4/21/2552

ราชวงศ์โจวตะวันตก

โจวมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน เดิมอาศัยอยู่ในแถบเสียกาน ต่อมาอพยพไปตั้งรกรากยังโจวหยวน(周原)ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอำเภอฉีซานมณฑลส่านซีของจีน เมื่อ 1,100 ปีก่อนคริสต์ศักราชชนเผ่าต้นตระกูลโจวก็มีขุมกำลังเข้มแข็งขึ้น พวกเขาทางหนึ่งรวบรวมรัฐเล็ก ๆรอบข้างเข้ามา อีกทางหนึ่งโยกย้ายนครหลวงจากโจวหยวนมายังดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเฟิง หรืออำเภอฉางอานในปัจจุบัน โดยตั้งเป็นเมืองเฟิงจิง (丰京)จากนั้นแพร่ขยายอิทธิพลไปทางทิศตะวันออก ทำให้เกิดข้อพิพาทกับราชวงศ์ซางขณะนั้นราชวงศ์ซางในรัชสมัยตี้ซิ่งหรือซางโจ้วนั้น ได้กักขังซีป๋อชั่ง(หรือต่อมาเป็นโจวเหวินหวังผู้นำของราชวงศ์โจว)ไว้ที่โหย่วหลี่มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ขุนนางของโจวถวายหญิงงามและเพชรนิลจินดามากมายให้แก่ซาง ตี้ซิ่งจึงยอมปล่อยตัวซีป๋อชั่ง เมื่อซีป๋อชั่งกลับถึงรัฐของตน ก็เร่งระดมพลเพื่อยกทัพบุกซาง ในเวลานั้น การเมืองภายในราชวงศ์ซางล้มเหลวฟอนเฟะ เกิดการแตกแยกทั้งภายในนอก โจวเหวินหวัง (周文王)เห็นว่าสถานการณ์สุกงอมแล้ว ขณะตนใกล้สิ้นลมจึงกำชับสั่งเสียให้บุตรชายไท่จื่อฟา หรือ
โจวอู่หวัง (周武王)

โจวอู่หวัง (周武王) รวบรวมไพร่พลยกทัพบุกซางเมื่อโจวอู่หวังขึ้นสืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากโจวเหวินหวัง ก็กรีฑาทัพครั้งใหญ่โดยมี พลรถ 300 พลทหารราบ 450,000 หน่วยกล้าตาย 3,000 มุ่งสู่ตะวันออก ระหว่างทางบรรดารัฐเล็ก ๆได้แก่ ยง(庸) สู(蜀) เชียง(羌) จง(鬃)เวย (微)หลู (卢)เผิง (彭)ผู(濮)เป็นต้นต่างยอมสวามิภักดิ์เข้าร่วมกับกองทัพ โจวอู่หวังได้ประกาศโทษทัณฑ์ความผิดของซางโจ้ว ซางโจ้วจึงจัดทัพ 170,000 ออกมาสู้รบด้วยโจวอู่หวัง ทว่าเหล่าทหารของซางไม่มีกำลังใจสู้รบ ต่างพากันทิ้งอาวุธหลบหนี เป็นเหตุให้ทัพโจวได้ชัยชนะ ฝ่ายซางโจ้วหลบหนีไป ภายหลังเสียชีวิตที่ลู่ไถ ราชวงศ์ซางจึงล่มสลาย นับแต่นั้นมา ประวัติศาสตร์จีนก็เข้าสู่ยุคราชวงศ์โจวโจวอู่หวังเมื่อได้ชัยชนะเหนือซางแล้ว ก็เข้าครอบครองดินแดนที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของซาง อีกทั้งยังปราบปรามรัฐเล็ก ๆ รอบข้าง ทว่าปัญหาอันหนักอึ้งที่โจวอู่หวังต้องเผชิญก็คือการจะรักษาผืนแผ่นดินตะวันออกนี้ไว้ได้อย่างไร

