6/28/2552

ราชวงศ์หมิง (1368-1644) - ตอนจบ / ธารประวัติศาสตร์

หลังราชวงศ์หมิงก่อตั้งมาได้เพียง 2 รัชกาล ก็เกิดสงครามกลางเมืองที่เรียกว่า “การจลาจลจิ้งหนาน” ขึ้น จนกระทั่งเจ้ารัฐเอี้ยน – จูตี้ ยกทัพเข้ายึดปักกิ่งสถาปนาตนขึ้นเป็นฮ่องเต้หมิงเฉิงจู่หรือฮ่องเต้หย่งเล่อ แม้ว่าราชวงศ์หมิงจะมีความเจริญรุ่งเรืองในหลายๆด้าน อาทิการจัดทำสารานุกรมหย่งเล่อ การสร้างพระราชวังปักกิ่งอันโอฬาร การจัดขบวนเรือเจิ้งเหออันเป็นกองเรือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์จีน ทว่าหย่งเล่อเองก็ได้ฝังรากปัญหาอันเป็นต้นเหตุสำคัญแห่งความเสื่อมของราชวงศ์หมิงเอาไว้ด้วยเช่นกันสู่ยุคขันทีครองเมือง- มูลเหตุความวิบัติ

แม้ว่าแต่ละยุคสมัยจะเดินไปตามกฎแห่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ทว่าการเกิดดับเหล่านั้นย่อมมีมูลเหตุสำคัญอยู่ ในราชวงศ์หมิง ถือว่าเป็นราชวงศ์หนึ่งที่ “ขันที” เข้ามามีบทบาทและอำนาจทางการเมืองอย่างสูง จนการแทรกแซงการปกครองจากเหล่าขันทีทำให้ระบบราชการมีแต่ความฟอนเฟะ โดยเฉพาะเมื่อมีการยกเลิกระบบอัครเสนาบดี ได้ทำให้อำนาจถูกควบรวมศูนย์อยู่ที่ฮ่องเต้ ฉะนั้นเมื่อใดที่ฮ่องเต้ทรงหย่อนยานในราชกิจ ก็มักจะหันมาพึ่งขันทีจนเกิดเป็นความสับสนในระบบ กระทั่งท้ายที่สุดในบางสมัยขันทีถึงกับมีอำนาจเทียบเท่าอัครเสนาบดีทีเดียว

ในช่วงต้นราชวงศ์หมิง หมิงไท่จู่ หรือจูหยวนจางได้เล็งเห็นถึงอุทาหรณ์จากประวัติศาสตร์ในอดีต โดยเฉพาะช่วงปลายราชวงศ์ถังที่ขันทีเข้ามาข้องแวะกับอำนาจทางการเมือง จนเกิดความวุ่นวายในแผ่นดิน จึงทรงดำเนินการตรากฎหมายมากมายเพื่อควบคุม อาทิห้ามมิให้ขันทีเรียนหนังสือ ห้ามมิให้ไปมาหาสู่กับขุนนางในราชสำนัก ไม่อนุญาตให้ขันทีรับตำแหน่งขุนนางทั้งพลเรือนและทหารเป็นต้น โดยมีพระประสงค์ที่จะควบคุมขันทีให้อยู่ในร่องในรอย ถึงกับทรงตั้งป้ายเหล็กไว้ที่หน้าพระตำหนัก ที่สลักข้อความว่า “ห้ามขันทีข้องแวะกับการปกครอง ผู้ละเมิดมีโทษประหาร”

ถัดมาในสมัยของหมิงฮุ่ยตี้ กฎเกณฑ์ดังกล่าวยังคงดำเนินไปซ้ำยังเข้มงวดมากเสียยิ่งกว่า แต่เมื่อมาถึงรัชกาลของหมิงเฉิงจู่ (จูตี้) กฎเกณฑ์เรื่องขันทีก็ค่อยๆเปลี่ยนไป อันมีสาเหตุมาจากในช่วงเวลาที่จูตี้กำลังทำสงครามภายใน มีขันทีจำนวนมากที่ไม่พอใจต่อความเข้มงวดของหมิงฮุ่ยตี้ จนหลายคนลอบส่งข่าวจากในราชสำนักออกมาให้กับหมิงเฉิงจู่ซึ่งยังดำรงตำแหน่งเจ้ารัฐเอี้ยนในขณะนั้น ขันทีบางคนถึงกับหนีมาร่วมกองทัพ ผนวกกับขันทีข้างกายของจูตี้เองหลายคนก็ได้เข้าร่วมในสงครามและสร้างผลงานการศึกเอาไว้มาก ทำให้หมิงเฉิงจู่มีความไว้วางพระทัยต่อบุคคลเหล่านี้ไม่น้อย


แม้ในระยะแรกที่หมิงเฉิงจู่ขึ้นครองราชย์จะมีการระวังป้องกันการแทรกแซงการปกครองจากเหล่าขันทีอยู่บ้าง อันเห็นได้จากการสั่งลงโทษขันทีที่สั่งให้ช่างประจำวังหลวงตัดชุดให้กับตน แต่นั่นก็เป็นไปเพียงระยะแรกเท่านั้น เพราะในภายหลังนอกจากจะมีการดึงขันทีเข้ามาช่วยเหลือในด้านงานการทูตเช่นการส่งขันทีหลี่ซิงเป็นทูตไปยังประเทศสยาม หรือส่งเจิ้งเหอนำกองเรือและทหารไปเจริญสันถวไมตรียังดินแดนต่างๆ จากนั้นเป็นต้นมา ขันทีก็ค่อยๆเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทหาร และการปกครองมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะหลังจากที่ย้ายราชธานีไปยังปักกิ่ง เนื่องจากหมิงเฉิงจู่เกรงว่าขุนนางจะไม่สามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้ จึงมีการตั้งหน่วยงาน “ต่งฉั่ง” (东厂- หน่วยงานบูรพา) ขึ้น เพื่อให้ขันทีมีอำนาจในการตรวจสอบทั้งขุนนางและราษฎรว่ามีผู้ใดที่มีข้ออันพึงสงสัยได้ว่าจะเป็นผู้ที่เตรียมก่อการกบฏ และสืบเนื่องจากที่หน่วยงานนี้ควบคุมดูแลโดยเหล่าขันทีที่มีความใกล้ชิดกับฮ่องเต้ ทำให้เมื่อได้รับข่าวสารใดมา ก็สามารถทูลต่อฮ่องเต้ได้โดยตรงทันที จึงเสมือนมีฐานะอยู่เหนือองครักษ์เสื้อแพรเสียอีก

ในรัชกาลฮ่องเต้หมิงอิงจง(明英宗) หัวหน้าขันทีหวังเจิ้น (王振) ได้รับการโปรดปรานจากฮ่องเต้ จนมีอำนาจเหนือกว่าขุนนางผู้ใหญ่ในราชสำนักจนบรรดาขุนนางต่างต้องคอยมาประจบสอพลอ จนระบบการปกครองเสื่อมทรามลงทุกที มีการทุจริตกันทั้งฝ่ายนอกฝ่ายในอย่างออกนอกหน้า บรรดาขุนนางที่ต้องการมาขอพบหวังเจิ้น ก็จะต้องจ่ายเงินร้อยตำลึงเป็นของขวัญ ทำให้ภายในช่วงระยะเวลา 7 ปีที่หวังเจิ้นมีอำนาจมีทรัพย์สมบัติเป็นเงินและทองรวมกันถึงกว่า 60 โกดัง

เมื่อมาถึงรัชกาลของฮ่องเต้หมิงเสี้ยนจง(明宪宗) ยิ่งทรงไว้พระทัยเหล่าขันที นอกจากมีตงฉั่งแล้ว ยังได้จัดตั้งหน่วยงาน “ซีฉั่ง” (西厂-หน่วยงานประจิม) ขึ้นมา โดยมีขันทีวังจื๋อ (汪直)กุมอำนาจ โดยสามารถออกคำสั่งกับตงฉั่ง และใช้หน่วยงานองครักษ์เสื้อแพรเป็นเสมือนเขี้ยวเล็บในการปฏิบัติการ ทำให้มีอำนาจบาตรใหญ่จนถึงขั้นจับตัวและเข่นฆ่าชาวบ้านหรือขุนนางตามอำเภอใจ จนขุนนางผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตไปนับไม่ถ้วน


รูปการณ์ดูคล้ายจะดีขึ้นในสมัยฮ่องเต้หมิงเสี้ยวจง (明孝宗) ที่ทรงให้ความเอาใจใส่ต่อราชการบ้านเมือง จนการปกครองในยุคนั้นเริ่มที่จะดีขึ้นบ้าง แต่แล้วหลังจากทรงสวรรคต หมิงอู่จง (明武宗) ฮ่องเต้องค์ถัดมาที่ครองราชย์ด้วยวัยเพียง 15 ปี ด้วยเป็นฮ่องเต้ที่นิยมความสำราญ จึงทรงเชื่อฟังเหล่าขันที โดยเฉพาะหลิวจิ่น (刘瑾) ขันทีที่มีอำนาจมากที่สุดในขณะนั้น ได้จัดตั้ง “เน่ยฉั่ง” (内厂- หน่วยงานฝ่ายใน) ซึ่งโหดเหี้ยมทารุณและใช้อำนาจบาตรใหญ่ยิ่งกว่า”ตงฉั่ง” กับ “ซีฉั่ง”เสียอีก ในยุคสมัยที่หลิวจิ่นเรืองอำนาจนั้น การทุจริตฉ้อฉลรับสินบนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติอย่างกว้างขวางไปทั่ว ซึ่งในภายหลังเมื่ออดีตขุนนางพี่น้องแซ่หยางกับหวังหยางหมิง (王阳明)สามารถทำให้ขันทีผู้หนึ่งเอาใจออกห่าง จนเป็นเหตุให้สามารถล่วงรู้ถึงแผนการชิงราชสมบัติของหลิวจิ่น และสามารถจับกุมตัวพร้อมสมัครพรรคพวกและพี่น้องได้ทั้งหมดเพื่อทำการประหารชีวิต ซึ่งต่อมาหลังจากมีการตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมดของหลิวจิ่นแล้วพบว่ามีทองคำมากกว่า 12 ล้านตำลึง มีเงินกว่า250 ตำลึง ซึ่งยังไม่รวมถึงเพชรนิลจินดาและสิ่งมีค่าอื่นๆอีกมากมาย โดยทรัพย์สินของหลิวจิ่นที่ถูกริบนี้ยังมีมูลค่ามากกว่างบประมาณแผ่นดินเสียอีก

ความพลิกผันที่ถู่มู่ (土木之变)

การเข้ามาแทรกแซงอำนาจการปกครองของขันที ได้ก่อให้เกิดความวิบัติในราชวงศ์หมิงหลายครั้ง หลังจากที่ฮ่องเต้หมิงเซวียนจง (明宣宗)สวรรคต รัชทายาทจูฉีเจิ้น (朱祈鎮)ขึ้นครองราชย์เป็นฮ่องเต้หมิงอิงจง (明英宗) ด้วยวัยเพียง 9 ชันษา ในขณะนั้นหวังเจิ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าขันทีดูแลฝ่ายใน ได้คอยช่วยเหลือหมิงอิงจงในการตรวจฎีกาต่างๆที่ถูกส่งมาจากขุนนาง ส่วนหมิงอิงจงเองก็ใฝ่พระทัยแต่กับการเล่นสนุกเสเพล ไม่สนใจกิจการบ้านเมือง จนกระทั่งหวังเจิ้นค่อยๆฉวยโอกาสในการรวบอำนาจทางการทหารและการปกครองมาไว้ในมือ ขุนนางราชสำนักคนใดกล้าขัดใจ ก็จะถูกปลดออกจากตำแหน่ง ไม่ก็ถูกส่งไปเป็นทหารในกองทัพ แม้แต้บรรดาขุนนางราชนิกูลเองยังคอยประจบหวังเจิ้นถึงกับเรียกขานเป็นเหมือนบิดาว่า “เวิงฟู่” (翁父) เลยทีเดียว

ในเวลานั้นชนเผ่าหว่าล่า (瓦剌) ของชนชาติมองโกลทางเหนือเริ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีค.ศ. 1449 เหยี่ยเซียน (也先)หัวหน้าชนเผ่าหว่าล่าได้ส่งทูตสามพันคนมายังปักกิ่ง เพื่อที่จะถวายม้า และร้องขอพระราชทานทองคำเป็นการตอบแทน ขันทีหวังเจิ้นกลับกดราคาม้า และลดจำนวนทองคำที่จะให้ นอกจากนั้นทางเหยี่ยเซียนได้ขอพระราชทานบุคคลจากราชวงศ์หมิงเพื่อที่จะไปสมรสกับบุตรชายของตน แต่ก็ถูกหวังเจิ้นปฏิเสธไปอีก จนทำให้เหยี่ยเซียนเกิดโทสะ นำกองทัพม้าของหว่าล่าบุกไปยังด่านต้าถง

