำเหน็จ แต่ในขณะนั้นหวงไท่จี๋กลับใช้แผนยุแหย่ โดยผ่านพรรคพวกของขันทีเว่ยจงเสียนที่เหลืออยู่ ให้เที่ยวไปปล่อยข่าวว่าการที่กองทัพโฮ่วจินสามารถอ้อมมาถึงปักกิ่งได้นั้นเป็นเพราะหยวนฉงฮ่วนสมคบคิดกับทางหวงไท่จี๋ กอปรกับขณะนั้นมีเชลยศึกที่ถูกโฮ่วจินจับไปแล้วหนีออกมาได้มาทูลรายงานว่า หยวนฉงฮ่วนได้ทำข้อตกลงลับกับหวงไท่จี๋แล้ว ฮ่องเต้ฉงเจินได้ยินเข้ากลับเชื่อในข่าวลือ สั่งประหารขุนนางภักดีอย่างหยวนฉงฮ่วนด้วยการแล่เนื้อทั้งเป็นโดยไม่ยอมฟังคำทัดทานจากเหล่าขุนนางคนใด

เมื่อขาดหยวนฉงฮ่วนคอยเป็นก้างขวางคอแล้ว ไม่นานกองทัพโฮ่วจินก็ค่อยๆเข้าครอบครองพื้นที่ทางเหนือของจีน ถึงปี 1635 หวงไท่จี๋ได้เปลี่ยนชื่อเรียกเผ่าหนี่ว์เจินเป็นหมั่นโจว (แมนจู) และในปีถัดมาก็ตั้งตนขึ้นเป็นฮ่องเต้ และตั้งชื่อราชวงศ์ของตนว่า “ชิง” (清朝) โดยมีพระนามว่าชิงไท่จง (清太宗)

อันที่จริง นอกจากต้องคอยรับศึกจากทหารโฮ่วจิน หรือแมนจูแล้ว ตลอดช่วงเวลาสุดท้ายของราชวงศ์หมิงก็ยังมีกองทัพประชาชนที่ลุกฮือขึ้นก่อการต่อสู้กับราชสำนักอยู่ไม่ขาด โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุทุพภิกขภัยในมณฑลส่านซี ที่ทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร แต่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็ยังคอยขูดรีดภาษีอย่างหนัก กองทัพประชาชนก็ทวีจำนวนขึ้นอย่างมากมาย

ในกลุ่มกองทัพประชาชนมีกองทัพใหญ่ๆอยู่ 2 กลุ่มได้แก่กองกำลังของหลี่จื้อเฉิง (李自成)และจางเซี่ยนจง (张献忠)โดยในระหว่างทำศึกจางเซี่ยนจงได้เคยเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ให้กับราชสำนักหมิง ส่วนหลี่จื้อเฉิงในขณะทำศึก มักจะนำเอาอาหารที่ยึดได้มาแจกจ่ายให้กับผู้อดอยาก ทั้งยังประกาศให้ใช้ที่ดินทำกินได้โดยไม่เสียภาษี ทำให้มีผู้คนแห่แหนมาเข้าร่วมด้วยจนมีกองกำลังหลายหมื่นคน

ในปีค.ศ. 1643 หลี่จื้อเฉิงได้เข้ายึดเมืองเซียงหยาง และตั้งตนขึ้นเป็น ซินซุ่นหวัง (新順王) และเมื่อบุกยึดส่านซีได้ทั้งมณฑลก็ตั้งตัวเองขึ้นเป็นอ่องเต้ โดยเรียกชื่ออาณาจักรของตนว่าต้าซุ่น จากนั้นได้ทำตามแผนการของที่ปรึกษานามกู้จวินเอิน ให้ใช้ส่านซีเป็นฐานที่มั่น บุกเข้าสู่ซีอัน จากนั้นค่อยบุกต่อไปยังปักกิ่งซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของราชสำนักหมิง

หลี่จื้อเฉิงนำทัพบุกข้ามแม่น้ำฮวงโหบุกยึดไท่หยวน ต้าถง เซวียนฝู่ เข้าสู่ด่านยงกวนด้วยชัยชนะมาตลอดทาง กระทั่งเดือน 3 ของปีค.ศ. 1644 ได้นำทัพเข้าปิดล้อมปักกิ่ง จนฮ่องเต้หมิงซือจงเห็นว่าจบสิ้นแล้ว จึงได้ปลงพระชนม์ตนเองที่ภูเขาเหมยซัน

แม้หลี่จื้อเฉิงจะสามารถยึดครองปักกิ่งไว้ได้ ทว่าแรงกดดันจากกองทัพอื่นๆก็ยังไม่จบสิ้น ยังมีกำลังทหารแตกทัพของราชวงศ์หมิง กองกำลังของอู๋ซันกุ้ย (吴三桂) ที่ด่านซันไห่กวน (山海关) และกองทัพจากแมนจูจากทางตะวันออกเฉียงเหนือคอยคุกคามอยู่

หลี่จื้อเฉิงได้ส่งหนังสือให้อู๋ซันกุ้ยยอมสวามิภักดิ์ จากนั้นก็ได้ให้อู๋เซียง บิดาของอู๋ซันกุ้ยที่อยู่ในเมืองหลวงเขียนจดหมายไปกล่อมอีกทาง อีกทั้งได้ส่งคณะทูตนำเงินทองมากมาย พร้อมหนังสือแต่งตั้งให้อู๋ซันกุ้ยขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าพระยา แต่ในขณะที่อู๋ซันกุ้ยกำลังเดินทางมาเมื่อสวามิภักดิ์ต่อหลี่จื้อเฉิง กลับได้พบกับคนรับใช้ที่หนีออกมาจากเมืองหลวงที่มาส่งข่าวว่าบัดนี้อู๋เซียงถูกจับเป็นตัวประกันและถูกริบทรัพย์สมบัติ นอกจากนั้นเฉินหยวนหยวน (陈圆圆)อนุภรรยาของอู๋ซันกุ้ยยังถูกแม่ทัพหลิวจงหมิ่นชิงตัวไป

และด้วยเหตุนี้จึงได้ทำให้อู๋ซันกุ้ยตัดสินใจที่จะหันกลับไปจับมือกับแม่ทัพตัวเอ่อกุ่น (多爾衮) ของแมนจู จากนั้นส่งคนให้แสร้งไปส่งข่าวยอมสวามิภักดิ์ต่อหลี่จื้อเฉิงเพื่อถ่วงเวลาเอาไว้ก่อน ทว่าในภายหลังเมื่อหลี่จื้อเฉิงได้ทราบข่าวว่าอู๋ซันกุ้ยสวามิภักดิ์ต่อแมนจูแล้ว จึงได้นำทัพราว 6 หมื่นเพื่อลงมาปราบปราม แต่ในยามนั้นอู๋ซันกุ้ยได้ลอบเปิดด่านให้กองทัพแมนจูยกเข้ามาอ้อมตีกองทัพของหลี่จื้อเฉิง จนหลี่ต้องถอยทัพกลับปักกิ่งโดยมีทัพของอู๋ซันกุ้ยไล่ตามมา หลี่แก้แค้นด้วยการตัดศีรษะบิดาของอู๋ซันกุ้ยเสียบประจานที่กำแพงเมืองปักกิ่ง จนทหารชิงได้เข้ายึดปักกิ่งได้สำเร็จ กองทัพหลี่จื้อเฉิงที่พ่ายแพ้ถอยร่นไปก็ถูกโจมตีและสังหารไปในที่สุด ถือว่าเป็นอันอวสานของราชวงศ์ที่ปกครองโดยชาวฮั่นลงตลอดกาล..


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น