ดังนั้น เขาจึงเลือกใช้นโยบาย ‘เมืองหน้าด่าน’ โดยมอบหมายให้ญาติพี่น้องและขุนนางที่มีความดีความชอบออกไปปกครองยังดินแดนต่าง ๆ ตั้งให้เป็นผู้ครองแคว้น โดยผู้ครองแคว้นจะได้รับอำนาจในการปกครองดินแดนรอบนอกผืนหนึ่ง อีกทั้งพวกเขาเหล่านั้นยังถือเป็นผู้พิทักษ์ราชสำนักโจวอีกด้วย นอกจากนี้ โจวอู่หวังยังแต่งตั้งให้อู่เกิง (武庚)บุตรของซางโจ้วดูแลแคว้นซาง เพื่อสามารถควบคุมชาวซางต่อไป โดยส่งน้องชายของเขา ได้แก่ ก่วนซู่ (管叔)ไช่ซู่ (蔡叔)และฮั่วซู่ (霍叔)ให้คอยตรวจสอบอู่เกิง นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งให้โจวกงตั้น (周公旦)ไปปกครองแคว้นหลู่ (鲁)ส่วนเจียงซ่าง (姜尚)ไปปกครองแคว้นฉี (齐)และเส้ากงซื่อ (召公奭)ไปครองแคว้นเอี้ยน (燕) หลังจากโจวอู่หวังสิ้นพระชนม์
กระบวยตักน้ำที่เจ้าแคว้นฉีจัดทำให้แก่ภรรยา

เฉิงหวัง (成王)บุตรชายของเขาได้สืบทอดราชบัลลังก์ แต่เนื่องจากยังอยู่ในวัยเยาว์ จึงมอบหมายให้โจวกงตั้นหรือโจวกง (周公)เป็นผู้สำเร็จราชการแทน เป็นเหตุให้ก่วนซู่และไช่ซู่ไม่พอใจโจวกง จึงปล่อยข่าวใส่ร้ายโจวกงกล่าวหาว่าวางแผนชิงบัลลังก์ ต่อมา อู่เกิงก็เข้าร่วมกับก่วนซู่และไช่ซู่รวบรวมแว่นแคว้นเล็ก ๆ ทางภาคตะวันออก อันได้แก่สวี (徐)เหยี่ยน (奄)ป๋อกู (薄姑)เป็นต้น เพื่อเป็นฐานก่อการ
กบฏ โจวกงจึงต้องใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม โดยใช้เวลา 3 ปี สุดท้ายจึงสามารถปราบกบฏอู่เกิง ก่วนซู่และไช่ซู่ลงได้ ประหารอู่เกิงและก่วนซู่ เนรเทศไช่ซู่ จากการปราบกบฏครั้งนี้ ทำให้ราชวงศ์โจวมีรากฐานที่มั่นคงยิ่งขึ้นสืบเนื่องจากโจวอู่หวังเมื่อล้มล้างราชวงศ์ซางแล้ว กลับไปนครหลวงเฮ่าจิง (镐京)(ย้ายมาจากเฟิงจิง)

ภาชนะใส่เหล้ารูปม้าศึกทำด้วยสำริด

แล้วพบว่า ระยะทางระหว่างเมืองเฮ่าจิงกับศูนย์กลางการปกครองแห่งใหม่อยู่ห่างไกลกันเกินไป ดังนั้นจึงคิดจะย้ายมาสร้างเมืองหลวงใหม่ในแถบลุ่มแม่น้ำอีและแม่น้ำลั่ว (伊洛)ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชนเผ่าเซี่ยมาแต่เดิม แต่ความคิดนี้ยังไม่ทันได้เป็นจริง ก็ล้มป่วยสิ้นพระชนม์ลงเสียก่อน จากจารึกที่ขุดได้จากเมืองเป่าจีพบว่า โจวเฉิงหวัง (成王)เมื่อได้สืบทอดราชบัลลังก์แล้ว ก็ได้สานต่อแนวปณิธานของโจวอู่หวัง โดยกำหนดตั้งเมืองหลวงใหม่บริเวณลุ่มแม่น้ำอีและแม่น้ำลั่วซึ่งอยู่ใกล้เมืองลั่วหยัง (洛阳)ในปัจจุบัน โดยใช้เมืองใหม่นี้เป็นศูนย์กลางการปกครองแห่งใหม่ ซึ่งก็สามารถร่นระยะทางไปได้มากทีเดียว เพราะเพื่อการนี้ เฉิงหวังได้เคยแต่งตั้งให้เส้ากงซื่อหรือเส้ากง (召公)ไป ‘สำรวจ’ละแวกเมืองลั่วหยัง ไม่นานนัก เมืองหลวงแห่งใหม่คือ ลั่วอี้(洛邑)หรือนครหลวงตะวันออก ก็รวมเข้ากับเมืองเฮ่าจิง เมืองหลวงเดิมซึ่งโจวอู่หวังได้สร้างไว้ กลายเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม การปกครอง และการทหารของราชวงศ์โจวตะวันตก และเพื่อล้มล้างแนวคิดกอบกู้บ้านเมืองของประชาชนชาวซาง เฉิงหวังจึงอพยพชาวยินหรือซางเข้าสู่เมืองเฉิงโจวเมืองหลวงแห่งใหม่