แม่ทัพที่รักษาด่านนำทหารออกรับมือ แต่พ่ายแพ้ให้กับทหารของหว่าล่าอย่างยับเยิน จึงได้ส่งสาส์นด่วนไปยังราชสำนัก ฮ่องเต้หมิงอิงจง รีบเรียกประชุมขุนนางเพื่อหาวิธีรับมือ ชัยภูมิที่ต้าถงอยู่ไม่ไกลจากอี๋ว์โจว (蔚州) บ้านเกิดของหวังเจิ้น และหวังเจิ้นเองก็มีที่นาอยู่ในอี๋ว์โจวเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงได้พยายามยุยงให้ฮ่องเต้หมิงอิงจงนำทัพออกศึกด้วยพระองค์เอง ในยามนั้นฝ่ายกลาโหมและอีกหลายคนได้พยายามทูลทัดทานไว้ ด้วยเหตุผลที่ว่าราชสำนักยังเตรียมการไม่พร้อม มิบังควรให้ฮ่องเต้เป็นจอมทัพออกศึก ทว่าหมิงอิงจงกลับเลือกที่จะเชื่อหวังเจิ้นโดย เสี่ยงนำทัพออกศึกโดยไม่ฟังคำทัดทานของเหล่าขุนนาง

ในยามนั้นแม่ทัพเฝินจงที่แค้นขันทีชั่วหวังเจิ้นมานาน จึงทำการจบชีวิตหวังเจิ้นแล้วพาตัวเข้าไปสู้ตายในสมรภูมิ ฮ่องเต้หมิงอิงจงเห็นว่าหมดหวังที่จะหนีได้ จึงได้ยอมลงจากม้าแล้วปล่อยให้ทหารหว่าล่าของมองโกลจับตัวไป โดยในศึกครั้งนี้ ต้าหมิงต้องสูญเสียทหารไปกว่า 2 แสนคน และนักประวัติศาสตร์ได้เรียกขานเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า “การพลิกผันที่ถู่มู่”

หมิงอิงจงได้ฝากฝังให้พระอนุชาเฉิงหวัง (郕王) เฝ้าเมืองหลวงเอาไว้ จากนั้นก็นำพาหวังเจิ้น กับขุนนางอีกกว่าร้อยกนำทัพใหญ่ที่มีจำนวนถึง 500,000 คนออกจากปักกิ่งมุ่งสู่ด่านต้าถงอย่างเอิกเกริก ทว่าการออกศึกนี้เนื่องจากไม่ได้มีการเตรียมการที่พร้อมสรรพ กอปรกับวินัยทหารที่หย่อนยาน ตลอดทางยังต้องพบกับพายุลมฝน ผ่านไปเพียงไม่กี่วัน การจัดส่งเสบียงก็ขาดความต่อเนื่อง ทำให้ทหารต้องทนหนาวทนหิวร้องโอดครวญตั้งแต่ยังไม่ได้พบหน้ากับทหารหว่าล่าของมองโกลด้วยซ้ำ

เมื่อทหารเดินทางมาถึงต้าถง ก็เป็นสภาพศพทหารต้าหมิงนอนเกลื่อนไปทั่ว จนทำให้รู้สึกหวั่นเกรง ส่งผลให้ขวัญของกองทัพถดถอยลงทันที ในยามนั้นมีขุนนางที่พยายามทูลขอให้ถอยทัพ แต่ก็ถูกหวังเจิ้นด่ากลับอย่างรุนแรงทั้งยังลงโทษให้คุกเข่าเป็นเวลาหนึ่งวัน

การศึกผ่านไปไม่กี่วันทัพหน้าของทหารต้าหมิงก็พ่ายแพ้อย่างหมดรูป จนทัพต่างๆต้องทยอยถอยร่นกลับมา หวังเจิ้นเริ่มรู้สึกถึงลางหายนะจึงยอมให้ถอนทัพกลับปักกิ่ง ซึ่งอันที่จริงแล้ว ตามยุทธวิธีการศึกการถอยทัพนั้นควรเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ขันทีหวังเจิ้นกลับอยากจะกลับไปอวดบารมีที่บ้านเกิดตน จึงสั่งให้ทหารมุ่งตรงไปยังที่นั่นก่อน จากนั้นก็เปลี่ยนใจถอยทัพเนื่องจากเกรงว่าทหารจะไปเหยียบไร่นาของตนเสียหาย

การถ่วงเวลาเช่นนี้ทำให้ทหารหว่าล่าของมองโกลไล่ตามมาทัน จนทหารหมิงต้องต่อสู้พลางถอยพลาง จนกระทั่งมาถึงป้อมถู่มู่ พลบค่ำวันนั้นมีขุนนางที่พยายามทูลให้หมิงอิงจงเดินทางต่อยามดึกไปอีกสักระยะเพื่อไปหลบพักยังเมืองหวายไหล ซึ่งจะยังสามารถยันไว้ได้หากทัพศัตรูตามมาทัน แต่หวังเจิ้นเห็นว่ารถขนสมบัติของตนอีกหลายเกวียนยังมาไม่ถึง จึงบังคับให้ทหารหยุดลงที่ป้อมถู่มุ่ อันเป็นป้อมซึ่งสร้างขึ้นจากไม้และดิน ไม่สามารถที่จะป้องกันได้ดีนักอีกทั้งไม่มีน้ำให้ดื่มใช้อีกด้วย

เช้าอีกวันหนึ่งทหารหว่าล่าได้ไล่มาถึงและล้อมทหารหมิงเอาไว้อย่างแน่นหนา หมิงอิงจงทราบดีว่าไม่สามารถที่จะบุกฝ่าออกไปจึงได้ส่งคนไปเพื่อเจรจา ทางฝ่ายเหยี่ยเซียนแสร้งทำทีเป็นยอมรับ รอจนทางฝ่ายหมิงวางใจปล่อยให้ทหารหมิงที่อดน้ำมานานกำลังพุ่งเข้าไปหาแม่น้ำจนสับสนอลม่าน ค่อยนำทหารที่ดักซุ่มไว้บุกเข้าเข่นฆ่า แล้วประกาศว่าจะไว้ชีวิตผู้ที่ยอมจำนนจนทหารหมิงต่างพากันวางอาวุธ


รัฐประหารแห่งตั๋วเหมิน (夺门之变)

เมื่อข่าวของฮ่องเต้หมิงอิงจงถูกส่งมายังปักกิ่ง ได้ทำให้ขุนนางทั่วราชสำนักเกิดความสับสนอลหม่าน จนถึงกับมีคนที่เสนอให้ทำการย้ายราชธานีหลบหนีลงใต้อีกครั้ง ขณะที่ประเด็นดังกล่าวกำลังเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางโดยหาข้อสรุปไม่ได้ เจ้ากระทรวงกลาโหม อี๋ว์เชียน (于谦) ได้ออกมาเตือนสติทุกคนว่าราชธานีถือเป็นรากฐานของประเทศ หากทำการย้ายราชธานีไป สถานการณ์จะยิ่งย่ำแย่ โดยสามารถดูจากสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ที่ผ่านมาไม่นานนี้

ความเห็นของอี๋ว์เชียนได้รับความเห็นชอบจากขุนนางจำนวนมาก เหล่าขุนนางจึงได้ขอให้มีการปราบดาภิเษกจูฉีอี้ว์ (朱祈钰) หรือเฉิงหวังซึ่งเป็นพระอนุชาของหมิงอิงจงขึ้นเป็นฮ่องเต้ มีพระนามว่าหมิงจิ่งตี้ จากนั้นให้อี๋ว์เชียนรับหน้าที่ในการดูแลการศึกเพื่อรับมือทหารหว่าล่า

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทหารหว่าล่าบุกประชิดเมืองหลวงเข้ามาทุกที แม้อี๋ว์เชียนต้องรับศึกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมการรบ การรับสมัครทหารใหม่ การโยกย้ายลำเลียงเสบียง การเร่งสร้างอาวุธ แต่ในเวลาเพียงหนึ่งเดือนอี๋ว์เชียนสามารถรวบรวมทหารได้ถึง 2 แสนนายเพื่อเตรียมออกศึกครั้งนี้


ยามนั้นทหารของเหยี่ยเซียนบุกตีหักเอาด่านจื่อจิง แล้วมุ่งสู่เมืองหลวงทันที อี๋ว์เชียนได้ส่งทหารส่วนหนึ่งรักษาเมืองหลวง จากนั้นแบ่งทหารออกมาตั้งเตรียมรับศึกที่หน้าประตูเมืองทั้ง 9 แห่ง เหยี่ยเซียนเห็นว่าต้าหมิงมีการเตรียมพร้อมคงยากที่จะบุกโดยตรง จึงทำทีว่าจะส่งตัวหมิงอิงจงกลับมาเพื่อหลอกฆ่าอี๋ว์เชียนและพรรคพวก แต่แผนการดังกล่าวกลับถูกอี๋วเชียนมองออกเสียก่อน

ในที่สุดเหยี่ยเซียนก็ตัดสินใจนำทหารเข้าโจมตี โดยอี๋ว์เชียนก็ไปเข้าปะทะโดยตรง ส่งกองทหารม้าสู้รบหลอกล่อทหารหว่าล่าไปยังกับดักระเบิดที่วางไว้จนทหารมองโกลเสียหายอย่างหนัก ทหารหว่าล่าพยายามบุกตีเมืองหลวงหลายครา แต่ก็ประสบความพ่ายแพ้ตลอด จนต้องถอยทัพหนีกลับไป แล้วส่งตัวฮ่องเต้หมิงอิงจงกลับมา

หลังหมิงอิงจงถูกส่งกลับ ก็ถูกหมิงจิ่งจง (明景宗) ที่เป็นฮ่องเต้ในขณะนั้นยกให้เป็นไท่ซั่งหวง แล้วให้ไปพำนักที่วังทางใต้ ซึ่งก็คือการถูกกักบริเวณนั่นเอง กระทั่งปี 1457 ฮ่องเต้หมิงจิ่งจงประชวรหนัก ขุนนางใหญ่อย่างสีว์โหยว่เจิน สือเฮิง และขันทีเฉาจี๋เสียงจึงวางแผนจะคืนบัลลังก์ให้กับหมิงอิงจง แอบส่งทหารลอบเข้าไปรับตัวหมิงอิงจงออกจากวัง แล้วทำการยึดอำนาจ ประกาศให้หมิงอิงจงกลับคืนสู่บัลลังก์มังกรในวันต่อมา หลังจากหมิงอิงจงคืนสู่ตำแหน่ง ได้ทำการปลดให้หมิงจิ่งจงกลับไปเป็นอ๋อง เปลี่ยนชื่อรัชกาลเป็นเทียนซุ่น จากนั้นก็ทำการประหารฆ่าอี๋ว์เชียน หวังเหวินและผู้คนที่เคยสนับสนุนให้หมิงจิ่งจงขึ้นเป็นฮ่องเต้เสีย ซึ่งการกลับคืนสู่อำนาจของฮ่องเต้หมิงอิงจงในครั้งนี้ถูกเรียกว่า “การรัฐประหารแห่งตั๋วเหมิน”

โฮ่วจิน – กบฏชาวนา ศึกในศึกนอกสู่กาลอวสาน

ปลายราชวงศ์หมิงที่มีแต่ความเสื่อมโทรม กลับเป็นช่วงเวลาที่ชนเผ่าหนี่ว์เจิน (女真)ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแผ่นดินต้าหมิงค่อยๆเติบใหญ่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ นูรฮาชี (奴爾哈赤) ผู้นำที่เป็นทั้งนักรบและนักปกครอง อีกทั้งคล่องแคล่วในภาษาฮั่น ได้เริ่มต้นรวบรวมชนเผ่าหนี่ว์เจินเป็นปึกแผ่น

หลังนูรฮาชีสามารถรวบรวมชนชาติหนี่ว์เจินได้แล้ว ก็ได้ทำการวางระบบ 8 กองธงขึ้น โดยแต่ละกองธงนั้นเป็นทั้งหน่วยงานการปกครองและเป็นองค์กรทางทหารในตัว แต่ในยามนั้น เพื่อไม่ให้ราชสำนักหมิงเกิดความระแวงสงสัย นูรฮาชีจึยังเลือกที่จะยอมเรียกตนเป็นเสมือนขุนนางของราชสำนักหมิง และส่งเครื่องบรรณาการไปให้จนกระทั่งราชสำนักหมิงวางใจในท่าทีอันเป็นมิตร ถึงกับพระราชทานตำแหน่งให้เป็นแม่ทัพหลงหู่ (มังกรพยัคฆ์)


กระทั่งปีค.ศ. 1616 เมื่อนูรฮาชีเห็นว่าสถานการณ์เหมาะสมแล้ว ท่ามกลางการสนับสนุนของผู้นำทั้ง 8 กองธง จึงสถาปนาตนขึ้นเป็นข่านหรือปฐมกษัตริย์ของโฮ่วจิน (จินยุคหลัง) โดยการที่เรียกเป็นโฮ่วจินนั้น เพื่อให้สามารถแยกแยะจากอาณาจักรจินที่สถาปนาขึ้นในช่วงหลังสมัยราชวงศ์ซ่ง

