5/08/2552

สุยเหวินตี้ หยางเจียน 隋文帝 扬坚 (Sui wen di Yang jian : ค.ศ. 541 – 604)

ปฐมฮ่องเต้ราชวงศ์สุย บิดานาม หยางจง เป็นหนึ่งใน 12 ขุนพลใหญ่แห่งราชวงศ์ซีเว่ย (เว่ยตะวันตก ค.ศ. 535 - 556) สมัยราชวงศ์เป่ยโจว (ราชวงศ์โจวเหนือ ค.ศ. 557 – 581) มีตำแหน่งขุนนางเป็นถึงจอมพล ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกงแห่งแคว้นสุย (ประมาณดยุคออฟสุย Duke of Sui)


เมื่อหยางเจียนอายุ 15 เนื่องจากความดีความชอบของบิดา ทำให้เขาได้ดำรงตำแน่งขุนนางระดับค่อนข้างสูงทางด้านการทหาร


รัชกาลโจวอู่ตี้ (ค.ศ. 561 – 578) หยางเจียนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นขุนพลใหญ่ สืบทอดตำแหน่งกงแห่งแคว้นสุยต่อจากบิดา ธิดาคนโตของเขาได้เป็นพระสนมขององค์รัชทายาท


รัชกาลโจวเซวียนตี้ (ค.ศ. 579) ด้วยฐานะพระบิดาของฮองเฮา ทำให้หยางเจียนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด


โจวเซวียนตี้สวรรคตในปีค.ศ. 579 นั้นเอง องค์รัชทายาทผู้เป็นโอรสขึ้นครองราชย์นามจิ้งตี้ เวลานั้นมีอายุเพียง 8 ขวบ


ปีที่ 2 ศักราชต้าเซี่ยงของพระเจ้าจิ้งตี้ (ค.ศ. 580) หยางเจียนตั้งตัวเองเป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายซ้าย และควบคุมกองทัพทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั้งหมด รวบอำนาจไว้ในมือแต่เพียงผู้เดียว


หลังจากที่หยางเจียนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพื่อเป็นการป้องกันบรรดาพระอนุชาของโจวอู่ตี้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ไปกินเมืองต่าง ๆก่อการกบฏ หยางเจียนจึงออกคำสั่งเรียกตัวอ๋องแห่งแคว้นเจ้า เฉิน เยว่ ไต้ เถิง ทั้งห้าพระองค์กลับเข้าสู่นครหลวงฉางอาน เว่ยฉือจ่ง ผู้ว่า ฯ เซียงโจว (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนาน) ซือหม่าเซียวน่าน ผู้ว่าฯอิ่งโจว (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอเป่ย) และหวางเชียน ผู้ว่าฯอี้โจว (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเสฉวน) ทยอยกันยกทัพก่อการกบฏ หยางเจียนได้ปราบกบฏเหล่านี้ลงได้หมดแล้วสั่งประหารบรรดาอ๋องทั้งหลายเหล่านี้


ปีที่ 1 ศักราชต้าติ้ง รัชกาลพระเจ้าจิ้งตี้ (ค.ศ. 581) เดือน 2 หยางเจียนขึ้นเป็นฮ่องเต้แทนที่ราชวงศ์เป่ยโจว ตั้งชื่อประเทศว่า “สุย” ตั้งชื่อปีศักราชว่า “คายเหยวียน” ทรงพระนามว่า “สุยเหวินตี้” เมืองหลวงยังคงเป็นฉางอานเช่นเดิม นับแต่นั้นมา ยุคราชวงศ์ตอนเหนือได้สิ้นสุดลง


ปีที่ 2 ศักราชคายหวง (ค.ศ. 582) สุยเหวินตี้ได้สร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองหลวงฉางอานเดิม ตั้งชื่อว่าเมือง “ต้าซิงเฉิง”