กุ้ย’ ภาชนะใส่อาหารและเครื่องยศที่มีพัฒนาการมาจาก ‘ติ่ง’
"เมื่อโจวหวังพระราชทานที่ดินและไพร่พลให้แก่บรรดาเจ้าแคว้นนั้น ก็ต้องจัดพิธีรับที่ดินและไพร่พลนั้น เหล่าเจ้าครองแคว้นที่ได้รับการแต่งตั้ง ต้องมีกำหนดเวลาแน่นอนเพื่อเข้าเฝ้าโจวหวัง โดยมีภารกิจในการปกป้องราชสำนักโจว พวกเขายังจะต้องส่งบรรณาการให้กับโจวหวังด้วย (รวมทั้งการเกณฑ์ทหารไพร่พล) หากไม่ส่งบรรณาการก็จะถือว่าคิดการก่อกบฏต่อราชสำนัก"

ขวานสำริดซึ่งโจวอู่หวังพระราชทานเป็นเครื่องยศให้คังซู่เมื่อครั้งไปครองเมืองเว่ย
เนื่องจากโจวกง (周公)ได้สำเร็จราชการเมื่อครั้งอยู่ที่นครเฮ่าจิงหรือนครหลวงตะวันตกมาโดยตลอด
ดังนั้นบุตรชายคนโตของเขาชื่อป๋อฉิน (伯禽)จึงได้รับสืบทอดตำแหน่งเจ้าแคว้นหลู่(鲁)ต่อจากบิดา ในปัจจุบันได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีพบซากเมืองโบราณแห่งนี้ที่เมืองชวีฝู่ของมณฑลซานตง ส่วนเจียงซ่าง (姜尚)ที่ได้รับแต่งตั้งไปครองแคว้นฉี (齐)ปัจจุบันคือเมืองหลินจือในมณฑลซานตง และเส้ากง (召公)ที่ครองแคว้นเอี้ยน (燕)ปัจจุบันคือเขตฝางซานในปักกิ่ง ก็ได้มีการขุดพบซากเมืองและสุสานของเจ้าแคว้นเอี้ยนอีกด้วย ภายหลังเหตุการณ์ปราบกบฏอู่เกิงสงบราบคาบลง โจวอู่หวังก็ได้พระราชทานดินแดนซึ่งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของอู่เกิงให้กับน้องชายชื่อคังซู่ (康叔)โดยแต่งตั้งเป็นเจ้าแคว้นเว่ย (卫)ซึ่งปัจจุบันได้ขุดพบซากเมืองโบราณของแคว้นเว่ยในอำเภอซวิ่นมณฑลเหอหนัน นอกจากนี้ พระองค์ยังได้แต่งตั้งเวยจื่อ (微子)ซึ่งเป็นพี่ชายต่างมารดาของซางโจ้วกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซาง ที่ไม่ได้เข้าร่วมในการก่อกบฏอู่เกิงขึ้นเป็นเจ้าแคว้นซ่ง (宋)ปัจจุบันคือเมืองซางชิวในมณฑลเหอหนัน ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแคว้นเว่ย (卫)
ภาชนะใส่เหล้ารูปห่านทำด้วยสำริด
ต่อมา เมื่อโจวเฉิงหวัง (成王)ปราบแคว้นถัง (唐国)ได้แล้ว ก็มอบดินแดนที่ยึดมาได้ให้กับถังซู่อวี๋ (唐叔虞)ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องปกครอง แล้วตั้งเป็นแคว้นจิ้น (晋) ปัจจุบันมีการขุดพบร่องรอยทางโบราณคดีที่เขตต่อแดนระหว่างเมืองอี้และฉวี่เยว่ในมณฑลซานซี บรรดาเจ้าผู้ครองแคว้นเหล่านี้ มักมีเรื่องขัดแย้งกันบ้าง มีสัมพันธไมตรีต่อกันบ้าง บางครั้งยังคานอำนาจซึ่งกันและกันเอง สภาพการปกครองเช่นนี้ส่งผลให้ในช่วงต้นของราชวงศ์โจวมีความสงบและมั่นคงทางการเมือง ดังคำกล่าวที่ว่า ‘ยุคทองแห่งเฉิงหวัง 40 ปีไม่ต้องใช้โทษทัณฑ์’ แสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมในสมัยโจวเฉิงหวังภายหลังเหตุการณ์ปราบกบฏอู่เกิงแล้ว ราชวงศ์โจวได้มีความสันติสุขระยะหนึ่ง ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ไพร่พลชาวโจวกลับต้องผ่านการศึกสงคราม เพื่อขยายดินแดนออกไปทางตอนใต้อันได้แก่ ปา (巴) ผู (濮) เติ้ง (邓)ฉู่ (楚) ทางตอนเหนือจรดดินแดนซู่เซิ่น (肃慎)เอี้ยน (燕)ป๋อ (亳)ทิศตะวันออกจรดชายฝั่งทะเล ทิศตะวันตกจรดกาน (甘)ชิง (青)รวมเป็นอาณาจักรที่กว้างใหญ่กว่าในสมัยราชวงศ์ซางเสียอีก