ในช่วงต้นรัชกาลฮ่องเต้หมิงซีจง (明熹宗) ขันทีเว่ยจงเสียน (魏忠贤)ได้เป็นคนโปรดของฮ่องเต้ และกุมอำนาจตงฉั่ง ได้พยายามส่งคนของตนที่เป็นพวกประจบสอพลอฉ้อฉลเข้าไปประจำยังตำแหน่งสำคัญต่างๆ กระทั่งผู้ตรวจการคนหนึ่งนามหยางเหลียน (杨涟) ได้เสี่ยงตายทำฎีกาทูลต่อฮ่องเต้ ระบุความผิดของเว่ยจงเสียนถึง 24 ประการ แต่ความปรารถนาดีดังกล่าว กลับทำให้เว่ยจงเสียนซึ่งกุมอำนาจไว้หมดสิ้นถือโอกาสรวบรวมรายชื่อขุนนางที่เป็นศัตรูของตน แล้วทำการกวาดล้างครั้งใหญ่พร้อมกับหยางเหลียนแล้วจับเข้าคุกทั้งสิ้น 700 คนโดยมีจำนวนไม่น้อยที่ถูกทรมานจนตายในคุก

ในขณะที่เว่ยจงเสียนเรืองอำนาจ ฮ่องเต้หมิงซีจงก็ทรงสิ้นพระชนม์โดยกะทันหัน ผู้ที่รับตำแหน่งต่อเป็นพระอนุชาที่มีพระชนม์เพียง 17 พรรษา ขึ้นครองราชย์มีพระนามว่าฮ่องเต้หมิงซือจง (明思宗) ใช้ชื่อรัชกาลว่าฉงเจิน (崇祯) ซึ่งเป็นฮ่องเต้องค์สุดท้ายในราชวงศ์หมิง

ขึ้นครองราชย์ สิ่งแรกที่ทรงกระทำก็คือการกำจัดขันทีเว่ยจงเสียนด้วยการปลดออกจากราชการ จนเว่ยจงเสียนต้องเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดของตน ในภายหลัง ยังมีการประกาศความผิดของเว่ยจงเสียนโดยระบุว่าเป็นผู้ไม่จงรักภักดีต่อบ้านเมือง ผิดต่อพระกรุณาธิคุณของฮ่องเต้พระองค์ก่อน ใช้อำนาจบาตรใหญ่ เล่นพรรคเล่นพวก อ้างราชโองการป้ายสีขุนนางสุจริต ในขณะนั้นเว่ยจงเสียนเมื่อทราบข่าวก็รู้ชะตากรรมของตนเองดี จึงชิงฆ่าตัวตายไป ส่วนพรรคพวกก็ถูกกวาดล้างลงโทษไปตามๆกัน

หลังนูรฮาชีสถาปนาโฮ่วจิน ก็ได้ทำศึกมีชัยเหนือทหารของต้าหมิงหลายครั้ง จนเหล่าขุนนางทั้งหลายต่างครั้นคร้ามกันไปทั่ว จนไม่มีใครอาสาไปรับศึกอีก แต่แล้วในยามนั้นขุนนางนามหยวนฉงฮ่วน ( 袁崇焕)ได้แสดงเจตจำนงต่อเจ้ากรมกลาโหม อาสานำทัพไปยันกองทัพโฮ่วจินที่บุกมาถึงหนิงหย่วนในมณฑลเหลียวตงด้วยตนเอง

ปี 1626 นูรฮาชีนำทัพ 130,000 คนข้ามแม่น้ำเหลียวเข้าโจมตีหนิงหย่วน แต่หยวนฉงฮ่วนก็รับศึกอย่างแข็งขัน จนทหารของโฮ่วจินล้มตายเป็นจำนวนมาก นูรฮาชีเองก็บาดเจ็บสาหัสจนต้องมีคำสั่งถอยทัพไปยังเสิ่นหยาง แล้วเสียชีวิตลงที่นั่น

หลังจากเอาชนะทัพของโฮ่วจินได้ทางการได้แต่งตั้งให้หยวนฉงฮ่วนขึ้นเป็นผู้ตรวจการมณฑลเหลียวตง จากนั้นก็มีการเร่งรับสมัครทหาร ซ่อมบำรุงกำแพงเมืองและแนวคูคลองเพื่อเตรียมรับศึกกับทหารโฮ่วจินต่อ

ทางฝ่ายโฮ่วจินหลังจากนูรฮาชีสิ้นพระชนม์ หวงไท่จี๋ (皇太极)โอรสองค์ที่ 8 ก็ได้ขึ้นเป็นข่านแห่งโฮ่วจินแทน ปีที่ 2 หลังจากที่ขึ้นเป็นข่าน ได้นำทัพแบ่งเป็น 3 สายบุกจีนอีกครั้ง หยวนฉงฮ่วนถูกฮ่องเต้หมิงซือจงเรียกตัวมา แต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารในแถบเหอเป่ย เหลียวตงทั้งหมด

เมื่อกองทัพของหวงไท่จี๋ไม่สามารถบุกตีเมืองที่เป็นด่านสำคัญอย่างหนิงหย่วนได้ จึงได้เปลี่ยนกลยุทธใหม่ โดยในปีค.ศ. 1629 หวงไท่จี๋นำทัพหลายแสนคนผ่านไปยังด่านหลงจิ่ง ต้าอันโข่ว อ้อมเหอเป่ยมุ่งตรงไปยังราชธานีปักกิ่งแทน

แผนนี้อยู่เหนือความคาดหมายของหยวนฉงฮ่วน เมื่อได้รับรายงานข่าว หยวนฉงฮ่วนจึงเร่งเดินทางทั้งกลางวันกลางคืน ใช้เวลา 2 วัน 2 คืนจึงเดินทางมาถึงปักกิ่ง เปิดศึกกับกองทัพโฮ่วจินอย่างดุเดือดโดยไม่ได้พักผ่อน จนทัพโฮ่วจินต้องถอยไปอีกครั้ง

ฮ่องเต้ฉงเจินหรือหมิงซือจงเดิมคิดที่จะเรียกตัวหยวนฉงฮ่วนมาเพื่อปูนบำเหน็จ แต่ในขณะนั้นหวงไท่จี๋กลับใช้แผนยุแหย่ โดยผ่านพรรคพวกของขันทีเว่ยจงเสียนที่เหลืออยู่ ให้เที่ยวไปปล่อยข่าวว่าการที่กองทัพโฮ่วจินสามารถอ้อมมาถึงปักกิ่งได้นั้นเป็นเพราะหยวนฉงฮ่วนสมคบคิดกับทางหวงไท่จี๋ กอปรกับขณะนั้นมีเชลยศึกที่ถูกโฮ่วจินจับไปแล้วหนีออกมาได้มาทูลรายงานว่า หยวนฉงฮ่วนได้ทำข้อตกลงลับกับหวงไท่จี๋แล้ว ฮ่องเต้ฉงเจินได้ยินเข้ากลับเชื่อในข่าวลือ สั่งประหารขุนนางภักดีอย่างหยวนฉงฮ่วนด้วยการแล่เนื้อทั้งเป็นโดยไม่ยอมฟังคำทัดทานจากเหล่าขุนนางคนใด

เมื่อขาดหยวนฉงฮ่วนคอยเป็นก้างขวางคอแล้ว ไม่นานกองทัพโฮ่วจินก็ค่อยๆเข้าครอบครองพื้นที่ทางเหนือของจีน ถึงปี 1635 หวงไท่จี๋ได้เปลี่ยนชื่อเรียกเผ่าหนี่ว์เจินเป็นหมั่นโจว (แมนจู) และในปีถัดมาก็ตั้งตนขึ้นเป็นฮ่องเต้ และตั้งชื่อราชวงศ์ของตนว่า “ชิง” (清朝) โดยมีพระนามว่าชิงไท่จง (清太宗)

อันที่จริง นอกจากต้องคอยรับศึกจากทหารโฮ่วจิน หรือแมนจูแล้ว ตลอดช่วงเวลาสุดท้ายของราชวงศ์หมิงก็ยังมีกองทัพประชาชนที่ลุกฮือขึ้นก่อการต่อสู้กับราชสำนักอยู่ไม่ขาด โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุทุพภิกขภัยในมณฑลส่านซี ที่ทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร แต่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็ยังคอยขูดรีดภาษีอย่างหนัก กองทัพประชาชนก็ทวีจำนวนขึ้นอย่างมากมาย

ในกลุ่มกองทัพประชาชนมีกองทัพใหญ่ๆอยู่ 2 กลุ่มได้แก่กองกำลังของหลี่จื้อเฉิง (李自成)และจางเซี่ยนจง (张献忠)โดยในระหว่างทำศึกจางเซี่ยนจงได้เคยเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ให้กับราชสำนักหมิง ส่วนหลี่จื้อเฉิงในขณะทำศึก มักจะนำเอาอาหารที่ยึดได้มาแจกจ่ายให้กับผู้อดอยาก ทั้งยังประกาศให้ใช้ที่ดินทำกินได้โดยไม่เสียภาษี ทำให้มีผู้คนแห่แหนมาเข้าร่วมด้วยจนมีกองกำลังหลายหมื่นคน

ในปีค.ศ. 1643 หลี่จื้อเฉิงได้เข้ายึดเมืองเซียงหยาง และตั้งตนขึ้นเป็น ซินซุ่นหวัง (新順王) และเมื่อบุกยึดส่านซีได้ทั้งมณฑลก็ตั้งตัวเองขึ้นเป็นอ่องเต้ โดยเรียกชื่ออาณาจักรของตนว่าต้าซุ่น จากนั้นได้ทำตามแผนการของที่ปรึกษานามกู้จวินเอิน ให้ใช้ส่านซีเป็นฐานที่มั่น บุกเข้าสู่ซีอัน จากนั้นค่อยบุกต่อไปยังปักกิ่งซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของราชสำนักหมิง

หลี่จื้อเฉิงนำทัพบุกข้ามแม่น้ำฮวงโหบุกยึดไท่หยวน ต้าถง เซวียนฝู่ เข้าสู่ด่านยงกวนด้วยชัยชนะมาตลอดทาง กระทั่งเดือน 3 ของปีค.ศ. 1644 ได้นำทัพเข้าปิดล้อมปักกิ่ง จนฮ่องเต้หมิงซือจงเห็นว่าจบสิ้นแล้ว จึงได้ปลงพระชนม์ตนเองที่ภูเขาเหมยซัน

แม้หลี่จื้อเฉิงจะสามารถยึดครองปักกิ่งไว้ได้ ทว่าแรงกดดันจากกองทัพอื่นๆก็ยังไม่จบสิ้น ยังมีกำลังทหารแตกทัพของราชวงศ์หมิง กองกำลังของอู๋ซันกุ้ย (吴三桂) ที่ด่านซันไห่กวน (山海关) และกองทัพจากแมนจูจากทางตะวันออกเฉียงเหนือคอยคุกคามอยู่

หลี่จื้อเฉิงได้ส่งหนังสือให้อู๋ซันกุ้ยยอมสวามิภักดิ์ จากนั้นก็ได้ให้อู๋เซียง บิดาของอู๋ซันกุ้ยที่อยู่ในเมืองหลวงเขียนจดหมายไปกล่อมอีกทาง อีกทั้งได้ส่งคณะทูตนำเงินทองมากมาย พร้อมหนังสือแต่งตั้งให้อู๋ซันกุ้ยขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าพระยา แต่ในขณะที่อู๋ซันกุ้ยกำลังเดินทางมาเมื่อสวามิภักดิ์ต่อหลี่จื้อเฉิง กลับได้พบกับคนรับใช้ที่หนีออกมาจากเมืองหลวงที่มาส่งข่าวว่าบัดนี้อู๋เซียงถูกจับเป็นตัวประกันและถูกริบทรัพย์สมบัติ นอกจากนั้นเฉินหยวนหยวน (陈圆圆)อนุภรรยาของอู๋ซันกุ้ยยังถูกแม่ทัพหลิวจงหมิ่นชิงตัวไป

และด้วยเหตุนี้จึงได้ทำให้อู๋ซันกุ้ยตัดสินใจที่จะหันกลับไปจับมือกับแม่ทัพตัวเอ่อกุ่น (多爾衮) ของแมนจู จากนั้นส่งคนให้แสร้งไปส่งข่าวยอมสวามิภักดิ์ต่อหลี่จื้อเฉิงเพื่อถ่วงเวลาเอาไว้ก่อน ทว่าในภายหลังเมื่อหลี่จื้อเฉิงได้ทราบข่าวว่าอู๋ซันกุ้ยสวามิภักดิ์ต่อแมนจูแล้ว จึงได้นำทัพราว 6 หมื่นเพื่อลงมาปราบปราม แต่ในยามนั้นอู๋ซันกุ้ยได้ลอบเปิดด่านให้กองทัพแมนจูยกเข้ามาอ้อมตีกองทัพของหลี่จื้อเฉิง จนหลี่ต้องถอยทัพกลับปักกิ่งโดยมีทัพของอู๋ซันกุ้ยไล่ตามมา หลี่แก้แค้นด้วยการตัดศีรษะบิดาของอู๋ซันกุ้ยเสียบประจานที่กำแพงเมืองปักกิ่ง จนทหารชิงได้เข้ายึดปักกิ่งได้สำเร็จ กองทัพหลี่จื้อเฉิงที่พ่ายแพ้ถอยร่นไปก็ถูกโจมตีและสังหารไปในที่สุด ถือว่าเป็นอันอวสานของราชวงศ์ที่ปกครองโดยชาวฮั่นลงตลอดกาล..