ปีที่ 9 ศักราชคายหวง (ค.ศ. 589) กองทัพสุยจู่โจมแคว้นเฉินจนล่มสลาย และได้ปิดฉากยุคราชวงศ์ใต้ลง


นับจาก ค.ศ. 316 ที่ราชวงศ์ซีจิ้น (จิ้นตะวันตก) ล่มสลายแตกกระจายเป็นราชวงศ์เหนือใต้ จนถึงบัดนี้จึงได้สิ้นสุดลง ประเทศจีนกลับสู่การรวมกันเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง


หลังจากที่สุยเหวินตี้ครองราชย์แล้ว ก็ได้ดำเนินการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงการปกครองและกฎหมายหลายอย่างดังนี้


การปฏิรูประบบการปกครองมี


1. เลิกล้มระบบ “ระบบหกขุนนาง” ของราชวงศ์เป่ยโจว และตั้งระบบใหม่ขึ้นมา คือ “ระบบสามเสิ่งหกปู้” (ปู้ เท่าที่ดูคล้ายกับ “เจ้ากรม” ของไทย)


สามเสิ่งประกอบด้วย ซ่างซูเสิ่ง ขุนนางใหญ่สุดคือ ซ่างซูลิ่ง ; เหมินเซี่ยเสิ่ง ขุนนางใหญ่สุดคือน่าเหยียน ; เน่ยสื่อเสิ่ง ขุนนางใหญ่สุดคือ เน่ยสื่อลิ่ง สามเสิ่งคือองค์การบริหารสูงสุดของส่วนกลาง ขุนนางใหญ่ของสามเสิ่งต่างมีตำแหน่งเป็นอัครมหาเสนาบดี


หกปู้เป็นองค์การการปกครองราษฎร มี ลี่ปู้ (รับผิดชอบเลื่อนถอดยศและการสอบของขุนนางเป็นต้น) หมินปู้ (รับผิดชอบเกี่ยวกับจำนวนประชากรและจัดเก็บภาษี) หลี่ปู้ (เจ้ากรมพิธีการ) ปิงปู้ (รับผิดชอบด้านกองทัพ) สิงปู้ (เจ้ากรมราชทัณฑ์) กงปู้ (เจ้ากรมโยธา) ขุนนางใหญ่สุดของแต่ละปู้ต่างมีตำแหน่งเป็น “ซ่างซู”

ระบบขุนนางเช่นนี้เป็นการกระจายอำนาจของสามเสิ่ง เสริมอำนาจของฮ่องเต้ เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ที่อำนาจทั้งหมดตกอยู่ในมือของอัครมหาเสนาบดีเพียงผู้เดียว (โดยให้มีอัครมหาเสนาบดีเยอะแยะไปหมดแทน)

หน้าที่การงานของสามเสิ่งและหกปู้แบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจน เป็นการปฏิรูประบบต่าง ๆของส่วนกลาง เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ เสริมอำนาจขององค์กรการปกครองของส่วนกลางให้เข้มแข็งขึ้น

2. ปีที่ 3 ศักราชคายหวง (ค.ศ. 583) สุยหยางตี้ได้ออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองส่วนภูมิภาคจากระบบโจว (มณฑล) จวิ้น (จังหวัด) เซี่ยน (อำเภอ) 3 ระดับ เป็น โจว (จังหวัด) เซี่ยน (อำเภอ) 2 ระดับแทน และได้รวมบางโจวและบางเซี่ยนเข้าด้วยกัน เป็นการกำจัดขุนนางส่วนเกิน ปฏิรูประบบขุนนางให้ดีขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่าย หลังจากนั้นยังกำหนดว่า ขุนนางในภูมิภาคระดับ 9 ขึ้นไป (สูงสุดคือระดับ 1) ต่างยกให้ลี่ปู้เป็นผู้แต่งตั้งและปลดตำแหน่ง และจัดให้มีการสอบทุกปี ขุนนางระดับรองในโจว เซี่ยนจะต้องเปลี่ยนทุก 3 ปี และห้ามมิให้รับตำแหน่งซ้ำในพื้นที่เดิม ทั้งยังต้องให้คนต่างถิ่นมาดำรงตำแหน่ง ห้ามใช้คนในท้องถิ่นสิ่งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ที่ความเคยชินที่ขุนนางในส่วนภูมิภาคต่างรับลูกน้องพวกพ้องมาเป็นขุนนางผู้น้อยใต้อำนาจของตนอันเป็นมาแต่สมัยราชวงศ์ฉินและราชวงศ์ฮั่น การทำเช่นนี้ทำให้สามารถป้องกันมิให้ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นผูกขาดอำนาจการปกครอง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมส่วนภูมิภาคของส่วนกลางให้รัดกุมมากขึ้น