รถที่ใช้เป็นเครื่องมือในการลงทัณฑ์ในสมัยก่อน แกะสลักเป็นรูปต่าง ๆ
ราชวงศ์โจวได้วางระบบการปกครองภายในที่ค่อนข้างจะประสบผลสมบูรณ์ มีการกำหนดบทลงโทษที่เป็นระบบกว่าในสมัยซาง มีการเตรียมกองกำลังทหารเป็นจำนวนมากกว่าสมัยซาง ถึงกับมีคำกล่าวว่า ‘ภายใต้แผ่นฟ้านี้ ผืนดินและไพร่พลล้วนเป็นของโจวหวัง*’ ดังนั้น เมื่อโจวหวังพระราชทานที่ดินและไพร่พลให้แก่บรรดาเจ้าแคว้นนั้น ก็ต้องจัดพิธีรับที่ดินและไพร่พลนั้น เหล่าเจ้าครองแคว้นที่ได้รับการแต่งตั้ง ต้องมีกำหนดเวลาแน่นอนเพื่อเข้าเฝ้าโจวหวัง โดยมีภารกิจในการปกป้องราชสำนักโจว พวกเขายังจะต้องส่งบรรณาการให้กับโจวหวังด้วย (รวมทั้งการเกณฑ์ทหารไพร่พล) หากไม่ส่งบรรณาการก็จะถือว่าคิดการก่อกบฏต่อราชสำนัก ต้องได้รับโทษทัณฑ์ ทว่า เมื่อเวลาผ่านไป บรรดาเจ้าครองแคว้นก็มักมีการตัดแบ่งหรือแลกเปลี่ยนดินแดนกันเอง จึงค่อย ๆเปลี่ยนที่ดินเป็นของตนเอง ขณะเดียวกันก็มีการบุกเบิกผืนที่ดินทำกินแหล่งใหม่มากขึ้น เมื่อมีที่นาเป็นของตัวเองมากขึ้น ย่อมก่อให้เกิดภาวะที่เป็นการบ่อนทำลายต่อระบบการทำนารวมเกิดขึ้น