6/03/2552

เจิ้งเหอ (郑和)(1)

เมื่อ 600 ปีก่อน จักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงได้สืบทอดความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรจีนต่อจากราชวงศ์ถัง ด้วยวิทยาการความรู้ อารยธรรมที่สั่งสมมานับพันปี การเดินทางของเจิ้งเหอ ในเวลานั้นได้แสดงถึงแสนยานุภาพทางทะเลของจีนที่ได้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด ทั้งในด้านวิทยาการด้านการเดินเรือ การทูต การทหาร ตลอดจนการค้าทางทะเล ซึ่งได้เผยแพร่ไกลออกไปสู่ซีกโลกตะวันตก ภายใต้แนวทางในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ด้วยวิถีแห่งราชันย์ ไม่ใช่วิถีแห่งทรราชย์ ที่ได้มาด้วยการเข่นฆ่าและช่วงชิง...ยึดครองดินแดนผู้อื่น
รูปปั้น “เจิ้งเหอ”
ขบวนเรือของจีนภายใต้แม่ทัพใหญ่ผู้ทรงพรสวรรค์เจิ้งเหอ พร้อมด้วยเรือกว่า 200 ลำ ลูกเรือไม่ต่ำกว่า 27,000 คน ได้ยาตรารอบโลกถึง 7 ครั้ง โดยเริ่มลงทะเลครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1405 ผลกระทบที่น่าสนใจของการเดินทางของเจิ้งเหอ ที่ใกล้ตัวชาวไทยได้แก่ การท่องสมุทรครั้งที่สอง ได้มีส่วนในการปรับเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองภายในของกรุงศรีอยุธยาครั้งสำคัญ นอกจากนี้ ยังได้ทิ้งปริศนาที่ยิ่งใหญ่แก่โลก ได้แก่ ขบวนเรืออันมโหฬารของเจิ้งเหอนั้น ได้พบกับทวีปอเมริกาก่อนที่ขบวนเรือน้อยๆของโคลัมบัสพบดินแดนใหม่นี้ในปี 1492 หรือไม่ ตามทฤษฎีของนาย กาวิน เมนซีส์ สำหรับประเด็นถกเถียงนี้ ทางการจีนซึ่งก็ขาดหลักฐานใดๆในการพิสูจน์เรื่องนี้ กล่าวเพียงว่า เป็นประเด็นถกเถียงทางวิชาการ
เมืองท่าโบราณของจีน
ปี 2005 นี้ เป็นโอกาสครบรอบ 600 ปีรำลึกการเดินทางท่องสมุทรของกองเรือเจิ้งเหอ ทางการจีนและชนชาวจีนจากทั่วโลก ได้จัดงานกิจกรรมเฉลิมฉลองให้กับวีรกรรมการเดินเรือครั้งยิ่งใหญ่นี้ทั้งในประเทศจีนและดินแดนต่างๆอีกกว่า 20 แห่งทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา แอฟริกา ออสเตรเลีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวันและไทย เป็นต้น งานกิจกรรมที่จัดขึ้น ได้แก่ นิทรรศการ เสวนา กิจกรรมรำลึกและการเดินทางย้อนรอยเส้นทางการเดินเรือของเจิ้งเหอ เป็นต้น
จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (หย่งเล่อ) แห่งราชวงศ์หมิง ครองราชย์ระหว่างปี 1403 – 1424
เจิ้งเหอเป็นบุคคลที่ได้รับการกล่าวขานถึงตำนานชีวิตที่พลิกผันอย่างพิสดารคนหนึ่ง จากเด็กน้อยจากครอบครัวชาวมุสลิมที่ต้องกลายมาเป็นขันทีน้อย คอยติดตามรับใช้ ไปกับกองทัพหมิง 20 ปีต่อมากลับได้รับมอบหมายให้เป็นแม่ทัพบัญชาการกองเรือรบนับร้อยลำออกเดินทางท่องสมุทรถึง 7 ครั้งไปยังดินแดนห่างไกลนับหมื่นลี้ ใช้ชีวิตที่เหลือในอีก 28 ปีให้หลังสร้างประวัติศาสตร์การเดินเรือครั้งยิ่งใหญ่ให้กับชนชาติจีนและชาวโลก

ชีวิตและครอบครัว
เจิ้งเหอ (郑和)(ค.ศ. 1371 – 1433) เดิมแซ่หม่า(马)(มาจากภาษาอาหรับว่า Muhammad) ชื่อ เหอ และมีชื่อรองว่า ซันเป่า (ภาษาอาหรับคือ Abdul Subbar) ถือกำเนิดที่เมืองคุนหยางมณฑลหยุนหนันหรือยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน ครอบครัวเป็นชาวมุสลิม ปู่และพ่อของเจิ้งเหอเคยเดินทางไปยังนครเมกกะ เพื่อร่วมพิธีฮัจญ์ พ่อของเจิ้งเหอจึงได้รับการเรียกขานด้วยความเคารพว่า หม่าฮาจือ หรือ “ฮัจญี” แม่ของเจิ้งเหอแซ่เวิน(温) เจิ้งเหอมีพี่ชายชื่อหม่าเหวินหมิง กับพี่สาวอีกสองคน ครอบครัวของเจิ้งเหอเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไปในละแวกนั้น

ต่อเมื่อปี 1381 จูหยวนจางหรือหมิงไท่จู่ (ปีศักราชหงอู่)* ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง ยกทัพมากวาดล้างกองกำลังของมองโกลแห่งราชวงศ์หยวนที่ยังปักหลักอยู่ในแถบหยุนหนัน ท่ามกลางความวุ่นวายของสงคราม เจิ้งเหอที่ขณะนั้นมีวัยเพียง 11 ปี ตกเป็นเชลยศึกของกองทัพหมิง ถูกตอนเป็นขันที หรือที่เรียกว่าซิ่วถง(秀童)ให้ทำงานรับใช้ในกองทัพ


สวนสาธารณะเจิ้งเหอที่คุนหยาง มณฑลยูนนาน บ้านเกิดของเจิ้งเหอ
หลังจากสงครามสงบลง ในปี 1385 เจิ้งเหอติดตามกองทัพหมิงขึ้นเหนือไป เข้าร่วมในสมรภูมิรบทางภาคเหนือ จวบจนอายุได้ 19 ปี จึงได้รับการคัดเลือกให้อยู่ภายใต้ร่มธงของเอี้ยนหวังจูตี้(朱棣)องค์ชายสี่แห่งราชวงศ์หมิงที่นครปักกิ่ง นับแต่นั้นเจิ้งเหอก็คอยติดตามอยู่ข้างกายของจูตี้ กลายเป็นคนสนิทที่ได้รับความไว้วางใจอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างปี 1399 – 1402 เมื่อจูตี้เปิดศึกแย่งชิงบัลลังก์กับหลานชายของตน หมิงฮุ่ยตี้ (明惠帝)(ปีศักราชเจี้ยนเหวิน) ที่สืบราชบัลลังก์ต่อจากจูหยวนจาง โดยเจิ้งเหอได้สร้างความดีความชอบในศึกครั้งนี้ไว้อย่างมาก ช่วยให้จูตี้ได้ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์มังกรเป็นจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (明成祖) (ปีศักราชหย่งเล่อ) ในที่สุด เจิ้งเหอได้รับการเลื่อนฐานะขึ้นเป็นหัวหน้าขันที และในปี 1404 จูตี้พระราชทานแซ่ “เจิ้ง” (郑)จึงกลายมาเป็น “เจิ้งเหอ” หรือที่รู้จักกันในนามของ ซันเป่ากง หรือซำปอกง (三宝公)

เจิ้งเหอเป็นขันที จึงไม่มีบุตรหลานเป็นของตนเอง ดังนั้นพี่ชายของเขาจึงยกบุตรชายของตนให้ใช้แซ่เจิ้ง เพื่อเป็นผู้สืบทอดของเจิ้งเหอ ปัจจุบันมีทายาทหลายสาย ได้แก่ ที่หนันจิง ซูโจว หยุนหนัน และที่เชียงใหม่ประเทศไทย

* จูหยวนจาง(朱元璋)เป็นชื่อก่อนขึ้นครองราชย์ หมิงไท่จู่(明太祖)เป็นพระนามอย่างเป็นทางการ ส่วนหงอู่(洪武)เป็นปีศักราชที่ใช้ในรัชสมัยนี้ เช่นเดียวกับเจี้ยนเหวิน(建文)และหย่งเล่อ(永乐)ล้วนเป็นปีศักราชของหมิงฮุ่ยตี้(明惠帝)และหมิงเฉิงจู่(明成祖)ตามลำดับ
เรือใบฟีนิกส์ หนึ่งในกิจกรรมตามรอยเส้นทางการเดินเรือของเจิ้งเหอ ที่เริ่มออกเดินทางเมื่อปีที่แล้ว โดย phoenixtv

ภูมิหลังทางการเมือง
จูหยวนจาง สถาปนาราชวงศ์หมิง ขึ้นในปี 1368 ขับไล่กองทัพมองโกลออกจากประเทศจีนได้เป็นผลสำเร็จ ปี 1392 จูเพียวโอรสองค์โตสิ้น จูหยวนจางจึงตั้งจูหยุนเหวิน(朱允文)บุตรชายของจูเพียวที่มีวัยเพียง 14 ปีขึ้นเป็นรัชทายาทแทน และเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับราชบัลลังก์สืบต่อไป ปลายรัชกาลจูหยวนจางได้ดำเนินการปราบปรามผู้ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้สืบทอดราชบัลลังก์ในอนาคต โดยการกวาดล้างผู้ต้องสงสัยทั้งหลาย ทั้งที่เป็นเชื้อพระวงศ์และขุนนางแม่ทัพคนสนิทที่ไม่เห็นด้วย ต่อเมื่อจูหยุนเหวินขึ้นครองราชย์ เป็นหมิงฮุ่ยตี้ (明惠帝)บ้านเมืองตกอยู่ในบรรยากาศอึมครึมทางการเมืองและเต็มไปด้วยความหวาดระแวงไปทั่ว โดยพระองค์ยังคงดำเนินการลิดรอนอำนาจของเหล่าเชื้อพระวงศ์อาวุโสที่เห็นว่าอาจส่งผลบีบคั้นต่อราชบัลลังก์ต่อไป

แต่แล้วเจ้าเอี้ยนหวังจูตี้(朱棣)ที่มีฐานที่มั่นกล้าแข็งในเป่ยผิง (ปัจจุบันคือปักกิ่ง) ยกกองกำลังบุกลงใต้ เข้ายึดเมืองหนันจิงหรือนานกิงไว้ได้ในปี 1402 เมื่อเข้าถึงพระราชวัง เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เผาผลาญพระราชวังชั้นใน แต่ไม่พบพระศพของหมิงฮุ่ยตี้ จึงเป็นที่โจษจันกันว่าพระองค์ยังคงมีชีวิตรอดอยู่ และได้ปลอมเป็นพระภิกษุหลบหนีออกจากนครหลวงสู่ทะเลจีนใต้ อันเป็นที่มาของเสียงเล่าลือว่า จุดมุ่งหมายสำคัญในการเดินทางของเจิ้งเหอ แฝงนัยสำคัญทางการเมืองนี้อยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่เจิ้งเหอได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการคุมกองเรือขนาดใหญ่นี้ ทั้งที่ในเวลานั้น ขันทีมีสถานภาพที่ต่ำต้อยในสังคมนั้น ได้มีผู้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้มากมาย แต่ที่น่าเชื่อถือก็ได้แก่ การที่เจิ้งเหอเป็นบุคคลที่จูตี้ให้ความไว้วางใจอย่างสูง ทั้งจากการที่เป็นขันทีคนสนิทมาแต่เก่าก่อน และเนื่องมาจากความดีความชอบในการบุกเมืองหนันจิง หนุนให้จูตี้ขึ้นสู่บัลลังก์มังกรได้สำเร็จ นอกจากนี้ เป้าหมายในการเดินทางสู่ดินแดนต่างชาติต่างศาสนานั้น คุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญในการติดต่อสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่นนั้นก็คือ ศาสนา ซึ่งหากพิจารณาจากพื้นฐานครอบครัวของเจิ้งเหอที่เป็นชาวมุสลิม (ทั้งพ่อกับปู่เคยเดินทางไปเมกกะมาแล้ว) และเจิ้งเหอเองก็นับถือพุทธ ที่สำคัญคือต้องมีความรู้ความสามารถในการนำทัพเดินทางไกล ซึ่งเจิ้งเหอก็ได้พิสูจน์ความสามารถในการนำทัพมาแล้ว