3. ปฏิรูประบบการเลือกขุนนางระบบคัดเลือกขุนนางเก้าระดับที่ใช้มาแต่ราชวงศ์เว่ยจนถึงราชวงศ์เป่ยโจว จะดูชาติตระกูลประกอบการคัดเลือกขุนนาง สามัญชนจึงยากมากที่จะมีโอกาสได้เป็นขุนนาง สุยเหวินตี้ได้ยกเลิกระบบคัดเลือกขุนนางเก้าระดับนี้ โดนเปลี่ยนเป็นคัดเลือกขุนนางโดยไม่ดูชาติตระกูล ให้แต่ละโจวส่งคนสามคนมาเข้าร่วมการสอบทุกปี ผู้ที่สอบผ่านจะได้เป็นขุนนาง เช่นนี้ไม่เพียงแต่เป็นการขยายแหล่งทรัพยากรบุคคลที่จะคัดเลือกมาเป็นขุนนางเท่านั้น ทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพของขุนนาง มีส่วนช่วยอย่างมากต่อการพัฒนาการปกครอง

4. เปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายในยุคเป่ยโจว ได้มีการชำระเปลี่ยนแปลงกฎหมายหลายครั้ง กฎหมายเดี๋ยวหย่อนยานเดี๋ยวเข้มงวด บทลงโทษก็เป็นไปอย่างสับสน สุยเหวินตี้ได้เปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายใหม่หมด และให้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร คือ “คายหวงลวี่” (กฎหมายแห่งศักราชคายหวง) “คายหวงลวี่” ได้ยกเลิกการลงทัณฑ์อย่างทารุณต่าง ๆบางอย่างของยุคก่อน ๆ ปรับเปลี่ยนตัวบทกฎหมายให้อ่านง่ายขึ้น และได้กลายเป็นพื้นฐานในการบัญญัติกฎหมายของยุคราชวงศ์ถังและราชวงศ์อื่น ๆต่อมาในภายหลัง

การปฏิรูประบบการคลังและระบบเศรษฐกิจ

1. ระบบแบ่งที่นา

ปีที่ 2 ศักราชคายหวง (ค.ศ. 582) สุยเหวินตี้ประกาศให้ดำเนินระบบแบ่งที่นาต่อไป ระบบนี้โดยทั่วไปแล้วใช้ตามระบบของราชวงศ์เป่ยฉี (ราชวงศ์ฉีเหนือ ค.ศ. 550 – 577) โดย

กำหนดให้ชายผู้บรรลุนิติภาวะทุกคนรับที่นาสำหรับปลูกธัญญพืช 80 หมู่ (ไร่จีน) รับนาหม่อนหรือนาป่าน 20 หมู่ สตรีผู้บรรลุนิติภาวะรับที่นาสำหรับปลูกธัญญพืช 40 หมู่

นาธัญญพืชจะกลับเป็นของประเทศเมื่อผู้รับที่นาเสียชีวิต นาหม่อนและนาป่านให้เป็นพื้นที่ทำกินตลอดไป สามารถตกทอดแก่ลูกหลานหรือซื้อขายได้ และยังมีการกำหนดจำนวนที่นาสูงสุดที่บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ควรได้รับ ทั้งยังมีที่นาที่ติดมากับตำแหน่งขุนนางและที่นาสำหรับสถานที่ราชการ