กระเบื้องมุงหลังคาดินเผาที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในสมัยโจวตะวันตก
ในสมัยโจวตะวันตกนี้สภาพเศรษฐกิจและสังคมมีความก้าวหน้ายิ่งกว่าราชวงศ์ซาง มีการใช้ทาสจำนวนมากในกระบวนการผลิต ก่อให้เกิดภาวะแรงงานเหลือใช้ในสังคม ซึ่งทำให้อาชีพงานช่างฝีมือต่าง ๆได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้น การผลิตเครื่องมือสำริดก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก นอกเหนือจากโรงงานเครื่องมือสำริดที่ควบคุมโดยราชสำนักแล้ว เหล่าเจ้าครองแคว้นต่างก็มีโรงงานสำริดเป็นของตนเอง เครื่องมือสำริดยิ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น จนแทบจะครอบคลุมในทุกด้านของวิถีชีวิต อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นความเจริญในสาขาอาชีพอื่น ๆอีกด้วย
การใช้ตัวอักษรก็ยิ่งแพร่หลายมากขึ้น นอกจากการจารอักษรลงบนกระดูกสัตว์แล้ว ในบรรดาแผ่นจารึกที่ทำจากทองแดงนับหมื่นชิ้นที่ขุดพบล้วนมีจารึกตัวอักษร ซึ่งบันทึกเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ชิ้นที่พบบันทึกอักษรมากที่สุดมีถึง 499 ตัวอักษร เทียบเท่ากับเอกสารชิ้นหนึ่งในเวลานั้นเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าในเชิงวิชาการและเทคโนโลยีทางด้านต่าง ๆ เช่น เกษตรกรรม การเลี้ยงสัตว์ การทอผ้า การช่างทอง การก่อสร้าง ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์เป็นต้น ความสำเร็จเหล่านี้ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตและการผลิตของคนในสมัยนั้น นักโบราณคดีได้ขุดพบเครื่องมือเหล็กกล้าที่สร้างจากแรงงานมนุษย์ภายในสุสานสมัยปลายราชวงศ์โจวตะวันตก ซึ่งแสดงว่า อย่างน้อยในสมัยนั้น ผู้คนเริ่มรู้จักเทคนิคในการตีเหล็กแล้ว การค้นพบครั้งนี้ บ่งชี้ว่าในขณะที่มนุษย์ปรับตัวอยู่ในท่ามกลางการต่อสู้ของโลกภายนอก ก็ได้ศึกษาและฝึกฝนทักษะวิธีการใหม่ ๆที่ให้ผลที่ดีกว่าเดิม

อักษรจีนที่แกะสลักลงบนภาชนะ ‘กุ้ย’
เมื่อมาถึงรัชกาลโจวลี่หวัง (周厉王)ภายในเกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นตามลำดับ ลี่หวังที่ขูดรีดภาษีอย่างหนัก ข่มเหงราษฎร อีกทั้งปิดกั้นผู้คนไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์การปกครอง จนกระทั่งก่อนคริสต์ศักราช 841 เกิดการลุกฮือภายในขึ้น ลี่หวังหนีไปเมืองจื้อ (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอฮั่วในมณฑลซานซี) ประชาชนจึงพากันสนับสนุนให้โจวติ้งกง (周定公)และเจามู่กง (召穆公)ซึ่งเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ร่วมกันบริหารราชการแผ่นดิน (共和行政)ซึ่งนี่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีนที่มีการบันทึกเหตุการณ์โดยระบุเวลาที่แน่นอน ต่อมาเมื่อโจวเซวียนหวัง (周宣王)ได้สืบบัลลังก์ต่อมา เนื่องจากได้รับบทเรียนข้างต้น จึงปรับเปลี่ยนนโยบายการปกครองเสียใหม่ และเพื่อขจัดภัยคุกคามจากชนเผ่าหรงตี๋ (荣帝)ที่อยู่ทางตอนเหนือ จึงต้องทำศึกป้องกันอาณาเขตอีกครั้ง สุดท้ายได้รับชัยชนะกลับมา นอกจากนี้ยังประสบชัยในการสงครามกับแคว้นจิงฉู่ (荆楚)และหวยอี๋ (淮夷)ดังนั้น จึงได้รับการเรียกขานเป็นยุค ‘ฟื้นฟู’ ทว่า สังคมโดยรวมยังคงตกอยู่ภายใต้มรสุมแห่งความขัดแย้งภายในต่อไป

เครื่องหยกสลักลวดลายมังกร
วิวัฒนาการที่เกิดขึ้นในห้วงประวัติศาสตร์มักจะไม่เท่าเทียมกัน อาทิ ในสมัยซางและโจวดินแดนในเขตจงหยวน (中原)ได้เข้าสู่ความรุ่งเรืองของยุคสำริด ในขณะที่ดินแดนรอบนอกของโจว ยังคงล้าหลังอยู่มาก ดังนั้น ภายใต้แรงดึงดูดของผลประโยชน์และเงินทอง สงครามระหว่างชาวโจวและแว่นแคว้นอื่น ๆก็มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ครั้งหนึ่งโจวเจาหวัง (周昭王)ยกทัพบุกชนเผ่าหมาน (蛮族)ซึ่งอาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำฉางเจียง(แยงซีเกียง)และแม่น้ำฮั่นสุ่ย แต่ต้องรับศึกหนักจากการต่อต้านอย่างเข้มแข็งของชาวเผ่าหมาน กองทัพของโจวสูญเสียกำลังไพร่พลแทบหมดสิ้น เจาหวังเองก็สิ้นชีพที่แม่น้ำฮั่นสุ่ย การศึกครั้งนี้ถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในยุคต้นราชวงศ์โจวตะวันตกเลยทีเดียว