(ซ้าย) คุณลุงช่างไม้วัย 81 ใช้เวลา 7 ปีฝากฝีมือทำกองเรือเจิ้งเหอจำลองขนาดจิ๋ว (บนกลาง) ผลงาน (ซ้าย) แสตมป์ที่ระลึกเจิ้งเหอ
เป้าหมายในการเดินทาง
การเดินทางของเจิ้งเหอเป็นภารกิจระดับชาติ ดังนั้นการที่ราชสำนักหมิงส่งเจิ้งเหอพร้อมกับขบวนเรืออันมโหฬารออกเดินทางไปในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ย่อมต้องมีนัยสำคัญของชาติ แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงอันเป็นที่มาของตำนานการเดินทางอันยาวนานของเจิ้งเหอยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่จากการศึกษาค้นคว้าในปัจจุบัน ได้มีผู้เสนอแนวคิดหลักเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของการเดินทางไว้ดังนี้

1. คลี่คลายปัญหาในการสืบราชบัลลังก์ การค้นหาร่องรอยของอดีตจักรพรรดิหมิงฮุ่ยตี้ ก็เพื่อสร้างความมั่นใจและมั่นคงแก่ราชบัลลังก์ของจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (หย่งเล่อ)
2. ประโยชน์ทางการเมือง การเดินทางของเจิ้งเหอมีภารกิจในการผลักดันให้เกิดความสงบมั่นคงในดินแดนรอบข้างทางตอนใต้ ทั้งนี้ก็เพื่อผ่อนคลายแรงกดดันจากภัยคุกคามทางภาคเหนือ (มองโกล) ให้กับราชสำนักจีน (เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดนในเขตเอเชียอาคเนย์กำลังเกิดความตึงเครียดอันเนื่องมาจากการแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มชวา สยาม (อยุธยา+ ละโว้) และมะละกา)

3. ประโยชน์ทางการทูต เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ไปยังเขตแคว้นต่างๆ สร้างกระแสภาพลักษณ์แห่งความเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งให้กับจีน

4. บุกเบิกกิจการค้าทางทะเล ที่ให้ผลกำไรอย่างงดงาม โดยสินค้าที่นำไปค้าขายแลกเปลี่ยน ได้แก่ แพรไหม ผ้าปักอันงดงาม เครื่องเคลือบกังไส ใบชา เครื่องทอง สัมฤทธิ์ และน้ำมันพืชสมุนไพรต่างๆ เป็นต้น

ขบวนเรือของเจิ้งเหอ (2)



เจิ้งเหอกับเรือมหาสมบัติ
“ในยุคสมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีโทรคมนาคมและเครื่องไม้เครื่องมือเช่นในยุคปัจจุบัน บนท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ด้วยจำนวนคนและกองเรือขนาดมโหฬารนี้ พวกเขาสามารถฟันฝ่าคลื่นลมพายุกลับมาโดยปลอดภัยทุกครั้งได้อย่างไร ? คำตอบอยู่ที่ภูมิปัญญาในการจัดระเบียบการติดต่อสื่อสารระหว่างเรือแต่ละลำ”

ขบวนเรือที่มีเจิ้งเหอเป็นผู้บัญชาการสูงสุดนี้ จัดรูปแบบตามกองเรือรบ มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ในสมัยนั้น กล่าวได้ว่า เป็นการแสดงแสนยานุภาพทางทะเลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคหรือของโลกทีเดียว กล่าวคือ ทั้งขบวนเรือ (อาทิ เรือ ข้าวของเครื่องใช้ อาวุธยุทโธปกรณ์) บุคคลากรและการจัดการ อีกทั้งวิทยาการของจีนในช่วงเวลาดังกล่าว ยังถือเป็นวิทยาการระดับแนวหน้าของแผ่นดินในยุคนั้นอีกด้วย





เรือกำลังพล เรือบรรทุกม้า เรือมหาสมบัติ


เรือกรรเชียง เรือบรรทุกน้ำ เรือรบ เรือเสบียง
ขบวนเรือ
กิจกรรมในการท่องสมุทรย่อมไม่อาจขาดเรือได้ จากบันทึกการเดินทางของเจิ้งเหอและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่รวบรวมได้ พบว่าขบวนเรือของเจิ้งเหออย่างน้อยประกอบด้วยเรือ 7 ชนิด ได้แก่ เรือมหาสมบัติหรือเรือใหญ่(宝船) เรือบรรทุกม้า(马船) เรือรบ(战船) เรือกำลังพล (座船)เรือเสบียง(粮船) เรือบรรทุกน้ำ(水船) เป็นต้น

เรือมหาสมบัติ หรือเรือใหญ่เป็นเรือบัญชาการ และใช้บรรทุกทรัพย์สินมีค่าต่างๆ เรือบรรทุกม้า เป็นเรือสำรองยามฉุกเฉิน บรรทุกเครื่องบรรณาการและสินค้าจากนานาประเทศ สามารถใช้ในการรบเมื่อถึงคราวจำเป็น เรือรบ ใช้ในการรักษาความปลอดภัยของขบวนเรือ มีขนาดเล็กเพรียว มีความคล่องตัวสูง ประกอบด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ (อาวุธปืนไฟของจีน ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นตั้งแต่สมัยปลายราชวงศ์ซ่ง) และทหารประจำการณ์ เรือกำลังพล เป็นหน่วยป้องกันการปล้นสะดมหรือโจมตีโดยโจรสลัด พร้อมสำหรับการต่อสู้แบบสะเทินน้ำสะเทินบก เรือเสบียง และ เรือน้ำ บรรทุกเสบียงอาหารและน้ำจืด ซึ่งการเดินเรือในสมัยนั้น ยังไม่เคยมีการจัดเตรียมเรือน้ำเป็นการเฉพาะมาก่อน

ลูกเรือ
การเดินทางแต่ละครั้งของเจิ้งเหอ ใช้เรือมากกว่า 200 ลำ มีลูกเรือที่ร่วมเดินทางในแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 27,000 คน ประกอบด้วยผู้ที่ทำหน้าที่ด้านต่างๆมากมาย อาทิ ขุนนาง ทหาร เจ้าหน้าที่พิธีทางการทูต พ่อค้า ช่างฝีมือ แพทย์ ล่าม นักสอนในศาสนาอิสลาม และพระภิกษุในพุทธศาสนา เป็นต้น มีการจัดแบ่งกองกำลังออกเป็น 5 หน่วย หน่วยละ 5,000 – 5,500 คน ตามหน้าที่ภารกิจในกองเรือ ได้แก่ กองบัญชาการ กองปฏิบัติการเดินเรือ กองการค้าและการระหว่างประเทศ กองเสบียง และกองกำลังป้องกัน

กองบัญชาการ รับหน้าที่ในการวางแผนและกำหนดทิศทางการเดินเรือ ตลอดจนนโยบายด้านการทูต การค้าและการศึกสงครามทั้งหมด นำโดยเจิ้งเหอ กองปฏิบัติการเดินเรือ มีหน้าที่ในการเดินเรือ ซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย การพยากรณ์อากาศ เป็นต้น กองการค้าและการทูต ดูแลด้านพิธีการการทูต ล่าม และการติดต่อค้าขายกับต่างแดน กองเสบียง จัดการสนับสนุนด้านเสบียง ยุทโธปกรณ์และอำนวยความสะดวกทั่วไป รวมถึงหน่วยแพทย์ที่คอยดูแลสุขภาพให้กับลูกเรือ เป็นต้น ส่วนกองกำลังป้องกัน ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยทั่วไปของขบวนเรือ

เมื่อเทียบกับกองเรือจากตะวันตกที่ออกสำรวจโลกทางทะเลในภายหลัง นำโดย คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส(Christopher Columbus) ค้นพบทวีปอเมริกาในปี 1492 มีจำนวนลูกเรือเพียง 90 – 1,500 คน วาสโก ดา กามา(Vasco da Gama) เข้าเทียบฝั่งเมืองท่าคาลิคัทของอินเดีย ในปี 1498 มีลูกเรือ 265 คน และเฟอร์ดินัน แมคแจลลัน(Ferdinand Magallen) ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมายังโลกตะวันออกในปี 1521 ด้วยลูกเรือจำนวน 170 คนเท่านั้น

แผนที่ดาราศาสตร์ประกอบเส้นทางเดินเรือของเจิ้งเหอ
ปัจจัยแห่งความสำเร็จกับภูมิความรู้และวิทยาการ
ในเวลานั้น กองเรือของเจิ้งเหอที่มีเพียงเรือไม้ อาศัยคลื่นลมทะเลตามธรรมชาติ ออกสู่ท้องทะเลกว้าง ไม่เพียงต้องอาศัยวิทยาการทางด้านการเดินเรือ การต่อเรือ ประสบการณ์ ภูมิความรู้สติปัญญา และยังต้องมีความกล้าหาญและจิตใจที่รักการผจญภัยอย่างมากทีเดียว

วิทยาการที่ใช้ในการเดินเรือในยุคนั้น ที่สำคัญได้แก่ ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ในการคำนวณหาตำแหน่งดวงดาวบนท้องฟ้า ที่ตั้งของกองเรือและกำหนดทิศทางการเดินเรือ ความรู้เกี่ยวกับท้องทะเล เพื่อช่วยในการพยากรณ์ลมฟ้าอากาศ ผสมผสานกับการใช้เครื่องมือต่างๆ อาทิ เข็มทิศ มาตรวัด เครื่องวัดระดับน้ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีโทรคมนาคมและเครื่องไม้เครื่องมือเช่นในยุคปัจจุบัน บนท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ด้วยจำนวนคนและกองเรือขนาดมโหฬารนี้ พวกเขาสามารถฟันฝ่าคลื่นลมพายุกลับมาโดยปลอดภัยทุกครั้งได้อย่างไร ? คำตอบอยู่ที่ภูมิปัญญาในการจัดระเบียบการติดต่อสื่อสารระหว่างเรือแต่ละลำ ซึ่งมีเพียง เรือเร็ว สัญญาณจากธง เสียงและแสง เป็นต้น โดยในเวลากลางวัน เรือแต่ละลำจะแขวนธงสัญญาณสีสันต่างกัน เพื่อบ่งบอกทิศทางและภารกิจของตน ขณะที่ยามค่ำคืนก็ใช้สัญญาณจากโคมไฟ เมื่อมีลมฝนหรือหมอกหนา คอยบดบังทัศนะวิสัย ก็ใช้การเคาะเกราะ สัญญาณระฆัง หรือสัญญาณจากแตรสังข์ ฯลฯ การบัญชากองเรือในรูปแบบของการจัดทัพนี้ ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของความสำเร็จในการเดินทางไกลของเจิ้งเหอ

อนึ่ง ภาพแผนที่การเดินเรือของเจิ้งเหอ ปัจจุบันถือเป็นแผนที่การเดินเรือที่เก่าแก่ที่สุดในโลก จัดทำขึ้นในราวปีค.ศ. 1425 – 1430 ภายหลังการเดินทางครั้งที่ 6 ของเจิ้งเหอ (เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว จักรพรรดิหมิงเซวียนจงมีดำริที่จะรื้อฟื้นกองเรือให้ออกเดินทางอีกครั้งหลังจากต้องชะงักงันไปในช่วงก่อนหน้านี้ จึงได้มีการรวบรวมจัดทำแผนที่การเดินทางที่ผ่านมาขึ้น) ต้นฉบับเดิมเป็นม้วนภาพยาว ภายหลังได้มีการจัดพิมพ์เป็นเล่ม โดยแบ่งเป็น 20 แผ่น 40 หน้ากระดาษ จดบันทึกรายชื่อเมืองท่าชายฝั่งทะเลไว้กว่า 300 แห่ง แผนที่ดังกล่าวแสดงจุดเริ่มการเดินทางตั้งแต่เมืองหนันจิง จนกระทั่งถึงปลายทางที่เมืองมอมบาซา เมืองชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา แผนที่แสดงตำแหน่งของเมือง กระแสน้ำในแต่ละฤดูกาลทิศทางตำแหน่งดวงดาว สภาพเกาะแก่งและร่องน้ำในการเดินทางไว้อย่างชัดเจน

การเดินทางของเจิ้งเหอ (3)

เจิ้งเหอปราบโจรสลัดบริเวณช่องแคบมะละกา
เจิ้งเหอออกเดินทางท่องสมุทรรวม 7 ครั้ง ระหว่างปี (1405-1433) โดยอาจแบ่งช่วงการเดินทางของเจิ้งเหอออกเป็นสองส่วน โดยให้การเดินทางสามครั้งแรกของเจิ้งเหอ เป็นระยะแรก และสี่ครั้งหลังเป็นระยะหลัง

ระยะแรก ได้แก่ การเดินทางครั้งแรก(ปี 1405 – 1407) ครั้งที่สอง(ปี 1407 – 1409) และครั้งที่สาม (ปี 1409 – 1411)
ขอบเขตการเดินทางของเจิ้งเหออยู่ในแถบเอเชียอาคเนย์ และเอเชียใต้ โดยมีจุดหมายเพื่อสร้างไมตรีอันดีและคลี่คลายปมปัญหาความขัดแย้งของดินแดนแถบนี้ (ซึ่งก็แน่นอนว่าหากการเดินทางในดินแดนแถบนี้ยังไม่สะดวกปลอดภัยเพียงพอ การเดินทางคราวต่อไปที่มีระยะทางไกลยิ่งกว่าย่อมทำได้ยาก) เนื่องจากในเวลานั้นบรรยากาศความขัดแย้งในบริเวณดังกล่าวทวีความร้อนแรงขึ้น (เสียนหลอ(กรุงศรีอยุธยาตอนต้น) – มะละกา – ลังกา) และในการมาเยือนครั้งที่สองของเจิ้งเหอ ยังได้มีส่วนในการปรับเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองภายในของกรุงศรีอยุธยาครั้งสำคัญอีกด้วย (จากหนังสือ เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง” โดยปริวัฒน์ จันทร)