ซึ่งการกำหนดที่นาสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์เป็นการจำกัดการกว้านซื้อที่นาดี ๆนี่เอง และรายได้จากที่นาที่ติดมากับตำแหน่งขุนนางจะเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนของขุนนางนั้น ๆ ส่วนรายได้จากที่นาของสถานที่ทำการก็ให้เป็นค่าใช้จ่ายของที่ทำการนั้น ๆ

2. ระบบการเก็บภาษีและการเกณฑ์แรงงาน

มีการเก็บค่าเช่าที่นา และเก็บภาษีเป็นผ้าไหมและผ้าป่าน (สำหรับผู้ที่ได้รับนาหม่อนและนาป่าน)

การเกณฑ์แรงงาน ชายผู้บรรลุนิติภาวะทุกคนจะต้องไปเข้ารับการเกณฑ์แรงให้หลวงปีละ 20 วัน

และสุยเหวินตี้ยังได้กำหนดให้อายุชายผู้บรรลุนิติภาวะที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์แรงงานเปลี่ยนจาก 18 ปี เป็น 21 ปี ในขณะที่อายุชายผู้บรรลุนิติภาวะที่จะได้รับที่นายังคงเป็น 18 ปีเช่นเดิม

ทำให้ใน 3 ปีแรกที่ได้รับที่นา ชายฉกรรจ์เหล่านี้จะยังไม่ต้องเกณฑ์แรงงานและเสียภาษีเป็นเวลา 3 ปี

3. ปลายราชวงศ์เป่ยฉี (ค.ศ. 550 – 577) และราชวงศ์เป่ยโจว (ค.ศ. 557 – 581) ในเขตซานตง เนื่องจากมีการเก็บภาษีอย่างหนักและมีบทลงโทษที่ทารุณ จึงมีชาวบ้านที่หลบหนีไม่ยอดลงชื่อในสำมะโนครัวหรือแอบไปพึ่งใบบุญผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นกันมาก (ซึ่งทำให้ไม่มีชื่ออยู่ในสำมะโนครัวเช่นกัน)

เมื่อสุยเหวินตี้ครองราชย์ จึงออกคำสั่งให้มีการสำรวจสำมะโนครัวอย่างเข้มงวด โดยให้มีการจดบันทึกอายุและวาดหน้าตาไว้เป็นหลักฐาน

จากนั้นยังมีการกำหนดรายการภาษีและการเกณฑ์แรงงานของประชาชนโดยแบ่งตามระดับชั้น และคิดภาษีและการเกณฑ์แรงงานในอัตราที่น้อยมาก ทำให้ชาวบ้านที่ไปพึ่งใบบุญผู้มีอิทธิพลและถูกขูดรีดอย่างหนักหันมาลงทะเบียนกับทางการกันเป็นแถว

จากสองวิธีนี้ทำให้จำนวนประชากรของประเทศและเงินภาษีอันหมายถึงรายรับด้านการคลังเป็นจำนวนมาก

4. ขุดลอกคลองขนส่ง

ต้นราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581 – 618) ในแต่ละปีเมืองหลวงฉางอานต้องการธัญญพืชเป็นจำนวนมาก และเสบียงเหล่านี้ส่วนมากจะอาศัยแม่น้ำเว่ยสุ่ยเป็นทางขนส่งมาจากซานตง แต่น้ำในแม่น้ำเว่ยสุ่ยตื้นลึกไม่เท่ากัน ทำให้การขนส่งเป็นไปอย่างไม่สะดวกเท่าที่ควร