‘ติ่ง’ ภายในจารึกเหตุการณ์ที่เจ้าแคว้นเอ้อ(噩)ยกกำลังบุกล้อมเมืองหลวงโจวตะวันตก
นับแต่นั้นมาราชวงศ์โจวตะวันตกก็ขาดความสามารถในการควบคุมแว่นแคว้นต่าง ๆทางตอนใต้ไปโดยสิ้นเชิง แม้ว่าภายหลังโจวมู่หวัง (周穆王)และโจวเซวียนหวัง (周宣王)ก็เคยยกทัพลงใต้ ทว่ายังคงไม่อาจพลิกผันสถานการณ์ใดๆได้มากนัก ชนเผ่าตงอี๋ (东夷)ที่อยู่ทางทิศตะวันออกก็เริ่มรุกล้ำเข้ามาในชายแดนโจว ทำให้โจวต้องมีการศึกรบติดพันมาโดยตลอด
ครั้งหนึ่ง แคว้นเอ้อ (噩) ไม่ยอมส่งบรรณาการให้กับโจว ทั้งยังยกไพร่พลรุกเข้ามาถึงรอบนอกเมืองลั่วอี้ นครหลวงตะวันออก ทำความตื่นตระหนกให้กับบรรดาขุนนางในราชสำนัก โจวเซวียนหวังจัดส่งกองทัพพิทักษ์นครหลวงทั้งสอง (西六师、东八师)เข้าต่อกร แต่ก็ไม่อาจต้านทานไว้ได้ ภายหลังได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากบรรดาเจ้าแคว้นที่อยู่รอบข้าง จึงสามารถเอาชนะได้ในที่สุด ยังมีพวกเฉวี่ยนหรง (犬戎)ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือก็เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดในยุคโจวตะวันตก ในรัชกาลโจวมู่หวัง (周穆王)พวกเฉวี่ยนหรงเริ่มแข็งแกร่งขึ้น กั้นขวางหนทางการติดต่อของราชวงศ์โจวกับแคว้นต่าง ๆในแถบตะวันตกเฉียงเหนือ ดังนั้น โจวมู่หวังจึงต้องยกกองทัพปราบเฉวี่ยนหรงจนได้ชัยชนะ จึงโยกย้ายชาวเฉวี่ยนหรงจำนวนหนึ่งมาสู่ดินแดนไท่หยวน (太原) เปิดเส้นทางติดต่อระหว่างโจวและแคว้นต่าง ๆทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ









เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับศรีษะชายหญิง
ภายหลังพวกเฉวี่ยนหรงยังคงบุกรุกตามชายแดนโจวอีกหลายครั้ง ต่อมาในรัชสมัยโจวโยวหวัง (周幽王)ซึ่งเป็นบุตรของโจวเซวียนหวัง (周宣王) ลุ่มหลงในตัวนางสนมเปาซื่อ ถึงกับคิดสังหารรัชทายาทอี๋จิ้ว (宜臼)เพื่อแต่งตั้งบุตรชายของนางเปาซื่อนามป๋อฝู (伯服)เป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ เนื่องจากมารดาของอี๋จิ้วเป็นบุตรีของเจ้าแคว้นเซิน (申)เป็นเหตุให้เจ้าแคว้นเซินร่วมมือกับพวกเฉวี่ยนหรงบุกโจมตีโจวตะวันตก สังหารโจวโยวหวัง ณ เชิงเขาหลี่ซาน อีกทั้งฉวยโอกาสปล้นสะดมทรัพย์สินมีค่าภายในเมืองไปจนหมดสิ้น ราชวงศ์โจวตะวันตกจึงถึงกาลล่มสลาย


ฝ่ายอี๋จิ้วที่ได้รับความช่วยเหลือจากบรรดาเจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ก้าวขึ้นครองบัลลังก์ต่อมา ทรงพระนามว่าโจวผิงหวัง (周平王) ต้องย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองลั่วอี้(洛邑)นครหลวงตะวันออก นับแต่นั้น ประวัติศาสตร์จีนก็เข้าสู่ยุคโจวตะวันออก (东周)
* โจวหวังหรือโจวอ๋อง ในที่นี้หมายถึงผู้นำของราชวงศ์โจวโดยทั่วไป ไม่ระบุรัชกาล









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น