แผนที่เส้นทางการเดินเรือของเจิ้งเหอ
เส้นทางการเดินเรือของเจิ้งเหอ ครั้งที่ 1 - 3 ได้แก่ เมืองหนันจิง - เมืองจัมปา (เวียดนาม) - สยาม - มะละกา (มาเลเซีย) - บอร์เนียว - ชวา - เกาะสุมาตรา (อินโดนีเซีย) - ลังกา(ศรีลังกา) สู่ปลายทางที่ เมืองโคชิน - คีลอนและคาลิคัท(เมืองท่าชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย) เป็นต้น
ระยะหลัง ได้แก่ การเดินทางครั้งที่สี่ (ปี 1412 – 1413) ห้า (ปี 1416 – 1419) หก (ปี 1421 -1425) และเจ็ด (ปี 1430 -1433)
ได้มีการขยายขอบเขตการเดินทางออกไปถึงอ่าวเปอร์เซีย ทะเลแดง และชายฝั่งทะเลตะวันออกของทวีปแอฟริกา โดยมีเป้าหมายสำคัญนอกจากสร้างสันถวไมตรีทางการทูต ก็คือการแลกเปลี่ยนสินค้า


รูปหล่อสำริด “เจิ้งเหอ” ที่ขุดพบในอินเดีย
ระยะหลัง ได้แก่ การเดินทางครั้งที่สี่ (ปี 1412 – 1413) ห้า (ปี 1416 – 1419) หก (ปี 1421 -1425) และเจ็ด (ปี 1430 -1433)
ได้มีการขยายขอบเขตการเดินทางออกไปถึงอ่าวเปอร์เซีย ทะเลแดง และชายฝั่งทะเลตะวันออกของทวีปแอฟริกา โดยมีเป้าหมายสำคัญนอกจากสร้างสันถวไมตรีทางการทูต ก็คือการแลกเปลี่ยนสินค้า

การเดินทางครั้งที่สี่ ถือเป็นการเดินทางครั้งสำคัญของเจิ้งเหอ เพราะนอกจากจะบุกเบิกเส้นทางการค้าใหม่ ขยายขอบเขตการเดินทางสู่คาบสมุทรอาระเบียและเมืองท่าชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาได้เป็นผลสำเร็จแล้ว เจิ้งเหอยังนำคณะทูตจากดินแดนอันไกลโพ้นจากหลายประเทศ ติดตามกลับมาเพื่อเยี่ยมเยือนจีนเป็นครั้งแรกอีกด้วย และหนึ่งใน “ของขวัญ” ที่พวกเขานำมาถวายให้กับจักรพรรดิจีน ก็คือ “กิเลน” (ยีราฟ) ซึ่งถือเป็นสัตว์มงคลในเทพตำนานของจีน ดังนั้นจึงมี ‘ผลตอบรับ’จากราชสำนักในเวลานั้นไม่น้อย

คาลิคัทเมืองท่าโบราณของอินเดีย
ปี 1425 จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่สิ้น* จักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า หมิงเหยินจง (明仁宗)ราชสำนักมีความเห็นแตกแยกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายขันทีให้การสนับสนุนการเดินทางของเจิ้งเหอ ขณะที่ฝ่ายขุนนางฝ่ายอนุรักษ์นิยม นำโดยเซี่ยหยวนจี๋ (夏元吉)เห็นว่าการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าจากต่างประเทศ เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยและไร้ประโยชน์ จักรพรรดิองค์ใหม่ให้การสนับสนุนฝ่ายเซี่ยหยวนจี๋ จึงสั่งระงับการเดินทางของขบวนเรือ รวมทั้งการเตรียมการทั้งหมด** ขณะที่เจิ้งเหอได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาเมืองหนันจิง แต่หมิงเหยินจงครองราชย์ได้ไม่ถึงปี ก็ล้มป่วยสิ้นพระชนม์ลง องค์ชายจูจานจี(朱瞻基)ได้สืบราชบัลลังก์ต่อมาเป็นหมิงเซวียนจง (明宣宗)
แผ่นศิลาจารึกสามภาษาที่เจิ้งเหอได้นำขึ้นมาไว้บนฝั่งของลังกา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงโคลัมโบ ศรีลังกา
*ปลายรัชสมัยหมิงเฉิงจู่ ทรงย้ายเมืองหลวงไปยังปักกิ่ง แต่หลังจากนั้นไม่นาน พระราชวังต้องห้ามก็เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ กล่าวกันว่า เป็นเหตุให้การเดินทางครั้งที่หกของเจิ้งเหอต้องล้มเลิกแต่กลางครัน ทั้งส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงภายในราชสำนัก ในการนำกองเรือสู่ท้องทะเลอีกครั้งหนึ่ง

**ได้มีข้อสันนิษฐานว่า ข้อมูลการเดินเรือ และบันทึกการเดินทางส่วนใหญ่ของเจิ้งเหอได้ถูกทำลายลงในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อไม่ให้มีการรื้อฟื้นการเดินทางขึ้นอีก เป็นเหตุให้หลักฐานและข้อมูลที่ได้จากการเดินทางทั้งหมดสูญหายไป บ้างสันนิษฐานว่า หลักฐานการเดินทางของเจิ้งเหอได้ถูกปกปิดไว้โดยเซี่ยหยวนจี๋ และถูกทำลายไประหว่างการชำระประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิงในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง ซึ่งในกระบวนการดังกล่าว เอกสารที่ “ไม่สำคัญ” จะถูกทำลายทิ้ง

เงินลังการูปสัตว์ ที่พ่อค้าจีนใช้แลกเปลี่ยนสินค้าในสมัยนั้น
ภายหลัง เนื่องจากบรรณาการจากประเทศต่างๆลดน้อยลงไปมาก ประกอบกับเซี่ยหยวนจี๋ฝ่ายค้านคนสำคัญ ล้มป่วยเสียชีวิตลง หมิงเซวียนจงจึงทรงอนุญาตให้เจิ้งเหอและหวังจิ่งหง ออกนำขบวนเรือเดินทางไกลอีกครั้งในปี 1430 ซึ่งเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของเจิ้งเหอและกองเรืออันยิ่งใหญ่ ก่อนการเดินทางครั้งสุดท้ายนี้ ขบวนเรือของเจิ้งเหอได้แวะพักที่เมืองฝูเจี้ยน ทำพิธีจัดตั้งป้ายศิลาจารึกเพื่อบูชาเจ้าแม่เทียนเฟย(เจ้าแม่ทับทิม) อันเป็นที่เคารพบูชาของชาวเรือทั้งหลาย โดยป้ายศิลาจารึกดังกล่าว ได้จารึกเรื่องราวการเดินทางก่อนหน้านั้นเอาไว้ และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานชิ้นสำคัญในการเดินทางของเจิ้งเหอที่หลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน

เส้นทางการเดินเรือของเจิ้งเหอ ครั้งที่ 4 -7 ได้แก่ เมืองหนันจิง – ฝูเจี้ยน - เมืองจัมปา - สยาม - มะละกา - บอร์เนียว - ชวา - เกาะสุมาตรา - หมู่เกาะมัลดีฟส์ เข้าสู่คาบสมุทรอาระเบีย สู่เมืองท่าฮอร์มุซ - เอเดน (เยเมน) เข้าสู่ทะเลแดง เมดินา - เมกกะ เลียบเมืองชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา ได้แก่ มากาดิซู บราวา มาลินดี(เคนยา) หมู่เกาะลามู หมู่เกาะมาดากัสการ์ เป็นต้น

ส่วนหนึ่งของเครื่องถ้วยที่เคยเป็นสินค้าส่งออกของจีน
ปริศนาการตายของเจิ้งเหอ
เกี่ยวกับคำถามที่ว่า เจิ้งเหอเสียชีวิตเมื่อไหร่? ที่ไหน? อย่างไร?และได้รับการบรรจุฝังที่ใดนั้น ปัจจุบัน ยังคงเป็นปริศนา บนเชิงเขาหนิวโซ่วซานนอกเมืองหนันจิง มีสุสานของเจิ้งเหอ ที่ทายาทรุ่นต่อมาเฝ้าดูแลรักษา ได้เคยมีการขุดค้นหลุมศพแห่งนี้ในช่วงปี 1960 -1970 แต่พบว่าภายในว่างเปล่า โดยครอบครัวของเจิ้งเหอเชื่อว่า เจิ้งเหอเสียชีวิตระหว่างการเดินทางที่เมืองคาลิคัทในอินเดีย สิริรวมอายุ 62 ปี ร่างของเจิ้งเหอได้ถูกปล่อยลงสู่ท้องมหาสมุทรตามวิถีของชาวเรือ และนำปอยผมและเสื้อผ้ากลับมา บ้างว่าร่างของเจิ้งเหอได้รับการกลบฝังไว้ที่เมืองคาลิคัท ขณะที่ ในบันทึกประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ ระบุว่า เจิ้งเหอได้กลับมาพร้อมขบวนเรือ และเสียชีวิตที่หนันจิงในอีกสองปีต่อมา
ภาพการถวาย “กิเลน” หรือยีราฟที่ได้รับการจดบันทึกในประวัติศาสตร์จีน
การเดินทางของเจิ้งเหอ ยังได้ทิ้งปริศนาที่ยังไม่อาจคลี่คลายเอาไว้มากมาย เช่นว่า เจิ้งเหอได้เดินทางถึงทวีปออสเตรเลียหรือไม่ ? ได้เป็นผู้ค้นพบทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัส? หรือเคยเดินทางรอบโลกมาแล้ว? เหตุใดข้อมูลการเดินทางของเจิ้งเหอจึงสูญหายไปจนหมดสิ้น? เหตุใดขบวนเรือขนาดมโหฬาร และการค้าทางทะเลที่รุ่งเรืองขนาดนี้จึงจบสิ้นลงพร้อมกับการตายของเจิ้งเหอ? การเดินทางสมุทรยาตราที่ 7 ครั้งเป็นปัจจัยเร่งให้ราชวงศ์หมิงเสื่อมโทรมลง? ไม่ว่าคำตอบจะเป็นเช่นไร แต่ในความเป็นจริงคือ นับแต่นั้นมา ประเทศจีนได้ดำเนินนโยบายปิดกั้นทางทะเล ตัดขาดจากโลกภายนอกต่อมาเป็นเวลากว่า 400 ปี นำมาซึ่งการถดถอยของวิทยาการความรู้และความยิ่งใหญ่เหนือน่านน้ำที่เคยมี การเดินทางสมุทรยาตราของเจิ้งเหอ กลายเป็นเส้นแบ่งระหว่างยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองและความเสื่อมในประวัติศาสตร์อารยธรรมของชนชาติจีน
ตึกแดง ที่พักทายาทรุ่นหลังของเจ้าชายจากลังกาที่เมืองเฉวียนโจว ประเทศจีน ปัจจุบันใช้แซ่ ซื่อ(世)
อนึ่ง เรื่องราวการเดินทางของเจิ้งเหอ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์การเดินเรือของชนชาติจีนและของโลก แต่บันทึกเรื่องราวการเดินทางของเจิ้งเหอเป็นลายลักษณ์อักษรโดยตรงที่หลงเหลืออยู่กลับมีไม่มากนัก ผู้ศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้โดยมากจึงได้แต่อาศัยการขุดค้นทางโบราณคดีและจากบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในยุคนั้น เป็นร่องรอยในการศึกษาวิจัยเรื่องราวความเป็นไปเกี่ยวกับเจิ้งเหอและกองเรือมหาสมบัติของเขา


ระฆังที่เจิ้งเหอสร้างก่อนการเดินทางครั้งสุดท้ายเพื่อบูชาต่อฟ้าดินให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่หอนิทรรศการ สวนสาธารณะเจิ้งเหอ เมืองหนันจิง

ราชวงศ์หมิง (1368-1644) - ตอนที่ 1

เมื่อทุพภิกขภัยแพร่ขยายลุกลามไปทุกหย่อมหญ้า กองทัพชาวนากลุ่มแล้วกลุ่มเล่าจึงลุกฮือขึ้นทวงความเป็นธรรมจากชนชั้นผู้ปกครองแห่งราชวงศ์หยวน จูหยวนจางผู้นำกลุ่มที่ถือกำเนิดจากลูกชาวนา ได้นำกองกำลังบุกยึดอิ้งเทียนฝู่ จากนั้นส่งทัพตะลุยขึ้นเหนือขับไล่ชาวมองโกลออกจากผืนปฐพีจงหยวน รวบรวมอำนาจและแผ่นดินกลับสู่เงื้อมมือของชาวฮั่นเป็นครั้งสุดท้าย....