ปีที่ 4 ศักราชคายหวง (ค.ศ. 584) สุยเหวินตี้ออกคำสั่งขุดลอกและขยายแม่น้ำอันเป็นเส้นทางขนส่ง จากทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองต้าซิงเฉิง (ปัจจุบันคือเมืองซีอาน) ชักนำแม่น้ำเว่ยไปทางตะวันออกจนถึงหย่งเฟิงชานซึ่งอยู่ใกล้ ๆด่านถงกวน ยาวทั้งหมด 300 ลี้ (150 km.) หลังจากขุดลอกทางแม่น้ำเสร็จ การขนส่งก็เป็นไปอย่างสะดวกราบรื่น

ปีที่ 7 ศักราชคายหวง (ค.ศ. 587) สุยเหวินตี้ก็ได้ออกคำสั่งให้ขุดลอกคลองซานหยาง โดยขุดตามลำคลองเดิมที่อู๋หวาง (อ๋อง) ฟูชาย (ในเรื่องไซซีมีปรากฎ) เคยขุดเอาไว้ โดยให้เชื่อมต่อกับแม่น้ำแยงซีเกียงและแม่น้ำหวยเหอ เป็นการตระเตรียมเส้นทางบรรทุกเสบียงเพื่อล้มล้างราชวงศ์เฉิน

ปีที่ 10 ศักราชคายหวง (ค.ศ. 590) สุยเหวินตี้เปลี่ยนแปลงระบบทหารโดย ให้ทหารลงทะเบียนที่อยู่ในสถานที่ที่ประจำอยู่นั้น ๆและทำการเพาะปลูกเช่นเดียวกับชาวบ้านธรรมดา แต่ยังคงมีชื่อในทะเบียนทหาร เพื่อสะดวกในการเกณฑ์กำลังรบ นี่เป็นการล้มเลิกระบบประชาชนกับทหารแยกกันอยู่ของที่แล้ว ๆมา เหมาะสมสอดคล้องต่อความต้องการในรวมเชื้อชาติต่าง ๆเข้าด้วยกัน รวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวและการพัฒนาระบบการผลิต

ปลายสมัยการปกครองของสุยเหวินตี้ ประเทศมั่งคั่ง ประชากรเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก ท้องพระคลังและยุ้งฉางหลวงอุดมสมบูรณ์ชนิดพบเห็นได้น้อยมากในประวัติศาสตร์จีน

สุยหยางตี้สนใจและมีความมุ่งมั่นพยายามในด้านการปกครอง รู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด เป็นฮ่องเต้ชนิดที่พบเห็นได้น้อยมากในประวัติสาสตร์จีน แต่ภายหลังได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น

ปีที่ 13 ศักราชคายหวง (ค.ศ. 593) พระองค์ได้สั่งให้สร้างพระราชวังการุณยวัฒน์ (เหรยินโซ่วกง) ขึ้นที่ทางตอนเหนือของฉีโจว (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลส่านซี) ซึ่งเป็นการฟุ่มเฟือยอย่างมาก และได้ทำให้แรงงานเกณฑ์ที่เป็นชายฉกรรจ์เหนื่อยตายกว่าหมื่นคน

ดังนั้น ในบันทึกประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า “ลางแห่งยุคเข็ญ” ของราชวงศ์สุย แม้จะปรากฏอย่างเด่นชัดในยุคของสุยหยางตี้ แต่ก็ได้เริ่มมีวี่แววมาแต่ยุคของสุยเหวินตี้แล้ว

ปีที่ 4 ศักราชเหรยินโซ่วแห่งสุยเหวินตี้ (ค.ศ. 604) สุยเหวินตี้ที่กำลังประชวรอยู่และอยู่ภายใต้การควบคุมของโอรสองค์รอง หยางกว่าง ที่ได้กลายเป็นรัชทายาทเรียบร้อยแล้ว และหยางซู่ ได้สวรรคตลงอย่างกะทันหัน

กล่าวกันว่าเขาถูกองค์รัชทายาทหยางกว่างสังหาร

สุยเหวินตี้ครองราชย์นาน 24 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น