ราชวงศ์หมิงหรือต้าหมิง (大明)เป็นราชวงศ์สุดท้ายที่สถาปนาขึ้นโดยชนชาติฮั่น ภายใต้กองทัพประชาชนที่นำพาโดยจูหยวนจางในปีค.ศ. 1368 ด้วยการตั้งอิ้งเทียนฝู่ (นานกิง) ขึ้นเป็นราชธานี ใช้ชื่อรัชกาลว่าหงอู่ และขนานนามตนเองเป็นหมิงไท่จู่(明太祖) จากนั้นทรงออกปราบปรามกองกำลังต่างๆที่เหลืออยู่ในซื่อชวน (เสฉวน) หยุนหนัน (ยูนนาน) อีกทั้งบุกขึ้นทางเหนือจนแผ่นดินมีความเป็นปึกแผ่น

ปฐมฮ่องเต้ราชวงศ์หมิงนามจูหยวนจาง เดิมถือกำเนิดในอำเภอเพ่ย มณฑลเจียงซู มีนามว่าจูจ้งปา ในวัยเยาว์จูหยวนจางมักจะแวะเวียนไปเที่ยวเล่นที่วัดหวงเจี๋ยว์ จนเจ้าอาวาสที่วัดให้ความเอ็นดูในความฉลาดหลักแหลม และสอนการอ่านเขียนให้ จนทำให้จูหยวนจางสามารถรู้หนังสือได้ในระดับหนึ่ง

เมื่อจูหยวนจางอายุได้ 17 ปีได้เกิดภัยแล้ง ภัยจากตั๊กแตน และโรคระบาดขึ้น ทำให้บิดา มารดา และพี่ของเขาทยอยเสียชีวิตไปในเวลาเพียงครึ่งเดือน จูหยวนจางจึงตัดสินใจปลงผมออกผนวช โดยมีหน้าที่คอยจุดธูป กวาดพื้น ตีระฆัง อีกทั้งในช่วงเวลานั้นยังต้องอดทนต่อการถูกหลวงจีนรูปอื่นๆค่อนขอดว่าออกบวชเพื่อให้มีข้าวกิน

ภายหลังภัยแล้งลุกลามสาหัสขึ้น ทำให้แม้แต่วัดวาอารามอันเป็นสถานที่ต้องอาศัยผู้คนมาบริจาคก็อยู่ไม่รอด เจ้าอาวาสจำต้องส่งพระสงฆ์ให้ออกไปธุดงค์หาทางอยู่รอดเอาเอง จูหยวนจางจึงต้องแบกสัมภาระติดตามขบวนธุดงค์ออกมา ซึ่งในช่วงเวลาที่ออกธุดงค์นี่เอง ทำให้จูหยวนจางได้เห็นและสัมผัสถึงความทุกข์ยากของประชาชน

ผ่านไป 3 ปีจูหยวนจางได้กลับมายังวัดหวงเจี๋ยว์อีกครั้ง เขาได้รับจดหมายชักชวนจากสหายนามทังเหอให้ไปเข้าร่วมกองทัพประชาชนภายใต้ธงของกัวจื่อซิง (郭子興)หลังจูหยวนจางไปเข้าร่วมกับกองทัพ ได้สร้างผลงานทางการศึกหลายครั้ง บวกกับเป็นคนที่อ่านออกเขียนได้ในระดับหนึ่ง จึงได้รับการให้ความสำคัญจากกัวจื่อซิงเป็นอย่างยิ่ง จนได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในแม่ทัพสำคัญในกองทัพ อีกทั้งได้แต่งงานกับบุตรีบุญธรรมของกัวจื่อซิง กระทั่งภายหลังจึงได้ออกจากหาวโจวซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของกัวจื่อซิง สร้างกองกำลังของตนขึ้นมา

กองทัพภายใต้การนำพาของจูหยวนจางได้บุกเข้ายึดจี๋ชิ่ง (นานกิงในปัจจุบัน) แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นอิ้งเทียนฝู่ จากนั้นก็ค่อยๆขยายกองกำลังไปเรื่อยๆ สามารถบุพิชิตกองทัพของเฉินโหย่วเลี่ยงได้ในปี 1367 เอาชนะกองกำลังของจางซื่อเฉิง (张士诚) จนจางซื่อเฉิงต้องฆ่าตัวตาย กระทั่งเมื่อเอาชนะกองกำลังตามแนวชายฝั่งเจ้อเจียงของฟังกั๋วเจิน (方国珍)ได้ จึงตั้งตนขึ้นเป็นฮ่องเต้ และทำให้ประเทศจีนได้กลับคืนสู่ความเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง
ประหารขุนนาง – ยกเลิกเสนาบดี - จัดอำนาจรวมศูนย์

หลังจูหยวนจาง หรือที่ถูกขนานพระนามตามชื่อรัชกาลว่าฮ่องเต้หงอู่ขึ้นครองราชย์ ได้ทุ่มเทเพื่อที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม และผลผลิตในประเทศ โดยด้านหนึ่งพยายามลดภาระของประชาชนและชาวนา ในขณะที่อีกด้านก็เร่งปฏิรูประบบการปกครองที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งลงโทษขุนนางที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง

โดยในช่วงเวลานี้ หมิงไท่จู่ได้ให้โอกาสชาวบ้านที่ต้องอพยพเพราะภัยสงครามจนไม่มีที่ทำกิน ให้เข้าไปจับจองที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า โดยทางการจะเป็นผู้จัดหาพันธุ์พืชและเครื่องมือให้ นอกจากนั้นยังมีการยกเว้นภาษีและการเกณฑ์แรงงานให้กับผู้ที่ไปบุกเบิกพื้นที่ใหม่ๆเป็นเวลา 3 ปี ทำการส่งเสริมด้านชลประทาน ทำให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยลำดับ


ทว่าในด้านการปฏิบัติต่อขุนนางนั้น แม้ในช่วงต้นของการสถาปนาราชวงศ์ จะมีการปูนบำเหน็จและพระราชทานตำแหน่งให้กับขุนนางที่มีผลงาน ทว่าเพื่อที่จะรวบอำนาจให้รวมศูนย์ไว้ที่องค์ฮ่องเต้ บวกกับการที่มีนิสัยเป็นคนที่ระแวงสงสัยในตัวผู้อื่น ทำให้ในรัชกาลหงอู่มีการประหารฆ่าขุนนางผู้มีคุณูปการไปไม่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกรณีสำคัญที่เห็นได้ชัดก็อย่างเช่นกรณีของหูเหวยยง (胡惟庸) กับหลันอี้ว์ (蓝玉)

หูเหวยยงได้เข้ากองทัพติดตามจูหยวนจางที่เหอโจว ได้เป็นที่ปรึกษาที่สำคัญตั้งแต่ก่อนจะครองราชย์ จนกระทั่งได้ดำรงตำแหน่งอัครเสนาบดีในเวลาต่อมา หูเหวยยงได้รับความโปรดปรานจากหมิงไท่จู่เป็นอย่างยิ่ง ทำให้เริ่มมีอิทธิพลและกุมอำนาจต่างๆเอาไว้ในมือ มีขุนนางจำนวนมากที่มาเข้าเป็นสมัครพรรคพวกมากมาย จนมักกระทำการโดยพลการอยู่เสมอ อย่างเช่นฎีกาที่เหล่าขุนนางเขียนถวายฮ่องเต้ หากมีฎีกาใดที่ไม่เป็นประโยชน์กับตนก็จะไม่ยอมถวายขึ้นไป

สุดท้ายในปีค.ศ. 1380 เมื่อมีคนกล่าวโทษว่าหูเหวยยงนั้นมีความคิดที่จะก่อกบฏ หมิงไท่จู่จึงมีรับสั่งให้ประหารหูเหวยยง พร้อมทั้งถือโอกาสในการกวาดล้างวงศ์ตระกูลและสมัครพรรคพวกของหูทั้งหมด นอกจากนั้นในภายหลังยังมักจะอาศัยข้ออ้างการเป็นพรรคพวกของหูเหวยยงเป็นอาวุธในการปกครอง กล่าวคือเมื่อใดที่ทรงระแวงสงสัยบุคคล ขุนนาง หรือเจ้าของที่ดินคนไหน ที่คาดว่าอาจจะเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ ก็จะถูกประหารด้วยข้อกล่าวหาดังกล่าว แม้กระทั่งล่วงเลยมาถึง 10 ปียังมีการอาศัยข้อหานี้ทำการประหารครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยในคดีดังกล่าวตั้งแต่ต้นจนจบ มีผู้ที่ถูกประหารชีวิตไปทั้งสิ้นกว่า 30,000 คน

ส่วนหลันอี้ว์ เป็นแม่ทัพที่เคยสร้างผลงานในการศึกสงครามมากมาย จนได้รับการพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเหลียงกั๋วกง แต่ด้วยความถือดีที่มีผลงาน จึงใช้อำนาจบาตรใหญ่ ไม่รักษากฎหมาย และไม่รักษาธรรมเนียมจารีตของความเป็นขุนนางกับฮ่องเต้ ภายหลังได้ถูกจับตัวในข้อหาเตรียมก่อการกบฏ โดยการลงโทษในครั้งนี้มีผู้ที่ร่วมสังเวยชีวิตไปอีกกว่า15,000 คน นอกจากคดีหู-หลันแล้ว ความระแวงที่หมิงไท่จู่มีต่อเหล่าขุนนาง ได้ลุกลามไปจนกระทั่งบรรดาขุนนางที่เคยมีคุณูปการในครั้งบุกเบิกแผ่นดินมาด้วยกันกับจูหยวนจางถูกประหารไปแทบหมดสิ้น จนเรียกได้ว่าคนที่รอดชีวิตได้นั้นมีน้อยจนนับได้

หลังจากเกิดเหตุการณ์คดีหูเหวยยงแล้ว จูหยวนจางจึงได้ยกเลิกระบบอัครเสนาบดี แล้วแบ่งอำนาจการปกครองออกเป็น 6 กระทรวงได้แก่กระทรวงการปกครอง การคลัง พิธีการ กลาโหม ราชทัณฑ์ (ยุติธรรม) และโยธาฯ โดยแต่ละกระทรวงให้มีเจ้ากระทรวง 1 คนกับผู้ช่วยอีก 2 คน และให้เจ้ากระทรวงทั้ง 6 ขึ้นตรงต่อฮ่องเต้ อีกทั้งได้กำหนดรูปแบบให้กระทรวงกลาโหมจัดสรรกำลังประกอบด้วย 5 กองบัญชาการได้แก่ กองบัญชาการฝ่ายซ้าย ขวา หน้า หลังและกลาง

จากความระแวงที่เกิดขึ้น ยังทำให้มีการจัดตั้งหน่วยงานสำคัญที่มีในการตรวจสอบขึ้น ได้แก่สำนักงานตรวจการ(督察院) และหน่วยงานองครักษ์เสื้อแพร (锦衣卫) เพื่อให้เป็นหน่วยงานพิเศษในการตรวจสอบขุนนางในราชสำนักและราษฎรทั่วราชอาณาจักร จากนั้นยังทรงแต่งตั้งพระโอรสทั้งหลายให้ออกไปเป็นเจ้ารัฐประจำอยู่ในหัวเมืองต่างๆ โดยมีเป้าหมายในด้านหนึ่งเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งและศักยภาพในการป้องกันชาวมองโกลจากทางเหนือ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เป็นมาตรการป้องกันการร่วมมือระหว่างเหล่าองค์ชายกับขุนนางกังฉินในราชสำนักเพื่อชิงราชบัลลังก์ อีกทั้งทรงตรามาตรการเสริมเพื่อป้องกันการใช้อำนาจบาตรใหญ่จนเกินควบคุมของบรรดาเชื้อพระวงศ์ ด้วยการบัญญัติไว้ว่า สำหรับฮ่องเต้ในอนาคตหากมีความจำเป็น ให้สามารถถอดถอนเจ้ารัฐหัวเมืองเหล่านี้ได้

การดำเนินมาตรการต่างๆดังกล่าว นับได้ว่าปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิงได้ทรงสร้างระบบรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จขึ้น โดยเฉพาะการยกเลิกตำแหน่งเสนาบดี อันถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบสังคมการปกครองจีน เนื่องจากนับย้อนไปตั้งแต่สมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้รวบรวมแผ่นดินจีนเป็นปึกแผ่นเป็นต้นมา ตำแหน่งเสนาบดีก็ดำรงอยู่ในฐานะของการเสริมพระราชอำนาจของฮ่องเต้มาโดยตลอด อีกทั้งในหลายครั้งยังเป็นอำนาจที่คอยถ่วงดุลพระราชอำนาจของฮ่องเต้เอาไว้ การที่หมิงไท่จู่ยกเลิกระบบดังกล่าว จึงเป็นการทำให้ฮ่องเต้สามารถใช้พระราชอำนาจโดยตรงยิ่งและเต็มที่มากยิ่งขึ้น


ราชธานีปักกิ่ง - สารานุกรมหย่งเล่อ

หลังหมิงไท่จู่ได้ทรงลงอาญาต่อขุนนางจำนวนมาก และส่งโอรสทั้ง 24 คนไปเป็นเจ้าหัวเมืองต่างๆ ทำให้ทรงเชื่อว่าหลังจากนี้ไปราชวงศ์ที่ก่อตั้งขึ้นมาก็จะมีเสถียรภาพอันมั่นคง ท่ามกลางบรรดาโอรสที่ส่งออกไปนั้น กลุ่มที่ไปครองหัวเมืองทางเหนือจะมีกำลังแข็งแกร่งมากที่สุด เนื่องจากมีภารกิจต้องป้องกันมองโกลจากทางเหนือ ซึ่งในกลุ่มดังกล่าวมีพระโอรสองค์ที่ 4 นามจูตี้ผู้เป็นเจ้าครองรัฐเอี้ยน (燕王朱棣) กับเจ้ารัฐจิ้นที่มีกำลังกล้าแข็งที่สุด

ในปีที่หมิงไท่จู่ทรงมีพระชนม์มายุ 64 พรรษา รัชทายาทนามจูเปียว (朱标) กลับมาด่วนสิ้นพระชนม์ไปโดยกะทันหัน จูหยวนจางทรงเสียพระทัยมาก จึงได้แต่งตั้งจูหยุ่นเหวิน(朱允炆)บุตรชายของจูเปียวขึ้นเป็นรัชทายาทแทน

การตัดสินพระทัยในครั้งนี้ถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ประการหนึ่ง เพราะหลังจากที่หมิงไท่จู่สวรรคต จูหยุ่นเหวินได้ขึ้นครองราชย์ด้วยวัยเพียง 21 พรรษามีพระนามว่าฮุ่ยตี้ (惠帝) มีชื่อรัชกาลว่า เจี้ยนเหวิน (建文) หลังก้าวสู่บัลลังก์มังกรไม่นาน ฮุ่ยตี้ทรงเชื่อข้อเสนอที่ให้ยกเลิกเจ้ารัฐหัวเมืองของขุนนางใหญ่อย่างฉีไท่ หวงจื่อเฉิง จึงทยอยปลดเจ้ารัฐโจว รัฐไต้ รัฐฉี รัฐเซียง โดยบางคนถูกลดขั้นเป็นสามัญชน บ้างก็ถูกประหาร อีกทั้งใช้ข้ออ้างป้องกันชายแดง โยกย้ายกองกำลังของเจ้ารัฐเอี้ยน เพื่อเตรียมปลดในลำดับต่อไป ทว่าคำสั่งนี้ถูกเจ้ารัฐเอี้ยนได้แก้ลำด้วยการใช้ข้ออ้าง “กำจัดขุนนางชั่วข้างกายฮ่องเต้” (清君側) เคลื่อนทัพลงใต้ ยกพลมุ่งลงมายังอิ้งเทียนฝู่ โดยเรียกชื่อกองทัพว่า “กองทหารจิ้งหนัน” (靖难之役)ที่มีความหมายว่า กองทหารกำจัดเภทภัยภายในขึ้น

สงครามกลางเมืองครั้งนี้กินเวลายืดเยื้อกว่า 3 ปี กระทั่งปีค.ศ. 1402 เมื่อกองทัพของจูตี้บุกถึงเมืองหลวง หลีจิ่งหลง แม่ทัพรักษาเมืองได้เปิดประตูเมืองให้ทัพจิ้งหนานเข้าเมือง ทว่าในยามนั้น กลับมองเห็นว่าพระราชวังเกิดเพลิงลุกโหมพวยพุ่ง กว่าที่เจ้ารัฐเอี้ยน-จูตี้ได้ส่งทหารเพื่อไปดับเพลิง ก็พบว่ามีคนถูกคลอกตายไปแล้วไม่น้อย ในขณะที่หมิงฮุ่ยตี้ก็เหมือนหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้เรียกเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า “การจลาจลจิ้งหนาน” (靖难之变)

เมื่อยึดครองเมืองอิ้งเทียนได้แล้ว จูตี้จึงปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ ทรงมีพระนามว่าหมิงเฉิงจู่ (明成祖) และตั้งชื่อรัชกาลว่า “หย่งเล่อ” (永乐) หลังทรงครองราชย์แล้ว หมิงเฉิงจู่ได้ดำเนินการกวาดล้างครั้งใหญ่ โดยมีขุนนางผู้ใหญ่ข้างกายหมิงฮุ่ยตี้กว่า 50 คนที่ถูกจัดให้เป็นขุนนางฉ้อฉล ถูกสั่งประหาร 9 ชั่วโคตร โดยหนึ่งในนั้นมีคดีอันเลื่องลือของฟังเซี่ยวหรู (方孝孺) ที่ถูกประหาร 10 ชั่วโคตรโดยนอกจากญาติ 9 ชั่วโคตรแล้ว ยังมีสหายและลูกศิษย์ประหารรวมไปด้วยจำนวนถึง 873 คน

หมิงเฉิงจู่ทรงให้ความสำคัญกับพื้นที่ทางเหนือเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นในปีแรกของรัชกาลหย่งเล่อ ทรงเปลี่ยนชื่อเป่ยผิงเป็นเป่ยจิง (ปักกิ่ง) อีกทั้งมีดำริจะย้ายศูนย์กลางการปกครองขึ้นไปอยู่ทางเหนือ ดังนั้นในปีค.ศ. 1416 ทรงมีรับสั่งสร้างพระราชวังขึ้นที่ปักกิ่ง ใช้ระยะเวลาการสร้างถึงเกือบ 4 ปี ด้วยการระดมช่างฝีมือจากเหอหนัน ซันตง ซันซี และอันฮุยจำนวนหลายแสนคน จนสำเร็จเสร็จสิ้นในราวปีค.ศ. 1420 จากนั้นในปีค.ศ. 1422 จึงมีราชโองการให้ย้ายราชธานีจากอิ้งเทียนฝู่ไปยังปักกิ่งอย่างเป็นทางการ

หมิงเฉิงจู่ยังเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับด้านวิทยาการความรู้ โดยรับสั่งให้รวบรวมสรรพวิชาที่มีมาตั้งแต่ในอดีตไม่ว่าจะเป็นดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ พยากรณ์ศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา ศิลปะ ฯลฯขึ้น มีการระดมบุคคลากร 147 คนเข้ามาช่วยกันจัดเรียบเรียง และออกมาเป็นเล่มในครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1404 ทว่าหมิงเฉิงจู่ยังเห็นว่าตำราดังกล่าวยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์พอ จึงให้ทำการปรับปรุงแก้ไขอีกครั้ง คราวนี้มีการใช้คนเรียบเรียงและเขียนทั้งสิ้นมากถึง 2,169 คน และใช้หอคัมภีร์เหวินยวน (文渊阁) ที่นานกิงที่เป็นเก็บตำรา การเรียบเรียงแก้ไขครั้งนี้ได้ลุล่วงในปี 1407 และคัดลอกเย็บเล่มเสร็จสิ้นในปีถัดมา มีจำนวนทั้งสิ้น 22,877 บรรพ จัดเรียบเรียงเป็น 11,095 เล่ม ฮ่องเต้หมิงเฉิงจู่ได้พระราชทานนามว่า สารานุกรมหย่งเล่อ (永乐大典)

นอกจากสารานุกรมชิ้นใหญ่นี้แล้ว ในราชวงศ์หมิงยังเป็นยุคที่วรรณกรรมประเภทนิยายเริ่มต้นได้รับความนิยมอย่างมาก ถือเป็นเป็นยุคต้นที่นิยายในรูปแบบภาษาพูดที่เรียบง่าย (白话)ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายและสืบเนื่องไปถึงราชวงศ์ชิง โดยเฉพาะในราชวงศ์หมิง ได้บังเกิดผลงานประพันธ์ที่โดดเด่นๆที่เป็นที่รู้จักกันจนถึงทุกวันนี้มากมายอาทิ นิยายพงศาวดารสามก๊ก (三国演义) ในช่วงปลายราชวงศ์หยวนถึงต้นราชวงศ์หมิง ส่วนเรื่องซ๋องกั๋ง หรือผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน (水浒传)และ ไซอิ๋ว ()西游记 และบุปผาในกุณฑีทอง (金瓶梅) ถูกประพันธ์ขึ้นในสมัยรัชกาลเจียชิ่งกับวั่นลี่ โดยสามก๊กที่ประพันธ์โดยหลอก้วนจงนั้นน่าจะเป็นนิยายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดานิยายจีนที่เคยมีมา

สมุทรยาตราของเจิ้งเหอ (郑和下西洋)

หลังจากหมิงเฉิงจู่ได้ชิงบัลลังก์มาจากพระนัดดา สิ่งที่ส่งผลให้ไม่สบายพระทัยมาโดยตลอดก็คือหลังเกิดเพลิงไหม้พระราชวังแล้ว กลับไม่สามารถค้นพบพระศพของหมิงฮุ่ยตี้ (เจี้ยนเหวินตี้) และเพื่อสืบเรื่องราวดังกล่าวให้ชัดเจน จึงมีพระประสงค์ที่จะส่งขุนนางออกไปเพื่อตามหาร่องรอยอย่างลับๆ

ภายหลังหมิงเฉิงจู่ทรงมีดำริว่าหมิงฮุ่ยตี้อาจจะหลบหนีออกไปทางทะเล จึงตัดสินพระทัยที่จะสร้างขบวนเรือเพื่อเดินทางไปค้นหา โดยพระองค์ได้มอบหมายภาระหน้าที่นี้ให้กับเจิ้งเหอ (郑和) ขันทีที่ติดตามพระองค์มาเป็นเวลานาน

เจิ้งเหอเดิมแซ่หม่า มีนามว่าเหอ นามรองซันเป่า เป็นชนชาติหุยที่เกิดในมณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) หลังจากที่เข้ามาเป็นขันที หมิงเฉิงจู่หรือองค์ชายจูตี้ในยามนั้นทรงให้ความไว้เนื้อเชื่อใจและโปรดปรานในสติปัญญาความสามารถของหม่าเหอมาก ภายหลังจึงพระราชทานแซ่ “เจิ้ง” ให้ โดยในประวัติศาสตร์ได้บันทึก เจิ้งเหอมีรูปร่างสูงใหญ่ถึง 7 ฟุต มีน้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม ท่าเดินสง่าน่าเกรงขาม น้ำเสียงกังวานมีพลัง

ในปีค.ศ. 1405 ขบวนเรือของเจิ้งเหออันประกอบด้วยเรือที่ประกอบด้วยเรือสินค้า เรือรบ และเรือสนับสนุนในแบบต่างๆ โดยแบ่งเป็นเรือใหญ่จำนวน 62 ลำ และเรือเล็กอีกมากกว่า 200 ลำ พร้อมด้วยผู้คนกว่า 27,800 คน อันประกอบด้วยลูกเรือ ทหาร ช่างเทคนิค นักพยากรณ์อากาศ แพทย์ และล่าม และแล้วกองเรือยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์จีนและของโลกในยุคนั้นจึงได้เริ่มออกเดินทางโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะตามหาร่องรอยของหมิงฮุ่ยตี้ รวมไปถึงเจริญสัมพันธไมตรีกับแว่นแคว้นต่างๆ อีกทั้งเป็นการไปแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าอีกด้วย

เจิ้งเหอได้ออกกองเรือเดินสมุทรทั้งสิ้น 7 ครั้งตั้งแต่ปีค.ศ. 1405 – ปีค.ศ. 1433 นับเป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปี และเดินทางเป็นระยะทางมากกว่า 50,000 กิโลเมตร ผ่านดินแดนกว่า 30 ประเทศจากทะเลจีนใต้ไปจนถึงชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกา โดยกองเรือภายใต้การนำพาของขันทีเจิ้งเหอผู้นี้ได้เคยติดต่อกับอาณาจักรอยุธยาด้วย นอกจากนั้นกาวิน แมนซี (Gavin Menzies) อดีตทหารเรือชาวอังกฤษ ได้เคยนำเสนอทฤษฎีที่ว่า ในการเดินเรือครั้งหนึ่งของเจิ้งเหอ เขาน่าจะไปไกลถึงทวีปอเมริกา ซึ่งหากเป็นจริง เขาก็จะเป็นผู้ค้นพบทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัสเกือบร้อยปี

ตอนต่อไปจะเป็นเรื่องราวที่ทำให้เห็นว่า การที่ราชวงศ์หมิงที่ในช่วงต้นมีความเจริญก้าวหน้ามากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นกำลังทหาร สถาปัตยกรรม วรรณกรรม แต่หารู้ไม่ว่าหลังจากที่ฮ่องเต้หมิงเฉิงจู่ได้ขึ้นครองราชย์ ได้ทรงบ่มเพาะมูลเหตุแห่งความวิบัติเอาไว้ จนทำให้ช่วงกลางราชวงศ์บังเกิดความพลิกผันและการรัฐประหารอันเป็นเหตุราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ ต้องทรุดโทรมจนถึงกาลพินาศภายใต้เงื้อมมือของชนชาติโฮ่วจินในที่สุด

ที่มา
http://www.manager.co.th/China/viewnews.aspx?NewsID=9510000017736&Page=2